“ให้อารมณ์ภาพอยู่เหนือความสวย” ชัช ชัชวาล ช่างภาพหนุ่มแถวหน้าของไทย

“ให้อารมณ์ภาพอยู่เหนือความสวย” ชัช ชัชวาล ช่างภาพหนุ่มแถวหน้าของไทย

“ให้อารมณ์ภาพอยู่เหนือความสวย” ชัช ชัชวาล ช่างภาพหนุ่มแถวหน้าของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มันไม่มีทางลัด มันต้องทำ ต้องทดลอง ถ้ามองย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ผมเอางานมาเปิดให้ดูได้เลย คุณคิดภาพ ผมต้องไปถ่าย อากง อาม่า อยู่ในโล่ง ตกกลางคืนผมต้องมาปรับสีปรับแสง เพื่อส่งให้ลูกหลานเขา นึกออกใช่ไหม เราทำมาหมดแล้ว ไม่ใช่อยากเป็นช่างภาพ รู้จักคนดังแล้วมาเป็นเลยแล้วกัน มันไม่ใช่แบบนี้” ชัชวาล จันทโชติบุตร

หลายคนมองอาชีพช่างภาพว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่มีเงินซื้อกล้องคุณภาพสูง บวกกับมีคนดังช่วยผลักดันผลงาน คุณก็ประสบความสำเร็จได้แล้ว แต่ชีวิตหลังเลนส์มีอะไรมากกว่านั้น วันนี้ Sanook! Men มีโอกาสได้คุยกับช่างภาพแถวหน้าอย่าง ชัชวาล จันทโชติบุตร ผู้ชายที่หลงรักการถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 15 จนมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อด้านถ่ายภาพสารคดีที่อเมริกา

- เข้ามาสู่เส้นทางอาชีพช่างภาพได้อย่างไร

เริ่มจากตั้งแต่เด็ก ผมชอบพวกวาดรูปมาก แต่ทักษะตอนนั้นแย่มาก พยายามเรียนเพิ่มเติมก็ไม่เวิร์ค วันหนึ่งไปเที่ยวอยุธยาคุณพ่อยื่นกล้องให้ผมแล้วบอกว่า ป๊ามีอันนี้เอาไปใช้ ก็ถ่ายภาพทั้งวัน วันนั้นก็เริ่มเข้าใจว่า การวาดรูปมันไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษ ดินสอ มันมีวิธีอื่นที่เราสามารถถ่ายทอดออกมาได้

จนมาเริ่มจริงจังตอนมัธยม เริ่มแพลนว่าอยากเรียนถ่ายภาพ แต่ถึงเวลามันก็ไม่ได้ง่ายมีการสอบความสามารถด้านศิลปะ มีหลายอย่างที่นอกเหนือจากแค่อยากเรียนแล้วได้เรียน เราก็เบนเข็มไปเรียนอย่างอื่น แต่พอเริ่มเรียนไปแล้วจริงๆ รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

ผมเริ่มทำงานถ่ายภาพตั้งแต่มหาวิทยาลัย ถ่ายรับปริญญาเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่เราชอบ ก็พยายามค้นคว้าทดลอง ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดนี้ ต้องไปอยู่ตามร้านหนังสือ แอบดู แอบอ่าน ว่าเรื่องที่เราสงสัยอยากรู้มันคืออย่างไร ทุกอย่าง ทุกแขนง ของการถ่ายภาพ เพื่อให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราถนัด ก็ทดลองถ่ายภาพทุกประเภท

- เริ่มจริงจังกับอาชีพ ช่างภาพ ตอนไหน

พอเริ่มหาเงินได้มันคือจุดเริ่มต้นของความจริงจัง ถ่ายรับปริญญาสองวัน  ไปรอลูกค้าตั้งแต่ตีห้าครึ่งถ่ายเสร็จสองทุ่ม ถ่ายสองวันได้เงินมา 3,000 บาท ดีใจน้ำตาไหลเลย เราก็ทำมาตลอด ถ่ายอีเวนท์ งานแซยิด งานเลี้ยง งานศพ ทุกงานที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพเราทำหมด เงินมากเงินน้อยเราไม่เกี่ยง จนเรียนจบมหาวิทยาลัยไปฝึกงานอยู่ในสตูดิโอถ่ายภาพอยู่ประมาณ 1 ปี ไม่ได้เงิน เสียตังค์ทุกวัน จนครอบครัวเริ่มไม่ไหว

เราก็บอกว่าขอเวลาอีกพักหนึ่ง เราก็ทำมันทุกอย่างเพื่อได้เงิน เพื่อให้เขาเห็นว่า เห็นไหม แต่ละเดือนเราได้เงินเท่านี้ เราทำมันมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนผมถ่ายงานศพ แต่ทำไปเรื่อยๆ รู้สึกมันหดหู่ เพราะเวลาเราทำงานเราอินไปกับมัน กับมานั่งดูงานตอนกลางคืน มันหดหู่ กับความรู้สึก เลยไม่เอาดีกว่า

มันเริ่มเห็นภาพมากขึ้น อันนี้คือทางถนัด เราเริ่มถ่ายพรีเวดดิ้ง เพราะเราได้เห็นความสุขคน เราได้ขโมยช่วงเวลาที่มีความสุขของเขา แล้วเก็บบันทึกให้เขาได้เห็นรอยยิ้มของคนหลายๆ คนในงาน ได้เห็นสีหน้าที่มีความสุข ของผู้ใหญ่ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย เราไม่รู้เลยว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน บางคนหลังจากงานไม่กี่วันคุณตาเสีย รูปที่บันทึกไว้จึงสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมาย

- ช่วงนั้นกำลังเป็นที่รู้จัก ทำไมพักงานไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพที่ต่างประเทศ

ตอนนั้นกำลังเป็นที่รู้จักมีงานเยอะหาเงินได้ดี ช่วยเหลือที่บ้านได้ ภาระที่บ้านผมเป็นคนรับผิดชอบ แต่ช่วงนั้นประเทศไทยมีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง จึงมีโปรเจคงานแสดงภาพถ่าย คืนรอยยิ้มสู่สยาม แม้รู้สึกว่าเราประสบการณ์น้อยกว่ารุ่นพี่ช่างภาพคนอื่นๆ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี

อีกสองวันให้หลังรุ่นน้องที่สนิทกันอยู่นิวยอร์กรู้ข่าว ก็แสดงยินดี แล้วชวนเราไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพ ตอนนั้นที่บ้านมีวิกฤตเรื่องการเงิน เราก็คิดว่าไม่เป็นไร อยู่ทำงานที่นี่ดีกว่า แต่เราก็ถามว่าต้องทำอย่างไร เขาก็อธิบายมาเป็นช็อตๆ จอดรถอยู่ชั่วโมงหนึ่ง คิดอีกชั่วโมงหนึ่งกลับบ้านมา ป๊าชัช จะไปเมืองนอกแล้ว ก็เริ่มคุยกับเขาแต่จากวันที่คุย ก็ใช้เวลาอีกหนึ่งปี กว่าจะเตรียมทุกอย่างแล้วไป

- เรียนการถ่ายภาพสารคดีที่นิวยอร์ก เขาสอนอะไรคุณบ้าง

สอนหลายอย่าง เขาพยายามให้เราเรียนรู้ถึงการเข้าไปใจจิตใจของคน ยากที่สุดคือ นำอารมณ์ นำความคิดของคนคนนั้นออกมา คลาสแรกเขาให้ผมไปถ่ายคนแปลกหน้าบนถนน ทำอย่างไรก็ได้ให้เราเข้าไปในบ้านหรือออฟฟิศ เพื่อไปถ่ายรูปเขาในพื้นที่ของเขา ครั้งที่สอง จับคู่เรากับเพื่อนในคลาสให้ไปถ่ายรูปนู๊ดกันและกันมา เราไม่เคยถ่าย แต่สุดท้ายงานมันออกมาดีมาก

จะบอกว่ามันเป็นความโชคร้ายบนความโชคดีก็ว่าได้ บัดดี้ผมเขาเป็นมะเร็งเพิ่งผ่าตัด ผมเหลือบไปเห็นพระพุทธรูปอยู่ในบ้านเขา ก็คุยกับเขาเรื่องความสุข ความทุกข์ เขาร้องไห้หนักมาก เราใช้เวลาถ่ายรูป 10 นาที

พอถึงวันพรีเซนต์งาน อาจารย์ก็ถามว่าทุกอย่างในการถ่ายภาพโอเคไหม พอหันมาถามบัดดี้ผม เขาร้องไห้หนักมาก เขาเล่าให้ทุกคนในคลาสฟังว่ามันเป็นเรื่องของการเข้าไปในจิตใจ และสามารถเยี่ยวยารักษา กระทั้งปลอดประโลมเขาได้

“เขาพูดในคลาสตั้งแต่เขารู้ว่าเขาเป็นมะเร็งจนถึงวันที่เขาทำคีโม ผ่าตัดทุกอย่างเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เขาไม่กล้ามองหน้าตัวเองในกระจกแม้แต่วันเดียว เขาไม่มีรอยยิ้มเลย เพราะเขารู้สึกไม่แฟร์กับเขาเลย เขาไม่ได้ทำผิด ทำไมอยู่ดีๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเขา นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นหน้าตัวเองมีรอยยิ้มบนใบหน้า”

วันนั้นทำให้ผมรู้ว่า ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่มีมากกว่าคำว่า “รูปสวย” วันหนึ่งเขาบอกว่า เราทำให้เขาก้าวเดิน แล้วมองกระจกเห็นตัวเองในกระจกได้ นี่แหละคือสิ่งที่เราพยายามที่จะทำ นี่แหละที่เราพยายามเคาะมันว่ามันคืออะไร เราเห็นช่างภาพดังๆ พูดแล้วเราก็ไม่เข้าใจ

- หลังจากกลับมาจากการเรียนการถ่ายภาพ มุมมองการทำงานเปลี่ยนไหม

เปลี่ยนไปครับ เมื่อก่อนเราใช้ความสวยงามนำทาง ความสวย คือ ความสำคัญหลัก แต่หลังๆ ผมลดมันลงมาอยู่ข้างหลัง ผมให้ความสำคัญกับ อารมณ์ ความรู้สึก หรือ ข้อมูลต่างๆ แล้วถัดไปค่อยเป็นความสวยงาม แน่นอนความสวยงามมันต้องมีเราปฏิเสธมันไม่ได้ ความสวยมันดึงดูดให้คนเข้ามาดู แต่ส่วนตัว ความรู้สึกในภาพมันมีความหมายมากกว่า

- ในความคิดคุณ อุปกรณ์ ฝีมือ หรือมุมมองภาพ ปัจจัยเหล่านี้อะไรสำคัญกว่ากัน

แน่นอนว่ามุมมอง ความคิด ตา สำคัญที่สุด เชฟที่เก่งใช้ไม้กับหินเขาก็ทำอาหารได้ ศิลปินที่ดีเขากัดเอาเลือดตัวเองก็สามารถเพ้นท์กำแพงได้ แต่ถามว่าทำไมมันถึงต้องมีพู่กันที่คุณภาพสูง หลากหลายขนาด เพราะมันสามารถไล่สี ตัดเส้น ได้ดี

เช่นเดียวกับทำไมต้องมีเลนส์ที่คุณภาพสูง ทำไมต้องมีกล้องคุณภาพดี เพราะมันทำให้ผลงานดีขึ้น มันรังสรรค์อีกขั้นหนึ่งได้ เลนส์ที่ดีสามารถเก็บรายละเอียดทุกรายละเอียดที่เราถ่ายในสภาพแสงที่อาจจะแย่ที่สุดมาเพื่อให้คนที่เห็นภาพได้รู้ว่ามันมีรายละเอียดนี้ซ่อนอยู่ในรูป

- ภาพที่ดีเป็นอย่างไรในสายตาช่างภาพ

มันไม่มีอะไรที่บอกว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ผมมองว่าทุกภาพมันดีหมด ถ้าคุณถ่ายมาแล้วมันตอบโจทย์ ความรู้สึกคุณได้ รูปนั้นอาจจะไม่ชัดเลย หรือไม่ได้มีความหมายกับใครเลย แต่ถ้ามันมีความหมายกับคุณ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นรู้สึกว่าโอ้โหมันดีมาก

“ถ้าคุณทำให้ตัวเองรู้สึกดี นั่นคือกำไรแรกแล้ว กำไรที่สองถ้าคนอื่นชอบด้วยยิ่งดีใหญ่เลย ไม่มีดีไม่ดีหรอก ถ้าคุณชอบตอบโจทย์ทางความรู้สึกได้ คือ “ดี””

สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากจะทำงานแบบนี้ ในเรื่องของแรงบันดาลใจ ผมมองว่าวันหนึ่งถ้าเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นอะไร ก็ก้าวออกไปลองทำ อย่ารอว่าต้องอายุเท่านี้ก่อนนะเราถึงจะเริ่มทำ ก้าวไปลองทำดู ถ้ามันล้มก็ลุกขึ้นมาทำใหม่ ลองทำจนกว่ามันใช่ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วความสำเร็จจะต้องเดินเข้ามาหา

- หลังจากเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คุณคาดหวังกับผลงานที่ออกมามากแค่ไหน

ถ้าทำก็ทำให้ดีที่สุด ใส่ใจใส่ความรู้สึกที่เราคิดที่เรารู้สึก ถ้าเราชอบสุดท้ายแย่ที่สุดยังมีหนึ่งคนที่ชอบ คือ ตัวเรา เมื่อก่อนกังวลมากส่งงานไปลูกค้าจะชอบไหม โพสต์รูปนี้ไปคนชอบหรือเปล่า ปัจจุบันผมมองว่าแค่ผมชอบจบแล้ว ผมว่ามันสำคัญนะ

“ทุกวันนี้คนแคร์ปัจจัยภายนอกมากกว่าตัวเอง และบ้างครั้งมันทำให้ตัวเองไม่ความสุข เพราะเอาความสุขของตัวเองติดอยู่กับเท้าคนอื่น”

- เรื่องไหน หรือเหตุการณ์อะไร ทำให้คุณรู้สึกแย่ที่สุดในฐานะช่างภาพ

จริงๆ เมื่อก่อนมีเยอะเพราะเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเยอะ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรืองานที่เราไปทำมันต้องทำให้เรามีความสุข แน่นอนว่ามันมีบ้างที่แบบไม่มีความสุข ไม่มีความสุขเพราะอะไร เงินน้อย งานรายละเอียดเยอะไม่ตรงกับที่พูด ไกล ไฟในงานไม่ดี แต่สุดท้าย ณ ตอนนั้นเราก็ต้องทำ ตอนนี้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไป เราโตขึ้น หน้าที่เราคือปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ อะไรจะเกิดเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นแล้วมันก็ผ่านไป

- อาชีพช่างภาพเป็นความฝันของหลายคน ในความคิดคุณจะทำยังไงให้เขาเหล่านั้นเป็นตัวจริง

ถ้าคุณอยากเป็นเชฟ เซเลปคนหนึ่งหนึ่งรีโพสต์ วันรุ่งขึ้นคุณอาจจะได้เป็นเชฟ ถ้าคุณมีความสนิทสนมกับคนดังคุณก็สามารถเป็นที่รู้จักได้ภายในข้ามคืน แต่สิ่งที่สำคัญผมว่า คือ การรักษาความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือ คืออะไร ผลงานคุณเอง พฤติกรรมคุณเอง เรื่องพวกนี้สำคัญนะ ช่างภาพรุ่นพี่ทำไมเดี๋ยวนี้เขายังเป็นที่เคารพ แน่นอนผลงานเขาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความน่ารัก ความใจกว้าง ความมีน้ำใจ ผมมองว่าเป็นตัวจริง ไม่ใช่เรื่องของความเด่นดัง เป็นเรื่องของการเป็นผู้ให้มากกว่า

“มันไม่มีทางลัดอ่ะ มันต้องทำ ต้องทดลอง คนอาจจะบอกพี่พูดได้ดิ แต่ถ้ามองย้อนไปเมื่อ 10 ปี ผมเอางานมาเปิดให้ดูได้เลย คือ แบบคุณคิดภาพผมต้องไปถ่ายอากงอาม่าอยู่ในโล่ง ตกกลางคืนผมต้องมาปรับสีปรับแสงเพื่อส่งให้ลูกหลานเขา นึกออกใช่ไหมเราทำมาหมดแล้ว ไม่ใช่อยากเป็นช่างภาพ รู้จักคนดังแล้วมาเป็นเลยแล้วกัน มันไม่ใช่แบบนี้”

สำหรับใครที่อยากติดตามผลงานของผู้ชายคนนี้ สามารถชมนิทรรศการภาพถ่าย “LIFE’S WORTH” นิทรรศการภาพถ่ายบันทึกภาพพลังน้ำใจของจิตอาสา นำเสนอผ่านเลนส์กล้องฝีมือ 3 ไลก้า ไทยแลนด์ แอมบาสเดอร์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2561 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ บริเวณหน้า Leica Gallery Bangkok

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook