เปิดถนนแห่งชีวิต “ซูเปอร์แท็กซี่หัวใจทองคำ”

เปิดถนนแห่งชีวิต “ซูเปอร์แท็กซี่หัวใจทองคำ”

เปิดถนนแห่งชีวิต “ซูเปอร์แท็กซี่หัวใจทองคำ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์หนึ่งบนโลกโซเชียลมีเดีย ผู้คนพากันส่งต่อรูปภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งในเครื่องแบบโชเฟอร์แท็กซี่ เขามีรอยยิ้มเป็นเครื่องประดับบนใบหน้า ยืนเคียงข้างพาหนะคู่กาย รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง พื้นที่รอบรถถูกเติมเต็มด้วยสติ๊กเกอร์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของเขา

“พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นิมนต์นั่งฟรีครับ”

“คนพิการ คนตาบอดนั่งฟรีครับ”

“เชิญครับ ไปทุกที่”

“087-3315421”

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อวงการแท็กซี่ในเมืองกรุง คำประกาศเจตจำนงของเขาคือบ่อน้ำกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง อย่างน้อยๆ คนขับแท็กซี่ที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ยังมีให้เห็น และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สังคมหันมาสนใจ

“สุวรรณฉัตร พรหมชาติ” หรือ “เดี่ยว” คือชื่อของโชเฟอร์แท็กซี่ที่ไม่เคยมีคำว่า “ขาดทุน” หรือ “กำไร” อยู่ในพจนานุกรมส่วนตัว จะมีก็แต่ “แบ่งปัน” เพื่อให้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับสังคมนี้ เพราะมันคือความสุขของคนตัวเล็กๆ อย่างเขา
เชื่อกันว่าสิ่งที่เราพบเจอในอดีตจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเราในปัจจุบัน หลายๆ คนอาจจะเลิกไว้ใจเพื่อนมนุษย์ เพราะเคยถูกหักหลัง บางคนอาจจะไม่แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง เพราะไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านั้นจากใคร แต่สำหรับแท็กซี่ใจบุญคนนี้ เขาใช้ความทุกข์ยากในอดีตเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งความดี

“ผมตอนเป็นเด็กไปโรงเรียน รองเท้าก็ไม่มีใส่ เดินไปโรงเรียนหลายกิโล หนังสือก็ต้องหอบ ไม่มีกระเป๋า รองเท้าไม่มี เสื้อก็ได้มาจากการบริจาค กางเกงก็ปะจนเป็นแผนที่ เสื้อก็ปะ มันลำบาก ฝนตกทีก็ต้องหาใบตองมากันฝน” เขาเล่าถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในวัยเด็ก ซึ่งเป็นที่มาของการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อ 38 ปีก่อน แม่ของเขาตัดสินใจแยกทางกับพ่อ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เธอกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาชีพรับจ้างทั่วไปคือที่มาของรายได้หลักเพื่อเลี้ยงปากท้องของสองแม่ลูกแบบตามมีตามเกิด ให้พอผ่านชีวิตในแต่ละวันไปได้เท่านั้น

“ผมเกิดมาพ่อก็ไม่มี แม่ลำบากมาก พอมีบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ก็เลยคิดว่าจะพึ่งทางวัด คิดว่าถ้าเราบวช พึ่งศาสนา น่าจะช่วยลดภาระของแม่ได้ พอถึงเวลาต้องสึกมาเรียน คุณครูบอกให้สึก ผมไม่ยอมสึก เพราะรู้ว่าถ้าสึกมา คือสงสารแม่ ก็เลยบวชไม่สึก” เรื่องราวในอดีตถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับที่ผู้เล่าพยายามสูดหายใจลึกๆ เพื่อกลั้นน้ำตา

สุวรรณฉัตรในวัย 9 ขวบ ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แม้จะเพิ่งจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กับอีก 1 เทอม เพราะมันเป็นทางเลือกเดียวที่เด็กอย่างเขาจะคิดออก โชคดีที่เขาคิดถูก เพราะมันทำให้เขาได้พบเจอกับเหตุการณ์เล็กๆ ที่ทำให้เขากลายเป็น “แท็กซี่หัวใจหล่อ” อย่างที่หลายๆ คนรู้จักในวันนี้

เมื่อสามเณรสุวรรณฉัตรอยากเจอหน้าพ่อสักครั้งในชีวิต เขาใช้เวลาหลายปีตามสืบจนรู้ว่าพ่อทำงานเป็นช่างไม้ในไซต์งานก่อสร้างที่หาดใหญ่ จึงเริ่มออกเดินทางโดยลำพังเป็นครั้งแรก มันดูยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางเป็นอย่างไร แต่เขาก็มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะตามหาพ่อให้เจอ

“ตอนที่นั่งรถโดยสารไปตามหาพ่อที่หาดใหญ่ ไปเจอโยมคนหนึ่ง ไม่คิดค่าโดยสาร แถมยังถวายเงินมาด้วยร้อยนึง ก็รู้สึกเกิดความประทับใจว่าท่านเป็นพุทธบริษัทที่ดี เป็นการส่งเสริมให้สมณะเดินทางได้สะดวก ตอนนั้นเราไม่ค่อยมีเงิน เพราะไม่มีกิจนิมนต์เหมือนพระ”

เขาได้พบหน้าพ่อเป็นครั้งแรกด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ใหญ่ในจังหวัด น้ำใจจากคนแปลกหน้าในวันนั้น ทำให้การเดินทางไปพบหน้าพ่อมีความหมายยิ่งกว่าที่เคยจินตนาการไว้ และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ ที่ทำให้เขาผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งมอบรอยยิ้มและความสุขผ่านการเดินทางให้กับผู้อื่นในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าความอัตคัดขัดสนในวัยเด็กก็มีข้อดีของมันอยู่บ้าง

ในวัย 15 ปีเต็ม เขาตัดสินใจสละผ้าเหลือง เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง เขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมืองแห่งโอกาสสำหรับใครหลายๆ คน ทำงานสุจริตทุกอย่างเท่าที่ความรู้ระดับ ป.3 ครึ่งของเขาจะเอื้ออำนวย จากหนุ่มโรงงานกระดาษสู่ช่างเชื่อมโลหะ ค่าแรงรายวันเจ็ดสิบบาทมาจนถึงสองร้อยห้าสิบ

ชะตากรรมในเมืองกรุงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นอกจากรายได้วันละไม่กี่ร้อย สิ่งหนึ่งที่เมืองหลวงมอบให้เขาคือบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต หากวันนั้นเขาก้าวพลาด วันนี้เขาอาจจะใช้ชีวิตหลังม่านเหล็กในเรือนจำที่ไหนสักแห่งของประเทศนี้

4 เดือนแห่งความมืดมนในชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง โดยหวังว่าจะมีรายได้พอให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง ตามคำโฆษณาของผู้ว่าจ้าง

“ทำอยู่ 4 เดือน ไม่ได้เงินเดือนสักบาทเดียว โดนล็อกกุญแจมือ โดนซ้อม เลื่อนจ่ายค่าแรงไปเรื่อยๆ รปภ. มีมีดอยู่ข้างเอว ถ้าไม่มีธรรมะในหัวใจผมคงเอามีดเสียบคนที่โกงผม เพราะแค้นมาก แล้วก็เป็นห่วงแม่มาก คิดว่าถ้าเราทำอย่างนั้นเขาก็จบ เราก็จบ เราทำอย่างนั้นก็ยิ่งทำให้ศีลธรรมเราต่ำลง เขาศีลธรรมต่ำแล้ว เราทำไมต้องไปต่ำอย่างเขาล่ะ ก็เลยถอยออกมา”

หลังจากดิ้นรนอยู่กับอาชีพรับจ้างรายวันในเมืองกรุงได้ 3 ปี เขาเริ่มตระหนักว่าไม่สามารถยึดอาชีพนี้ไปได้ตลอดชีวิต เพราะวันไหนเจ็บป่วยไม่สบาย วันนั้นก็ไม่มีรายรับ เมื่อนั้นเองที่เริ่มนึกถึงอาชีพอิสระ จนสุดท้ายจับพลัดจับผลูได้มาขับแท็กซี่

“ตอนนั้นอายุ 18 ไปเช่ารถแท็กซี่ขับ เจ้าของก็มีเมตตา ให้เราขับตั้งแต่อายุ 18 ช่วงนั้นก็ใหม่ๆ ไปชนท้ายเค้าบ้าง วิชาชีพขับรถก็เรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นงูๆ ปลาๆ มาจากโรงงาน ด้วยความที่ใจสู้ ก็เลยขับมาเรื่อยๆ แรกๆ ก็เหลือมั่งไม่เหลือมั่ง คิดซะว่าเรียนรู้ละกัน” ประสบการณ์สอนให้เขารู้ว่ามนุษย์จะผ่านทุกความยากลำบากได้หากตั้งใจจริง

สุวรรณฉัตรในวันนี้ ก้าวผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาได้เพราะใช้ธรรมะนำทาง ตั้งแต่วันแรกที่ยึดอาชีพโชเฟอร์แท็กซี่ เขาไม่เคยคิดค่าโดยสารจากพระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี เพื่อเป็นการระลึกถึงน้ำใจจากคนขับรถโดยสารเมื่อครั้งยังเป็นสามเณร เขาเลือกที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ ที่เคยได้รับเมื่อโอกาสมาถึง

“เวลาเจอพระ ผมจะลงไปบอกว่านั่งฟรี แต่ท่านจะขึ้นยากนิดนึง เพราะเราไม่มีสติ๊กเกอร์บอก เพราะรถเช่าเขาไม่ให้แปะ ก็นิมนต์ท่านขึ้น ท่านเข้าใจท่านก็ขึ้น ระหว่างทางนี่จะเป็นบุญของเราตรงที่ว่าเจอพระนักเทศน์ เราได้ฟังเทศน์ยันถึงวัดเลย พอไปส่งแล้วขับรถออกมา ท่านยังมองตามรถผม ผมว่าท่านต้องประทับใจเหมือนที่เราประทับใจ ทำแล้วก็เกิดความรู้สึกปิติยินดี”

ไม่เฉพาะกับผู้สืบทอดศาสนาเท่านั้น แต่กับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส หากได้ขึ้นรถแท็กซี่ของเขา การเดินทางในครั้งนั้นจะกลายเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจจนต้องเอาไปบอกต่อคนรอบข้าง ทุกวันนี้มีผู้พิการหลายคนโทรจองคิวรับ – ส่งเป็นประจำจนคุ้นเคยเหมือนคนในครอบครัว

“ศิริรัตน์ จั่นเพ็ชร” หรือ “จุ๊” คือหนึ่งในผู้โดยสารขาประจำของเขา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคพุ่มพวงทำให้เธอเกิดอาการติดเชื้อที่ไขสันหลัง เป็นเวลา 15 ปีเต็มที่เธอต้องใช้ชีวิตบนรถวีลแชร์ เพราะขาทั้ง 2 ข้างหมดความรู้สึกไปตั้งแต่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดที่กระดูกสันหลัง

เธอไม่แน่ใจว่าอุปสรรคในการเดินทางคืออะไรกันแน่ ระหว่างความพิการของเธอกับน้ำใจของคนขับแท็กซี่ที่เธอเคยพบ โดยมากแล้วพวกเขาจะปฏิเสธด้วยสายตาทันทีเมื่อเห็นว่าเธอนั่งอยู่บนวีลแชร์

“คงไม่มีแท็กซี่คนไหนอยากจะออกแรงช่วยยกรถวีลแชร์ขึ้นและลง เพื่อแลกกับค่าโดยสารเท่าๆ กับคนปกติ” นั่นคือสิ่งที่เธอคิดมาตลอด

“ทุกวันนี้อยู่กันสองคนแม่ลูก แม่ก็อายุ 78 แล้ว เป็นกระดูกสันหลังเคลื่อนเพราะคอยมาช่วยยกรถเข็นขึ้นลงแท็กซี่ เพราะคนขับก็ไม่ค่อยมาช่วย ไม่มาสนใจ อาการของแม่ก็จะทรงๆ ทรุดๆ เพราะเราก็ต้องไปหาหมอตลอด แม่ก็ลำบากไปด้วย”

เธอบอกว่าความช่วยเหลือของสุวรรณฉัตร ทำให้คนพิการอย่างเธอมีกำลังใจอยากสู้ต่อ เพราะที่ผ่านมามักจะถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เพราะถ้าเลือกได้ เธอก็ไม่อยากสร้างภาระให้กับใคร และไม่อยากให้ใครเห็นว่าคนพิการเป็นขยะ

อย่างน้อยที่สุด น้ำใจจากแท็กซี่ดีๆ ก็ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าในสายตาคนอื่น

ในฐานะผู้ให้ เขากลับรู้สึกขอบคุณผู้พิการทุกคนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเขา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทำความดี “เวลาทำแล้วเกิดความอิ่มใจ ไม่ได้กินข้าวก็ยังอิ่ม” คำตอบของเขาเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง

ในวันที่เงินคือตัวกลางในการแลกเปลี่ยนอันทรงพลัง หลายคนยอมรับว่ามันไม่ใช่แก่นแท้ของชีวิต แต่ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอำนาจของมัน เพราะเรื่องยากลำบากทั้งหลายล้วนแก้ปัญหาได้ด้วยเงิน แต่คำตอบของสุวรรณฉัตร กลับตรงกันข้ามกับที่ว่ามา

“ถ้ารอให้รวยก่อน บางอาชีพไม่รวย ถ้ารอให้เกษียณก่อน พอคุณเกษียณแล้วทำบุญได้แค่ 3 ครั้ง คุณอาจจะเป็นมะเร็งตาย บางครั้งรวยแล้วก็อาจจะขี้เหนียวไม่แบ่งใครก็ได้ ก็ทำเท่าที่มีลมหายใจ คิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ทำสะสมบุญไป ถ้าเราจะตายพรุ่งนี้เราก็ไม่เสียดายชีวิต”

นั่นอาจจะเป็นวิธีการใช้เงินซื้อความสุขในแบบของเขา ยิ่งเสียสละให้กับผู้อื่นมากเท่าไร เขาก็ยิ่งอิ่มเอิบใจมากขึ้นเท่านั้น มูลค่าของความสุขไม่ได้มาจากการเป็นผู้รับเสมอไป หากแต่การมีโอกาสได้เป็นผู้ให้ก็นำมาซึ่งความสุขได้เช่นกัน

“สำคัญที่สุดคืออย่าให้จิตวิญญาณต่ำกว่าเงินทอง อย่าให้เงินทองมาครอบงำจนทำให้เราทำผิด ต้องดูแลผู้โดยสารดุจลูกหลานเรา ญาติผู้ใหญ่เรา ให้บริการคนแก่วันนี้ ให้อย่างดี วันหน้าเราก็ต้องแก่เหมือนกัน ถ้าใครดีกับเรา เราก็คงจะยิ้มและมีความสุข” แนวคิดของเขาเรียบง่าย หากแต่ทำได้ยาก โดยเฉพาะในยุคที่เงินเป็นใหญ่ดังเช่นทุกวันนี้

“แท็กซี่หัวใจหล่อ” ในโซเชียลมีเดียอาจจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นและดับลงไปตามธรรมชาติ ได้แต่หวังว่าเส้นทางชีวิตและถ้อยคำของเขาจะเป็นแสงเล็กๆ ช่วยจุดประกายให้เกิดวงจรแห่งการแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่หล่อเลี้ยงทุกหัวใจต่อไปอย่างไม่รู้จบ

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Suwannachat Phromchat

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook