ทีมเดิมปณิธานใหม่ ตั้งเป้าทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมเดิมปณิธานใหม่ ตั้งเป้าทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมเดิมปณิธานใหม่ ตั้งเป้าทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผลอประเดี๋ยวเดียว เราก็ผ่านปี 2565 กันมาครึ่งทางแล้ว คนทำงานหลาย ๆ คนก็มีอายุการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขอยกตัวอย่างคนที่เพิ่งเริ่มงานใหม่เมื่อช่วงปีใหม่ปีนี้ ปัจจุบันก็ถือว่าทำงานเต็ม 6 เดือนแล้ว ซึ่งก็นานพอที่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศของการทำงานในองค์กรปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง แน่นอนว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มซึ้งใจแล้วด้วยว่าการทำงาน ณ ที่ทำงานปัจจุบันมันไม่ปอกกล้วยเข้าปากอย่างที่คิด ทั้งงานทั้งคนมีความท้าทายเกิดขึ้นตลอดเวลา ปณิธานช่วงปีใหม่ หรือ New Year’s Resolutions ในเรื่องการทำงานที่เคยตั้งไว้ ปัจจุบันทำไปถึงไหนแล้ว ยังไปได้สวยหรือล่มสลายไปตั้งแต่เดือนมกราคม?

พอเวลาล่วงเลยมาถึงครึ่งปีแล้วแบบนี้ หลาย ๆ ทีมอาจจะมีการประเมินผลการทำงานของทีมเกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการทำงานตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา จากนั้นก็ระดมไอเดียเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงมีการตั้งปณิธานชุดใหม่ในครึ่งปีหลังเพื่อปลุกระดมขวัญและกำลังใจคนทำงาน ทีมงานอาจจะหน้าเดิม ๆ แต่ความปรารถนาส่วนรวมของทีมอาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลังจากที่เห็นผลการทำงานของทีมในช่วงครึ่งปีแรก ไอเดียปณิธานใหม่อีก 6 เดือนต่อจากนี้ หลาย ๆ ทีมอยากเห็นทีมตัวเองไปในทิศทางไหนกันบ้าง

พูดเสนอให้มากและฟังให้มากเช่นกัน
ทุกคนในทีมเดียวกัน ควรได้มีสิทธิ์เสนอความคิดเห็นของตนเองที่มีประโยชน์ต่อทีมอย่างเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่าทุกคนในทีมต้องรู้หน้าที่ของตนเองว่าต้องเตรียมความพร้อมและข้อมูลอะไรบ้างในการเข้าประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาตัวเข้าไปปรากฏตัวในที่ประชุม เมื่อที่ประชุมเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็น ปกติจะมีหน้าเดิม ๆ แค่ไม่กี่คนที่มักจะพูดเสนอความคิดเห็นหรือโต้แย้งในเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี หากเห็นด้วยพวกเขาจะพูดข้อเสนอแนะเพิ่มเติม แต่หากไม่เห็นด้วยพวกเขาจะโต้แย้งอย่างมีเหตุผล นั่นจึงน่าจะดีกว่าถ้าทุกคนได้พูด ได้ร่วมกันออกความเห็น และเมื่อมีคนพูดก็ต้องมีคนฟัง ฟังอย่างไร้อคติแล้วประมวลผลตาม

ผลประโยชน์ทีมเป็นศูนย์กลาง
ในการทำงานเป็นทีม โดยทั่วไปเราต่างรู้กันดีว่าผลประโยชน์ของทีมย่อมมาก่อนเสมอ ทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี รวมถึงช่วยสนับสนุนกันและกันเพื่อให้งานสำเร็จเสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ยึดถือเอาประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อน จึงจะเกิดเป็นความสามัคคี เมื่องานจบได้รับผลลัพธ์ที่ดี ก็ยินดีกับความสำเร็จร่วมกัน เพราะความสำเร็จนั้นไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเกิดจากคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมมือร่วมแรงกัน ดังนั้น อย่ามัวแต่กอดผลประโยชน์ตัวเองไว้ไม่ยอมปล่อย เมื่อทีมประสบความสำเร็จ ประโยชน์ส่วนบุคคลก็จะปรากฏขึ้นเอง

การสื่อสารต้องไม่บกพร่อง
โดยเฉพาะกับทีมงานขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกหลายคน การสื่อสารที่ผิดพลาดเพียงนิดเดียว อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องวิ่งวุ่นตามแก้ไม่จบไม่สิ้น ทำงานเป็นทีมควรเน้นการสื่อสารแบบลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก เพื่อให้มีหลักฐานทุกอย่าง และป้องกันการถูก “แปลงสาร” ด้วย อีกเรื่องที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการใช้คำที่กำกวมสร้างความเข้าใจผิด ระวังเรื่องน้ำเสียง สีหน้า และภาษากาย รวมถึงการสื่อสารที่ไม่เห็นหน้า ล้วนมีผลต่อการตีความ การสื่อสารในทีมที่สัมฤทธิ์ผล ทุกคนต้องเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ถามกลับได้เมื่อมีข้อสงสัย ถ้าที่ผ่านมาเคยสื่อสารไม่เป็นระบบแล้วพบว่างานผิดพลาดเป็นประจำ จากนี้ไปต้องปรับเปลี่ยน อาจจะเสียเวลากว่าเดิมนิดหน่อย แต่ป้องกันความผิดพลาดไว้ดีกว่า

อย่าให้ความเคลือบแคลงใจทำลายความเชื่อใจ
ความเคลือบแคลงใจเป็นบ่อเกิดของความหวาดระแวง และความหวาดระแวงก็มีผลทำลายความเชื่อใจ การทำงานเป็นทีม สิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีให้กันคือความเชื่อใจและไว้ใจกัน เพราะเราต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว ทีมที่ปราศจากความเชื่อใจ สมาชิกต่างระแวงไม่กล้าไว้เนื้อเชื่อใจผลงานของเพื่อนร่วมทีม คิดว่าเราจะทำงานกันได้แบบสนิทใจจริง ๆ เหรอ เราจะมองหน้ากันได้จริง ๆ เหรอ เชื่อเถอะว่ามันทำให้เกิดบรรยากาศชวนอึดอัดมากกว่า ดังนั้น นี่อาจเป็นหน้าที่ของผู้นำทีมในการสมานรอยร้าว โดยการสร้างโอกาสให้แต่ละคนได้เปิดใจคุยกันถึงสิ่งที่เคลือบแคลงใจ เรื่องที่ค้างคา หันหน้ามาคุยกันแล้วเคลียร์ใจให้จบ เพื่อที่บรรยากาศในการทำงานจะได้ดีขึ้น

การแข่งขันแม้ดุเดือดแต่ต้องเคารพกติกา
สงครามระหว่างคนในทีมเดียวกันใครว่าไม่มี การเมืองในออฟฟิศมันก็เป็นสิ่งมาคู่กันกับสังคมการทำงานทุกที่นั่นแหละ ดูเผิน ๆ หลายคนก็อาจจะทำงานสามัคคีเข้าขากันดี รักใคร่ ปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครอยากจะทุ่มเทให้กับทีมถึงขนาดที่ต้องแลกกับงานส่วนตัวที่อาจด้อยลงหรอก ฟังดูอาจเหมือนละคร แต่ภายใต้การทำงานร่วมกันเป็นทีม การประเมินผลงานรายบุคคลก็ทำให้คนทำงานต้องเร่งพิสูจน์ศักยภาพในการทำงานของตนเองอยู่ดี สุดท้ายทุกคนก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอก็คือ คนที่มีวุฒิภาวะเขาจะเคารพกติกา ทุกองค์กรมีกติกาที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะชิงดีชิงเด่นแค่ไหน ใช้ความสามารถ อย่าเล่นนอกเกม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook