ภาวะ Social Jet Lag เมื่อชีวิตไม่แมตช์กับเวลาทำงาน
อาการ Jet Lag มักเกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งเดินทางข้ามประเทศที่ไทม์โซนแตกต่างกัน และนาฬิการ่างกายเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ทำให้เขาหลับเราตื่น เขาตื่นเราหลับ กิจวัตรต่างจากชาวบ้านทั่วไป ดูเป็นอาการที่หรูหราหมาเห่าเพราะน้อยคนนักจะได้เดินทางไปต่างทวีป แต่รู้หรือเปล่าว่าอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและเป็นกันมากในหมู่คนทำงานโดยไม่ต้องเสียตังค์ข้ามน่านฟ้าเลยสักแดงกับ Social Jet Lag
Social Jet Lag คืออะไร?
Social Jet Lag คือภาวะหรืออาการที่นาฬิกาชีวิต (Biological clock) เมาเวลาจนทำงานผิดปกติส่งผลให้รู้สึกง่วงในช่วงเช้า แต่สดชื่นในตอนใกล้มืดสวนทางกับวิถีชีวิตสังคม (Social) ที่เริ่มงาน 8 โมง ตอกบัตรกลับ 5 โมงเย็นนั่นเอง
อาการเมาเวลานี่มักเกิดจากการเหน็ดเหนื่อยหลังจากทำงานอย่างหนักหน่วงตลอด 5 วัน วินาทีของวันศุกร์เย็นเราจะรู้สึกมีความสุขมากและพร้อมกับการปาร์ตี้เพื่อสลัดทุกความเมื่อยล้าและเสียงไลน์ของเพื่อนร่วมทีม โดยหวังว่าคืนนี้จะจัดให้หนักเพราะถึงอย่างไรพรุ่งนี้ก็วันเสาร์ ที่เรานอนดึกตื่นสายได้
แม้การแก้แค้นการทำงานด้วยวิธีแบบนี้อาจช่วยให้เราผ่อนคลายได้ แต่ย่อมแลกมาด้วยลักษณะการตื่น-นอน ที่ได้รวนเป็นที่เรียบร้อย เพราะก่อนหน้านี้เราตื่นเช้าอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาพเช้าวันจันทร์คล้ายกับอาการ Jet Lag ที่เป็นเหมือนหน้าหนึ่งของหนังสยองขวัญที่ต้องตื่นด้วยเสียงโหยหวนจากนาฬิกาปลุกเพื่อลุกมาทำงาน
ซึ่งภาวะ Social Jet Lag นี้ไม่ได้ทำให้เช้าทำงานเป็นวันที่ไม่กระปรี้กระเปร่าแล้วยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน และปัญหาทางสุขภาพจิตที่รู้สึกหงุดหงิดง่ายตลอดเวลา
วิธีหนี Social Jet Lag ล่ะ?
สิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาอาการดังกล่าวคือการกลับมาควบคุมภาวะการนอนเหมือนเราเมื่อสมัยอนุบาล โดยในช่วงเวลากลางวันเพื่อป้องกันความรู้สึกสลึมสลือให้ใช้แสงจากหลอดไฟหรือดวงอาทิตย์ช่วยด้วยการนั่งทำงานในที่ๆ มีแสงส่องถึง และในตอนนอนก็ต้องมั่นใจว่าไม่มีแสงใด (รวมถึงแสงหน้าจอ) เข้ามากระทบดวงตา เพราะนี่คือการแมสเสจบอกสมองให้นอน-ตื่นด้วยการใช้ความสว่างนั่นเอง
หรือแม้แต่หลายบริษัทรุ่นใหม่จะมีนโยบายเริ่มทำงานที่สายขึ้นเพื่อตอบสนองชีวิตผู้ใหญ่สมัยนี้ที่มีวิถีชีวิตเริ่มคล้ายนกฮูกเข้าไปทุกที โดยเริ่มทำงานตอน 10โมงเช้าและแสกนนิ้วออกออฟฟิศสวยๆ ตอน 1 ทุ่มก็มีให้เห็นบ้างเช่นกัน อาจดูเหมือนขี้เกียจแต่ไม่น่าเชื่อว่าด้วยลักษณะการจัดตารางงานให้เหมาะสมกับลักษณะการนอน (Sleep Pattern) กลับช่วยให้พนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ
สรุปแล้วโรค Social Jet lag เป็นอาการเมาเวลาที่สวนทางกับสังคมปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียไร้กำลังสู้งานที่มีต้นเหตุมาจากการจัดเวลาไม่ถูกต้องทั้งตั้งใจหรือธรรมชาติกลั่นแกล้ง (รถติด งานเยอะ OT) เพื่อให้เส้นทางมนุษย์เงินเดือนมีประสิทธิภาพมากขึ้นควรที่จะควบคุมการนอนให้สอดคล้องกับเวลาเข้างานดีกว่าและอย่าแก้เผ็ดงานหนักด้วยการนอนดึกวันเสาร์ล่ะเดี๋ยวจะพังเอา
ว่าแล้วก็แอบเจ้านายไปนอนสักงีบดีกว่า แต่ก่อนไปถ้าชอบอ่านบทความสุขภาพแบบนี้มาแวะต่อได้ที่ iNN Lifestyle นะ