ชีวิตบนกระดานโต้คลื่น ของ ตุ้ย – ธีรภัทร์ สัจจกุล

ชีวิตบนกระดานโต้คลื่น ของ ตุ้ย – ธีรภัทร์ สัจจกุล

ชีวิตบนกระดานโต้คลื่น ของ ตุ้ย – ธีรภัทร์ สัจจกุล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องอยากมีชีวิตที่มีความสุขและราบรื่น แต่สำหรับ ตุ้ย - ธีรภัทร์ สัจจกุล นักร้องนักแสดงและผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของคลื่น Seed ไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขามองว่านิยามความสุขคือการใช้ชีวิตอยู่บนความตื่นเต้น ท้าทายในทุกลมหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องการันตีว่าผู้ชายคนนี้มีแนวคิดการใช้ชีวิตที่ “น่าค้นหาและไม่ธรรมดา” จริงๆ


ช่วงชีวิตวัยเด็กของคุณตุ้ยเป็นอย่างไรคะ
ตอนเด็ก ๆ ผมเรียนที่โรงเรียนสาธิต-ประสานมิตร รั้วบ้านผมติดกับรั้วโรงเรียนผมเลยปีนรั้วเข้าโรงเรียนบ่อย ๆ และบ้านผมก็กลายเป็นที่พักพิงของเพื่อน ๆ ไปด้วย หลังจบจากประสานมิตร ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนนั้นผมใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีมาก ตกเย็นจะเตะบอลกับเพื่อนจนมืด เสื้อแฉะหมดเลย เวลาขึ้นรถเมล์กลับบ้าน คนต้องแหวกทางให้เพราะตัวเหม็น (หัวเราะ) ที่สวนกุหลาบผมได้เปิดโลกทัศน์หลายเรื่อง ทั้งเรื่องเพื่อน กิจกรรมต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกีฬา ที่นี่ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองชอบฟุตบอลมาก แต่พอรู้ตัวว่าชอบเตะบอล อยากเป็นนักฟุตบอลก็สายไปเสียแล้ว

เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปตอน ป. 3 ป๋า (บิ๊กหอย - ธวัชชัย สัจจกุล) มักปลุกผมกับพี่ให้ตื่นตีห้าทุกวันเพื่อไปวิ่ง ที่สนามมศว. ป๋าสอนให้วิ่งสปีดไป - กลับ และฝึกเลี้ยงบอลเหมือนฝึกนักฟุตบอล ตอนนั้นผมรู้สึกเหนื่อยและไม่เห็นว่าการที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อซ้อมเตะบอลทุกวันมันสนุกตรงไหน ช่วงนั้นผมงอแงมาก เรียกว่า “จูนไม่ติด” ป๋าเลยบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่ชอบก็ไม่บังคับแต่พอเข้าเรียนที่สวนกุหลาบ จำได้ว่าพักเที่ยงปุ๊บทุกคนจะไปรวมตัวกันที่สนามเพื่อเตะบอล ตอนขึ้น ม. 2 ผมบอกป๋าว่าผมอยากเป็นนักบอลโรงเรียน ช่วยฝึกให้หน่อย แต่ป๋าบอกว่า “ไม่ทันแล้วลูก” เพราะต้องฝึกตั้งแต่ตอนที่ป๋าให้ฝึกแล้ว กระดูกบอลจึงแข็งพอที่จะไปเล่นทีมโรงเรียนได้ ตอนนั้นผมก็นึกเสียดายเหมือนกัน


ตอนนั้นคุณพ่อเป็นผู้จัดการทีมชาติ คงคาดหวังให้ลูกติดนักฟุตบอลทีมชาติด้วยใช่ไหมคะ
ก็คาดหวังครับ ตอนนั้นป๋าคงอยากปั้นผม จึงได้ปลุกผมขึ้นมาซ้อมตั้งแต่เด็กเคยถามป๋าว่าเสียใจไหม เขาก็เฉย ๆ นะ วิธีของป๋าคือหยิบยื่นโอกาสให้ แล้วดูว่าเราจะเข็นขึ้นหรือเปล่า แต่การที่ผมไม่ได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติก็ไม่ได้ทำให้ป๋าหรือผมรู้สึกผิดต่อกันเลย ซึ่งผมได้แบบอย่างการเลี้ยงลูกมาจากป๋านี่เอง เพราะผมไม่มีทางรู้ว่าลูกผมจะชอบอะไร

สุดท้ายผมจึงเลือกทำแบบป๋า คือหยิบยื่นโอกาสให้ แล้วลองผลักดันดู ป๋ากับผมจะใช้คำว่า “จูนติด”แต่ถ้าจูนไม่ติด ก็ลองเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้เขาเลือกไปเรื่อย ๆ แล้วเขาจะพบเองว่าชอบอะไรจริง ๆ อย่างตอนนี้ผมให้ ไททัน (ลูกชาย) ลองเล่นกีฬาหลายอย่าง ปรากฏว่าเขาชอบเทควันโดมาก กลับบ้านมาเตะผมทุกวันเลย ผมต้องบอกว่าเตะเบา ๆ ลูก พ่อเจ็บ เพราะเขาเตะแรงจริง ๆ คือของแบบนี้ต้องยอมรับว่าแล้วแต่ใครจะชอบอะไร หน้าที่ของเราคือให้โอกาสเขาลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆสำหรับผม ไม่ว่าเรื่องอะไร มันไม่มีคำว่าสูตรสำเร็จ เราต้องอย่ากลัวคำว่า “ผิด” เพราะทุกอย่างมันต่างกรรมต่างวาระ


คุณตุ้ยใช้การลองผิดลองถูกในการดำเนินชีวิตด้วยหรือเปล่าคะ
ผมจะใช้คำว่า “Pushing the limits” ในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด คืออย่าอยู่แต่ในคอมฟอร์ทโซน แต่ต้องกล้าลุยออกไป เพื่อค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองเหมือนการยกน้ำหนัก ถ้าเรายกเท่านี้ได้แล้วลองยกมากกว่านี้สัก 5 - 10 กิโลกรัมดูว่าจะยกไหวไหม ถ้าไหว นั่นคือบทพิสูจน์ว่า เราทำได้ ผมมองว่ากล้ามเนื้อกับจิตใจเหมือนกัน การออกกำลังกายแบบฝืนแรงต้านอย่างการยกน้ำหนักช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จิตใจก็เช่นกัน ถ้าเราอดทนต่อสู้กับปัญหา ต่าง ๆ อย่างไม่ยอมแพ้ จิตใจของเราก็จะ แข็งแกร่งขึ้นและสามารถรับมือกับปัญหา ต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามาได้อย่างสบาย เพราะมีกล้ามใจที่ใหญ่ขึ้น แกร่งขึ้นแล้ว


นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้ ประสบความสำเร็จตั้งแต่ ยังหนุ่มหรือเปล่าคะ
เคล็ดลับจริง ๆ คือคำว่า อดทน บางคน อาจใช้คำว่าอดทนเป็นคำสุดท้าย แต่ผมใช้ คำนี้เป็นคำแรก คำที่สองคือ ตั้งใจ คำที่สาม คือ พยายาม “Don’t give up.” คุณต้อง ไม่ลด ละ เลิก ถ้าคุณเจออุปสรรค สิ่งที่ คุณต้องทำคือกัดฟัน ต้องรู้จักกลืนเลือด ให้เป็น คำนี้เป็นคำที่ป๋าผมชอบใช้ เพราะ มันเห็นภาพชัด เวลาที่นักมวยโดนต่อย จนฟันยางหลุด สิ่งที่เขาทำคือกลืนเลือด และต่อยต่อเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอดทน อดทน และอดทน อย่าท้อแม้แต่วินาทีเดียว เปรียบเทียบง่าย ๆ กับคนที่วิ่งร้อยเมตรเข้า เส้นชัย เขาชนะกันที่ .001 วินาที จะเห็นว่า มันแค่นิดเดียวจริง ๆ หลักคิดคือ ใคร ทะลุจุดที่ร่างกายไม่ไหวแล้วได้มากกว่า อึด กว่าคนอื่นจะเป็นผู้ชนะ

ในโลกแห่งความเป็นจริง คนเก่งจะ แพ้คนอึด เพราะคนเก่งกว่าอาจไม่อดทน เท่าคุณ แต่ถ้าคุณสามารถทนกับความ ทรมานได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์พบความสำเร็จ เข้าเส้นชัยก่อน

ผมเชื่อว่าความเก่งเกิดจากพรสวรรค์ กับพรแสวง สำหรับพรสวรรค์ผมคิดว่า คนเรามีในตัวไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ นอกนั้น คือเรื่องของพรแสวงล้วน ๆ ซึ่งคือการฝึก ทำซ้ำ ยิ่งทำ ยิ่งดี ยิ่งทำ ยิ่งเพอร์เฟ็กต์ แต่ก่อนที่คุณจะทำงานอะไรก็ตามให้ได้ดี ทั้งร้อยครั้ง คุณจำเป็นต้องฝึกจิตใจให้ แข็งแกร่งก่อน ซึ่งคนแต่ละคนมีวิธีฝึก แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้อง อดทน เผชิญกับความทรมานให้ได้ เรียกว่า ต้องกลืนเลือดให้เป็น นี่คือสิ่งที่พ่อผมสอน


แล้วการเป็นผู้บริหาร ของคลื่น Seed ถึงขนาดต้องกลืนเลือดไหมคะ
ผมยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ยาก แต่ก็น่าลอง น่าท้าทาย คลื่น Seed นำเสนอเพลง เราจึงมีหน้าที่สร้างความสุขให้ผู้ฟัง ความยากคือการวางแนวทางธุรกิจในระยะสั้น กลาง และยาว โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควร สิ่งที่ผมต้องทำให้ได้คือการเอาชนะใจผู้บริโภค เพราะปกติบริบทของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปตาม 1. เทรนด์ 2. ช่องทางการสื่อสารของเทคโนโลยี 3. ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และวิธีคิดต่าง ๆ โดยเฉพาะฐานผู้ฟังของเราเป็นวัยรุ่น ซึ่งเขาเปลี่ยนเร็วมาก แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าดนตรีทำให้ผมมีความสุขได้ ดนตรีก็สามารถสร้างความสุขให้ทุกคนได้เช่นเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญมากก็คือ การหาทีมงานที่รักงานนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำงานที่เรารักไม่ว่าเจออุปสรรคหนักแค่ไหน ทุกปัญหาจะดูเล็กลงหมด แต่ถ้าเราไม่ได้รักงานนั้น ทุกปัญหาจะใหญ่หมดเพราะทุกงานมีปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว ใครบอกไม่มีปัญหาแสดงว่าไม่ได้ทำงาน

“ผมรับมือกับอุปสรรคที่เข้ามาด้วยการ เซิร์ฟมันไปเรื่อย ๆ เหมือนเล่นกระดาน โต้คลื่น เห็นเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อมีคลื่น อุปสรรคถาโถมเข้ามา เรามีหน้าที่โต้คลื่น สู้คลื่น ยิ่งคลื่นใหญ่ แสดงว่างานนั้นยิ่ง ท้าทาย ผมก็ยิ่งต้องทำให้สำเร็จ”

ใช้ชีวิตบนความท้าทายเท่ากับความเสี่ยง ฟังดูน่าสนุก แต่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย ในความรู้สึกเลยนะคะคุณตุ้ยชอบชีวิตแบบนี้เหรอคะ
ผมว่าทุกคนชอบความมั่นคงนะ แต่นั่นไม่ใช่สไตล์ของผม บางคนอาจชอบตอกเข็มทีเดียวจบ แต่ผมไม่ใช่ ผมหยุดไม่ได้ ผมจะหยุดก็ต่อเมื่อหมดแรงหรือร่างกายไม่ไหวแล้ว ผมเคยคิดว่าถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีอะไรทำ เดี๋ยวก็ถึงเวลากิน เดี๋ยวก็ถึงเวลานอนวันนั้นคงเป็นวันที่น่าเศร้ามาก เพราะผมจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอีกแล้ว ชีวิตผมต้องมีโจทย์ตลอดเวลาถ้าไม่มี ผมคงไม่รู้จะทำอะไร สำหรับผม เราต้องหาคุณค่าในตัวเองให้ได้เมื่อพบสิ่งที่ทำให้ตัวเราเองมีคุณค่าสิ่งนั้นจะขับเคลื่อนตัวเราให้มีชีวิตอย่างมีความสุข บางคนอาจไปช่วยงานการกุศลมูลนิธิ ช่วยเด็กกำพร้า นั่นคือสิ่งที่ทำให้ตัวเขามีคุณค่า

ครั้งหนึ่งผมไปช่วยทำค่ายอาสาพัฒนาสร้างโรงเรียนที่ต่างจังหวัด ตอนแรกคิดว่าคงไม่เหนื่อย ไม่ยาก ไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่ที่ไหนได้ ทั้งเหนื่อยทั้งร้อน งานก็หนักต้องเทปูน ขึ้นโครง ขึ้นเสา ปูกระเบื้องหลังคา แต่พอทำเสร็จออกมาแล้วเห็นเด็ก ๆ ดีใจ เราก็พลอยดีใจถึงกับร้องไห้น้ำตาซึมไปด้วย อาจฟังดูดราม่า แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์มาก ซึ่งคุณค่าของมันอยู่ตรงนี้


แล้วความสุขของคุณตุ้ยคืออะไรคะ
นิยามความสุขของผมนั้นง่ายมาก ผมขอแค่หายใจให้ชุ่มปอดเป็นพอ ถ้าดูตามหลักการทำงานของร่างกายแล้ว เวลาที่เราเจออุปสรรคหรือปัญหา สมองจะสั่งให้กระบังลมเกร็งโดยไม่รู้ตัว ปอดถูกบีบให้เล็กลง ส่งผลให้หายใจไม่เต็มปอด ทางออกก็คือ เราแค่หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปให้ชุ่มปอด สูดลมหายใจเข้า - ออกให้ลึก ๆแค่นี้ก็เป็นความสุขแล้ว หรือจะพูดว่าอุปสรรคที่ทำให้ร่างกายไม่มีความสุขคือการหายใจไม่เต็มปอดนั่นเอง
ผมขอขยายความอย่างนี้ พระเจ้าให้มนุษย์มีความวิตกจริตเพื่อให้ระแวดระวังอันตราย แต่ถ้าคุณระแวดระวังอยู่ทุกขณะจิต คุณจะหายใจไม่เต็มปอด คิดไม่ออกแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งก็คือหายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธศาสนาที่ผมยึดปฏิบัติอยู่เสมอและจะยึดไปตลอดชีวิต

Secret Box
การลองผิดลองถูก จะทำให้พบคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
ธีรภัทร์ สัจจกุล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook