รู้จักตัวตนของ "แชมป์-ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย" ทายาทเครื่องใช้ไฟฟ้า SHARP

รู้จักตัวตนของ "แชมป์-ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย" ทายาทเครื่องใช้ไฟฟ้า SHARP

รู้จักตัวตนของ "แชมป์-ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย" ทายาทเครื่องใช้ไฟฟ้า SHARP
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กว่าจะพบคำตอบ “ถ้าผมไม่ใช่ลูกเจ้าของชาร์ป ผมคือใคร” เผยความรู้สึกจากใจที่นี่ที่เดียว

ถ้าพูดถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าสักแบรนด์หนึ่ง เชื่อเลยว่าแบรนด์ SHARP ต้องเป็นหนึ่งแบรนด์ที่หลายๆครอบครัวเลือกใช้ นั้นทำให้ 'คุณแชมป์-ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย' ทายาทหนุ่มคนเดียวของบ้านคือความหวัง การสานต่อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของบ้านคือเป้าหมายเดียวตั้งแต่จำความได้

“ในชีวิตผม ผมไม่เคยคิดอย่างอื่นเลย

นอกจากการเป็นทายาทบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของครอบครัว”

การเป็นบุตรชายคนเดียวของบ้าน ในขณะที่พี่สาวคนเดียวก็เบนเข็มไปจับธุรกิจด้าน Healthcare เขาจึงเป็นความหวังของคุณพ่อศุภชัย สุทธพงษ์ชัย ที่จะมาสืบทอดภาระของท่านในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชาร์ป ซึ่งคนในตระกูลร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อ 46 ปีก่อนในนาม บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ปัจจุบันมียอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ และส่งออกไปยังทวีปต่างๆ ประมาณ 5 ล้านยูนิตต่อปี

“ผมถูกเลี้ยงมาให้เป็นอย่างเดียว ไม่เคยถูกเลี้ยงมาให้เป็นอย่างอื่น และ mentality ของทายาท กับความเป็นเจ้าของธุรกิจ จะปลูกฝังความรู้สึกที่เราต้องโตตลอดเวลา เรายังไงก็ต้องหาที่โต เราโตของตัวเราด้วย โตของธุรกิจด้วย เพราะถ้าเราไม่โต ธุรกิจก็จะไม่โต เรากำลังแบกรับชีวิตคนอื่น สมัยกลับมาทำงานที่บ้าน ผมทำงานโรงงานด้วย มองไปในโรงงาน ไม่ต้องให้ใครมาบอก ผมคิดได้เองว่า ถ้ามีพนักงาน 1,000 คน ผมแบกชีวิตคนอยู่ห้าพันคน เพราะพนักงานคนหนึ่ง จะมีภรรยา มีลูก มีคุณพ่อคุณแม่ที่เขาต้องดูแล ยอดขายตก เขาจะเอาอะไรกิน”

 

“ตอนผมอายุ 19 ปี เป็นวัยที่อยู่ในช่วงค้นหาตนเอง ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และผมว่ามันไม่มีหลักสูตรไหนในโลกที่สอน” ช่วงนั้น คุณแชมป์ยังเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ University of Michigan – Ann Arbor และได้ต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรมที่นี่อีกหนึ่งใบ

“ผมนั่งคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ผมเป็นพวกชอบถามคำถามแปลกๆ สมัยเด็กผมถามจนครูตี และผมก็มองว่าครูผิด ขณะคุยกับอาจารย์ท่านนี้ ผมยังไว้ผมยาว ก็จะสะบัดผมมาปรกหน้า และมองอาจารย์ผ่านม่านผม อาจารย์ถามว่า ‘คุณกำลังซ่อนตัวตนจากอะไรอยู่’ และท่านเป็นคนแรกที่ถามผมว่า ‘อยากกลับไปทำที่บ้านจริงหรือ’ ผมตอบ ‘อยากสิครับ’ ท่านก็ถามกลับว่า ‘ทำไมอยากกลับ’ แต่ผมกลับไม่มีคำตอบและก็มานั่งคิดว่า ‘ที่ไม่มีคำตอบ เพราะยังคิดไม่ออกหรือไม่มีมาตั้งแต่ต้น’

‘ถ้าผมไม่ใช่ ลูกเจ้าของชาร์ป ผมคือใคร’
จุดหักเหที่รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ และไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหน แล้วผมก็เริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น ‘โกโดกัน โกชิน จูสึ’ (Kōdōkan Goshin Jutsu) “การฝึกตั้งอยู่บน 5 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และความว่างเปล่า แต่ละธาตุใช้เวลาเรียน 1 ปี และสื่อถึงนิสัยที่แตกต่างกันของเรา เน้นการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ส่วน ‘ความว่างเปล่า’ เน้นหาจุดสมดุลของธาตุทั้งหมดแต่การเรียนรู้ผ่านศิลปะการต่อสู้ เป็นพื้นฐานการเป็นตัวตนของเรา ที่นำมาใช้ในการทำงานและชีวิตทั้งหมด” คุณแชมป์ไม่ได้เบนเข็มออกจากธุรกิจครอบครัวทันที เขากลับมาทำงานที่บ้าน

“ทั้งชีวิตไม่เคยมีตำแหน่งที่คนอื่นให้มา มีแต่ตำแหน่งที่ตนเองสร้างเองและทำเช่นนั้นมาตลอด เมื่อมาทำงานของที่บ้าน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ผมจะทำ ผมเห็นว่า ถ้าบริษัทไม่มีฐานข้อมูล แล้วต่อไปจะทำงานกันยังไง แต่ก่อนคนทำงานเก็บทุกอย่างไว้ในหัวและเป็นคนตัดสินใจ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมีประสบการณ์และคนไม่มีประสบการณ์ คนมีประสบการณ์จะเหนือกว่าเสมอ คำถามคือทำไมคนที่มีประสบการณ์ต้องเหนือกว่าเสมอ คนที่มีข้อมูลในมือก็คุยกันได้นี่ คนที่มีประสบการณ์ก็อาจไม่ถูกเสมอไป และอาจไม่ได้มีมุมมองที่ใหม่เสมอไป แต่ถ้าคนมีข้อมูลในมือหลายๆคน มานั่งคุยกัน จะทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ดีกว่าคนไม่กี่คนคิด”

เขาเสนอเปลี่ยนระบบในบริษัทเป็น ERP (Enterprise Resource Planning) เต็มรูปแบบซึ่งเป็นอะไรที่หินมากเอาการจนคุณแชมป์เอ่ยปากว่า “เหนื่อยมาก เหนื่อยสุดๆ ในชีวิตผมเลยเข้าใจว่า ปัญหาของทายาทไม่ใช่การมองหาของใหม่ แต่ทำยังไงให้เอาของใหม่เข้าไปอยู่ได้และเขาเชื่อตรงนั้น ผมถูกฆ่าเยอะมาก แต่ผมเป็นลูกเจ้าของ ตายยาก ผมเป็นอมตะ ถูกฆ่ากี่ครั้งก็ได้ สำคัญคือทีมต้องไม่ถูกฆ่า”

ในงานสัมมนา MBA คุณแชมป์กำลังพูดคุยกับนักศึกษาจบใหม่และผู้สนใจถึงอนาคตการทำงาน และวิธีคิดในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจแบบเดิมๆ


ทำงานกับที่บ้านราว 3 ปีครึ่ง คุณแชมป์ตัดสินใจไปต่อ MBA ที่ Haas School of Business - University of California, Berkeley เน้นด้าน Design Thinking ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และลงเรียนคอร์ส Business Model Innovation เพิ่มเติม “พอจบผมก็มีสมัครงานนะ เห็นงานอะไรที่น่าสนุก ผมก็สมัครไปบ้าง แต่อย่างที่บอก บริษัทที่ผมอยากทำงานด้วยมันไม่ค่อยมีงานที่ผมอยากทำประกาศอยู่ส่วนใหญ่ผมเดินเข้าไปสมัครโดยสร้าง Job description ของผมเองแล้วก็ไป pitch เขา ผมอยากไปทางนี้ถ้าไม่มี ผมก็สร้างขึ้นมาเอง"

คุณแชมป์กล่าวถึงวิสัยทัศน์และโอกาสที่จะเกิดขึ้นในการเชื่อมซิลิคอน วัลเลย์กับภูมิภาคเซาธ์อีสต์ เอเชีย และองค์กรธุรกิจจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้างโอกาสได้ยังไง
“ผมเดินเข้าไปคุยกับ Design Firm บอก ‘คุณออกแบบผลิตภัณฑ์ใช่ไหม ผมจะช่วยออกแบบธุรกิจคุณให้เอาไหม’ ไม่เอา ผมก็เดินต่อไป และเดินต่อไปผมคุยประมาณ 50 บริษัท มาเจอที่ Smart Design เขามีโปรเจกต์เข้ามาพอดี เขาอยากได้คนช่วยออกแบบ Business Model ใหม่ เป็นที่ปรึกษานวัตกรรมหารูปแบบธุรกิจใหม่

“เสร็จโปรเจกต์ที่นั่น ผมเห็นบริษัท 99 Designs น่าสนใจดี ผมก็อีเมลหา CEO เขาส่งผมไปคุยกับ CMO ผมเตรียมงานไปเสนอ 3 หน้า แล้วเข้าไปช่วยขยายฐานบริษัทจาก B2C เป็น B2B ที่นี่ ผมไม่ใช่ที่ปรึกษาเช่นบริษัทแรก แต่เข้ามาในลักษณะ startup ลงมือลองสร้างธุรกิจเอง เป็นธุรกิจเล็กๆ ภายใต้บริษัทใหญ่ เป็นหน่วย B2B ขึ้นมา”

ทางสว่างของธุรกิจ StartUp
ตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อนสัญชาติอเมริกัน ในนามบริษัทบริหารกองทุนร่วม Creative Ventures มุ่งระดมเงิน จากนักลงทุนไทยไปลงทุนกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ในซิลิคอน วัลเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยจะเน้นการลงทุนไปที่ startup บริษัทก่อตั้งใหม่ในแนวที่กำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) คอมพิวเตอร์วิชั่น คอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีเซนเซอร์ชั้นสูงเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ และอื่นๆ และลูกค้าคนแรกของกองทุนแรก ซึ่งร่วมลงทุนถึง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นคุณพ่อของคุณแชมป์เอง

 

“เงินลงทุนร่วมก้อนแรกประมาณ 400 ล้านบาท เป็นเงินกงสีครับ ผมใช้เวลาชวนคุณพ่ออยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง เอาเป็นว่าง่ายกว่าที่คิดคุยเรื่องอื่นยากกว่านี้เยอะ ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคุยกับพ่อในฐานะอื่นเลย นอกจากฐานะทายาทพ่อ และผมก็ไม่เคยแน่ใจว่า ถ้าผมไม่ใช่ทายาทล่ะ พ่อจะสนับสนุนผมอยู่หรือเปล่า ถ้าผมไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับพ่อเลย พ่อจะว่าไง"

“วันที่ผมคุยกับท่านเรื่องบริษัทผม ท่านถาม ‘ถ้าพ่อช่วยอันนี้ ก็คือการช่วยให้เราไม่ได้กลับมาทำที่บ้านแล้วใช่ไหม’ คำพูดพ่อประโยคนี้ ผมจำมาทุกวันนี้ ผมตอบว่า ‘ใช่’
 

อะไรคือ 'Creative Ventures'
สะพานที่เชื่อมเงินทุนจากนักธุรกิจไทยไปลงทุนในซิลิคอน วัลเลย์ และขณะเดียวกันก็ดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ จากฝั่งโน้นกลับมาใช้พัฒนาธุรกิจไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น คุณแชมป์เล่าว่า Creative Ventures กำลังจะเปิดสำนักงานอีกแห่งที่สิงคโปร์ เป้าหมายของเขา คือจะดึงนักธุรกิจในภูมิภาคเซาธ์อีสต์ เอเชียเข้าไปลงทุนในซิลิคอน วัลเลย์และนำเทคโนโลยีที่นั่นกลับมาเปิดตลาดทั้งภูมิภาคนี้ ไม่ใช่อยู่แค่ประเทศไทย

“ทุกคนเชื่อในเทคโนโลยี ทุกคนคิดถึงอนาคตเหมือนเป็นปัจจุบัน คนเหล่านี้มองไปที่อนาคตทุกวัน และดูว่าต้องไปทางไหน อะไรที่เป็นปัจจุบัน เขาจะหาคนมาทำแทน ส่วนตัวเขามองอนาคตอย่างเดียว การลงทุนตรงนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่เขาใช้หาอนาคตทางธุรกิจของเขา และผมเป็นโคลัมบัสที่ออกไปหาโลกใหม่”

 

วันนี้ ใครถามคุณแชมป์ว่า “ถ้าคุณไม่ใช่ลูกเจ้าของชาร์ป คุณคือใคร” เขาตอบเสียงดัง ฟังชัด ตามองตรงว่า “ผมเป็น VC ผู้บริหารกองทุนที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างซิลิคอน วัลเลย์กับเซาธ์อีสต์เอเชีย ผมอยากจะสร้าง impact ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่ใช่แค่ยอดผลกำไรของกองทุน แต่ ‘มีผม’ กับ ‘ไม่มีผม’ สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจนั้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร อย่าง ALICE ‘มีเรา’ กับ ‘ไม่มีเรา’ ยอดขายในช่วงตั้งบริษัทเขาหายไปกว่าครึ่ง สัญญาที่เขาเซ็นกับบมจ.อนันดาฯ มูลค่ากว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นครึ่งหนึ่งของยอดรายได้ในปีนั้น” อีกไม่กี่ปี ก็จะได้เห็นกันว่า คุณแชมป์เป็นยูนิคอน (Unicorn) ในหมู่ผู้บริหารกองทุนหรือเปล่า

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 13 ฉบับที่ 20 ประจำวันที่ 27 กันยายน 2561

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook