Alex Face ศิลปินผู้เป็นกระบอกเสียงของประชาชนผ่านงานกราฟฟิตี้บนฝาผนัง
โดย เอกชัย สุทธิยั่งยืน
เชื่อว่าคุณต้องเคยเห็นคาแร็กเตอร์เด็กในชุดกระต่ายสามตาหน้าบึ้งที่ถูกเรียกว่า ‘Mardi’ หรือถูกเข้าใจว่าเป็นเด็กสาวผ่านตากันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จริงหรือตามโซเชียลมีเดีย ด้วยคาแร็กเตอร์ที่ถึงแม้จะทำหน้าบูดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังแฝงไว้ด้วยความน่ารัก ขี้เล่น แต่เชื่อไหมว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ทุกคนหลงรักกับความน่ารักนั้นเป็นคาแร็กเตอร์ที่ไม่มีทั้งชื่อ ไม่มีทั้งเพศ เป็นเพียงแค่ตัวนำสารที่ศิลปินกราฟฟิตี้ Alex Face หรือพัชรพล แตงรื่น ต้องการนำเสนอถึงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ตั้งแต่ประเด็นใหญ่ทางสังคมไปจนถึงพื้นที่เล็กๆ ในชุมชนที่ไม่มีใครเหลียวแล จากจุดเริ่มต้นของการพ่นกราฟฟิตี้เพียงเพื่อความสนุก ความสะใจในสมัยเรียน จนระยะเวลาผ่านมากว่า 16 ปี ตั้งแต่ปี 2002 ที่ช่วยหล่อหลอมให้ผลงานของ Alex Face เป็นมากกว่าแค่เพียงงานกราฟฟิตี้บนกำแพง กับเรื่องราวที่สะท้อนถึงบริบทของพื้นที่และผู้คนทั้งในและต่างประเทศ และด้วยแนวความคิดการทำงานศิลปะของเขาที่ว่า “หลายคนชอบคิดว่าศิลปะมันคืออะไรก็ได้ แต่ความจริงมันเหมือนการกลับไปทบทวนตัวเองว่าเราทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไร มีเหตุผลและที่มา ไม่ใช่มั่วๆ ศิลปะมันต้องมีเหตุผลรองรับให้ได้ทั้งหมด” จึงน่าจะทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชิ้นงานของ Alex Fcae นี่แหละ ที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนได้ชัดเจนที่สุด เพราะถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้สนใจเรื่องราวในสังคม และชื่นชอบเพียงเพราะความน่ารักของชิ้นงาน แต่อย่างน้อยคุณก็เป็นหนึ่งในคนรับสารที่เขาต้องการสื่อ
ได้ยินมาว่าคุณสนใจงานกราฟฟิตี้เพราะชอบฮิปฮอป
จริงๆ เริ่มมาจากเราชอบวาดรูป เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นเด็กกิจกรรม วาดรูปประกวด พอเข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่งก็เหมือนเข้ามาเรียนในระดับที่สูงขึ้น แล้วช่วงนั้นมันก็ไปเจอกับกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ช่วงนั้นวัฒนธรรมฮิปฮอปกำลังมา กำลังบูมในกรุงเทพฯ ตอนนั้นส่วนประกอบของวัฒนธรรมฮิปฮอปมันมีสี่แบบ มีดีเจ มีเอ็มซี มีกราฟฟิตี้ มีบีบอย เราก็คิดว่า “เห้ยเราชอบวาดรูป” แล้วกราฟฟิตี้มันก็เห็นในสื่อในอะไรแล้วมันน่าสนใจ เราก็เลยลองพ่นดู พอเริ่มจากลองพ่นเล่นๆ ก็เริ่มสนุก ตอนแรกก็คิดว่าเป็นแฟชั่น เป็นกระแสที่มากับวัฒนธรรมดนตรี คือตั้งแต่เริ่มสนใจเราก็ไม่ได้พ่นเละเลยนะ มันมีการค้นคว้าศึกษาก่อน เข้าไปดูตามเว็บไซต์ว่าฝรั่งเขาพ่นยังไง คนไทยมีใครพ่นบ้าง พ่นกันยังไง ซื้อหนังสือมาดู อ่านแมกกาซีนสเกตบอร์ด เราก็ดูข้อมูลอยู่พักหนึ่งก่อนจะไปซื้อสีมาพ่น นั่นแหละพอรู้สึกว่าสนุก เหมือนได้ปลดปล่อยความรู้สึกอะไรบางอย่าง ด้วยความที่มันเป็นสีสเปรย์มั้ง เราก็พ่นชื่อเราในเวลาที่รวดเร็วมาก ตอนนั้นไม่ได้พูดถึงความสวยงามนะ พูดถึงความสะใจอย่างเดียว พูดถึงความสนุกอย่างเดียว พ่นชื่อเราง่ายๆ ตอนนั้นรู้สึกติดใจ พอพ่นครั้งแรกก็พ่นอีก คราวนี้ก็กลายเป็นเสาร์ - อาทิตย์ก็ต้องหาที่พ่น เริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ กลุ่มเพื่อนก็เริ่มกว้างขึ้น ไกลขึ้น ไปเจอคนนั้นคนนี้ ออกไปพ่นไกลขึ้น จากตอนแรกพ่นอยู่แถวๆ หอพักตัวเอง ก็เริ่มไปที่อื่นเริ่มเข้าเมืองไปเรื่อย
แล้ว ณ ตอนนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาในวงการศิลปะบ้านเรา โดยเฉพาะกับซีนกราฟฟิตี้อย่างไรบ้าง
ถ้าพูดถึงซีนกราฟฟิตี้ตอนนี้มันอาจจะมีหลายประเด็น อาจจะเป็นกราฟฟิตี้ เป็นสตรีตอาร์ต พับลิกอาร์ต เออเบิร์นอาร์ต หรือ Mural Painting มันเริ่มกระจายไปหลายแบบ แต่ตอนแรกที่เราเริ่มทำมันอาจจะยังใหม่สำหรับบ้านเรา แล้วก็อาจจะมีแรงต่อต้านเยอะ เพราะตอนที่เราเริ่มพ่นก็มีแต่เพื่อนที่พ่นด้วยกันนี่แหละ ที่เห็นดีเห็นงามด้วย นอกนั้นไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับเราเท่าไหร่ แบบว่า “จะพ่นทำไม ดูน่ารำคาญ ดูมือบอน ดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” คนส่วนใหญ่คิดแบบนั้น บางทีเวลาเราไปพ่นก็โดนไล่ หรือมีคนมาถามว่าพ่นทำไม ใครจ้างมาพ่น ทำไมต้องพ่น คงเพราะกิริยาอาการเวลาใช้สีพ่นกำแพงมันดูมือบอนด้วยแหละ แต่เราตั้งใจว่าเราจะพ่นเป็นรูป โดนไล่ก็เยอะ โดนด่าก็เยอะ คนชอบก็มี แต่แค่เห็นแรงต่อต้านเยอะหน่อย คือมีปัญหากับชีวิตเพราะการพ่นก็เยอะเหมือนกันในช่วงแรกๆ แต่พอเราพ่นมาสักพักเนี่ย ช่วงหลังๆ เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะว่างานเหล่านี้ตอนนี้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัย แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการพ่นมีหลากหลายมาก มีทั้งพ่นข้อความ พ่นตัวหนังสือ พ่นชื่อ พ่นเป็นสิ่งสวยงาม เราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นสิ่งเดียวกันก็ไม่ได้ ก็เลยมีความซับซ้อนอยู่เหมือนกัน ตอนหลังกราฟฟิตี้หรือสตรีตอาร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้นจากเมื่อก่อน เราคิดเอาเองว่าเหตุผลคือคนโตขึ้น เหมือนเจเนอเรชั่นผ่านไปใน 16 ปี ที่เราพ่นมา รุ่นเราก็โตมาเป็นวัยผู้ใหญ่ขับเคลื่อนสังคม ก็กลายเป็นว่ากราฟฟิตี้โตมากับรุ่นเรา พอเราโตขึ้นมาคนก็ยังชอบอยู่ ก็เอาสิ่งพวกนี้กลับมาใช้ กลายเป็นว่าถูกยอมรับมากขึ้น และอาจจะด้วยฝีมือที่พอพ่นมาหลายปีก็อาจจะทำให้งานมันสวยขึ้น ดูลงตัวขึ้น เหมือนมันไปด้วยกันคืองานมันดีขึ้น ขณะที่คนยอมรับและเปิดรับมากขึ้น ก็เลยอยู่ร่วมกันและถูกยอมรับมากกว่าเดิม
จริงๆ แล้วมันเหมือนการสร้างคุณค่าให้กับสถานที่นั้นๆ จากเมื่อก่อนพ่นเละๆ เทะๆ เราคิดว่าจะไปพ่นในสถานที่ร้างๆ ไปทำให้ที่ร้างๆ มันมีสีสัน แต่ปัจจุบันนี้เวลาเราไปพ่นที่ไหนมันกลายเป็นที่เช็กอิน คนไปถ่ายรูป พอคนไปถ่ายรูปมันมีการเดิน ทำให้ร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ในเมืองขายดีขึ้น จากฟีดแบ็กที่เราได้รับกลับมาว่าชาวบ้านมาบอกว่างานมันทำให้ชุมชนคึกคักขึ้น คนมาเยอะขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คนที่ชอบผลงานเขาก็จะตามไปดู ไปถ่ายรูปกัน อย่างเราก็ไปพ่นตามเมืองเก่า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครไปเดินแล้ว เช่นภูเก็ต ยะลา ทำให้คนเอนจอยกับกิจกรรมศิลปะในชุมชนที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหลัก อย่างในยะลาก็มีคนออกมาดูงาน มีความสุข แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนทำงานเองก็มีความสุขที่เห็นว่างานสามารถสื่อสารกับคนดูได้อย่างไร จากเมื่อก่อนที่เราพ่นเล่นๆ เพื่อความสะใจ เราก็เอาวิชาที่เราเรียนมาผสมกับงานเราให้ออกมาเป็นงานกราฟฟิตี้ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตรงนั้นที่มันแชร์กับคนที่อยู่ตรงนั้นได้ ก็เลยเกิดการปฏิสัมพันธ์กับคนได้ง่ายขึ้น
งานส่วนใหญ่ของ Alex Face มักอยู่ในสถานที่ใหญ่ๆ หรือสำคัญๆ ทั้งนั้น ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร มีการเข้าไปดูสถานที่ก่อนจะลงมือทำงานไหม
ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไปดูสถานที่ก่อน ได้เห็นพื้นที่ก่อนมันก็จะดีกว่า เพราะเราได้ทำการบ้าน ได้สเก็ตช์ก่อนว่าเราจะทำอะไรตรงนั้น ดูสตอรี่ของพื้นที่นั้นๆ แต่ก็มีหลายครั้งที่เราไปแบบไม่ได้มีโอกาสทำการบ้านเลย โดยเฉพาะเวลาเดินทาง เราก็ต้องไปคิดสดๆ ตรงนั้นเลย เหมือนเราเล่นเกมตีโจทย์ เพราะเราจะต้องดูกำแพง ดูบริบทรอบข้างว่ามีอะไรน่าสนใจตรงนั้นบ้าง มีสายไฟ มีถังขยะ มีต้นไม้ มีอะไรบ้างที่เราสามารถเอามาเป็นส่วนหนึ่งของงานได้เลย เราคิดว่ามันคือเสน่ห์ของงานประเภทนี้ที่จะไปอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมหรือผู้คนตรงนั้นให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานได้ เพราะทุกที่ก็ต้องมีสตอรี่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว เราก็จะไปคุย ไปทำความรู้จักกับชาวบ้านแถวนั้นว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง บางทีเราก็ได้ไอเดียจากการคุยกับคนในพื้นที่นั่นแหละ อย่างเช่นตอนไปไต้หวัน เราไปเมืองไถจง กลางเกาะไต้หวันเลย ก็เข้าไปในหมู่บ้าน ตอนนั้นเราเห็นภาพงู เป็นงูสีดำแต่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยม ซึ่งถ้าเราไปคุยกับคนทั่วไปก็อาจเข้าใจว่างูเป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้ายก็ได้ แต่พอเราไปคุยกับชาวบ้านปรากฏว่างูคือสัญลักษณ์ของความโชคดี งูคือเพื่อน คืองูตัวนี้เฟรนด์ลี่ ถ้าไม่ไปคุย เราก็ไม่รู้ พอรู้แล้วเลยพ่นให้งูตัวนี้มารัดกับคาแร็กเตอร์ของงานเราอารมณ์เหมือนเป็นเพื่อนกันรักกัน ก็เข้ากับชุมชนนั้นได้ ถ้าเราไม่รู้ก็อาจจะพ่นออกมาให้งูดูเป็นวายร้ายเป็นอะไรอย่างอื่นไป
แล้วในฐานะการเป็นศิลปินที่ทำงานมานาน จุดไหนของชีวิตที่คิดว่าเราสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ด้วยอาชีพศิลปินและงานศิลปะ
ย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็กเลยนะ คนเขาจะมีชุดความคิดมาตลอดว่าถ้าไปทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะจะต้องเป็นศิลปินไส้แห้ง จะถูกตั้งโปรแกรมแบบนี้มาตลอดเวลา แล้วเราก็จะคิดมาเสมอว่าต้องไส้แห้งแน่นอน ใครจะซื้อรูปเรา ครอบครัวเราก็ไม่ได้มีฐานะที่จะมาซับพอร์ตเราได้ ต้องจนแน่นอน ก็คิดอย่างนี้มาตลอด แต่เราก็ยังเลือกที่จะทำเพราะชอบและคิดว่าทำได้ดีที่สุด การเริ่มต้น การเจออุปสรรคของทุกอย่างมันเป็นเรื่องปกติ แต่มองย้อนกลับไปเราก็หาเงินได้ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ตอนอยู่มัธยมต้นเคยไปประกวดวาดรูป พอได้เงินมาก็เอาไปจ่ายค่าเทอมเองตั้งแต่ตอนนั้น พอลองคิดดูก็ “เออ เราหาเงินได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วนะ” พอโตขึ้นก็รับจ็อบทำงาน คือเราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาที่บ้านตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ซึ่งเงินที่ได้ก็มาจากงานศิลปะที่เราทำนี่แหละ มันก็ค่อยๆ เพิ่ม ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ
เหล่าคนรุ่นใหม่ต่างมีความฝันที่จะอยากทำงานอิสระ ไม่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศ คุณเองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าไม่เคยทำงานออฟฟิศมาก่อนเลย คิดว่ามันส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง
คือเราไม่ได้แอนตี้ออฟฟิศนะ ตอนแรกจะไปทำออฟฟิศด้วย แต่เรารู้สึกว่าทำได้ไม่ดี เพื่อนๆ ที่เรียนจบปุ๊บไปทำออฟฟิศกันหมดเลย ไปทำกราฟิก คอมพิวเตอร์กราฟิก แต่เราทำไม่เป็น ตอนนั้นเราใช้พวกเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย แต่ตอนนี้ก็ใช้เต็มที่เวลาทำงาน เราก็คิดว่าถ้าไปทำจะต้องถ่วงความเจริญเขาแน่เลย เราก็เลยเลือกทำอะไรก็ได้ที่ใช้มือวาด ใช้ทักษะที่เราถนัด แต่อันนี้ก็เป็นนิสัยส่วนตัวนะ ตอนช่วงวัยรุ่นคือพอได้เงินมาก็จะหยุดทำงาน แล้วไปทำอะไรที่อยากทำ สนุกลุยไปเรื่อย พอเงินหมดก็ค่อยไปหาใหม่ วนไป ไม่ได้คิดว่าต้องเก็บเงินหรือวางแผนอนาคต ก็ทำไปเรื่อยๆ เหมือนพยายามบาลานซ์สิ่งที่เราอยากทำกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งสิ่งที่เราอยากทำมันเริ่มอยู่ได้ เริ่มหาเงินได้จนรวมเป็นสิ่งเดียวกัน เราก็ยิ่งทำงานศิลปะของเราไปเรื่อยๆ ยิ่งทำมันก็ยิ่งเพิ่มทักษะให้ตัวเอง
ปัจจุบันงานกราฟฟิตี้หรือสตรีตอาร์ตถือว่าเป็นหนึ่งช่องทางในการสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ตอนนี้คุณมีประเด็นอะไรที่อยากจะหยิบมาถ่ายทอดบ้างไหม
ที่ผ่านมาเราพยายามพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมเรื่อยๆ อะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้นเราก็จะพูด แต่ไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมา เราจะพูดให้คนกลับไปคิดใหม่ บางทีก็เล่าเรื่องซีเรียสผ่านตัวคาแร็กเตอร์ที่มันน่ารัก ให้เกิดการตั้งคำถามว่าอย่างนี้มันใช่หรือไม่ใช่ ให้คนไปคิดเอาเอง มันก็อาจจะดูเสียดสี แต่เราก็ไม่ได้เสียดสีแรงนะ ทิ้งพื้นที่ตรงกลางไว้ค่อนข้างเยอะ สำหรับงานที่เราพ่นแต่ละครั้ง เราคิดว่าประสบการณ์แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ทุกคนมีพื้นที่ความคิดที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากไปนำพาความคิดของพวกเขาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้นะ แต่ปัจจุบันนี้เราอยากพูดประเด็นเรื่องของการก้าวข้ามอะไรบางอย่าง อนาคตที่เราต้องเดินต่อไป หรือความหวังกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดในสังคมเรา เราไม่อยากพูดถึงเรื่องเนกาทีฟที่เคยเกิดขึ้น เรารู้สึกว่าตอนนี้มันอยู่ในช่วงความหวังว่าประเทศเรากำลังจะเจอกับสิ่งดีๆ ในอนาคต เพื่อที่จะสื่อไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังโตมาเป็นความหวังสำหรับประเทศเรา สำหรับสังคมของเรา