ฮาวา-เกศริน อรุณฉาย เพราะชีวิตเกิดมาเพื่อเป็นพิธีกรประมูลรถ
แม้ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะเห็นว่า เรื่องรถรานั้นเป็นของคู่กันกับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมักจะถูกนึกถึงในฐานะพริตตี้ MC ตามงานมอเตอร์โชว์ของบูธรถยี่ห้อต่างๆ แทน แต่ ‘ฮาวา-เกศริน อรุณฉาย’ กลับเข้าสู่แวดวงยานยนต์ด้วยการพาตัวเองโลดแล่นในอาชีพ ‘Auctioneer’ หรือ ‘พิธีกรประมูลรถ’ ของบริษัท แมนไฮมม์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เพราะเชื่อว่าชีวิตเกิดมาเพื่อเป็นพิธีกรประมูลรถ เธอจึงยืนหยัดอยู่บนเวทีงานประมูลยาวนานกว่า 20 ปี สร้างปรากฏการณ์ ‘Auctioneer’ หญิงที่บริษัทประมูลรถสาขาต่างประเทศต้องขอมาศึกษางาน ด้วยลีลาการขานเลขราคาชนิดรัวเร็วแทบไม่หายใจ บวกกับความมั่นใจ เด็ดขาด และความสามารถในการควบคุมคนนับร้อยซึ่งกำลังพุ่งความสนใจมาที่เธอ
มารับเลขผู้ประมูล เตรียมตัวยกมือ และเตรียมใจ ไปรู้จักกับ ‘ฮาวา-เกศริน อรุณฉาย’ ผ่านบทสัมภาษณ์นี้กัน
"ในขณะที่เราขึ้นไปทำหน้าที่พิธีกรประมูลครั้งแรก เราก็รู้เลยว่า ตัวเอง born to be auctioneer เราเกิดมาเพื่อเป็นพิธีกรประมูลรถจริงๆ"
จุดเริ่มต้นในการเป็นพิธีกรประมูลรถมาจากไหน
ในช่วงที่วายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมีโอกาสได้เข้ามาช่วยงานในบริษัทประมูลรถยนต์ ซึ่งเป็นบริษัทประมูลแห่งแรกในประเทศไทย ลองทำอยู่ 3 ปี จนเรียนจบ จนเมื่อปี 2540 ได้เข้าเป็นพนักงานประจำในตำแหน่งพนักงานการตลาดของบริษัทประมูลรถ ในตอนนั้นทุกคนที่อยู่ในฝ่ายการตลาดต้องขึ้นเป็นพิธีกรประมูลทำให้เราต้องไปเป็นพิธีกรด้วย และตอนที่เริ่มงานเป็นยุคต้มยำกุ้งพอดี จะมีรถมือสองเข้ามาเยอะมาก เราเลยได้ทำหน้าที่นี้เรื่อยมา จนถึงตอนนี้ถ้านับช่วงที่ช่วยงานตอนเรียนมหาวิทยาลัยด้วยวาทำงานในธุรกิจนี้มา 25 ปีแล้วค่ะ
พิธีกรประมูลรถมีหน้าที่อะไร
จริงๆ เราเป็นคนกลางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ คือต้องทำให้ผู้ซื้อได้ซื้อรถในราคาที่เขาพึงพอใจ และในขณะเดียวกัน ผู้ขายต้องขายได้ในราคาที่เขาต้องการ นั่นคือเราต้องตอบสนองความต้องการทั้งสองฝ่าย เราต้องเป็นคนกลางที่ดี และช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลการขายที่เหมาะสม
ทำงานมา 20 กว่าปีแล้ว มองความแตกต่างของวงการประมูลรถในช่วงที่คุณเริ่มต้นกับในขณะนี้ยังไง
เมื่อก่อนบริษัทประมูลแทบไม่เป็นที่รู้จัก เราหาลูกค้าได้ยากมาก เพราะคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องซื้อผ่านบริษัทประมูล ในเมื่อไปซื้อต่อจากคนขายโดยตรงก็ได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ คนรู้จักบริษัทประมูลมากขึ้น และมีคนสนใจส่งรถเข้ามาประมูลมากขึ้น ด้วยเทรนด์ตอนนี้ที่จะใช้บริษัทคนกลางในการขายทอดตลาด เพื่อลดภาระงานและแรงงานคน รวมถึงการลงทุนซึ่งผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่ต้องลงทุนเอง เพียงส่งมาให้เราขาย ก็รอรับเงินได้เลย การประมูลจึงน่าสนใจ ผู้เข้าร่วมก็เริ่มขยายตัว จากผู้ประกอบการรถยนต์มือสองไปเป็นผู้ที่มองหารถยนต์ไปใช้ส่วนตัว เพราะรู้ว่าตรงนี้คือศูนย์กลางค้าส่งรถยนต์มือสองจะซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าข้างนอกนิดหนึ่ง และมีรถให้เลือกหลากยี่ห้อหลายรุ่น แต่ตัวผู้ซื้อต้องดูรถเป็นด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเข้ามาประมูลมากขึ้น เรามีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนค่ะ
“เราเป็นคนกลางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เราต้องเป็นคนกลางที่ดี และช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลการขายที่เหมาะสม”
โลกออนไลน์ทำให้วงการประมูลรถเปลี่ยนแปลงไปไหม
ต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้เรามีช่องทางการประมูล 2 แบบ คือ 1. ผู้ซื้อเดินทางมาที่ลานประมูล 2. ประมูลออนไลน์ ซึ่งการประมูลทางออนไลน์นี้เป็นบริการที่เปิดมาหลายปีแล้วนะคะ แล้วมียอดผู้ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเปิดช่องทางออนไลน์เป็นวิธีอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ดีมาก ลูกค้านั่งอยู่ที่บ้านก็สามารถกดประมูลได้เลย ประมูลเสร็จโอนเงิน และใช้บริการขนย้ายของเราได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาเอง
การประมูลที่น่าจดจำในชีวิตพิธีกรประมูลรถของคุณ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เองค่ะ คือมีรถยุโรปรุ่นหนึ่งที่เราดูแล้วคิดว่าน่าจะขายยาก แต่ปรากฏว่าเป็นคันที่ลูกค้าสู้ราคากันทั้งในลานและออนไลน์แบบดุเดือดมาก คือปกติก่อนประมูลเราจะมีการประเมินก่อนว่าน่าจะขายได้เท่าไร สำหรับคันนี้ประเมินว่าน่าจะขายได้เกินราคาที่ตั้งไว้สัก 50,000–60,000 บาทขึ้นไป แต่พอสู้ราคากันจริงๆ ปรากฏว่าราคาขึ้นไปเกือบถึง 200,000 บาท และใช้เวลาประมูลเกือบ 10 นาที ทั้งๆ ที่ปกติคันหนึ่งที่ใช้เวลานานกว่าปกติ ก็จะใช้เวลาแค่ 3-5 นาทีเท่านั้นค่ะ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้คนที่มาประมูลได้เห็นภาพว่า เวลารถที่เป็นรุ่นที่น่าสนใจคุณต้องทำการบ้านในการสู้ราคาด้วย ถึงแม้ผู้ขายต้องการจะขายในราคาที่ไม่ได้สูงมาก แต่ผู้ซื้อยอมสู้จนถึงราคาเกือบสองแสน แสดงว่ารถรุ่นนี้ยังนำไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
นอกจากการประมูลรถแล้ว คุณเคยเป็นพิธีกรงานประมูลอื่นๆ ไหม
ในชีวิตนี้ก็ได้ทำการประมูลมาเกือบทุกอย่างแล้วค่ะ ยกเว้นมนุษย์ (หัวเราะ) แต่ที่วารู้สึกประทับใจก็คือ การประมูลหาบ้านให้สุนัขของหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นสุนัขที่ถูกนำมาทิ้ง เป็นครั้งหนึ่งที่เราทำหน้าที่พิธีกรประมูลและได้ช่วยเหลือชีวิตอีกหลายชีวิต แล้วก็จะมีการประมูลเพื่อการกุศลอื่นๆ อย่างเมื่อตอนช่วยเนปาล ได้ไปเป็นพิธีกรให้กระทรวงต่างประเทศ ครั้งนั้นเป็นการประมูลงานศิลปกรรมของศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นอีกงานหนึ่งที่เราได้นำวิชาชีพเราไปช่วยเหลือคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เลยเป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจ เพราะอย่างน้อยวิชาชีพของเราก็ช่วยเหลือสังคมได้ค่ะ
แล้วการประมูลรถต่างกับการประมูลสิ่งอื่นๆ ยังไง
ในส่วนของรถยนต์ ถ้าเราประมูลที่บริษัทตัวเอง กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มที่รู้จักกันดี และเขาเข้าใจหลักการประมูลอยู่แล้ว เราเลยใช้ความเร็วได้ แต่ถ้าเป็นการประมูลประเภทอื่น อย่างการประมูลบ้าน ตัวราคามันจะสูงขึ้น การตัดสินใจของลูกค้าจะช้าลง เราต้องทำความเข้าใจ ใช้ความเร็วที่ช้าลง และทำการบ้านมาก่อน ถ้าเราถูกให้ไปประมูลของมีค่าที่ราคาแพงมากๆ รวมถึงเครื่องประดับและงานศิลปกรรมด้วย เราต้องศึกษาค่อนข้างเยอะ ว่าใครเป็นคนสร้าง และรายละเอียดของแต่ละอย่างนั้นเป็นยังไง และแขกที่มาประมูลก็จะต่างกัน ถ้าเป็นพ่อค้ารถยนต์ เราจะชิน และสามารถควบคุมสถานการณ์ให้จบการขายได้ภายในเวลาที่กระชับ แต่หากผู้ประมูลเป็นบุคคลสำคัญในระดับประเทศ เราจะใช้วิธีแบบนั้นไม่ได้ เราต้องปรับตัวเองไปตามสถาการณ์ที่แตกต่างกัน
“นอกจากการเป็นนักสื่อสารที่ดีแล้ว คุณต้องควบคุมสถานการณ์ เป็นคนตาไว พูดเร็ว คิดและประมวลผลเร็ว และต้องมั่นใจว่าถูกต้องด้วย”
ทักษะสำคัญที่พิธีกรประมูลต้องมี
นอกจากการเป็นนักสื่อสารที่ดีแล้ว คุณต้องควบคุมสถานการณ์เป็น เพราะในเวลาประมูล จะมีคนประมูลหลายร้อยคน แล้วยังมีเจ้าหน้าที่ที่เราต้องสื่อสารด้วย เราจึงต้องสื่อสารได้ดี ตาไว พูดเร็ว คิดและประมวลผลเร็ว และต้องมั่นใจว่าถูกต้องด้วย เพราะงานประมูลเป็นงานที่พูดผิดไม่ได้ ตัวเลขผิดไม่ได้ ต้องใช้ความแม่นยำ และมีวิธีการพูดที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เพิ่มเงินอีกสองพัน หรือเพิ่มอีกหมื่นก็ไม่มีปัญหา สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราต้องรู้ราคารถ ถ้าเรารู้จริงและขอราคาขึ้นไปอีกจำนวนหนึ่ง ผู้ประมูลก็จะเชื่อใจ และรู้ว่าราคาที่เราขอขึ้นเป็นราคาที่ซื้อได้จริง ในขณะเดียวกัน การประสานงานติดต่อกับผู้ขาย ก็ต้องทำให้ผู้ขายรู้ว่าตอนนี้เป็นราคาดีที่สุดที่จะขายแล้ว มันเป็นการเจรจาต่อรองที่ค่อนข้างรวดเร็ว และมันมีการสื่อสารโดยไม่พูดเยอะมากบนเวที ดังนั้นพิธีกรประมูลรถต้องคิดไว พูดไว ทำไว
ยังต้องเตรียมตัวก่อนขึ้นเวทีไหม
ตัวเราเองเราศึกษาเรื่องตลาดรถโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะรถรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ พอรถรุ่นใหม่ออกมา มันจะมีรถมือสองเข้าตลาด เราต้องรู้ว่ารถรุ่นนี้ราคามือหนึ่งเท่านี้มือสองเท่านี้ นอกจากเรื่องข้อมูลแล้ว โดยทั่วๆ ไป พิธีกรประมูลรถต้องเตรียมตัวเรื่องสุขภาพ เราต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะต้องยืนประมูลยาว 5-6 ชั่วโมง และต้องพูดตลอดเวลา ต้องแอคทีฟตลอดเวลา ดังนั้นคืนก่อนขึ้นเวทีต้องห้ามอดนอนค่ะ ยกเว้นว่าเก๋าจริงๆ ที่จะควบคุมตัวเองได้แม้จะอดนอนเป็นซอมบี้ ดังนั้นเตรียมร่างกายตัวเองให้พร้อมจะดีกว่า
แล้วเรื่องอารมณ์ของตัวเองล่ะ ถ้ารู้สึกไม่พร้อมเวลาจะขึ้นประมูล จะจัดการยังไง
พูดเรื่องส่วนตัวนิดนึงนะ (หัวเราะ) ตอนที่เริ่มงานที่นี่ เราอกหัก ร้องไห้ทั้งคืนเลย คิดในใจ ตอนขึ้นเวทีจะทำยังไง ตอนเช้ามา ก่อนขึ้นเวทีน้ำตาก็ยังไหลพรากอยู่ อะ...ไม่เป็นไร เราก็ล้างหน้า แต่งหน้าใหม่ บอกตัวเองว่า สิ่งที่เรากำลังจะขึ้นไปทำมันคือเกือบ 100% ของชีวิตเรา อีกแค่ไม่ถึง 10% มันเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดและควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่ควบคุมได้มันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราบนเวทีนี้ ตัดทุกอย่างเลยค่ะ แล้วขึ้นประมูลปกติ คนไม่รู้เลยว่าเราเป็นอะไรมา เหตุการณ์เจ็บปวดหรือเสียใจเกิดขึ้นตลอด แต่เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำมันคือชีวิตเกือบทั้งหมดของเรา เราต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ต่อให้เราไปเจ็บอะไรมา ผิดหวังอะไรมา เราต้องรู้วิธีจัดการตัวเองก่อนขึ้นเวที แล้วตัวเราเองก็จะทึ่งตัวเอง ภูมิใจว่าเราสามารถจัดการตัวเองได้ แค่รู้ว่าอะไรสำคัญที่สุดในชีวิตเราเท่านั้นเอง
เคยถูกยื่นข้อเสนอให้ช่วยนอกรอบไหม
ในชีวิตการทำงานก็จะเจออยู่แล้ว เช่น เคาะเร็วๆ ให้เขาหน่อย ในราคาประมาณนี้ หรือเอามาขายให้ก่อนได้ไหม แต่ด้วยจรรยาบรรณของการเป็นคนกลาง เราจึงไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้น เนื่องจากแนวทางการทำงานที่นี่ เรายึดความถูกต้องและโปร่งใส เราจึงต้องดำเนินการประมูลด้วยความยุติธรรม ไม่สามารถขายให้ใครในราคาที่เขาต้องการ หรือรับอามิสสินจ้างได้ เพราะเราต้องเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ถ้าหากเราขายในราคาที่ผู้ซื้อต้องการ เราจะไม่สามารถตอบผู้ขายได้ว่าทำไมราคาขายมันเหลือแค่นี้ เราจำเป็นต้องสร้างความพอใจให้ทั้งสองฝ่าย สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม จะทำให้เราทำงานได้นาน ดังนั้น วาจึงไม่สามารถช่วยใครให้ได้ราคาที่ถูกที่สุดได้ ทำไม่ได้จริงๆ ค่ะ
“เหตุการณ์เจ็บปวดหรือเสียใจเกิดขึ้นตลอด แต่เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำมันคือชีวิตเกือบทั้งหมดของเรา เราต้องควบคุมตัวเองให้ได้”
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างยาวนาน
ตอนอยู่บริษัทเก่า เขาบอกให้เราขึ้นเวทีและพูดเลย ทั้งๆ ที่เราก็ยังไม่รู้เลยว่าทำยังไง เรื่องนับตัวเลขอย่างไรนี่ไม่มีใครสอนเลย แต่ในขณะที่เราขึ้นไปทำหน้าที่พิธีกรประมูลครั้งแรก เรารู้ทันทีว่าเราต้องทำงานนี้ แล้วตอนนั้นรถไหลเข้ามาจากที่ 56 ไฟแนนซ์ปิด ทำให้มีรถหลายหมื่นคันเข้ามา มันทำให้เราพัฒนาตัวเองไวขึ้น และฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง พอทำไปได้พักหนึ่ง เราก็รู้เลยว่า ตัวเอง born to be auctioneer เกิดมาเพื่อทำงานนี้ แล้วพอย้ายมาอยู่บริษัทนี้ ยิ่งรู้เลยว่าเขาให้ความสำคัญกับพิธีกรประมูลมาก ถือว่าเราเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท วาเลยมีความสุขกับการอยู่บนเวทีทุกครั้งทุกนาที เพราะฉะนั้น อาชีพนี้คืออาชีพที่มีขึ้นมาเพื่อให้เราไปทำ คือเรารู้สึกว่าเกิดมาเพื่อเป็นพิธีกรประมูลรถจริงๆ
แบ่งเวลางานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวยังไง
เวลาหลังเลิกงาน ทุกคนจะเห็นวาเปลี่ยนชุดเพื่อไปยิม หรือเจอวาวิ่งไปรอบๆ บริษัทเพื่อวอร์มร่างกาย นี่คือการใช้เวลาเพื่อดูแลสุขภาพค่ะ วาชอบเข้ายิม ชอบออกกำลังกาย เวทเทรนนิ่ง สัปดาห์หนึ่งต้องมีอย่างน้อยสามวันที่เราไปออกกำลังกาย ทำแบบนี้มาประมาณ 10 ปีแล้ว ทั้งหลังเลิกงานและวันหยุด ซึ่งมันช่วยส่งเสริมเรื่องงานเราด้วย คือทำประมูลมา 20 กว่าปีแล้ว แต่เราก็ยังรู้สึกสดใส เพราะการออกกำลังกายทำให้ปอดเราแข็งแรง ร่างกายเราแข็งแรง พอทำงานเราจึงไม่รู้สึกเหนื่อยอะไรมากมาย แล้วก็ช่วยเรื่องรูปร่าง บุคลิกภาพด้วย
ดูเป็นคนแอคทีฟมาก มีงานหรือกิจกรรมอะไรที่นอกเหนือจากงานพิธีกรอีกไหม
ก่อนหน้านี้เรามีงานอื่นที่ทำควบคู่ไปกับงานประมูล ก็คืองานร้องเพลง ร้องมาเป็นสิบปีเหมือนกัน บางคนบอกว่างานประมูลกับงานร้องเพลงมันค้านกัน แต่วาคิดว่าจริงๆ มันช่วยเสริมกันอย่างลงตัวมาก เพราะการร้องเพลงทำให้มีอารมณ์สุนทรี ซึ่งมันมาช่วยบาลานซ์กับงานประจำที่เน้นการลุยๆ ดูแข็งๆ ศิลปะการร้องเพลงจึงมาผสมกับพิธีกรประมูลทำให้เราเป็นเรา แต่ตอนนี้เพิ่งหยุดร้องเพลงไป เลยกำลังมองหากิจกรรมอะไรสักอย่างทำต่อ เพราะเป็นคนที่แอคทีฟมาก ทำงานแค่อย่างเดียวไม่ได้ แล้วชอบทำกิจกรรมปีนป่ายโลดโผน ใครให้ทำก็ทำหมด อยู่นิ่งไม่เป็น นิ่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองหายใจทิ้งเสีย เราไม่ได้คิดว่าตัวเองเด็กนะ แต่คิดว่าตัวเองแอคทีฟตลอดเวลา
การเป็นผู้หญิงที่ทำอาชีพพิธีกรประมูลรถ มีข้อแตกต่างอะไรกับผู้ชายไหม
หลายคนอาจติดภาพจากงานโชว์ที่ใช้พริตตี้เอ็มซีผู้หญิงในการพรีเซนต์รถ แต่สำหรับบริษัทนี้ ออกชันเนียร์คือ ออกชันเนียร์เลย ไม่ใช่เอ็มซี บนเวทีเหงื่อออกจริง เหนื่อยจริง บางครั้งหัวฟูกันเลย แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว การเป็นผู้หญิงที่ทำอาชีพพิธีกรประมูลในประเทศไทยก็ถือว่าไม่แปลกนะคะ แต่ในต่างประเทศจะค่อนข้างทึ่งว่า ทำไมไทยใช้พิธีกรผู้หญิง ซึ่งต่างประเทศเขาจะใช้ผู้ชายทั้งหมด เขางงมากว่าทำไมที่นี่ใช้ผู้หญิง ถึงขนาดเดินทางมาดูกัน และตกใจว่าทำไมผู้หญิงดูแข็งแรงมาก แล้วเราได้ไปโชว์วิธีการประมูลโดยใช้ภาษาไทยที่ต่างประเทศ ดีลเลอร์ที่นั่นทึ่งกันมาก ทางฝ่ายบุคคลของแต่ละประเทศเริ่มมาศึกษาว่า ทำไมที่นี่ใช้ผู้หญิงทำได้ ทำยังไงให้ผู้หญิงอยากเป็นพิธีกรประมูล ดังนั้นในระดับโลกถือว่าเราสอบผ่านเลย ผู้หญิงเราทำได้ และตอนนี้บริษัทสาขาในต่างประเทศเริ่มที่จะมีผู้หญิงมาทำหน้าที่นี้เยอะขึ้นมากด้วยค่ะ
“ถ้ากล้าท้าทายตัวเองและยอมที่จะเหนื่อย อดทน บอกได้เลยว่า ทุกคน ต่อให้พูดไม่เป็น ก็เป็นพิธีกรประมูลรถได้”
คิดว่าเสน่ห์ของการเป็นพิธีกรประมูลรถคืออะไร
การประมูลขายรถหนึ่งคัน ปกติถ้าเราขายธรรมดาตามโชว์รูมรถ เขาจะขายทีละคัน ลูกค้าทีละหนึ่งราย แต่ในการประมูลรถที่นี่ ลูกค้าดูเป็นร้อยคน และเราไม่รู้ด้วยว่าคนที่จะประมูลซื้อจะมาจากทิศไหน ความท้าทายมันจึงอยู่ตรงที่ เราต้องปิดการขายท่ามกลางคนเป็นร้อย ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ดี ในเวลาที่กระชับ แต่ต้องไม่รีบเกินไปจนรถเสียราคา ไม่ช้าจนเกินไปจนกินเวลา เราต้องควบคุมทุกอย่างให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น
มีคำแนะนำให้คนที่อยากเป็นพิธีกรประมูลรถไหม
คนที่อยากเป็นพิธีกรประมูลจะต้องเป็นคนที่กล้า และท้าทายตัวเอง พิธีกรประมูลบางคนก็เคยทำงานเป็นแอดมิน คีย์ข้อมูลหลังจอคอมพิวเตอร์ เงียบ พูดไม่เป็น แต่มาถามเราว่า หนูทำได้ไหม เราก็บอกเลยว่า ต้องถามตัวเอง ถ้ามั่นใจว่าทำได้ก็คือทำได้ เราให้น้องลองนับเลข ให้ลองพูด และขึ้นเวที ถ้ากล้าท้าทายตัวเองและยอมที่จะเหนื่อย อดทน บอกได้เลยว่า ทุกคน ต่อให้พูดไม่เป็น ก็เป็นพิธีกรประมูลรถได้