วิธีที่ช่วยปรับกลิ่นตดให้ดีขึ้นตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่น

วิธีที่ช่วยปรับกลิ่นตดให้ดีขึ้นตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่น

วิธีที่ช่วยปรับกลิ่นตดให้ดีขึ้นตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การผายลมหรือตดแม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากกลิ่นรุนแรงเกินไปก็ทำให้วงแตกเป็นปัญหาและกลายเป็นเรื่องหน้าอายขึ้นมาได้เหมือนกัน มารู้สาเหตุของตดเหม็น วิธีการแก้ไข รวมถึงอาหารที่คนญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยปรับปรุงกลิ่นตดให้ดีขึ้นกัน

ชนิดของตด
อาหารที่รับประทานเข้าไปเมื่อถูกย่อยโดยกระเพาะอาหารแล้วก็จะถูกส่งไปยังลำไส้เล็กเพื่อดูดซึมสารอาหารเข้าสู้ร่างกาย จากนั้นกากอาหารจะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่เพื่อรอขับถ่าย ที่ลำไส้ใหญ่จะมีแบคทีเรียย่อยสลายกากอาหารและปล่อยแก๊สออกมากลายเป็นลมที่ผายออกมาหรือตดนั่นเอง

โดยทั่วไปตดมี 2 ชนิดได้แก่

-ตดดี ซึ่งเป็นตดที่มีแก๊สที่ปลดปล่อยอย่างปกติจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายอาหารที่ลำไส้ เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไฮโดรเจน ซึ่งแทบไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

-ตดไม่ดี ซึ่งเป็นตดที่มีแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย และอินโดล เป็นต้น

สาเหตุของตดเหม็น
โดยปกติในหนึ่งวันคนเราจะตดเฉลี่ยประมาณ 5 ครั้ง แต่บางวันที่เกินมานั้นเป็นเพราะว่าการรับประทานแก๊สเข้าไปพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊ส ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตดเหม็นมากคือ

1. ภาวะท้องผูก ซึ่งทำให้อาหารตกค้างอยู่ในลำไส้นานเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดการหมักของอาหารที่ตกค้างซึ่งส่งผลให้ตดเหม็น ในทางกลับกันหากเกิดอาการท้องเสีย แบคทีเรียชนิดดีจะถูกขับออกจากลำไส้ ทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีตกค้างอยู่ซึ่งก็จะทำให้ตดเหม็นเช่นกัน

2. การรับประทานเนื้อสัตว์และไข่ในปริมาณที่มากเกินไปทำให้โปรตีนและไขมันที่ยังถูกย่อยสลายและดูดซึมที่ลำไส้เล็กไม่หมดถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่ ที่ซึ่งจะมีแบคทีเรียทำการย่อยสลายอาหารที่เหลือให้เป็นแก๊สต่าง ๆ ออกมา

3. ความผิดปกติที่ลำไส้จากการมีแบคทีเรียชนิดไม่ดีอยู่มาก ซึ่งนอกจากจะทำให้ตดเหม็นแล้วก็ยังทำให้ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากร่างกายสูญเสียประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเซลล์ที่อยู่ที่บริเวณลำไส้

วิธีการปรับกลิ่นตดให้ดีขึ้น
วิธีการปรับกลิ่นตดให้ดีขึ้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองดังนี้

1.ป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องผูก
ภาวะท้องผูกนอกจากจะทำให้ตดเหม็นแล้วก็ยังเป็นการเพิ่มแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้ วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องผูกคือ การดื่มน้ำธรรมดา 1 แก้วทุกวันเมื่อตื่นเช้าขึ้นมา รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวัน รับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยกรดแลคติกแอซิดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยขจัดแบคทีเรียชนิดไม่ดีออกจากลำไส้

2. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันมีดังนี้คือ

รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำโดยมีความสมดุลของโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและอาหารที่มีกากใยอาหาร ซึ่งจะช่วยทำให้มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ได้ดี ทั้งนี้การรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่อุดมไปด้วยเส้นใย เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวโอ๊ต เป็นต้น จะส่งเสริมให้ร่างกายมีการขับถ่ายที่เป็นปกติ
ออกกำลังกายเบา ๆ โดยการเดินหรือยืดเส้นยืดสายเป็นประจำจะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวที่ดี
แช่น้ำอุ่นเพื่อช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น

3. เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานดีแทนการรับประทานอาหารที่มีซัลเฟอร์มากเกินไป
อาหารที่รับประทานแล้วดีต่อลำไส้ ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีเส้นใยและกากอาหาร โดยเฉพาะผักที่มีเมือก เช่น กระเจี๊ยบเขียว สาหร่ายต่าง ๆ เครื่องดื่มหรืออาหารที่อุดมไปด้วยแลคติกแอซิด แบคทีเรีย ได้แก่ โยเกิร์ต ยาคูลท์ ผักดองรำ มิโสะ และกิมจิ เป็นต้น ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ควรรับประทานหรือดื่มมากจนเกินไป ได้แก่ อาหารที่ประกอบด้วยซัลเฟอร์และโปรตีนในปริมาณที่สูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วต่าง ๆ กระเทียม หัวหอม นม กาแฟ และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อาหารที่ดีต่อลำไส้
หากต้องการปรับกลิ่นตดไม่ให้เหม็นจนวงแตกก็ต้องดูแลไม่ให้เกิดอาการท้องผูก รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ และไม่รับประทานอาหารที่มีปริมาณซัลเฟอร์มากเกินไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในบ้านและที่ทำงานได้แล้ว

สรุปเนื้อหาจาก kawashima-ya

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook