วิธีคิดและการเตรียมตัวของคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/me/0/ud/15/77457/work.jpgวิธีคิดและการเตรียมตัวของคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง

    วิธีคิดและการเตรียมตัวของคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง

    2022-02-11T08:31:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    การทำธุรกิจเป็นของตนเองในยุคที่หลายคนบอกว่าข้าวยากหมากแพง อาจเป็นสิ่งที่มือใหม่ในฐานะเจ้าของกิจการต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนและรอบด้าน และถ้าคุณคิดจะเป็นเจ้าของกิจการหรือเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตนเอง บทความนี้ ทีมงาน Tonkit360 เรียบเรียงมาจากเว็บไซต์การเงินและธุรกิจ Forbes ที่มีคำแนะนำ 8 ขั้นตอนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างจริงจัง

    1. จัดระบบความคิดของคุณให้ถูกต้อง
    เรามักได้ยินเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จแบบชั่วข้ามคืน เรื่องแบบนี้มักดึงดูดคนอ่านได้เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืนนั้นไม่เคยมีอยู่จริง เพราะคนที่จะก้าวสู่ความสำเร็จได้นั้นต้องผ่านเดือนปีที่ต้องสร้างความฝัน เอาความฝันมาทำให้เป็นจริง จนกระทั่งพวกเขาได้ที่ยืนอย่างชัดเจนในธุรกิจที่สร้างขึ้นมา ดังนั้น การจัดระบบความคิดก่อนจะเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก อันประกอบไปด้วย

    • ความสม่ำเสมอคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
      เจ้าของธุรกิจมือใหม่ส่วนใหญ่จะลงทุนลงแรงในช่วงแรกแบบทุ่มจนสุดตัว หรือบางคนก็เกินคำว่าสุดตัวโดยหวังว่าจะเห็นผลสำเร็จในเร็ววัน และเมื่อไม่เห็นผลสำเร็จพวกเขาก็จะเริ่มกังวลใจ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำมาถูกทางหรือเปล่า จากที่เคยทุ่มจนเกินร้อยก็จะเหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

    เจ้าของธุรกิจมือใหม่ล้วนต้องผ่านจุดนี้กันทุกคน ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยความสม่ำเสมอในการทำธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลงมือด้วยความพอดี และทำอย่างต่อเนื่องในจังหวะที่เท่ากัน คุณจะไม่วิตกจนมากเกินไปและจะทำให้คุณมีแรงและสติสู้ต่อแม้ต้องเจอกับอุปสรรค

    • มองหาช่องทางเพื่อต่อยอดธุรกิจอยู่เสมอ
      เจ้าของธุรกิจหลายคนเมื่อเริ่มต้นธุรกิจของตนเองได้แล้ว ก็จะลงมือทำแบบเดิม ๆ อย่างเดียวโดยไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้อาจส่งผลต่อการทำธุรกิจในระยะยาว ในฐานะเจ้าของธุรกิจเมื่อคุณเริ่มต้นกิจการได้แล้ว และยืนมาได้ในระดับหนึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อจากนั้นคือการมองหาลู่ทางเพื่อต่อยอดและสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจของคุณต่อไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวคุณจะไม่ตกยุค และมีโอกาสรอดมากกว่าในกรณีที่เกิดวิกฤติขึ้น

    2. สร้างความชัดเจนในไอเดียทางธุรกิจของคุณให้มากที่สุด
    บรรดากูรูทางธุรกิจมักบอกให้นักธุรกิจมือใหม่นั้นลงมือทำในสิ่งที่คุณรักหรือถนัด ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องจริงบางส่วน แต่ยังมีอีกสองเรื่องสำคัญที่คุณเองจำเป็นต้องชัดเจนด้วยเช่นกัน คือการสร้างผลกำไร และวิธีการแบบไหนที่คุณจะทำได้ดีที่สุดกับสิ่งที่คุณรัก อาทิเช่น คุณเป็นคนชอบทำอาหารและอยากเปิดร้านอาหารในเมืองเล็ก ๆ ที่มีร้านอาหารอยู่แล้วอย่างน้อยสามร้าน

    ถ้าเป็นเช่นนั้นการเริ่มธุรกิจของคุณก็จะยากขึ้นแล้ว และถ้าไอเดียของคุณยังไม่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญหาก็จะตามมา ดังนั้น ลองไตร่ตรองก่อนลงมือทำธุรกิจด้วยการถามตัวเองว่า “คุณชอบทำอะไร”, “คุณไม่ชอบทำอะไร” และ “คุณมีทางเลือกอื่นที่จะทำให้การทำธุรกิจของคุณง่ายขึ้นกว่าเดิมไหม”

    ทั้งสามคำถามนั้นจะนำคุณไปสู่ไอเดียทางธุรกิจที่ชัดเจน หรือถ้าคุณมีไอเดียอยู่แล้ว ทั้งสามคำถามจะช่วยขยายไอเดียคุณให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีก

    3. รู้จักว่าคู่แข่งของคุณคือใครและรู้ว่าตลาดของคุณอยู่ที่ไหน
    ผู้ประกอบการหน้าใหม่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มากกว่าจะเรียนรู้ว่าในตลาดของพวกเขาคู่แข่งคือใครและคู่แข่งกำลังพัฒนาอะไรอยู่ ขณะเดียวกันหลายคนมีไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังไม่รู้จักตลาดอย่างแท้จริง เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจของคุณถึงทางตันได้ง่าย ๆ ดังนั้น ก่อนจะลงมือทำธุรกิจคุณควรเริ่มด้วยการ

    สำรวจและศึกษาคู่แข่งและตลาดในเบื้องต้น เพื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใครในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
    สำรวจครั้งที่สองเพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาสินค้าหรือบริการโดยการสำรวจในครั้งนี้จะเป็นการนำเอาข้อมูลที่คุณได้มาในปัจจุบันมาวิเคราะห์ในทุก ๆ มุมมองของธุรกิจที่คุณกำลังจะเริ่มต้น
    แม้ว่าการทำ SWOT อาจะเป็นเรื่องที่หลายคนบอกว่าล้าสมัย แต่เอาเข้าจริงแล้วการนำข้อมูลจากการสำรวจแล้วมาดูว่าจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ก็นับว่าเป็นการพาธุรกิจของคุณไปให้ถูกทาง

    4. ลงมือเขียนแผนธุรกิจของคุณเอง
    หลายคนอาจบอกว่าเมื่ออยากทำก็ลงมือทำ จะให้มานั่งเขียนแผนธุรกิจให้ยุ่งยากทำไม แต่เอาเข้าจริงแล้วแผนธุรกิจนั้นจะช่วยให้คุณเห็นไอเดีย และจุดด้อยในการทำธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการเขียนแผนธุรกิจนั้นประกอบไปด้วย

    1. ข้อสรุปเกี่ยวกับธุรกิจและเป้าหมายในการทำธุรกิจของคุณ 2. รายละเอียดของธุรกิจหรือบริษัทที่คุณกำลังจะตั้งขึ้น 3. บทวิเคราะห์ทางการตลาด 4. โครงสร้างองค์กรเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการว่าจ้างพนักงานหรือจำนวนคนทำงาน 5. เป้าหมายและภารกิจที่ต้องทำ 6. ผลิตภัณฑ์และบริการ 7. ข้อมูลเบื้องลึกของธุรกิจที่คุณกำลังจะลงสู่ตลาด 8. แผนการตลาด และ 9. แผนการเงิน

    5. สร้างโครงสร้างบริษัทของคุณด้วยตัวคุณเอง
    โครงสร้างบริษัทคือการเลือกว่าคุณจะประกอบกิจการในฐานะบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วน เพราะในรูปแบบของโครงสร้างบริษัทแต่ละประเภทนั้นมีความเสี่ยงและการดำเนินงานในรายละเอียดที่ต่างกัน หากต้องเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองควรเริ่มต้นด้วยการทำโครงสร้างบริษัทของคุณให้แข็งแรงด้วยเช่นกัน

    6. งานเอกสารและการจัดตั้งบริษัทคือเรื่องที่คุณไม่ควรละเลย
    หลายคนมักจะหันหน้าหนีเมื่อต้องเจอกับงานเอกสาร หรือการจดทะเบียนบริษัทที่มีรายละเอียดหยุมหยิม หากในความเป็นจริงแล้วเรื่องแบบนี้คุณต้องดูด้วยตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชื่อบริษัทและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนการค้าและการจดหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัท รวมไปถึงการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาต ในกรณีที่ธุรกิจของคุณนั้นต้องการใบอนุญาตในการทำงาน

    7. เงินทุนในการสร้างธุรกิจ
    นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างธุรกิจของคุณ และการหาเงินทุกก็มีด้วยกันสองทาง ทางแรกคือเงินทุนที่คุณหาของคุณเอง อาทิ เงินออมของคุณที่จะเอามาสร้างธุรกิจ กดเงินจากเครดิตการ์ด หรือแม้แต่ระดมเงินทุนจากครอบครัวหรือเพื่อนที่เห็นโอกาสในธุรกิจของคุณ แต่กับอีกหลายคนการลงทุนทางธุรกิจต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยพวกเขาจึงใช้วิธีหาเงินลงทุนจาก สถาบันการเงินด้วยการกู้เงินเพื่อธุรกิจ หาผู้ร่วมทุนที่เรียกว่า Venture Capital

    8. สร้างตลาดให้กับธุรกิจของคุณ
    คนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ หลายรายมักจะทุ่มเงินลงไปในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยเริ่มแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไว้เพื่อทำการตลาดให้คนทั่วไปได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของตนเอง หลายคนเชื่อว่าของดีย่อมเกิดการบอกต่อ แต่พวกเขาก็ลืมถามตัวเองไปอีกว่าของดีนั้นมีเพียงแค่คุณเจ้าเดียวหรือเปล่า ถ้าไม่ได้มีเจ้าเดียวแต่อีกเจ้าทำการตลาดแล้วคุณจะทำอย่างไร ดังนั้น ขอให้คิดถึงการทำการตลาดเอาไว้ด้วยในกรณีที่คุณคิดจะทำให้ธุรกิจของตนเอง ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง