ตีฆ้องประมูลรถไฟฟ้ารางเบา "โมโนเรล" แสนล้าน จับตา "ญี่ปุ่น-จีน" คู่ชิงเค้ก

ตีฆ้องประมูลรถไฟฟ้ารางเบา "โมโนเรล" แสนล้าน จับตา "ญี่ปุ่น-จีน" คู่ชิงเค้ก

ตีฆ้องประมูลรถไฟฟ้ารางเบา "โมโนเรล" แสนล้าน จับตา "ญี่ปุ่น-จีน" คู่ชิงเค้ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แผน แม่บทระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทย...เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะนำระบบรถไฟรางเดี่ยว หรือที่คนไทยคุ้นหูกันในชื่อ "โมโนเรล-Monorail" มาก่อสร้างในทางสายรองที่พาดผ่านพื้นที่แถบชานเมือง เพื่อป้อนคนเดินทางมาต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักที่วิ่งบริการในเมือง

ด้วยเหตุและผลง่าย ๆ เพราะต้นทุนค่าก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้ารางหนัก หรือ Heavy Rail ถึง 50% เมื่อเทียบต่อกิโลเมตร ระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท/กิโลเมตร ส่วนระบบโมโนเรลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600-700 ล้านบาท/กิโลเมตร

รฟม.ลงทุนสีชมพู-เหลือง

สำหรับสายทางจะสร้างด้วยระบบโมโนเรลที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทมี 4 สายทางแบ่งความรับผิดชอบลงทุนเป็น 2 หน่วยงานหลัก คือ "รฟม.-กทม."เริ่มจาก "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" จะมีสาย "สีชมพู" (แคราย-แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี) 36 กม. จอด 30 สถานี

รองรับการเดินทางไปยังศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และการเติบโตของกรุงเทพฯ โซนเหนือ เชื่อมโยงพื้นที่ชุมชนและพาณิชยกรรมแถบชานเมืองด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เงินลงทุนโครงการ 56,725 ล้านบาท เป็นค่างานระบบรถไฟฟ้า 23,152 ล้านบาท

กับสาย "สีเหลือง" (ลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง) 30.4 กม. มี 23 สถานี รองรับพื้นที่ชุมชนแนวถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ และการเติบโตของเมืองด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เงินลงทุน 48,779 ล้านบาท เป็นค่างานระบบรถไฟฟ้า 18,666 ล้านบาท

ล่าสุด "รฟม." กำลังจะศึกษาระบบโมโนเรลเพิ่มอีก 1 สายทาง คือสาย "สีน้ำตาล" (แคราย-ลำสาลี) 21 กม. มี 23 สถานี โดยรวม 2 สถานีอนาคตไว้ด้วย เพื่อเชื่อมการเดินทางจากแยกแคราย งามวงศ์วาน เกษตร-นวมินทร์ บางกะปิ และลำสาลี เงินลงทุน 45,000 ล้านบาท มีค่างานระบบรถไฟฟ้ากว่า 10,000 ล้านบาท

กทม.แจม 2 สายสีเทา-ฟ้า

ส่วนที่เหลือจะเป็นของ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" มีสาย "สีเทา" (แยกวัชรพล-ลาดพร้าว-พระรามที่ 4-สะพานพระราม 9) 26 กม. มี 21 สถานี เป็นเส้นทางรองรับพื้นที่ย่านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ เงินลงทุน 31,870 ล้านบาท เป็นค่าระบบรถไฟฟ้า 15,600 ล้านบาท

และสาย "สีฟ้า" (ดินแดง-สาทร) 9.5 กม. มี 9 สถานี จะเชื่อมเขตเมืองชั้นในแนวถนนประสงเคราะห์ เพชรบุรี วิทยุ และสาทร อนาคตเชื่อมกับโครงการแฟลตดินแดง ศาลาว่าการ กทม. 2 และมักกะสันคอมเพล็กซ์ ลงทุน 12,880 ล้านบาท มีค่างานระบบรถไฟฟ้า 5,700 ล้านบาท

โมเดลญี่ปุ่นมาแรง

ทั้งนี้ มีความเป็นได้สูงที่ประเทศไทยจะนำโมเดลของ "ประเทศญี่ปุ่น" มาเป็นต้นแบบโครงการ รูปแบบจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับและมีรถวิ่งอยู่บนคานทางวิ่ง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2503

ขณะที่ประเทศที่ริเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลขึ้นเป็นประเทศแรกของโลกคือประเทศเยอรมนี ในปี 2446 ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่สร้างระบบโมโนเรลขึ้นมาใช้ เช่น เกาหลีใต้ จีน บราซิล อินเดีย เป็นต้น

ยกตัวอย่าง "สายสีเหลือง" ทางบริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ "รฟม." ใช้ระบบของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะวิ่งให้บริการเส้นทาง จากลาดพร้าว-สำโรง รองรับความถี่ในการเดินรถต่ำที่สุด 2 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30,000-40,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

สำหรับโครงสร้างทางวิ่งทั่วไป หน้าตัดคานทางวิ่งลึก 1.60-2 เมตร มีลักษณะโปร่ง ใช้เวลาก่อสร้างสั้นประมาณ 3 ปี โดยผู้รับเหมาสามารถติดตั้งเสาสำเร็จรูปที่ไซต์ก่อสร้างได้ ซึ่งจะมีผลทำให้สร้างได้เร็วขึ้น

ด้านตัว "รถไฟฟ้า" จะใช้ล้อยางทำให้มีผลกระทบทางเสียงน้อย ขณะที่ระบบจ่ายไฟฟ้าจะรับไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายของการไฟฟ้านครหลวงสำหรับจ่ายให้ระบบสายไฟฟ้าที่อยู่กับคานทางวิ่ง

กทม.ถูกใจระบบจีน

ขณะที่ "กทม." มีแนวโน้มจะใช้ระบบจากประเทศจีน หลังจากผู้ว่าฯ กทม.ยกทีมรองผู้ว่าฯและผู้บริหารบีทีเอสไปศึกษาดูงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ นครฉงชิ่ง

"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันนครฉงชิ่งมีเส้นทางโมโนเรลยาวที่สุดในโลก 143 กม. กำลังก่อสร้างเพิ่มปีละ 40 กม. คาดว่าจะเพิ่มเป็น 208 กม.ในปี 2015 โดยชาวฉงชิ่งนิยมใช้ เพราะค่าโดยสารถูกและไม่มีเสียงรบกวน

นอกจากนี้ ในนครฉงชิ่งยังมีการผลิตและประกอบตัวรถพร้อมเพรียง ทั้งรางโมโนเรลและระบบการดำเนินรถทั้งหมดได้เอง ทาง กทม.สนใจจะนำมาปรับใช้กับ กทม.ที่มีแผนจะสร้างโครงการในปี 2557 จำนวน 1 สาย คือสายสีเทา

รฟม.เล็งซื้อ 295 คัน

ด้าน รฟม. "ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล" ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า รถไฟฟ้าโมโนเรลของ รฟม.มีความต้องการจัดซื้อรวม 295 คัน แยกเป็นสายสีเหลือง 64 คัน และสีชมพู 231 คัน โดยจะคัดเลือกระบบก่อนออกแบบก่อสร้าง ขณะที่การประมูลยังไม่สรุปว่าจะเป็นรูปแบบเทิร์นคีย์ หรือแยกประมูล แต่โดยส่วนใหญโมโนเรลจะใช้บริษัทเดียวดำเนินการ จะเริ่มได้ในปี 2557 นี้

สรุปว่าโมโนเรลกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่มูลค่าร่วม 1 แสนล้านบาท คู่ชิงย้ายทวีปจากซัพพลายเออร์ค่ายฝรั่งมาอยู่โซนเอเชีย แต่ไม่ว่าจะเป็น "ใคร" สิ่งที่ผู้โดยสารต้อง การคือยิ่งเปิดเร็วยิ่งดีต่อการจราจรเมืองกรุงมากเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook