ชีวิตแบบคาวบอย : ย้อนรอยวัฒนธรรมกางเกงยีนส์กับการขี่ม้า ที่อยู่คู่มนุษย์ยาวนานกว่าร้อยปี

ชีวิตแบบคาวบอย : ย้อนรอยวัฒนธรรมกางเกงยีนส์กับการขี่ม้า ที่อยู่คู่มนุษย์ยาวนานกว่าร้อยปี

ชีวิตแบบคาวบอย : ย้อนรอยวัฒนธรรมกางเกงยีนส์กับการขี่ม้า ที่อยู่คู่มนุษย์ยาวนานกว่าร้อยปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงไม่มีผู้ชายคนไหนไม่เคยสวมใส่ "กางเกงยีนส์" เครื่องแต่งกายที่อยู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของการใช้งาน และ แฟชั่น ทั้งที่ ต้นกำเนิดของกางเกงชนิดนี้ อยู่ห่างไกลอีกหนึ่งซีกโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวที่มีอิทธิพลมาก จนทำให้กางเกงยีนส์ได้รับความนิยมในบ้านเรา คือ คาวบอย ชายหนุ่มบนหลังม้าผู้สวมกางเกงยีนส์ตลอดเวลา ความสง่างามที่เห็นบนจอภาพยนตร์ฝังใจคนทุกยุคสมัย จนบางครั้งเราอาจสงสัย ว่าทั้งสองสิ่งอยู่คู่กันตั้งแต่เมื่อไหร่?

Main Stand พาคุณย้อนดู ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการสวมใส่กางเกงยีนส์กับการขี่ม้า ที่ครองใจคนทุกชนชั้น จนอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานกว่า 100 ปี

Old Wide West
กางเกงยีนส์มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อมีการผลิตผ้าเดนิมในฝรั่งเศส, อิตาลี และ อินเดีย เพื่อทำเป็นเครื่องแต่งกายแก่ กะลาสี และ กรรมกรท่าเรือ ตามเมืองท่าในประเทศดังกล่าว เช่น เจนัว และ นีมส์


Photo : www.dailyspeculations.com

ความทนทานบวกกับราคาถูก กางเกงยีนส์จึงเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นแรงงานของทวีปยุโรป แต่กว่าจะเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก ในฐานะเครื่องแต่งกายที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตแบบตะวันตก ต้องรอถึงกลางศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่กางเกงยีนส์ก้าวเข้าสู่สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปในศตวรรษดังกล่าว สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ประเทศแห่งเสรีภาพดั่งที่เรารู้จัก แต่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่เต็มไปด้วยสงคราม โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งอเมริกาตะวันตก ที่เพิ่งได้รับการสำรวจ และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1850's

ดินแดนที่เรียกกันว่า Old Wild West คือจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมคาวบอยบนหลังม้า จากความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจการค้าในบริเวณสำรวจใหม่ ตั้งแต่ กิจการค้าฝ้ายในพื้นที่รัฐแอละแบมา และ มิสซิสซิปปี หรือ กิจการค้าฝ้ายและทาสในรัฐเท็กซัส แต่ไม่มีกิจการใด จะพลิกชีวิตคนยากจนในบริเวณนี้ มากกว่า การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย


Photo : www.heraldweekly.com

ปี 1946 ชาวละตินราว 10,000 ราย อันเป็นเจ้าของพื้นที่แคลิฟอร์เนียดั้งเดิม ถูกขับไล่ออกจากลอสแอนเจลิส ขึ้นไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือ รวมถึงบุคคลที่อพยพหนีสงครามสหรัฐ-เม็กซิโก กลุ่มคนเหล่านี้นำโดย เจมส์ ดับเบิลยู มาร์แชล (James W. Marshall) ค้นพบขุมทองที่บริเวณ Sutter’s Mill ในเมืองโคโลมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1948 ซึ่งในไม่ช้าจะกลายเป็นข่าวใหญ่ ดึงดูดคนจากทั่วประเทศสู่รัฐแคลิฟอร์เนีย

ผู้คนราว 300,000 คน เดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งขุมทอง ในปี 1949 กลุ่มที่รู้จักกันในภายหลังว่า "Forty-Niners" เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อเสี่ยงโชคหวังประสบความสำเร็จ จากการค้นพบทองคำที่ภายหลัง มีการตีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


Photo : californiagr.weebly.com

ดูเหมือนว่า ทองคำจะพลิกชีวิตคนจนที่ข้ามทวีปมาเสี่ยงโชค ให้กลายเป็นเศรษฐี แต่เปล่าเลย คนจำนวนมากเดินทางสู่แคลิฟอร์เนีย และจากไปโดยไม่มีสิ่งใดติดมือ เนื่องจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วเกินไปของประชากร ก่อเกิดทางรถไฟ ธุรกิจเกษตรกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล 

แต่แทนที่จะมีกฎหมายชัดเจนในเรื่องของกรรมสิทธิ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ยังคงเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ภายใต้กฎ "พนันการอ้างสิทธิ์" ที่กลายเป็นปัญหาหลักในภาพยนตร์คาวบอยชื่อดังหลายเรื่อง เช่น Once Upon a Time in the West (1968) กางเกงยีนส์ ขุมทอง และ คาวบอย จึงกลายเป็นคนละเรื่องที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเดียวกัน 

ความสัมพันธ์ของทุกสิ่งบนวิถีชีวิต Old Wide West จึงหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมตะวันตก หรือ Western ที่รู้จักกันดีในภายหลัง และยังเป็นไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

เหมืองทอง สู่ หลังม้า
กางเกงยีนส์เข้ามามีบทบาทในแผ่นดินตะวันตก เนื่องจากคนงานเหมืองทองจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยากจน จึงต้องการเครื่องแต่งกายที่มีราคาถูก และสอดคล้องกับการทำงานร่อนทองที่สมบุกสมบัน ซึ่งหมายถึงการยืนอยู่ในแม่น้ำหลายชั่วโมงเป็นปกติ


Photo : www.insider.com

ธุรกิจขายกางเกงเพื่อคนงานเหมืองในช่วงแรกมีอยู่หลายเจ้า แต่ผู้ที่ทำให้กางเกงยีนส์กลายเป็นเครื่องแต่งกายคู่ใจของชาวตะวันตก คือ ลีวาย สเตราส์ นักธุรกิจชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Levi Strauss & Co. จากการใส่หมุดทองแดงเข้าไปในกางเกงยีนส์ จนกลายเป็นแฟชั่นที่ทุกคนเข้าถึงได้ แม้ในหมู่ชนชั้นแรงงาน อย่าง คนงานเหมืองทอง

นอกจากหมุดทองแดงอันเป็นที่นิยม กางเกงจากแบรนด์ Levi's ยังเป็นเจ้าแรกในสหรัฐอเมริกาที่ทำกางเกงแบบ "Blue Jeans" หรือกางเกงยีนส์สีฟ้าที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึงมีความสวยงามากกว่ากางเกงสีน้ำตาลแบบเดิม 

เวลาผ่านไปไม่นาน กางเกงยีนส์ของ Levi's กลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมที่สุดในแคลิฟอร์เนีย และไม่จำกัดอยู่แค่เพียงคนงานเหมืองทองอีกต่อไป

ช่วงปี 1870's คนงานเลี้ยงสัตว์ และ กลุ่มผู้ต้อนวัว เปลี่ยนมาใช้งานกางเกงยีนส์ เนื่องจากสวยงามและยังเปี่ยมด้วยความทนทาน  กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนช่วยพัฒนาแฟชั่นกางเกงยีนส์ให้ก้าวหน้าขึ้น โดยการนำเข็มขัดหัวใหญ่ หรือ Large Belt Buckle ที่ประดับด้วยเหรียญเงิน (Metal Conchos) มาสวมใส่คู่กางเกงยีนส์ เพื่อบ่งบอกฐานะชายบนหลังม้า ที่อยู่สูงกว่าคนงานเหมือง

วัฒนธรรมการสวมใส่กางเกงยีนส์ พร้อมกับการขี่ม้า จึงเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายแบบ Western Wear อันเป็นที่นิยมในกลุ่มคนฝั่งตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยหมวกคาวบอย รองเท้าคาวบอย เข็มขัดหนัง และแน่นอน กางเกงยีนส์


Photo : www.emahomagazine.com

กางเกงสีฟ้าชนิดนี้ กลายเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับชายหนุ่มบนหลังม้า คาวบอยจำนวนมากสวมใส่กางเกงปลอกหนัง ทับลงไปอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กางเกงยีนส์ของพวกเขาสึกหรอได้ง่าย

ความนิยมที่มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจหากการแข่งขันในตลาดยีนส์จะตามมา แบรนด์ต้นตำรับ Levi's ประสบความสำเร็จจากการผลิตรุ่น 501 และยึดครองฐานตลาดดั้งเดิมคือ กลุ่มคนงานเหมือง แต่แบรนด์น้องใหม่ที่ตามหลังมาอย่าง Wrangler ประกาศตัวว่าพวกเขาคือต้นตำรับ ของกางเกงยีนส์แบบ Cowboy Cut เพื่อคนบนหลังม้าโดยเฉพาะ

กางเกงยีนส์ ได้รับความนิยมไปทั่วฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม Western แต่กางเกงยีนส์ไม่ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วสหรัฐอเมริกา จนกว่าจะถูกสวมใส่โดยกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานหนักและยากจน เหมือนคาวบอยบนหลังม้า หรือ คนงานเหมืองทอง ในศตวรรษที่ 19

กางเกงยีนส์ในปัจจุบัน
ความทนทานของกางเกงยีนส์ยามใช้งานบนหลังม้า ได้รับการยืนยันเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี โดยเหล่าคาวบอยในฝั่งตะวันตก แต่กางเกงยีนส์ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมเหนือใคร เมื่อกลุ่มชนชั้นสูงผู้ชื่นชอบกีฬาโปโล หันมาเลือกใช้กางเกงยีนส์ ระหว่างการฝึกซ้อมหรือทำการแข่งขัน


Photo : www.nytimes.com

กางเกงยีนส์ผ่านการวิวัฒนาการครั้งใหญ่ในจุดนี้ จากกางเกงสีฟ้าอันเป็นที่จดจำในหมู่ผู้ใช้แรงงาน กางเกงแบบ White Jeans ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้กางเกงยีนส์มีความหรูหราเหมาะแก่ชนชั้นสูง โดยยังคงความทนทานเหมาะแก่การใช้งานบนหลังม้าอย่างครบถ้วน

แฟชั่นเข้ามาหากางเกงยีนส์และครองใจคนทั่วโลกในปี 1955 เมื่อพระเอกหมายเลขหนึ่งในช่วงเวลานั้น เจมส์ ดีน สวมใส่กางเกงชนิดนี้ในภาพยนตร์เรื่อง Rebel Without a Cause (1955) ทำให้การแต่งกายแบบเสื้อยืด+กางเกงยีนส์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัยรุ่นหัวขบถโดยปริยาย


Photo : hannahmchaffie.com

และยังถูกสวมใส่โดยดาราชื่อดังอีกหลายคนในยุคนั้น ทั้ง มาร์ลอน แบรนโด เอลวิส เพรสลีย์ หรือ มาลิรีน มอนโร ทำให้กางเกงยีนส์กลายเป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกใช้งานในชีวิตประจำวัน และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

สื่อภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงกางเกงยีนส์ จากกางเกงที่เน้นการใช้งานเป็นกางเกงแฟชั่นเต็มตัว แต่เป็นสื่อภาพยนตร์เช่นกัน ที่ยังคงรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นกางเกงบนหลังม้าเอาไว้ จากความนิยมของ Western Films ซึ่งกาลเป็นแนวภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในช่วงปี 1960's และยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่หลงรักช่วงเวลาเหล่านั้น แต่งตัวในสไตล์คาวบอยจนถึงทุกวันนี้


Photo : kathleenmaca.com

ฟิลลิส นิคคัม คนต้อนสัตว์ในรัฐเท็กซัส ที่ผันตัวเป็นกูรูแนะนำการแต่งตัวสไตล์คาวบอย กล่าวชัดเจนว่า กางเกงยีนส์และคาวบอยเป็นของคู่กัน ไม่มีทางที่คุณจะดูดีบนหลังม้า หากไม่สวมใส่กางเกงยีนส์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างยาวนาน

ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบกางเกงยีนส์ ในแง่ของการใช้งาน หรือ ด้านแฟชั่น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากางเกงยีนส์คือเครื่องแต่งกายที่ทนทานจนได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้งานบนหลังม้า อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กางเกงยีนส์ มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เป็นเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งศตววรษ

แหล่งอ้างอิง

https://www.racked.com/2015/2/27/8116465/the-complete-history-of-blue-jeans-from-miners-to-marilyn-monroe
หนังสือ Eureka!: The Surprising Stories Behind the Ideas That Shaped the World โดย Marlene Wagman-Geller
หนังสือ Transnationalism and Society: An Introduction โดย Michael C. Howard
https://www.visitamarillo.com/sp/texas-style/
https://web.archive.org/web/20110727033216/http://www.learncalifornia.org/doc.asp?id=118
http://porgorn0010.blogspot.com/2012/07/1849.html
https://www.poloplus10.com/polosport/this-and-that/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook