′ชินคันเซน′ลื่นปรู๊ดเเรงปรี๊ด ตัวเลือกสร้างอนาคตไทย

′ชินคันเซน′ลื่นปรู๊ดเเรงปรี๊ด ตัวเลือกสร้างอนาคตไทย

′ชินคันเซน′ลื่นปรู๊ดเเรงปรี๊ด ตัวเลือกสร้างอนาคตไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปู๊น ปู๊น ...ฉึก..ฉัก.. เสียงรถไฟไทยในปัจจุบัน ที่ช้าอืดอาด เสียงดัง เเละมีปัญหาด้านเวลา ระดับที่หากคุณนัดใครสักคนไว้บ่ายสามโมง นั่นหมายถึงว่าคุณจะผิดนัดคนคนนั้นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

นาทีนี้ "รถไฟความเร็วสูง" กำลังเป็นที่สนใจเเละถูกจับตามอง โดยร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

จะเป็นคิวต่อไปในการประชุมรัฐสภา ซึ่งหากถกเถียงกันจนเสร็จสิ้นในสภาเเล้ว...อนาคตใหม่ของการเดินทางก็จะเริ่มขึ้น เเละเราจะได้นั่งรถไฟคันใหม่ที่เสียงเพราะ รวดเร็ว เเละที่สำคัญปลอดภัยเเละตรงเวลาอีกด้วย

ด้วยเหตุที่ว่านี้ ทำให้มีหลายประเทศทั้ง ญี่ปุ่นเเละจีน สนใจที่จะเข้ามาประมูลดูเเลระบบรถไฟความเร็วปรี๊ดของไทยกันคึกคัก

ล่าสุด ที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่เเดนปลาดิบทั้งหญิงเเละชาย จากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งเเละท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้จัดการบรรยายเรื่อง "ระบบรถไฟชินกันเซน" เพื่อหวังว่าจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ร่วมสร้างอนาคตการเดินทางของไทย

ภายในห้องอเนกประสงค์ ก่อนการบรรยายเริ่มขึ้น "โอะฮาโย โกไซอิมัส" ที่แปลไทยว่า สวัสดีตอนเช้า คือประโยคที่เราได้ยินจนอยากจะเอ่ยทักทายกับผู้ร่วมฟังอื่นบ้าง รอบๆ ห้องมีผู้ฟังไม่เยอะนักประมาณ 25 คนเท่านั้น เป็นชาวไทยเเละชาวอาทิตย์อุทัยอย่างล่ะครึ่ง

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเเรกในโลกที่มีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงความคิดในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลังจากโดนถล่มยับในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มีการจัดทำแผนตั้งเเต่ปี ค.ศ.1950 เเละเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี ค.ศ.1960

มีความต้องการในการเดินทาง เเละมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นในเมืองใหญ่ จากสภาพนี้จึงเกิดการพิจารณาถึงความจำเป็นของการมีรถไฟความเร็วสูง โดยกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากนั้น "ทางรถไฟสายใหม่" หรือ "ชินคันเซน" เปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคมปี ค.ศ.1964 ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ณ กรุงโตเกียวพอดี โดยที่ชินคันเซนขบวนเเรกได้ชื่อว่า ฮิคาริ วิ่งระหว่างโตเกียวเเละโอซาก้า หรือเส้นทางสาย "โทไกโดะ" ที่มีระยะทางห่างกันเกือบ 600 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

เมื่อได้เวลา "ริเอโกะ นาคายามา" สาวใหญ่ผิวขาวเนียนตามแบบฉบับสาวญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน เริ่มบรรยายว่าตลอด 48 ปีของการกำเนิดรถไฟชินคันเซน ถือว่าประสบความเร็จอย่างสูง ก่อนนำเสนอจุดเเข็งของระบบรถไฟชินคันเซนว่า


1.จุดเเข็งเรื่องความเร็ว ชินคันเซน เปิดให้ใช้บริการครั้งเเรกเมื่อปี 1964 หรือ 49 ปีมาเเล้ว โดยเริ่มต้นวิ่งด้วยความเร็ว 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เเละพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีความเร็วสูงสุดถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2.ความปลอดภัย ตลอดการให้บริการ ความปลอดภัยเป็นจุดเเข็งสำคัญไม่เเพ้เรื่องความเร็ว ยืนยันได้จากตลอดการดำเนินงานตั้งแต่ปี 1964 ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตเลยเเม้แต่ครั้งเดียว มี 4 องค์ประกอบสำคัญ

ได้เเก่ ระบบสัญญาณไฟที่ไว้ใจได้, ระบบควบคุมบริหารจัดการจราจรยอดเยี่ยม, พนักงานมีความเชี่ยวชาญ เเละระบบการควบคุมติดตามความพร้อมในการเดินรถ

3.ความน่าเชื่อถือเเละไว้วางใจ ปัจจุบันระบบของชินคันเซนได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้อย่างมาก ด้วยจำนวนการเดินรถ 850 เที่ยวต่อวัน สูงสุดที่ 14 เที่ยวต่อชั่วโมง อัตราล่าช้าเฉลี่ยน้อยกว่า 1 นาที นอกจากนี้ยังมีความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ทั้งเรื่อง การบริการเเละความกว้างขวางของที่นั่ง ด้วยหน้าตักกว้างขนาด 33.50-33.60 เซนติเมตร

4.จุดเด่นที่ระบบออกแบบโครงสร้าง ที่ใช้พื้นที่หน้ากว้างระหว่างขบวนรถไฟ วิ่งสวนทางกันน้อยกว่าระบบอื่น ทำให้การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น อุโมงค์ สะพาน ฯลฯ ใช้พื้นที่น้อยกว่า ทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่ารถไฟของประเทศอื่นๆ จึงประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก

ริเอโกะพูดเก่งและคล่องแคล้ว พลิ้วไหว เหมือนกลีบซากุระที่ลอยไปตามสายลม ติดอย่างเดียวที่ต้องอาศัยล่ามช่วยสกัดความให้เรื่องสถานะทางการเงิน เดิมทีสายโทไกโดะ มีผลประกอบการเป็นลบ คือ ขาดทุน เริ่มมีกำไรเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 และคุ้มทุนหลังเปิดให้บริการแล้ว 10 ปี

ริเอโกะบอกอีกว่า ปี ค.ศ.1970 หรือ 6 ปีหลังเปิดให้บริการซึ่งตรงกับ พ.ศ.2513 ญี่ปุ่น มี พ.ร.บ.พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงหรือชินคันเซนทั่วประเทศ ทำให้การพัฒนาโครงข่ายชินคันเซ็นทั่วประเทศประสบผลสำเร็จเช่นปัจจุบัน

"ขณะที่ญี่ปุ่นมีความคิดริเริ่มในการสร้างระบบชินคันเซ็นขึ้นนั้นไม่ได้รับการเห็นด้วยจากทุกภาคส่วน ฝ่ายคัดค้านขณะนั้นบอกว่าให้ลงทุนพัฒนาด้านการเดินทางด้วยรถยนต์ เช่น การก่อสร้างทางด่วนพิเศษดีกว่า แต่สุดท้าย เมื่อรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เห็นได้จากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นทุกปี ก่อนเป็นที่รู้จักทั่วโลก" ริเอโกะบอกด้วยท่าทีขึงขัง

การพัฒนาระบบรถไฟของญี่ปุ่น ไม่ใช่เพื่อการคมนาคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย เช่น

เกาะคิวชู ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น จากเดิม การเดินทงด้วยรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ระหว่างทางเหนือและใต้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 40 นาที แต่เมื่อเปิดให้บริการชินคันเซ็นปี พ.ศ.2554 ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที เท่านั้น โดยสถานีสำคัญอย่างสถานีทาคาตะ ทางตอนเหนือมีพัฒนาการมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งช็อปปิ้งมอลล์ ภัตตาคาร ฯลฯ เกิดผลดีต่อเกาะคิวชูอย่างมาก

เมืองอิบูซูกิ แหล่งน้ำแร่และน้ำพุร้อน อยู่ตอนใต้ของ จ.คาโกชิมา บนเกาะคิวชู เดิมไม่มีผู้ใช้บริการรถไฟมากนักและไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว แต่เมื่อชินคันเซ็นเข้าถึงเมืองคาโกชิมา จึงมีการพัฒนารถไฟเชื่อมต่อจากชินคันเซ็นไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเมือง

สร้างความเติบโตให้ท้องถิ่น เกิดรีสอร์ตเเละสถานที่พัก การจ้างงาน ทั้งหมดเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี เมืองซากุ สถานีซากุไดระ จ.นากาโนะ ตอนกลางของเกาะฮอนชู แต่เดิมพื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนา หลังจากทางรถไฟสายใหม่พาดผ่านก็เกิดเมืองใหม่ ทั้งอาคารพาณิชย์ ร้านค้า

ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ความเจริญยังทำให้มีคนมาอาศัยเพิ่มขึ้น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น เป็นการลดความแออัดของเมืองเก่า

นอกจากความสำเร็จในแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว ชินคันเซนยังเป็นระบบสำคัญ ในโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของไต้หวันอีกด้วย

"ที่ผ่านมา ไต้หวันเลือกระบบรถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น ในการพัฒนาคมนาคมในประเทศ มีภาครัฐและเอกชนสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและเปิดตัวเมื่อปี 2007 ปัจจุบันยังไม่เกิดอุบัติเหตุแม่แต่ครั้งเดียว ทั้งยังตรงเวลา 100 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกปีปัจจุบันเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2007

และสร้างผลกำไรตั้งแต่ปีที่ 3" ริเอโกะ กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น สำหรับประเทศไทย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งเเละท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น นำเสนอรูปแบบชินคันเซนต่อรัฐบาลไทยหลายครั้ง และมั่นใจว่าชินคันเซนจะสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทย

"เคยนั่งรถไฟในประเทศไทยเเล้ว ทั้งรถไฟไทย รถไฟบีทีเอส เเละแอร์พอร์ตลิงก์ คิดว่าเมื่อญี่ปุ่นพัฒนารถไฟตั้งเเต่หลายสิบปีที่เเล้ว คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากไทยจะพัฒนาสักที" สาวใหญ่ทิ้งท้าย

ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังศึกษาระบบรถไฟชินคันเซนเชิงลึกและด้านเทคนิคต่างๆ ก่อนตัดสินใจว่าเลือกหรือไม่

แต่ก่อนอื่น ลุ้นก่อนดีไหมว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะผ่านสภาเมื่อไหร่ (หุหุ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook