"ซีพีเอฟ" โต้ "เดอะการ์เดียน" เข้าใจคลาดเคลื่อน ใช้แรงงานทาส รุดแจงคาร์ฟูแบนไม่รับซื้อกุ้ง

"ซีพีเอฟ" โต้ "เดอะการ์เดียน" เข้าใจคลาดเคลื่อน ใช้แรงงานทาส รุดแจงคาร์ฟูแบนไม่รับซื้อกุ้ง

"ซีพีเอฟ" โต้ "เดอะการ์เดียน" เข้าใจคลาดเคลื่อน ใช้แรงงานทาส รุดแจงคาร์ฟูแบนไม่รับซื้อกุ้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ชี้แจงหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ว่า หลายปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ผลักดันแผนปรับปรุงการทำประมง แถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาแรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้า รวมถึงการพัฒนาแผนการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ 8 สมาคม ภายใต้สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรสากล เช่น IFFO และ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) เป็นต้น ในการผลักดันแผนเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำประมงอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิก The International Fishmeal and Fish Oil Organization (IFFO) ในการสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายตระหนักต่อการจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบปลาป่นที่ถูกต้อง รวมถึงการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งหลักการดังกล่าวจะนำภาคการผลิตโดยรวมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟได้มีการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น ด้วยการเพิ่มราคารับซื้อให้แก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานรับรอง และผ่านการตรวจสอบของกรมประมง

"เราตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้เดินหน้านโยบายหลายด้าน พร้อมสนับสนุนการทำประมงในประเทศอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน โดยปัจจุบันนี้ บริษัทไม่ได้มีการซื้อปลาป่นที่ยังไม่ผ่านการรับรอง" นายอดิเรก กล่าว

นอกจากนั้น ซีพีเอฟได้ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ต่อต้านและหยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมดูแลสภาพการทำงานให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานทั้งของประเทศไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ

กรณีที่กลุ่มธุรกิจซุปเปอร์มาเก็ตคาร์ฟูร์ ของฝรั่งเศส ตัดสินใจหยุดการซื้อสินค้าประเภทกุ้งจาก ซีพีเอฟนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจบนข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ครบถ้วนที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งทีมงานของบริษัทอยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับคาร์ฟูร์

อย่างไรก็ตามยอดส่งออกจากประเทศไทยไปยังซุปเปอร์มาเก็ตดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท คิดเป็น 0.03% ของยอดขายรวมในปี 2556 เท่านั้น และหลังจากทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว การค้าน่าจะกลับมาเป็นปกติ

หมายเหตุ: รายงานข่าวเดอะการ์เดียน คลิกดูที่นี่ Revealed: Asian slave labour producing prawns for supermarkets in US, UK

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook