ปฏิวัติน้ำประปาไทย นำร่องลงทุนระบบโอโซน 4 แสนคิว

ปฏิวัติน้ำประปาไทย นำร่องลงทุนระบบโอโซน 4 แสนคิว

ปฏิวัติน้ำประปาไทย นำร่องลงทุนระบบโอโซน 4 แสนคิว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประปานครหลวงปฏิวัติคุณภาพน้ำ นำร่องลงทุนระบบโอโซน 4 แสนคิว ที่โรงผลิตน้ำ "สามเสน-มหาสวัสดิ์" เตรียมสำรองจ่ายน้ำป้อนคนกรุง ประกาศวิสัยทัศน์เป็นผู้นำกิจการประปาของอาเซียน

นายสมัย อนุวัตรเกษม ประธานกรรมการ คณะกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กปน.อยู่ระหว่างจัดทำโปรเจ็กต์นำร่องในการผลิตน้ำประปาด้วยระบบโอโซน หรือโอโซน วอเตอร์ ทรีตเมนต์ ซึ่งคุณภาพน้ำประปาที่ได้จะดีกว่าปัจจุบันประมาณ 10 เท่า

โดยเริ่มทดลองผลิตน้ำ 8 หมื่นคิวบิกเมตร/วัน ที่โรงผลิตน้ำสามเสน และเตรียมทดลองผลิตเพิ่ม 4 แสนคิวบิกเมตร/วัน ที่โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ภายในปี 2557-2558 ตามแผนจะใช้งบฯลงทุนรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท

คนกรุง-ฝั่งธนฯมีเฮ

"กปน.ให้บริการน้ำประปาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชม. ไม่มีวันหยุด ด้วยมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาที่ดีกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เราจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งน้ำประปาที่ผลิตด้วยระบบโอโซนจะทำให้มีคุณภาพน้ำดีขึ้น 10 เท่า ขณะที่ต้นทุนผลิตน้ำก็แพงขึ้นประมาณ 10%"

นายสมัยกล่าวว่า เหตุผลที่เริ่มโครงการทดลองที่โรงผลิตน้ำสามเสนเป็นเพราะเป็นไซซ์กำลังผลิตขนาดเล็ก เพื่อต้องการทดลองหาสูตรการผลิตที่ลงตัว เนื่องจากน้ำประปาระบบโอโซนที่มีใช้ในต่างประเทศจะมีข้อแตกต่างในเรื่องคุณภาพน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา

โดยคุณภาพน้ำดิบของเมืองไทยจะมีข้อจำกัดเพราะเป็นน้ำดิบที่มีสารปนเปื้อน อาทิ ความขุ่น สี โลหะหนัก-ยาฆ่าแมลง รวมทั้งมีปัญหาน้ำเค็มหนุน ซึ่งกรณีน้ำเค็มจะไม่สามารถผลิตน้ำประปาด้วยระบบโอโซนได้เลยโดยน้ำประปาระบบโอโซนลอตแรก 8 หมื่นคิว จากโรงผลิตน้ำสามเสน

จะป้อนให้กับพื้นที่บริการ อาทิ เขตพญาไทบางส่วน ตามแนวถนนสุโขทัย นครชัยศรี สวนจิตรลดา วิสุทธิ์กษัตริย์ จักรพงษ์ พระราม 5 ฯลฯ ส่วนน้ำประปาโอโซนลอตที่สอง 4 แสนคิว จากโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ จะป้อนให้กับผู้ใช้น้ำฝั่งธนฯทั้งหมด

แผนลงทุน 3 ระยะ

ทั้งนี้ แผนลงทุนระบบโอโซนแบ่งเป็น 3 ระยะด้วยกัน เริ่มจากระยะที่ 1 ลงทุน 45 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เป็นขั้นตอน Preozonation หรือการใช้โอโซนปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ ที่โรงผลิตน้ำสามเสน กำลังผลิต 8 หมื่นคิว/วัน โดยขั้นตอนนี้เริ่มดำเนินการภายในปลายปีนี้

ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 297 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 เรียกว่าระบบ Post Ozonation+GAC กระบวนการผลิตมีการเพิ่มเติม GAC หรือถ่านที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการดูดซับน้ำเสีย และระยะที่ 3 จึงจะเป็นแผนขยายการลงทุนไปที่โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มีกำลังผลิต 4 แสนคิว/วัน คาดว่าใช้งบฯลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

"ปัจจุบัน กปน.มีโรงผลิตน้ำ 4 แห่ง คือ บางเขน มีขนาดใหญ่สุด กำลังผลิต 3.6 ล้านคิว/วัน, มหาสวัสดิ์ 1.2 ล้านคิว/วัน, สามเสน 5.5 แสนคิว/วัน และธนบุรี 1.7 แสนคิว/วัน ล่าสุดลงทุนกำลังผลิตเพิ่มอีก 4 แสนคิว ทำให้มีกำลังผลิตรวมเกือบ 6 ล้านคิว/วัน

เหตุผลที่เริ่มทดลองผลิตที่สามเสน เพราะมีไซซ์เล็กจึงทำ 8 หมื่นคิว ส่วนมหาสวัสดิ์เป็นโปรเจ็กต์ขยายผลจะทำ 4 แสนคิว เพราะคุณภาพน้ำดิบดีกว่าโรงผลิตน้ำอื่น ๆ เพราะรับน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง"

ขึ้นผู้นำประปาอาเซียน

ประธานบอร์ด กปน.กล่าวด้วยว่า แผนผลิตน้ำประปาด้วยระบบโอโซนเมื่อทำสำเร็จและแจกจ่ายน้ำได้เต็มพื้นที่บริการในเขต 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี มั่นใจว่าจะทำให้ศักยภาพของ กปน. ถูกยกระดับเป็นรายแรกที่เป็นผู้นำอาเซียน

ขณะเดียวกันนับถอยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กปน.มองว่าจะเป็นโอกาสในการขยายพรมแดนธุรกิจกิจการประปา เพราะ กปน.มีความพร้อมสูงสุด เนื่องจากมีความชำนาญระบบผลิตประปาขนาดใหญ่ มีพนักงาน 4,000 คน มีทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำความรู้ความสามารถในการรับงานจัดทำระบบประปา

"วิสัยทัศน์ของ กปน. คือ จะเป็นผู้นำอาเซียนในกิจการประปาสำหรับเมือง เรามีความพร้อมทั้งในบทบาทผู้รับทำระบบประปาและบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ทุกวันนี้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นเยี่ยมชมกิจการประปาอยู่ตลอด รวมทั้ง กปน.ได้เข้าไปทำเอ็มโอยูในการจัดทำแผนแม่บทระบบประปาให้กับเมืองหลวงพระบาง

ประเทศลาว ตอนนี้ก็รออยู่ว่าจะให้สร้างให้ด้วยหรือไม่ เพราะกำลังหาแหล่งเงินมาลงทุน ประเทศอื่น ๆ ที่เราสนใจก็มีเนปาล พม่าที่ย่างกุ้ง"

นายสมัยกล่าวตอนท้ายว่า เพื่อต่อยอดวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน จะเริ่มต้นจากการลงทุนสร้างสถาบันกิจการประปาแห่งใหม่ ในบริเวณโรงสูบจ่ายน้ำบางเลน ลงทุนเริ่มแรก 300 ล้านบาท โดยออกแบบให้เป็นศูนย์องค์ความรู้กิจการประปาระดับอาเซียน เพื่อรองรับคณะดูงานที่คาดว่าจะทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย และหน่วยงานบริหารเมืองจากต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook