“นิค” วิเชียร ฤกษ์ไพศาล แห่ง Genie Records กับแนวคิด Young at Heart

“นิค” วิเชียร ฤกษ์ไพศาล แห่ง Genie Records กับแนวคิด Young at Heart

“นิค” วิเชียร ฤกษ์ไพศาล แห่ง Genie Records กับแนวคิด Young at Heart
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาครอบครัวร็อกในนาม จีนี่ เรคคอร์ด ได้สร้างความมันและปลุกปั้นศิลปินร็อกแจ้งเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารที่มีแนวคิดในการทำงานแบบ Young at Heart คุณนิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือในวงการเพลงเรียกกันสั้นๆ ว่า พี่นิค ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะนั่งแท่นบริหารค่ายเพลง จีนี่ เรคคอร์ด แล้ว เขายังดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายการผลิต และโปรโมชั่นเพลง จีเอ็มเอ็ม มิวสิค

จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจที่ Sanook! Men อยากนำเสนอแนวคิดการบริหารงานค่ายเพลง และการผลิตศิลปินออกมาสร้างสีสันให้วงการเพลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤตปัญหาเทปผี ซีดีเถื่อนเช่นในปัจจุบัน

ดูให้ออก…ฟังให้เป็น

ด้วยประสบการณ์ด้านงานเพลงที่ยาวนาน บวกกับสัญชาตญาณนักปั้นของคุณนิค ทำให้ศิลปินและบทเพลงหลายๆ เพลงของค่ายเป็นที่รู้จักและฮิตติดหู จากความสำเร็จเหล่านี้คุณนิคอาศัยทักษะเฉพาะตัวแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อาจจะมีเพียง “ตัวจริง” ของวงการเท่านั้นที่ทำได้

“จริงๆ แล้วการทำธุรกิจแบบนี้ต้องมีคนทำอยู่สองอย่างคือดูให้ออก ฟังให้เป็น ดูให้รู้ว่าหมอนี่จะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงนี้จะฮิต คนที่จะเป็นแบบนี้ต้องเป็นตัวจริง ซึ่งผมเนี่ยตัวจริง ฟังอย่างเดียวไม่เล่น ฟังอย่างเดียวไม่แต่ง ฟังแบบนักฟัง ฟังตั้งแต่เด็ก ฟังตามพี่ ฟังตามเพื่อน ฟังตามพ่อ ฟังมาเรื่อยๆ ฟังทุกชนิด จนกระทั่งเข้าใจความรู้สึก แล้ววันนึงที่มาทำตรงนี้ก็รีวายเทปกลับไปในวันที่เราเป็นวัยรุ่น ที่เราฟังเพลงฝรั่ง เราไม่เห็นหน้าตานักร้องสักวงที่ดังๆ แต่เราเสพเพลงเขา เรารักเสียงเพลงเขา เราฮิตกับเพลงเขาได้ เราก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันน่าจะเกิดได้อีก ไม่ต้องใช้อย่างอื่นนอกจากผลงาน ถ้าของมันดีจริง ยังไงก็ดัง

ศิลปะกับความรู้สึก เป็นสิ่งสำคัญ

ในฐานะคนทำเพลงที่ต้องทำธุรกิจซึ่งหวังผลของกำไรควบคู่ไปด้วย คุณนิคกลับเลือกที่จะใช้ศิลปะ และความรู้สึกมากำหนดแนวทางการทำงาน มากกว่าที่จะเลือกปั้นศิลปิน สร้างผลงานเพลงเพียงเพราะว่าจะทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
“ศิลปะมันต้องใช้ความรู้สึก ศิลปะมันใช้ทฤษฎีไม่ได้ คุณใช้กระบาล คุณก็อาจจะพลาดได้ง่ายๆ คุณเอา หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองมาวัดกับศิลปะไม่ได้ ถ้าเอามาวัด โอกาสที่จะเจ๊งมีเยอะบอกได้เลย เราต้องดูให้ออก ผมอาจจะดูออกหรือฟลุคหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ผมจะมีความรู้สึกว่ามันน่าทำเท่านั้นเอง ผมไม่ได้ไปสนใจคำว่ารวย ผมไม่ได้ไปคิดแบบนั้น ผมคิดว่ามันเป็นงานที่ดี ผมจะทำงานให้ดี รวยดี หรืองานดีมันก็อยู่ฝั่งดี แต่ถ้างานไม่ดี ผมก็จะไม่ทำ ต่อให้รวยด้วยผมก็ไม่เอา และเวลาที่ผมต้องการคนร่วมงาน ผมต้องเอาคำว่าดี ผมไม่เอาขยันก่อน คนดีมันฝึกไม่ค่อยได้ เราถึงเอาคนดีไว้ก่อน ความเก่งและความขยันมันฝึกได้”

อดทน และ เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าวงการเพลงบ้านเราในปัจจุบันค่อนข้างซบเซา ช่องทางการฟังเพลงของนักฟังเพลงเปลี่ยนไป รวมไปถึงยังมีข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่เพราะสาเหตุใดจีนี่ เร็คคอร์ดยังคงแข็งแกร่ง และมีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง

“อันแรกคือผมต้องมีความอึด เราทนสู้กับปัญหากับอุปสรรค เรามองทุกอย่างเป็นบวก พอเรามองแบบนี้แล้วเราจะพลิกให้มันเป็นโอกาสได้ และเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็งได้ เหมือนที่บางคนก็ยังด่ายูทูปอยู่ แต่มันทำให้ผมประหยัดค่ามีเดีย สมัยก่อนถ้าจำได้จะมีคิวละพันวันละเพลงต้องไปจ้างเขาเปิดเพลง หรือวิทยุเองก็ต้องไปรองอนง้อ ไปกราบให้เขาเปิดเพลง ถ้าใช้ทีวีก็ต้องเสียตังค์เยอะมาก แต่พอเป็นยูทูป เราใช้ฟรีแถมเขาจ่ายตังค์เราคืนด้วย”

“ทำให้เงินที่ต้องใช้โปรโมทก็ประหยัดขึ้น มันอยู่ที่วิธีมองให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับที่ผมเปิดค่าย ผมบอกว่าผมไม่มีศิลปิน ผมไม่มีโปรดิวเซอร์เลย แต่พี่บอกว่าผมมีโอกาสให้คน คือเรามีค่ายว่างๆ ศิลปินจะได้เข้ามาได้ แต่ถ้าค่ายเราเต็มศิลปินก็ไม่เข้ามา มันอยู่ที่วิธีคิดมากกว่า ถ้าถามผมทำยังไงคือ ผมใช้วิชาอดทน ใช้ความเชื่อของเรา ผมเชื่อว่ามันน่าจะเกิดได้

แนวคิด “ Young at Heart”

สิ่งที่จะทำให้ตัวตนของคนๆ หนึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจนไม่ใช่เสื้อเชิ้ต กางเกง เนคไท หรือรองเท้าแบรนด์เนม หากแต่เป็นทัศนคติที่อยู่ภายใน เมื่อคุณนิคเป็นผู้บริหารที่ผ่านร้อนหนาวและสร้างศิลปินมาแล้วนักต่อนัก การจะหยุดนิ่งอยู่กับแนวความคิด และวิธีการทำงานแบบเดิมๆ จึงไม่ใช่คำตอบของผู้บริหารรุ่นเก๋าแต่หัวใจวัยรุ่น

“พอเข้ายุคที่ต้องเข้าตลาดหุ้น ทุกอย่างมันก็เปลี่ยน ต้องใส่เชิ้ตผูกไท เราก็ยังใหม่บอกว่าต้องทำอย่างนี้เพราะมันเป็นอิมเมจก็ต้องทำ มีการเดินทางไปดูงาน คุยเจรจากับบริษัทบันเทิงต่างประเทศ มันก็แบบไม่ค่อยใช่เราเท่าไหร่ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเดินผ่านกระจกบานใหญ่ในห้างสรรพสินค้า เรารู้สึกเราไม่ชอบตัวเองแบบนี้มากๆ ลุคมันเป็นนักธุรกิจ เราเบื่อ เราไม่ชอบแบบนี้ เราเผลอไปกับมัน”

“ เราก็รู้สึกว่าถ้ามันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกห่างเหินกับทีมงานกับนักร้องศิลปินของเรา อายุเราก็มากขึ้นเรื่อยๆ คนทำงานก็ผลัดเปลี่ยนเข้ามาเรื่อยๆ กลายเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน ถ้าเรายังทำแบบนี้เราจะเอาท์ เราจะทำงานแบบนี้ไม่ได้ เพราะคนทำงานแบบนี้ต้องมีความเป็น Young at Heart สิ่งแรกที่ผมทำคือเปลี่ยนตัวเองคือปรับข้างในก่อน พอ Young at Heart ข้างนอกมันเปลี่ยนหมดเลย

“ พอเราปรับเสร็จก็เริ่มคบเด็กพนักงานรุ่นใหม่ๆ เริ่มคุยภาษาเดียวกับเขา รับพนักงานก็อย่าเกินสามสิบ แล้วทีนี้มันก็ติดพวกโซเชียลเข้ามาด้วย ตอนนั้นยังเป็น Hi 5 เราก็รู้ว่าน่าสนใจก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ ปัจจุบันมันมีเฟชบุ๊ค มีแฟนเพจ มีไอจี มีทวิตเตอร์ อะไรแบบนี้ นี่แหละครับสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันไม่ได้มาจากอยู่ดีๆ ก็จะฉกตรงนี้เอามาเป็นธุรกิจ ฉกตรงนี้เอามาเป็นเครื่องมือ แต่เราปรับที่ตัวเราจนกระทั่งมันสอดคล้องไปกับพฤติกรรม”

Outside in ไม่ใช่ Inside out

นอกจากเติมความหนุ่มและแนวความคิดใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอแล้ว คุณนิคยังยึดการบริหารงานแบบรับฟังคนรอบข้างมากกว่าจะเอาแนวคิดของตัวเองเป็นหลัก นั่นก็คือการบริหารงานแบบ Outside in เปิดกว้าง รับฟัง ยอมรับความคิดของคนอื่น

“ตอนโซเชียลเข้ามาแรกๆ มันมาในลักษณะซาตาน มันมาฉกงานเราไปขายเพลง เราไม่ได้ขายเยอะแล้วแหละ แต่มันกลายเป็นมีเดียแล้วทำให้ศิลปินเราดัง เราขายอย่างอื่นได้ ขายเสื้อยืดได้ ขายคอนเสิร์ตได้ ศิลปินเราดังได้เพราะเรากุมมีเดียเราเอง ยูทูปมีคนดูเยอะขึ้น ยูทูปก็เอาตังค์มาให้เรา มันก็เริ่มซันไลท์ขึ้นมาบ้าง จากเดิมที่มันซันเซ็ท แต่ถามว่าเราต้องพลิกตัวเอง ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เกาะติดสถานการณ์ เราก็จะประสบปัญหาไปเรื่อยๆ ทำไมเพลงขายไม่ได้ ทำไมแผ่นไม่ขาย ก็จะเป็นบ้าเป็นบอไป”

“ถ้าเราปรับตัวดูจากยูทูป ฟังจากยูทูป เราจะรู้ว่าสิ่งไหนมา สิ่งไหนไม่มา เราจะต้องมีวิธีคิดแบบเอาท์ไซต์ อิน ไม่ใช่อินไซต์ เอาท์ แบบอินไซต์ เอาท์คือจะคิดแค่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไมเขาไม่ซื้อแผ่น ไปบังคับเขาซื้อแผ่น ผมไม่บังคับ แต่ผมทำแผ่นของผมให้มันน่าสะสม ทำให้น่ารักษา เริ่มมีแผ่นเสียงออกมาขาย มันก็เริ่มกลายเป็นที่ระลึก เรารู้ว่าศิลปินเราเป็นที่นิยมเรารู้ว่าแฟนเพลงของเราพร้อมจะสนับสนุน เราก็หาทางให้เขามีเหตุผลต้องจ่ายก็แค่นั้นเอง ฉะนั้นทำให้ถูกต้องในสิ่งที่เขาอยากได้ ผมว่ามันก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนแล้วเท่านั้นเอง”

ทุกวันนี้นอกจากคุณนิคจะมุ่งมั่นสร้างศิลปินและผลงานเพลงแล้ว เขายังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมหาศาล ซึ่งยืนยันได้จากเสียงตอบรับจากการพูดคุยในแฟนเพจ และแฟนหนังสือ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผู้บริหารท่านนี้ทำหน้าที่มากกว่าผู้บริหาร และจีนี่ เร็คคอร์ทก็มีบทบาทเหนือกว่าการเป็นค่ายเพลงทั่วไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook