"ไทยแอร์เอเชีย" รับน้องแรง ดัมพ์ราคาเตะสกัด "ไทยไลอ้อนแอร์"

"ไทยแอร์เอเชีย" รับน้องแรง ดัมพ์ราคาเตะสกัด "ไทยไลอ้อนแอร์"

"ไทยแอร์เอเชีย" รับน้องแรง ดัมพ์ราคาเตะสกัด "ไทยไลอ้อนแอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากเปิดตัวและเริ่มให้บริการจองตั๋วได้ไม่กี่วัน ดูเหมือน "ไทยไลอ้อนแอร์" สายการบินน้องใหม่ลูกครึ่งไทย-อินโดนีเซีย จะเจอฤทธิ์เดชพี่ใหญ่แห่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) บ้านเราอย่าง "ไทย แอร์เอเชีย" เข้าอย่างจังเสียแล้วด้วยแผน "รับน้องใหม่" ทุบราคาโปรโมชั่นแข่งใน 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ "ไทยไลอ้อนแอร์" เตรียมบินปฐมฤกษ์ ประกอบด้วยเส้นทางบินกรุงเทพฯสู่เชียงใหม่ ในราคารวมเริ่มต้น 390 บาท, กรุงเทพฯ-จาการ์ตา เริ่มต้น 1,490 บาท และกัวลาลัมเปอร์ เริ่มต้น 1,050 บาท ซึ่งเปิดให้จองถึง 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเดินทางได้ถึง 1 ธันวาคม 2556-30 เมษายน 2557

"ทัศพล แบเลเว็ลด์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทย แอร์เอเชีย บอกว่า "ราคาตั๋วบิน" ยังเป็นจุดขายที่ทำให้ไทย แอร์เอเชียเป็นทางเลือกแรกของผู้โดยสารที่ชอบความคุ้มค่า ด้วยกลยุทธ์การขายเน้นออกโปรโมชั่นทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี

จุดเด่นอีกเรื่องของเราคือ เครือข่ายเส้นทางบินที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ และมีความถี่เที่ยวบินสูงสุดในเส้นทางที่ดีมานด์สูง โดยสิ้นปีนี้ไทย แอร์เอเชียจะมีเส้นทางบินรวม 43 เส้นทาง แบ่งเป็นภายในประเทศ 18 เส้นทางและระหว่างประเทศ 25 เส้นทาง โดยมีเที่ยวบินรวมมากถึง 238 เที่ยวบินต่อวัน

โดยปัจจุบัน "แอร์เอเชีย" บินตรงจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 12 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ (FD และ AK) 10 เที่ยวบินต่อวัน และกรุงเทพฯ-จาการ์ตา (QZ) 2 เที่ยวบินต่อวัน

"ไทย แอร์เอเชียยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่และความถี่เที่ยวบินต่อเนื่อง ตามแผนขยายฝูงบินใหม่แอร์บัส เอ 320 อย่างต่อเนื่อง จนครบ 61 ลำในปี 2560 โดยสิ้นปีนี้เรามีทั้งหมด 35 ลำ เพื่อมุ่งสู่การเป็นสายการบินแห่งอาเซียนตัวจริง พร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีและทุกการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ผ่านการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพในแบบฉบับแอร์เอเชีย เพื่อตอกย้ำจุดขายเรื่องราคาตั๋วบินประหยัดสุดในทุกเส้นทาง"

ขณะที่ "ดาร์ซิโต้ เฮนโดร เซปูโตร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ บอกว่า ด้วยตำแหน่งตลาดของเราเป็นสายการบินโลว์คอสต์ แน่นอนว่าการเปิดตัวสู่ตลาดไทยต้องสู้ด้วย "ราคา" ที่ถูกกว่าสายการบินอื่น ๆ ในไทย โดยได้ตั้งราคาเริ่มต้น 3 เส้นทางบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เปิดตัวที่ราคาเริ่มต้น 400 บาท, กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) 200 บาท, กรุงเทพฯ-จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) 1,500 บาท โดยระยะเวลาโปรโมชั่นนี้ยาวถึงเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ ไทยไลอ้อนแอร์ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินอากาศ (AOC) จากกรมการบินพลเรือน โดยเส้นทางบินไปเชียงใหม่จะเริ่มบิน 4 ธันวาคม วันละ 2 เที่ยวบิน ส่วนเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯไปทั้งกัวลาลัมเปอร์และจาการ์ตาคาดว่าจะเริ่มบินได้ภายในธันวาคมนี้ โดยเปิดขายทางเว็บไซต์ได้ตามปกติตั้งแต่ 19 ธันวาคมเป็นต้นไป

และในช่วงเริ่มต้น "ไทยไลอ้อนแอร์" ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-900ER ขนาด 215 ที่นั่ง 2 ลำ ส่วนปี 2557 จะมีฝูงบินรวม 12 ลำ โดยเตรียมเปิดเส้นทางใหม่เพิ่มเติม เช่น กรุงเทพฯ-หาดใหญ่, รุงเทพฯ-สิงคโปร์, เชียงใหม่-กระบี่ และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2561 จะมีฝูงบินทั้งหมดรวม 50 ลำ

"นำพล รุ่งสว่าง" ผู้จัดการแผนกการขาย และการตลาด สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เสริมว่า จุดขายของเราคือราคาถูกจริงไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม เช่น ค่าธรรมเนียมการจอง ซึ่งสายการบินอื่น ๆ จะคิดเพิ่ม 300-400 บาทเป็นอย่างต่ำต่อที่นั่งอย่างเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เปิดตัวราคาเที่ยวเดียวที่ 400 บาท ถือว่าถูกมากแล้ว แต่เรนจ์ราคามีตั้งแต่ 400-900 บาท โดยได้กำหนดจำนวนที่นั่งประมาณครึ่งลำของความจุ 215 ที่นั่งของโบอิ้ง 737-900ER ขายที่ราคาประมาณ 500 บาท ซึ่งหลังจากเปิดจองตั๋วบินล่วงหน้า

เส้นทางเชียงใหม่ ขณะนี้ยอดจองสูงเกือบ 80% แล้วอีกอย่างคือ ไทยไลอ้อนแอร์จะเปิดให้จองระยะยาว ไม่ได้กำหนดช่วงโปรโมชั่นให้รีบจองที่นั่งกันในระยะสั้น ๆ และปล่อยที่นั่งราคาถูก ๆ มาไม่กี่ที่เหมือนอย่าง "คู่แข่ง"

"ผมว่าทิศทางการแข่งขันของตลาดโลว์คอสต์ สงครามราคาจะไม่ได้มีเฉพาะช่วงไทยไลอ้อนแอร์เปิดตัวเท่านั้น แต่เป็นสงครามราคาระยะยาวที่ต้องคอยจับตามอนิเตอร์ราคาของแต่ละฝ่ายกันอย่างต่อเนื่อง ถ้าคู่แข่งลดราคากว่าเรามาก เราเองก็คงต้องดัมพ์ราคาสู้"

เพราะเชื่อมั่นว่า "ไทยไลอ้อนแอร์" สามารถบริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าคู่แข่งแน่นอน เนื่องจาก "ไลอ้อนกรุ๊ป" สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัสแบบ "บิ๊กดีล" รวมกัน 708 ลำ ทำให้ได้ดีลในราคาพิเศษ

เมื่อต้นทุนค่าเครื่องบินต่ำ บวกกับบริการภาคพื้นดินและการบำรุงรักษาต่าง ๆ ของไทยไลอ้อนแอร์ที่ลงทุนและดำเนินการเองหมด จึงทำให้ภาพรวมต้นทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับสายการบินอื่นที่มีการจ้างเอาต์ซอร์ซ ส่งผลให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย

แค่ช่วง "ไทยไลอ้อนแอร์" เปิดตัวยังแลกหมัดชนิดไม่มีใครกลัวใครขนาดนี้ ติดตามกันให้ดีว่าปี 2557 "มวยคู่เอก" คู่นี้ จะออกอาวุธเด็ดท่าไหน พิชิตใจเหล่าขาเที่ยวทั้งหลายที่ชอบความคุ้มค่า คุ้มราคา !

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook