คุยเรื่องกันดั้มและการส่งออกวัฒนธรรมไทย กับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์”

คุยเรื่องกันดั้มและการส่งออกวัฒนธรรมไทย กับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์”

คุยเรื่องกันดั้มและการส่งออกวัฒนธรรมไทย กับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึง “กันดั้ม” หลายคนคงคิดถึง “ของเล่นราคาแพง” ที่มักจะมีเรื่องราวดราม่าบนโซเชียลมีเดียแวะเวียนมาให้ได้เห็นกันอยู่เนือง ๆ สำหรับคนทั่วไปแล้ว กันดั้มก็คงเป็นเพียงของฟุ่มเฟือยที่ยากจะเข้าใจ แต่สำหรับผู้ที่รักและหลงใหลในหุ่นยนต์เหล่านี้ มันก็เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตที่คอยสร้างความสุขและความสบายใจให้กับพวกเขา จากการ์ตูนทีวีเพียงเรื่องเดียวก่อให้เกิดกระแสสังคมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายตามออกมา 

แล้วอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้กันดั้มประสบความสำเร็จและสามารถครองใจแฟน ๆ กันดั้มได้อย่างยาวนานกว่า 40 ปี Sanook พูดคุยกับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ยอมเสียสละห้องนอนของตัวเองเป็นห้องเก็บกันดั้ม ถึงความหลงใหลในหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่นนี้ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะส่งออกวัฒนธรรมเพื่อครองใจคนทั่วโลกเหมือนที่กันดั้มทำสำเร็จมาแล้ว

ตกหลุมรักกันดั้ม 

“กันดั้มครบรอบ 40 ปี เมื่อปีที่แล้ว ผมปีนี้จะ 49 ตอนนั้นก็เด็ก อายุไม่ถึงสิบขวบ เด็กต่างจังหวัดตอนนั้นก็ไม่มีทีวีดู มีแต่หนังสือการ์ตูน เราก็อ่านการ์ตูน มีทั้งโดราเอมอน คำสาปฟาโรห์ กันดั้มก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่พอมีโอกาสได้กันดั้มชิ้นแรกมาประกอบ นานแล้วจำไม่ได้ มันก็สนุก” ดร.พันธุ์อาจเริ่มเล่า

แม้จะเริ่มต้นจากการเล่นต่อเรือรบเครื่องบินรบ แต่กันดั้มชิ้นแรกที่ได้ต่อก็ทำให้ ดร.พันธุ์อาจ ตัดสินใจย่างเท้าเข้าสู่วงการ “โมเดลกันดั้มพลาสติก” หรือ “กันพลา” ทันที รวมทั้งเป็นคนที่ติดตามการ์ตูนกันดั้มมาตลอด จึงทราบเรื่องราวที่มาที่ไปของหุ่นยนต์แต่ละตัว ส่งผลให้การเก็บสะสมและการต่อกันดั้มเป็นเรื่องที่สนุกมากยิ่งขึ้น แม้จะมีราคาแพงก็ตาม 

“ปัจจัยที่ทำให้มันแพง คือหนึ่งมันเป็นสินค้านำเข้า ถามว่าแพงไหมสำหรับเด็ก ถ้าต้องไปขอพ่อแม่ เขาก็จะมองว่าแพง เวลาไปร้านกันดั้ม พ่อก็จะถามว่ามีตัวที่ราคา 300 - 400 ไหม ซึ่งมันมีไม่เยอะ ปัจจัยที่สองคือมันเป็นลูกเล่นของธุรกิจโมเดล คิดง่าย ๆ คือเมื่อสินค้าผลิตออกมา ถ้าคุณไม่รีบซื้อมันจะหมด แล้วถ้าคุณดูการ์ตูนอีก คุณก็จะมีอาการอย่างหนึ่งคือต้องเก็บให้ครบ และสุดท้ายคือทำมาน้อย ต้องสั่งซื้อ ก็ทำให้ยิ่งแพงเข้าไปอีก” ดร.พันธุ์อาจอธิบาย 

การ์ตูนหุ่นยนต์ที่ครองใจคนทั้งโลก

ขณะที่แฟน ๆ ผู้หลงใหลในหุ่นยนต์ต่อสู้อาจมีเหตุผลส่วนตัวมากมายที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนี้ แต่ ดร.พันธุ์อาจ ก็มองว่า สิ่งที่ทำให้กันดั้มกลายเป็นหุ่นยนต์ขวัญใจคนทั้งโลกคือ “เนื้อเรื่อง” ที่เชื่อมโยงและสะท้อนโลกความเป็นจริงได้อย่างสนุกสนาน ผ่านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ค่อย ๆ มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น 

“เนื้อเรื่องของมันคือเรื่องที่เราเจออยู่” ดร.พันธุ์อาจตอบ เมื่อเราถามว่าเสน่ห์ของกันดั้มคืออะไร “มันก็กลายเป็นเรื่องการเมืองที่อยู่ในการ์ตูน แล้วถามว่าอนาคตมันเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปได้ เพราะมันก็เริ่มมีเทคโนโลยีที่มากกว่าในตัวหุ่นยนต์ที่เป็นพลาสติก ก็มีคนมองว่ามันใกล้เข้าไปทุกทีในการที่เราจะทำหุ่นยนต์” 

“แล้วมันก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เราสืบทอดกันมา การที่เราไม่สามารถแบ่งความดีกับความชั่วได้ 100% เพราะว่าตอนหนึ่งคุณอาจจะเห็นความไม่ดีของซีออน (Zion) อีกสักพักคุณอาจจะเห็นความไม่ดีของเอิร์ธ เฟเดเรชั่น (Earth Federation) มันมีทั้งคนดีและคนเลวอยู่ทั้งสองฝั่ง มันจึงเป็นการต่อสู้ของปรัชญาทางการเมือง ความดี และสิทธิความเป็นมนุษย์ ซึ่งบางคนเขาก็จะอินเรื่องนี้ แต่บางคนก็อินเรื่องดีไซน์หุ่นที่สวยงาม ก็เลยต้องเก็บให้ครบ และสุดท้ายคือมันเป็นการต่อยอดจินตนาการได้ คือการที่เราได้กันดั้มมาหนึ่งตัว มันไม่ได้จบแค่นั้น แต่มันต้องไปซื้อสี ต้องทำชั้นวาง ต้องทำฉากที่ต้องใช้จินตนาการ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นงานอดิเรกที่เราใช้เวลาอยู่กับมันได้ตั้งแต่เด็กจนแก่ตายเลย” ดร.พันธุ์อาจกล่าว 

มอง “กันดั้ม” แล้วย้อนดูเรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมการ์ตูนได้หลอมรวมอยู่ในชีวิตและวิถีประจำวันของคนญี่ปุ่น เช่น การอ่านการ์ตูน ถึงแม้เทคโนโลยีจะพัฒนามากขึ้น และเปลี่ยนให้การอ่านหนังสือการ์ตูนกลายเป็นการอ่านในรูปแบบดิจิทัลแล้วก็ตาม แต่การ “เสพ” การ์ตูนก็ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก่อนที่วัฒนธรรมเหล่านี้จะค่อย ๆ เดินทางไปยังพื้นที่อื่นบนโลก 

“แปลว่ามันมีวัฒนธรรมที่เป็นสื่อกลาง มันสร้างความเป็นนานาชาติได้แล้ว เมื่อมีเรื่องราว มีคอนเทนต์ มันก็เลยต้องมีของที่ต้องอยู่กับภาพหรืออนิเมชั่นเหล่านั้น ซึ่งก็กลายเป็นของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นฟิกเกอร์ หรือพลาโม่ (พลาสติกโมเดล) ที่เขาเรียกกันว่า Collectable Items หรือสินค้าสะสม ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมของกลุ่มคนอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา” ดร.พันธุ์อาจอธิบาย 

เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทย มีความพยายามหลายครั้งที่จะส่งออกวัฒนธรรมไทยออกไปขายยังต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่ง ดร.พันธุ์อาจ แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือการก้าวข้ามความเป็นท้องถิ่นให้ได้ 

“ความเป็นไทยยังมีอยู่นะ แต่คุณกำลังสื่อสารกับคนทั่วโลก ซึ่งมันก็ตอบยากนะเพราะญี่ปุ่นเอง อย่างกันดั้มกันพลาหรือโมเดล เมื่อก่อนคือทั้งกล่องไม่มีภาษาอังกฤษเลย ยกเว้นชื่อหุ่นกับชื่อรุ่น นอกนั้นเปิดไปดูในแผงแล้วไปอ่านคู่มือ เป็นภาษาญี่ปุ่น 100% ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ เริ่มมีภาษาอังกฤษบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะบอกว่าสื่อสารกับต่างประเทศแล้วจำเป็นต้องมีภาษาอื่นไหม มันก็ไม่ใช่ เขาก็ยังคงความเป็นญี่ปุ่น อย่างตัวลิมิเต็ดอิดิชั่นหรือสเปเชียล เขาก็ไม่ขายคนต่างประเทศ เขาก็ขายเฉพาะคนญี่ปุ่นก่อน”

ดังนั้น ดร.พันธุ์อาจ จึงมองว่า หากประเทศไทยอยากประสบความสำเร็จในด้านการส่งออกวัฒนธรรมของตัวเอง เหมือนในกรณีกันดั้ม ประเทศไทยต้องเอา “คอนเทนต์นำ” กล่าวคือ ต้องสามารถผลิตคอนเทนต์ที่ “อยู่เหนือกาลเวลา” ให้ได้ก่อน 

“อาจจะเป็นคอนเทนต์ที่ผสมผสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ้าเราดูกันดั้ม ชุดที่คนในกันดั้มใส่มันเป็นชุดจากยุคบาโรกเลยนะ แต่เขาก็เอาคนที่แต่งตัวแบบนี้มานั่งขับหุ่นยนต์อวกาศ มันเป็นอมตะ มันเป็นเรื่องของการผสมผสานและเป็นความกล้าของการเอาวัฒนธรรมอื่นมา แต่ขณะเดียวกัน ก็มีวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอยู่ด้วย คือการดีไซน์กันดั้มก็มาจากภาพซามูไรแปลงมาเป็นกันดั้ม ดังนั้น เราต้องหาจุดบาลานซ์ตรงนี้ให้ดี” 

สุดท้าย ดร.พันธุ์อาจ ยังย้ำว่า สิ่งสำคัญของการจะสร้างมูลค่าให้กับวัฒนธรรม คือการเพิ่มคุณค่าให้งานเหล่านั้นก่อน เพราะเมื่อใดก็ตามที่งานมีคุณค่า ราคาก็จะตามมา ดังเช่นหุ่นยนต์กันดั้มที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การเล่นกันดั้มกลายเป็นการเก็งกำไรสำหรับใครหลายคน แต่เหนือกว่ามูลค่าและราคาเพื่อเก็งกำไร หุ่นยนต์กันดั้มก็ยังมี “คุณค่าทางใจ” ที่ประเมินค่าไม่ได้สำหรับนักสะสมกันดั้มทุกคน

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ คุยเรื่องกันดั้มและการส่งออกวัฒนธรรมไทย กับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook