ไนกี้-อาดิดาสจ้างไทยปั๊มชุดบอลโลก ส้มหล่นออเดอร์ผลิตส่งอื้อ 4บ.เร่งมือทันดวลแข้งมิ.ย.นี้

ไนกี้-อาดิดาสจ้างไทยปั๊มชุดบอลโลก ส้มหล่นออเดอร์ผลิตส่งอื้อ 4บ.เร่งมือทันดวลแข้งมิ.ย.นี้

ไนกี้-อาดิดาสจ้างไทยปั๊มชุดบอลโลก ส้มหล่นออเดอร์ผลิตส่งอื้อ 4บ.เร่งมือทันดวลแข้งมิ.ย.นี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ผลิตเสื้่อผ้าไทยรับทรัพย์แข่งขันบอลโลก มิ.ย.นี้ เจ้าของแบรนด์ดัง ไนกี้-อาดิดาส สั่งผลิตเสื้อกีฬาป้อนทีมฟุตบอล สมาคมเครื่องนุ่งห่มเผยมี 4 บริษัทไทยรับออเดอร์แล้ว 3 ล้านตัว ป้อน 10 ทีมเข้ารอบแข่งขัน พณ.เล็งจัดคณะเยือนกลุ่มประเทศละตินในช่วงแข่งขัน เจรจาขายสินค้าเพิ่ม ดันส่งออกทั้งปีโต 10%

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ผลิตเสื้่อผ้ากีฬาไทย ได้รับอานิสงส์จากการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล จะเป็นเจ้าภาพ ช่วงวันที่ 12 มิถุนายน-13 กรกฎาคม 2557 โดยขณะนี้มีเจ้าของแบรนด์ดังที่ให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลระดับโลกได้ว่าจ้างบริษัทในไทยผลิตเพื่อให้นักกีฬาใส่แข่งขันฟุตบอล รวมถึงชุดฝึกซ้อมของนักกีฬา และผลิตเสื้อทีม ที่จะนำไปขายให้กับแฟนบอลทั่วโลก และมีผลทำให้ยอดการส่งออกเสื้อผ้าของไทยปี 2557 ขยายตัวได้เกิน 5%

นางนันทวัลย์กล่าวว่า แบรนด์ดังที่ว่าจ้างผลิตในไทย อาทิ ไนกี้ อาดิดาส ที่ว่าจ้างผู้ผลิตคนไทยให้ผลิตเสื้อผ้าที่จะใช้สำหรับการแข่งขันบอลโลกให้กับทีมที่เข้าแข่งขันประมาณ 10 ทีม จากที่เข้ารอบการแข่งขัน 32 ทีม และจากการสอบถามไปยังผู้ผลิตทราบว่ามีการผลิตและทยอยส่งมอบไปแล้ว โดยการได้รับคำสั่งซื้อครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเสื้อผ้าของไทย เพราะแบรนด์ดังๆ ยังคงให้ไทยผลิตสินค้า แทนหันไปว่าจ้างให้ประเทศคู่แข่งแทน

"จากการตรวจสอบไปยังสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย พบว่า มีบริษัทไทย 4 ราย ที่ได้รับคำสั่งให้ผลิตเสื้อผ้าป้อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ คือไฮเทคกรุ๊ป ไนซ์กรุ๊ป ฮงเล็งกรุ๊ป และลิเบอร์ตี้กรุ๊ป ที่มีฐานการผลิตในเวียดนามและผลิตภายใต้แบรนด์พูม่า โดยได้รับคำสั่งให้ผลิตเสื้อผ้าประมาณ 3 ล้านตัว สำหรับทีมฟุตบอล 10 ทีม และเจ้าของแบรนด์ยังได้กระจายการผลิตไปยังประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีนด้วย" นางนันทวัลย์กล่าว

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก กรมจะนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนประเทศในละตินอเมริกา 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล เปรู ชิลี และโคลอมเบีย โดยเป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร และอาหาร ประมาณ 28 ราย เพื่อจับคู่ธุรกิจ (บิซิเนส แมชชิ่ง) เจรจาเพิ่มโอกาสการขายและส่งออกสินค้าต่างๆ ซึ่งตลาดละตินอเมริกาถือเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทย และกรมมีแผนจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อขยายการส่งออก โดยเฉพาะเปรู และชิลี ที่ไทยได้มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จะสามารถเพิ่มการส่งออกได้จำนวนมาก ตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันการส่งออกตลาดละตินอเมริกา ขยายตัวเป็นบวกประมาณ 10% สำหรับประเทศส่งออกเสื้อผ้าไทย ที่สำคัญสัดส่วน 80% ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฮ่องกง ออสเตรเลีย จีน สิงคโปร์ และอิตาลี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook