สมรภูมิแบงก์เล็กแข่งดูดเงินฝาก ชิงมาร์เก็ตแชร์ลูกค้าใหม่-ชูเทรนด์ ดบ.ยาวเกิน1ปี

สมรภูมิแบงก์เล็กแข่งดูดเงินฝาก ชิงมาร์เก็ตแชร์ลูกค้าใหม่-ชูเทรนด์ ดบ.ยาวเกิน1ปี

สมรภูมิแบงก์เล็กแข่งดูดเงินฝาก ชิงมาร์เก็ตแชร์ลูกค้าใหม่-ชูเทรนด์ ดบ.ยาวเกิน1ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์เล็กวิ่งขาขวิด แข่งอัดโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษชิงลูกค้าเงินฝากคืน ค่าย "ทิสโก้" ลั่นเดินหน้าออกโปรดักต์ต่อเนื่อง หวังรักษาฐานลูกค้า ฟาก "ซีไอเอ็มบี ไทย" ชี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยพิเศษลดลง แต่สูงกว่าแบงก์ใหญ่ ระบุได้ใจลูกค้าใหม่ไหลเข้ามาฝาก ส่วนแบงก์ใหญ่ "ใบโพธิ์" โล่ง ที่ผ่านมาโกยเงินฝากใกล้เป้าหมายแล้ว ชี้เทรนด์ตลาดมุ่งโปรดักต์ฝากระยะยาวเกิน 1 ปี

นายชลิต ศิลป์ศรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางการระดมเงินฝากในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากทิศทางการชะลอตัวลงของสินเชื่อต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการลงทุน และสินเชื่อโครงการภาครัฐ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษของเงินฝาก ที่จะออกสู่ตลาดจากนี้ไป จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

"แต่ที่เห็นการออกโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษยังมีต่อเนื่อง ก็เพราะแบงก์นั้น ๆ ต้องรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้" นายชลิตกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง 2 แบบ สำหรับลูกค้าบุคคล ได้แก่ เงินฝากประจำพิเศษ 8 เดือน ดอกเบี้ย 3.4% ต่อปี และเงินฝากออมทรัพย์ไดมอนด์ ที่ปรับดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3%

โดยเน้นขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 10 ล้านบาท และลูกค้าเงินฝาก 1 ล้านบาทขึ้นไป ตามลำดับ เพื่อขยายฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังเห็นธนาคารพาณิชย์ออกมาระดมเงินฝากผ่านผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยพิเศษต่อเนื่องเช่นเดิม แต่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดระดับลงบ้างตามผู้นำตลาด ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่มองการขยายตัวของสินเชื่อจะชะลอตัวลง

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่สามารถดึงเงินฝากลูกค้ารายย่อยออกไปค่อนข้างมาก ทำให้ธนาคารขนาดเล็กต้องเร่งออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดเงินฝากที่เคยชะลอกลับเร่งตัวขึ้น

เห็นได้จากช่วงครึ่งปีแรก ยอดเงินฝากของธนาคารเติบโต 9,000 ล้านบาท ซึ่งเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 เดือนหลังถึง 8,000 ล้านบาท และจากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ยังจับสัญญาณได้ว่า ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารขนาดใหญ่ก็เริ่มเข้ามาลองใช้บริการธนาคารขนาดเล็กบ้างแล้ว

"ตอนนี้เริ่มเห็นลูกค้ารายใหญ่ของแบงก์ขนาดใหญ่ เข้ามาลองใช้บริการแบงก์ขนาดเล็กบ้างแล้ว จากโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่ให้บริการในระดับที่สูงกว่า โดยปัจจุบันช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างแบงก์ใหญ่กับแบงก์เล็กอยู่ที่ 0.50-1.00 บาท

แต่ที่ผ่านมาแบงก์เล็กก็สามารถดึงลูกค้าแบงก์ใหญ่มาได้ค่อนข้างยาก และเมื่อเริ่มทำได้แล้วเราจึงจะเน้นการให้บริการเพื่อสานความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นหลัก" นางสาวดุษณีกล่าว

ขณะที่นายสมิทธิ์ พนมยงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายเงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา เงินฝากของธนาคารขยายตัวได้มากถึง 2 แสนล้านบาท เติบโตใกล้เคียงกับเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ระดับมากกว่า 2 แสนล้านบาท

ถือเป็นการเติบโตในระดับที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับทั้งระบบที่เติบโตได้ 3% ขณะที่ภาพรวมการเติบโตเงินฝากทั้งปี คาดว่าจะปรับตัวลงจาก 11-12% ลดเหลือ 7-8%

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเงินฝากธนาคารขนาดใหญ่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า อาจชะลอตัวลงตามทิศทางสินเชื่อที่ชะลอตัว แม้จะเติบโตในระดับตัวเลข 2 หลัก แต่คงไม่ได้เติบโตในระดับ 15-16% เช่นเดียวกับปีก่อนหน้า

สำหรับกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารอาจต้องดูรูปแบบการระดมเงินฝากของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กก่อน แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเห็นแนวโน้มการระดมเงินฝากระยะยาวเกิน 1 ปีและให้อัตราดอกเบี้ยระดับ 3.2-3.3%

"การนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเงินฝากรายย่อยทั้งระบบเติบโต 1.6 แสนล้านบาท แต่เราสามารถดึงเงินฝากเข้ามาอยู่ในพอร์ตของตัวเองมากถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท แม้เงินฝากสถาบันจะแบ่งสัดส่วนกันไป แต่ก็ทำให้คู่แข่งต้องเร่งระดมเงินฝากเพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์คืน" นายสมิทธิ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook