วรากฤช วิวัฒนาเกษม : ผู้ก่อตั้ง V.A.C. ที่ใช้ “มังงะ” ขับเคลื่อนจินตนาการในธุรกิจสตรีทแวร์

วรากฤช วิวัฒนาเกษม : ผู้ก่อตั้ง V.A.C. ที่ใช้ “มังงะ” ขับเคลื่อนจินตนาการในธุรกิจสตรีทแวร์

วรากฤช วิวัฒนาเกษม : ผู้ก่อตั้ง V.A.C. ที่ใช้ “มังงะ” ขับเคลื่อนจินตนาการในธุรกิจสตรีทแวร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

V.A.C. THAILAND คือ ร้านสตรีทแวร์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ที่ดำเนินกิจการมาเป็นระยะกว่า 10 ปี ก่อตั้งโดย บ๊อบ - วรากฤช วิวัฒนาเกษม

ตลอดเวลา 1 ทศวรรษ บ๊อบ - วรากฤช สร้างสีสันและความแปลกใหม่กับวงการธุรกิจแฟชั่น ตั้งแต่การนำเข้าสินค้าสุดพิเศษ ที่ผู้คนต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อแย่งชิงกัน

ไปจนถึงการผุดสินค้าแบรนด์ตัวเองในชื่อ V.A.C. Culture ที่มีคาแรกเตอร์สุดกวนและเท่ อาทิ  การทำสินค้าคอลเลกชั่นพิเศษกับ Rae Lil Black ดารา AV ชื่อดังระดับโลก 

หรืออย่างกรณีล่าสุด V.A.C. ได้ไป Collaboration กับ “นารูตู่” เพจล้อการเมืองสุดจี๊ด ที่นำเอาหน้าท่านนายกประยุทธ์ ฯ มาดัดแปลงอยู่ในร่างของ อุจิวะ ซาสึเกะ 

ความกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่, ไอเดียสุดสร้างสรรค์ และตัวตนที่ชัดเจนของ บ๊อบ วรากฤช คือ สิ่งที่ผลักดันแบรนด์ V.A.C. เข้าสู่ปีที่ 10 ได้อย่างแข็งแรง ขยายธุรกิจไปถึง 7 สาขา 

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่หล่อหลอมให้เขากล้าคิดนอกกรอบ คือ การ์ตูนมังงะ ที่เป็นอีกหนึ่งความชอบของ บ๊อบ วรากฤช… แฟชั่นและมังงะ เข้ามาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรในชีวิตของ บ๊อบ วรากฤช  หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

มีคนเคยบอกว่าความชอบในวัยเด็กมักส่งผลมาถึงสิ่งที่ทำในตอนโต อะไรคือสิ่งที่ บ๊อบ วรากฤช ชื่นชอบตอนวัยเยาว์

เท่าที่จำได้ เหมือนเด็กทั่วไป ชอบเล่นกีฬา ชอบศิลปะ และอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะมาก ผมไม่ได้อ่านฝั่งอเมริกานะ ส่วนเกมเล่นบ้าง แต่ไม่ได้เยอะมาก

มีความฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการด้วยไหม ?

คำพูดที่ว่า “อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ” ไม่เคยอยู่ในหัวเลย ถึงจะมีคุณพ่อเป็นนักธุรกิจ 

เราเหมือนเป็นแค่เด็กเกเรคนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้คิดถึงอนาคตว่าอยากเป็นอะไร ไม่ได้สนใจเรื่องการสร้างรายได้ ความรับผิดชอบแม้แต่นิดเดียว ถ้าความฝันในตอนเด็ก คงมีแค่อยากเป็นนักฟุตบอล กับ สถาปนิก

อ่านมังงะเรื่องอะไรบ้าง ? 

บอกไม่ได้จริง ๆ เพราะว่าผมอ่านเยอะมาก เคยนับอยู่ตอนนี้ มีการ์ตูนที่อยู่ในมือประมาณ 2,000 เล่ม นี่ขนาดไม่รวม เล่มที่หายไปเยอะมาก ในตอนน้ำท่วม กับตอนย้ายบ้านนะ

สมัยก่อนมันไม่ได้มีอินเตอร์เนต สิ่งที่เป็นความบันเทิงของเรา มีแค่การ์ตูนกับกีฬา เกมก็ยังไม่ได้แพร่หลายเหมือนตอนนี้ 

มีเวลาว่างก็อ่านการ์ตูนตลอด เราชอบซื้อเก็บสะสมไว้ การ์ตูนหลัก ๆ ที่คนไทยอ่าน เรามีเก็บไว้หมด จะไม่อ่านสปอยในออนไลน์เด็ดขาด เป็นสิ่งที่เราซีเรียสมากเรื่องลิขสิทธิ์ 

ผมอ่านมังงะหลายแนว ทั้ง แฟนตาซี, แนวกีฬา, ประวัติศาสตร์, สายดาร์ก ผมจะเลือกซื้อจากหน้าปก ลองดูก่อนสัก 4-5 เล่ม อ่านเนื้อข้างใน เพื่อดูว่าไปต่อได้ไหม บางเรื่องมันก็ไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่ซื้อต่อ

เชื่อไหม เราเคยอ่านมังงะที่เป็นพล็อตเรื่องเกี่ยวกับชีวิตสัปเหร่อ หรือบางเรื่องพระเอกเป็นปลาแซลมอน พูดถึงการเดินทางของปลาแซลมอน ก็ตลกและสนุกดี  

 

การเสพการ์ตูนมังงะในวัยเด็ก มีผลต่อคุณในตอนที่เติบโตคนอย่างไร 

การ์ตูน ทำให้เราได้เสพงานศิลปะ และมองทุกอย่างเป็นศิลปะ ทุกวันนี้เราก็ยังหาเวลาให้ตัวเองอ่านการ์ตูนอยู่ตลอด เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย 

คนที่คิดว่า การ์ตูน เหมาะสมเฉพาะเด็กเท่านั้น นั่นคือคนที่มองการ์ตูนแบบผิวเผิน ความจริงแล้วการสร้างการ์ตูนสักเรื่องหนึ่ง มันมีความยากมาก ตั้งแต่การวางพล็อตเรื่อง, การเล่าเรื่อง, ไหนจะลายเส้นที่วาดออกมา 

รวม ๆ แล้วมีองค์ประกอบมากมาย ที่ส่งผลให้การ์ตูนเล่มหนึ่งประสบความสำเร็จ การอ่านการ์ตูนช่วยทำให้เราเป็นคนที่ไม่มีกรอบมาปิดกั้นจินตนาการ 

ดังนั้นสำหรับเรา การ์ตูน ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ และมันทำให้เราไม่ตัดสินใคร โดยที่ยังไม่ได้รู้ลึกเกี่ยวกับตัวเขา 

คุณใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น ที่สหรัฐอเมริกา 8 ปี ประสบการณ์เป็นอย่างไรบ้างครับ 

ผมคิดว่าถ้าตัวเองไม่ได้ไปอยู่ที่อเมริกา 8 ปี ตอนนี้ก็อาจไม่ได้เป็น บ๊อบ-วรากฤช แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ การไปอเมริกาทำให้ผมได้รู้จักตัวเองดีขึ้น มีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ของตัวเอง 

เพราะช่วงที่อยู่ไทย เราต้องอยู่ในกรอบของสังคม กรอบของครอบครัว กรอบของโรงเรียนที่มานั่งบอกว่า เด็กไทยที่ดีควรเป็นแบบไหน ? ลูกที่ดีควรเป็นอย่างไร ?

แต่การไปเรียนที่เมืองนอก เราไปใช้ชีวิตเป็นเด็กหอ ไม่มีใครมาคอยคุม ไม่มีพ่อแม่มาสั่ง ทุกคนต้องทำอะไรด้วยตัวเอง และมีความรับผิดชอบกับตัวเอง ยกตัวอย่าง เด็กทุกคนจะถูกบังคับให้เข้าทีมกีฬา จะเล่นเก่งไม่เก่งไม่เกี่ยว แต่ต้องเข้าชมรมกีฬาใดชมรมหนึ่ง ซึ่งเราต้องเลือกเอง 

มันกลายเป็นว่าเราได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรจริง ๆ เรา enjoy กับสิ่งไหน ? เช่น เราเป็นคนชอบพูดต่อหน้าคนหมู่มาก, เราชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป ไปจนถึงปั้นเซรามิค

 

ในวัยทำงานคุณเริ่มต้นทำงานที่แรกคือ “ไนกี้” เหตุผลไปสมัคร เกี่ยวกับความชอบส่วนตัวด้านแฟชั่น หรือสนีกเกอร์ของคุณด้วยหรือเปล่า ? 

ไม่เลย ผมคิดแค่ว่า กลับมาจากอเมริกาแล้ว ควรต้องเริ่มทำงาน ผมไปสมัครไนกี้ เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ใกล้บ้าน ตรงตึกเอ็มไพร์ 

เริ่มจากผมปรินท์ resume เดินเข้าไปในตึก เปิดดูว่าที่นี่มีบริษัทอะไรบ้าง ก็รู้จัก 3 ที่ หนึ่งในนั้นคือ ไนกี้ ผมก็ยื่นใบสมัครไป จากนั้น ไนกี้ เรียกเข้ามาสัมภาษณ์ เสร็จแล้วเขาก็ถามว่า “เริ่มงานได้เมื่อไหร่” ผมก็ตอบว่า เริ่มทำพรุ่งนี้ได้เลย ก็เลยได้เข้ามาทำงานใน ไนกี้ ประเทศไทย 

ตอนที่เข้าไปทำงานอยู่ในแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง ไนกี้ เป็นอย่างไรบ้าง? 

รู้สึกสนุกมาก เพราะเป็นองค์กรที่ไม่ต้องใส่เสื้อเชิ้ตไปทำงาน ตรงกับตัวเราที่เป็นคนสบาย ๆ ชอบใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ 

ประกอบกับช่วงนั้น ไนกี้ ไทยแลนด์ ยังเป็นแค่บริษัทเล็ก ๆ มีพนักงานแค่ 30-40 คนเองมั้ง เพราะศูนย์บัญชาการอยู่ที่ สิงคโปร์ ส่วนในเมืองไทย มีหน้าที่แค่ดูแลลูกค้ากับขนส่ง 

แต่ถ้าให้คนยุคนี้ไปทำ เขาอาจไม่มีความสุขก็ได้ เพราะหลาย ๆ อย่างที่ทำ มันนอกเหนือจากหน้าที่ตัวเอง 

ความคิดของเราตอนนั้น คือ เราเริ่มต้นจาก 0 เราไม่มีวิธีที่ยึดติดมาก่อน อันนี้ไม่ใช่งานของเรา ไม่ต้องทำก็ได้ เวลามีคนโยนงานให้ทำ เรา enjoy กับการได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เขาโยนงานให้ คงเพราะเห็นเราทำได้ดี 

ตอนนั้นเราทำงานจนถึง 4-5 ทุ่มเป็นเรื่องปกติเลยนะ ไม่ได้คิดเรื่องว่าต้องมีโอทีไหม เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีต่อตัวเราทั้งนั้น ถึงเราจะรู้สึกตัวเองทำงานหนัก แต่ก็มีความสุข

 

คุณทำงานที่ไนกี้ มา 5 ปี วันหนึ่งคุณตัดสินใจลาออกจากองค์กร ที่คุณบอกว่ามีความุสข มาเปิดกิจการของตัวเอง เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น 

เราย้ายแผนกมาสามครั้ง แผนกแรกที่เราทำคือ ฝ่ายขาย ส่วนแผนกสุดท้าย คือ Sport Marketing ซึ่งแผนกหลังสุดที่เราทำ ดันไม่มี Marketing Manager ในไทย หัวหน้าเราอยู่ที่สิงคโปร์ บางครั้งคนที่สิงคโปร์ กับคนที่อยู่เมืองไทย มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเราเป็นคนกลางก็หนักใจ เริ่มรู้สึกไม่สนุก เหมือนมีการเมืองในที่ทำงานเข้ามา 

เราจึงตัดสินใจลาออกมาเปิดช็อปไนกี้ เพราะเราอินกับแบรนด์ไนกี้มาก บวกกับเรามีความชอบในแฟชั่น และชอบความเป็นกีฬาด้วย อีกอย่างตรงสยาม ยังไม่มีช็อปไนกี้ ก็เลยวางแผนจะเปิดช็อป ไนกี้ 

จากความคิดแรกที่จะเปิดช้อปไนกี้ สุดท้ายกลายร่างมาเป็น V.A.C. Thailand ได้อย่างไร 

มันผิดแผนหมดเลย เพราะอยู่ ๆ ทางสิงคโปร์ก็บอกว่า เขาไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ เปิดสาขาใหม่ ทั้งที่ตอนเราคุยกับ ไนกี้ ไทยแลนด์ ก็ราบรื่นดี จริง ๆ เราไม่ชัวร์ว่าเขาคุยกันอย่างไร แต่ว่าเราทำสัญญา วางเงินมัดจำไปล้านกว่า เพื่อเช่าที่ไปแล้ว อยู่ ๆ ดี เขาก็มาบอกไม่ให้เปิด 

ตอนนั้นยอมรับว่าเคว้งเลย เพิ่งอายุ 20 ปลาย ๆ ก็ตัดสินใจโทรไปคุยกับเพื่อนที่อยู่ฟิลิปปินส์ เขาก็แนะนำว่า “ถ้าเปิดแบรนด์เดียวไม่ได้ ก็ลองเปิดร้าน Multi-brand Store (ขายทุกแบรนด์) ดูสิ” 

เราก็กลับมาคิด เออ คำตอบมันอยู่ตรงหน้า แต่ทำไมตอนนั้นเราถึงไม่มีคำว่า Multi-brand อยู่ในหัว ก็ไม่รู้ อาจเพราะเราอินกับ ไนกี้ มากมั้ง ?

สุดท้ายเราก็เปิดร้าน V.A.C. Thailand คอนเซปท์หลัก ๆ คือ บาสเกตบอล, ฟุตบอล และแฟชั่น เพราะเป็นสามสิ่งที่เราชอบ 

 

คุณใช้หลักการในการเลือกสินค้า หรือไม่เลือกสินค้าใด ๆ เข้าร้านจากอะไร ? 

เราอยากได้สินค้ารุ่นพิเศษ เหตุผลเพราะเราเห็นว่า ในเมืองไทย ยังไม่ค่อยมีร้านขายพวกสนีกเกอร์รุ่นพิเศษ แต่ประเทศอื่นเขามีหมด 

เราเห็นว่า คนไทยแต่งตัวกันมากกว่าหลาย ๆ ประเทศรอบข้าง ทำไมประเทศเหล่านั้นมีได้ แต่บ้านเราไม่มีช็อปแบบนี้ ส่วนสินค้าที่ไม่เลือก คือ สินค้าที่เราคิดว่า เราขายไม่ออกแน่ ๆ รวมถึงสินค้าที่นอกเหนือจาก 3 หมวดหมู่ บาส, บอล, แฟชั่น

 

ความยากของการทำธุรกิจร้านสตรีทแวร์ ที่เน้นขายสินค้าพิเศษเป็นตัวชูโรง 

ในวันที่เริ่มต้นเปิดร้าน ความยากคือ การทำให้คนรู้จักร้านเรามากขึ้น ให้คนมาซื้อของร้านเรา ในยุคที่ โซเชียลมีเดีย ไม่ได้บูมเหมือนทุกวันนี้ 

ความยากต่อมาคือ จะเลือกสินค้าอย่างไรให้ถูกใจคน, การบริหารจัดการพนักงาน การแพลนเรื่องสินค้า การเปิดหลาย ๆ สาขาพร้อมกัน เราว่าทุกอย่างที่ทำ มันคือความยากหมด 

ทุกอย่างต้องใช้เงินลงทุนจำนวนเยอะเป็นหลักล้านบาท เราต้องติดต่อกับหลายแบรนด์ มันไม่ได้ยากในเชิงที่ว่า ขายขาดทุนหรือได้กำไร หลังผ่านช่วง 6 เดือนแรก ก็ไม่ได้ขาดทุนหรอก แต่มันยากตรงที่เราต้องทำอย่างไรให้การเงินมีสภาพคล่อง หมุนเงินจ่ายได้ทัน 

เพราะเราทำธุรกิจที่เป็น future orders ถ้าสั่งของมาเยอะเกินไป ขายไม่ออก ก็อาจหมุนเงินไปจ่ายไนกี้ อาดิดาส ไม่ทัน  ดังนั้นทุกอย่างที่ทำมันคือความท้าทาย และมีความยากอยู่ในทุกขั้นตอน 

 

ตอนนั้นคุณคิดว่าตัวเองเสี่ยงไหม ที่เปิดร้านขายสินค้าสตรีทแวร์ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย 

คนที่บอกว่าเสี่ยง อาจคิดว่า เพราะมันไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงดูเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง แต่เรากลับมองว่า เพราะไม่มีใครทำนี่แหละ มันจึงเป็นโอกาส 

ถ้าเราทำในสิ่งที่เคยมีคนทำอยู่แล้วในตลาด โอกาสที่เราจะได้เป็นอันดับ 1-2 มันยากมาก เพราะการจะมาแทนที่เบอร์ 1 ของตลาด มันไม่ง่าย สำหรับแบรนด์หน้าใหม่ ๆ

V.A.C. Thailand ทำแบรนด์ V.A.C. Culture ของตัวเองด้วย ตรงนี้แตกต่างกับการจำหน่ายสินค้าให้แบรนด์อื่นอย่างไร ?

การขายสินค้าให้แบรนด์อื่น เราอาจไม่ต้องคิดแผนการตลาดให้เขามาก แค่ส่งเสริมหรือขับให้ สินค้า ของเขาชัดเจนขึ้น บางทีอาจจะปรับแผนการตลาดของสินค้านั้นให้เหมาะสมกับตลาดบ้านเรา สินค้าบางตัวนำเข้ามา อาจไม่ตรงกับความต้องการคนไทย ก็ต้องหาวิธีขายของให้ได้

แต่เทียบกันแล้วมันง่ายกว่า ตอนทำแบรนด์เองในระดับหนึ่ง เพราะการทำ V.A.C. Culture เราต้องออกแบบเอง คิดแผนการตลาดตั้งแต่ 0 เลย, ดูเรื่องการผลิตด้วย มันมีขั้นตอนที่เพิ่มเติมขึ้นมากกว่า ขายสินค้าให้แบรนด์อื่น 

 

จุดเด่นของ V.A.C. Culture ที่ต่างสินค้าแบรนด์อื่นในร้าน

V.A.C. Culture มุมหนึ่งมันคือตัวตนของเรา ที่เรามองตัวเองว่าเป็นคนกวน ๆ เราชอบแต่งตัว ชอบสนีกเกอร์ ชอบเล่นบาส 

เราก็เอาสิ่งที่เราชอบมาดัดแปลงลงในลายเสื้อ รวมถึงการทำ Parody, ล้อการเมือง ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ มักไม่ค่อยกล้าเอาเรื่องการเมืองมาทำ Parody สักเท่าไหร่ 

 

ทำไมถึงกล้าเล่นเรื่องการเมือง และเลือกคนมา Collaboration แบบที่แบรนด์อื่นไม่กล้าทำ อย่างเช่น Rae Lil Black นักแสดงหนัง AV ระดับสตาร์  หรือล่าสุดกับ “นารูตู่” เพจการ์ตูนล้อเลียนการเมืองไทย 

V.A.C. Culture เราไม่ได้แบบเน้นความเป็นพระเอก เน้นภาพลักษณ์สวยหรู แต่แบรนด์นี้ มันคือตัวตนอีกเสี้ยวหนึ่งของผม 

เคส Rae Lill Black ถามหน่อยมีผู้ชายคนไหน ไม่ชอบเรื่องเซ็กส์บ้าง เรามองว่าเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาปกปิดกัน 

คนอาจมองว่า Rae Lil Black เป็นนักแสดง AV ระดับซูเปอร์สตาร์ และสตรีมเมอร์  ก็ถูก! แต่เรามองว่า Rae Lil Black คือ แบรนด์ระดับโลก มีคนติดตามเขาทั่วโลก ถ้าเราสามารถทำสินค้าร่วมกันได้ ก็น่าจะทำให้ แบรนด์เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล 

ซึ่งมันก็ได้ผลเพราะมี direct message จากต่างประเทศ เข้ามาติดต่อซื้อสินค้าของ Rae Lil Black หรืออย่างเคส นารูตู่ จริง ๆ ก่อนหน้านี้ V.A.C. Culture ก็มีสินค้าที่ล้อกับการเมืองในคอลเลกชั่น กะลาแลนด์ ออกมา 3-4 ชุดแล้ว 

แต่ที่เราทำกับศิลปินที่ชื่อ “นารูตู่” เพราะเห็นศิลปินคนนี้ เขาเอาลายเส้น นารูโตะ มาดัดแปลงล้อการเมือง รู้สึกว่ามันเจ๋งดี น่าจะสนุกถ้าได้ออกแบบสินค้าร่วมกัน    

 

คุณมองว่าคนไทยตอนนี้ หันมาสนใจแฟชั่นสตรีทแวร์ มากแค่ไหน ? ดีต่อธุรกิจคุณอย่างไร 

คนไทยสนใจเยอะขึ้นมาก เพราะมันกลายเป็น mainstream ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคนจะอยู่กับ สตรีทแวร์, สนีกเกอร์ นานแค่ไหน ต้องรอดูกันต่อไป นิสัยอย่างหนึ่งของคนบ้านเราคือ ถ้าทำตามคนหมู่มาก จะรู้สึกปลอดภัย ยังไม่ค่อยชอบอะไรด้วยตัวเองสักเท่าไหร่

ตราบใดที่สตรีทแวร์ มันยังเป็น สินค้าที่อยู่ในเทรนด์ของคนหมู่มาก ธุรกิจนี้ก็ยังเดินต่อได้ แต่ถ้าวันหนึ่งมันมีกระแสอื่นเข้ามาแทนที่ เราก็ต้องมาดูว่าเราจะเลือกปรับตัวตามเทรนด์ไหม ? 

ถ้าเปลี่ยนแล้ว เราจะเสียตัวตนหรือเปล่า มีอะไรที่เรา adapt เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นได้ ณ ตอนนี้เราคงยังไม่สามารถบอกได้ว่า ต้องใช้วิธีการไหนเพื่อให้อยู่รอด เพราะต้องดูว่า เมื่อถึงวันนั้น อะไรคือเทรนด์ที่มาใหม่

V.A.C. Thailand ยืนระยะมาเป็น 10 ปีแล้ว จากร้านที่ไม่มีคู่แข่ง ตอนนี้มีร้านสตรีทแวร์เปิดใหม่ขึ้นมากมาย ตามจำนวนตลาดที่เติบโต คุณทำอย่างไร V.A.C จึงยังยืดหยัดอยู่ในตลาดนี้ได้อย่างมั่นคง

เอาจริง ๆ ร้านที่เปิดกันมาใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรกับ ร้านขายอุปกรณ์กีฬาทั่วไป เราไม่ได้หมายความว่า ร้านแบบนี้ไม่ดีนะ เพียงแต่มันไม่ได้ใส่ Personality, นิสัยของเจ้าของ และไม่ได้มีจิตวิญญาณของร้านว่าตัวตนเป็นอย่างไร ?

สมมติเราเข้าไปร้านพวกนี้ ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน อาจต่างกันแค่สินค้าบางอย่างเท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับ V.A.C. มันมีความเป็นตัวผม หรือ Carnival ก็มีความเป็น ปริ๊น (อนุพงศ์ คุตติกุล - เจ้าของร้าน)

เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ถูกต้อง และเป็นวิธีการที่ดีกว่าร้านอื่น เราไม่ได้พูดถึงตรงนั้น เพียงแต่สิ่งที่เราทำมันเหมาะสมกับความเป็น V.A.C. และทำให้ตัวตนของร้านเราชัดเจน นี่คือเหตุผล ที่ทำให้เรายังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าสินค้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook