หาคำตอบ! เพราะอะไรเวลาอกหัก หลายคนถึงอยากเมา
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาที่คนใกล้ตัว (หรือแม้แต่ตัวเราหลาย ๆ คนในบางครั้ง) เวลาที่รู้สึกเศร้า เครียด หดหู่ หรือที่เห็นชัดเจนคือ “ยามอกหัก” ใครหลายคนถึงถวิลหาสิ่งที่เรียกว่า “แอลกอฮอล์” กันเหลือเกิน แอลกอฮอล์ในที่นี้ไม่ใช่แอลกฮอล์สำหรับล้างแผลสดที่อยู่ภายในใจ แต่เป็นแอลกอฮอล์เครื่องดื่มที่อยากดื่มในช่วงเมารัก โดยที่ยามปกติแล้ว ใครหลายคนไม่เคยมีความคิดที่จะลองด้วยซ้ำ แล้วอาการอยากเมาเวลาเป็นทุกข์นั้นมาจากไหน Tonkit360 จะพาไปหาคำตอบ
อาการอยากเมาสัมพันธ์กับความเศร้าจริงหรือไม่
อาการอยากดื่มแอลกอฮอล์เวลาที่อกหักนั้นสัมพันธ์กับภาวะความเศร้าของเราหรือไม่ ก่อนอื่นอยากชวนทุกคนมาลองสังเกตบุคลิกในแบบต่าง ๆ จากคนที่เมา จะพบว่าอาการของคนเมานั้นแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ มีทั้งพวกที่เมาแล้วเผยร่างมาร บางพวกเมาแล้วอาละวาดสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว บางพวกเมาแล้วปลิ้น บางพวกเป็นพวกเมาแต่ไม่เดือดร้อนใคร ฟุบโต๊ะหลับไปเลย และบางพวกก็เป็นพวกที่เมาแล้วนั่งร้องไห้ อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องเล่น ๆ เพราะคนเป็นได้ขนาดนี้เวลาขาดสติเพราะฤทธิ์แอลกฮอล์
จะเห็นได้ว่าบุคลิกการเมานั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือพวกเมาแล้วดีด เช่นกลายเป็นอันธพาล เผยร่างมืด หรือไปก่อเรื่องเพี้ยน ๆ กับคนอื่น กับพวกเมาแล้วมึน ก็มีที่มึนมากจนไปเฝ้าพระอินทร์ กับมึนแบบหลบมุมไปนั่งร้องไห้ นั่งพร่ำเพ้อพรรณาความทุกข์ความโศกในใจออกมา
สมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) นั้นเป็นสมองส่วนที่อ่อนไหวง่ายที่สุดเมื่อเจอฤทธิ์แอลกอฮอล์ เนื่องจากสมองส่วนนี้มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานด้านความจำและอารมณ์ แอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซโรโทนินและเอนดอร์ฟินในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาควบคุมอารมณ์และความรู้สึกให้ผ่อนคลายและมีความสุข
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ University of Chicago ได้ศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองของคนต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ จากนักดื่มสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพวกที่ดื่มเล็กน้อย กับอีกพวกเป็นพวกที่ดื่มหนักเหมือนอาบเหล้าทุกวัน ผลการศึกษาพบว่าคนสองกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมือนกัน พวกที่ดื่มแล้วดีด มีแนวโน้มจะเป็นพวกที่ดื่มหนัก ส่วนพวกที่ดื่มแล้วมึนอึนงง เป็นพวกที่มีแนวโน้มจะดื่มตามโอกาส แต่ก็ประคองสติสตังไม่อยู่เหมือนกัน
โดยนักวิจัยผู้ศึกษาพบว่าคนแต่ละกลุ่มมีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ในเลือดต่างกัน นั่นทำให้ฤทธิ์แอลกฮอล์ตอบสนองต่อสมองต่างกันด้วย อย่างไรก็ดี ผลสรุปที่น่าสนใจของงานวิจัยนี้กลับพบว่า นอกจากสมองและกลไกการทำงานของร่างกายคนเราแต่ละคนนั้นจะตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ต่างกันแล้ว ปัจจัยทางพันธุกรรมก็มีผลต่อการตอบสนองฤทธิ์แอลกอฮอล์ด้วยเหมือนกัน
นักวิจัยพบยีนในร่างกายมนุษย์อย่างน้อยหนึ่งยีน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง อย่างพวกความจำและความสนใจ การทำงานที่แปรปรวนของยีนนี้อาจส่งผลให้ใครหลายคนเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์ในภาวะซึมเศร้า และกลายเป็นเสพติดการดื่มไปได้
ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ต้องการจะเมาเวลาที่ตนเองทุกข์ใจนั้น เข้าใจว่าการเมาจะช่วยให้หลับได้สบายขึ้น หลับแบบไม่รู้เรื่อง และสมองก็ไม่มีสติมากพอจะคิดซ้ำ คิดวนกับเรื่องที่เป็นทุกข์ พอตื่นมาก็ปวดหัวอีก ไม่มีอารมณ์จะมาคิดเรื่องเจ็บปวด คนกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มในการดื่มเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ผ่านไปได้ยากในสภาวะปกติ
อีกหนึ่งสมมติฐานที่ได้จากสังเกตคนใกล้ตัวที่เมาเพราะอกหัก สิ่งที่ง่ายและฟังดูสมเหตุสมผลก็คือ มันขึ้นอยู่กับอารมณ์ช่วงที่ไปเมา ถ้าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราจะอยากดื่มจนเมาฟุบหลับแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวใด ๆ ทั้งสิ้น ก็คือตอนที่เรากำลังมีทุกข์ ส่วนหนึ่งฤทธิ์แอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้เราเปิดเผยอารมณ์ที่เก็บไว้ออกมา คล้ายกับเมาแล้วเผยด้านมืดที่อยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะเราไม่มีสติมากพอจะควบคุมตัวเองอีกแล้ว
นั่นทำให้หลายคนเมื่อเมาแล้วพล่ามเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในใจ ไม่ก็พูดความลับต่าง ๆ ออกมาโดยไม่รู้ตัว พอได้พูดได้ระบายสิ่งที่มันบีบคั้นเก็บแน่นในใจออกมา สภาพจิตใจมันก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือคนกลุ่มนี้หลอกสมองตัวเองโดยใช้แอลกอฮอล์ เพื่อทลายกำแพงที่เราสร้างขึ้นมาห่อหุ้มเรื่องราวในใจในยามปกติที่มีสติให้ออกมา การเมาจึงเป็นเหมือนทางออกหนึ่งเพื่อใช้รับมือกับปัญหาที่ไม่สามารถใช้สมองแก้ได้
หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็คือ กลุ่มเพื่อนที่มักจะไปนั่งเมาด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่อยู่ในภาวะ “หัวอกเดียวกัน” เครียดเรื่องที่บ้านเหมือนกัน เครียดเรื่องที่ทำงานเหมือนกัน อกหักเหมือนกัน ทำให้คนกลุ่มนี้ต่างเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการเมาแล้วได้นั่งปรับทุกข์กับคนที่เข้าใจความรู้สึกเราได้โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้มีกำลังใจไม่น้อยเลย
เศร้าบ่อยเลยอยากเมาบ่อยมีผลอะไรไหม
เราต่างก็รู้กันดีว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ค่อยจะให้ผลดีอะไรกับร่างกายเท่าไรเลย นอกจากโรคนู่นนั่นนี่จะถามหา และอาการเมาสติอยู่ไม่ครบร้อยที่ทำให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ ทำให้แนวโน้มที่อยากจะดื่มอยากจะเมานั้นมีความสัมพันธ์กับความเครียด อย่างเวลาที่อกหักเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก็รู้สึกเครียด ถ้าเศร้าบ่อย ๆ แล้วดื่มเป็นประจำ ก็มีโอกาสที่จะทำให้กลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าได้
เกือบหนึ่งในสามของผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ บ่อยครั้งที่จะรู้สึกซึมเศร้ามาก่อน มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่ซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะหันไปหาแอลกอฮอล์ในช่วง 2-3 ปี โดยเฉพาะผู้หญิง มีแนวโน้มที่จะเริ่มดื่มหนักมากกว่าเดิมสองเท่าหากมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
แต่การดื่มจะยิ่งทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลง คนที่ซึมเศร้าและดื่มมากจนเกินไปจะมีอาการซึมเศร้าบ่อยและรุนแรงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และยังมีแนวโน้มที่จะคิดฆ่าตัวตายด้วย ทั้งนี้การติดแอลกอฮอล์อย่างหนักก็อาจทำให้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่หมอจ่ายมามีประสิทธิภาพน้อยลง
ผลสำรวจโดยแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คนในสหรัฐอเมริกา เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรในขณะที่ดื่ม หรือมีความคิดจะดื่มเมื่อเกิดอาการเศร้า มีคนจำนวนมากที่พบว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้นเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดื่มสามารถนำไปสู่ความสุขได้ชั่วคราว นั่นทำให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเวลาเป็นทุกข์ไปได้ แต่คนที่มีความสุขจากการดื่มนั้นก็เสี่ยงต่อการเสพติดการดื่ม เพราะอยากจะดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ตนเองมีความสุขต่อไป
อย่างไรก็ดี เกือบ 52 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามเปิดเผยว่าพวกเขามีความคิดที่หดหู่ขณะดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มมากเกินไปมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจมากกว่าผู้ที่ดื่มตามมาตรฐาน และเกือบ 17 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี ระบุว่าแม้ว่าจะนั่งดื่มอยู่ก็ยังทำให้พวกเขารู้สึกเศร้าอยู่ดี นั่นหมายความว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อดื่มแอลกฮอล์
ท้ายที่สุดแล้ว ยิ่งคุณดื่มบ่อยเท่าไร คุณก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคติดสุรา และสมองก็ยิ่งเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณมีอารมณ์แปรปรวนมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป