เล็งตั้งแบงก์พิเศษแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

เล็งตั้งแบงก์พิเศษแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

เล็งตั้งแบงก์พิเศษแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหากับเศรษฐกิจไทย นายกรัฐมนตรี ไอเดียกระฉูดเล็งตั้งแบงก์พิเศษแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เน้นปล่อยกู้อย่างเดียว

ขณะที่ศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบีไทยมองเศรษฐกิจไทยหดตัวคนเก็บเงินน้อยลงเพราะหนี้ครัวเรือนยังตึงตัว ส่งผลสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว ด้านทีเอ็มบีแนะ ต้อง แก้ด้วยการส่งเสริมการออมทั้งระบบและใช้จ่ายให้น้อยลง

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกนายธนาคารเข้าไปหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนนั้น รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันการเงินพิเศษ

เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ถือเป็นปัญหาระดับรากหญ้าที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินงานเพื่อรากหญ้าในการให้บริการด้านสินเชื่อรายย่อยเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการรับฝากเงิน และสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน

เนื่องจากการปล่อย สินเชื่อเพื่อรายย่อยนั้นจะมีต้นทุนดำเนินการที่สูงกว่า ส่วนวิธีการระดมเงินในการปล่อยกู้นั้นคาดว่าจะใช้วิธีการออกตั๋วสัญญา ใช้เงิน (พี/เอ็น) หรือการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามในรายละเอียดอีกครั้ง แต่โดยเจตนาในการจัดตั้งสถาบันการเงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ ต้องการที่จะให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข การจัดตั้งสถาบัน การเงินพิเศษขึ้นมาดูแลนั้นจะส่งผลให้กลุ่มที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มากขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันธนาคารมีความ ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทเป็นหลัก

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรกไทย จะเข้าสู่ช่วง แห่งการเติบโตที่ช้าลงกว่าก่อน

อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริโภคที่จะชะลอตัวลง หลังจากที่ได้เร่งตัวขึ้นมากในปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงในปีที่ผ่านๆ มาได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ครัวเรือนจะเหลือเงินเพื่อการบริโภคลดลงหลังจากหักค่าเงินผ่อน ดอก-เบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ เมื่อการบริโภคลดลง ธุรกิจก็จะปรับลดการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลง โดยคาดว่าภาวะการชะลอตัวของการบริโภคจะดำเนิน อยู่อีกราว 2 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้เหมือนช่วงก่อนหน้าตามภาวะหนี้ที่คาดว่าจะลดลง

ประการที่สอง ตลาดการเงินไทยจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัว อันจะมีผลเชิงลบต่อการลงทุนของไทย โดยเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามายังไทยนับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องในอดีตและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเร่งการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี เมื่อการออมมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นซึ่งจะแย่งชิงแหล่งเงินออมจากภาคเอกชน ดังนั้น คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาสู่ตลาดเอเชียชั่วคราวภายหลังจากที่มีความชัดเจนในมาตรการ QE ในปีนี้

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือในอนาคต สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ย (คาดว่ากลางปี 2558) ซึ่งจะกดดันให้เงินไหลออกอีกครั้งในปีหน้า และส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดเงินในประเทศตึงตัวมากขึ้นได้

ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องแก้ด้วยการส่งเสริมการออม ทั้งระบบและใช้จ่ายให้น้อยลง เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศในระยะยาว หนี้ครัวเรือนของไทยที่เกิดจากระบบสถาบัน

การเงินเพิ่มขึ้นเร็วจนมีขนาด 75% ของ GDP ในไตรมาสแรกปีนี้ จาก 57% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยมาจากธนาคาร พาณิชย์ 42% สถาบันการเงินของรัฐ ร้อยละ 30 สหกรณ์ออมทรัพย์ 15% บริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 10% และอื่นๆ เช่น บริษัทประกัน โรงรับจำนำ อีก 3%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook