พวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหา “เสกสรร รวยภิรมย์” ให้สติเด็กเร่ร่อนด้วยศิลปะ
“หัวลำโพงมีคนขายบริการตั้งแต่อายุ 13 -70 การที่เราเป็นมนุษย์ด้วยกันซื้อเด็กอายุ 13 ซื้อคนที่อายุ 70 แปลกไหม ? เขาทำเพราะมีคนซื้อ ถ้าไม่มีคนซื้อเขาก็ไม่ทำ และคนที่ซื้อคือใคร ก็คนในสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาของสังคมไม่ใช่ปัญหาของเขา”
“เด็กเร่ร่อน” ในสายตาของหลายคน พวกเขาคือตัวปัญหาที่รอคอยการกำจัด เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ที่สังคมมองข้าม แต่ สำหรับ “เสกสรร รวยภิรมย์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ (SATI) เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยพัฒนาจิตใจให้เด็กเหล่านี้
เสกสรร รวยภิรมย์ เกิดและเติบโตที่อเมริกา จบการศึกษาด้านจิตวิทยาจาก New York University ด้วยความที่ชีวิตที่ผ่านมามีโอกาสเป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิต่าง ๆ เมื่อเรียนจบเขากลับมาเมืองไทยและรับรู้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการและสุขภาพของเด็กบนดอย เขาจึงก่อตั้งมูลนิธิสติ (SATI) เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ในเวลาต่อมาองค์กรเดอะฮับสายเด็ก ชวนให้เขาไปลองพูดคุยกับเด็กเร่ร่อนแถวหัวลำโพง เขาจึงตกปากรับคำและใช้ศิลปะเยียวยาปัญหาเรื่อยมา
มูลนิธิ “สติ” คืออะไร
มูลนิธิเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จริง ๆ เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนที่ต่างประเทศ กลับมาก็มีกิจกรรมนิด ๆ หน่อย ๆ เรื่องสุขภาพ พอตั้งใจว่าจะทำจริงจัง ก็จดทะเบียนมูลนิธิที่เมืองนอก ตอนแรกคิดว่าจะกลับมาปีละครั้งสองครั้ง แต่พอจบการศึกษาก็ย้ายมาที่ไทยเลย เริ่มทำมูลนิธิจริงจัง ในใจคิดอยู่ตลอดเวลาไม่ได้อยากทำมูลนิธิที่มันหาเงินจากการบริจาค มูลนิธิเรา 99% หมดไปกับเด็ก
“เงินไม่ได้มาจากการบริจาค เงินมาจากการทำกิจกรรม ทำธุรกิจเพื่อสังคม อย่างร้านที่ผมทำ Broccoli Revolution อาหารและเครื่องดื่มทุกแก้วทุกจาน จะแบ่ง 9 บาท เข้ามูลนิธิ ผมมีอาร์ทแกลอรี่ ก็เป็นแกลอรี่ที่ขายงานศิลปะ โดยงานที่ขายได้ 5% ต้องเข้ามูลนิธิ”
เข้ามาดูแลปัญหาเด็กเร่รอนได้อย่างไร
ประมาน 4 ปีที่แล้ว ตอนลงพื้นที่ที่เชียงราย มีผู้ใหญ่ที่อยู่กรุงเทพ เขาบอกว่าเขามีศูนย์อยู่หัวลำโพง ช่วยเหลือดูแลเด็กเร่ร่อน สนใจเข้ามาสอนหรือเปล่า เรื่องยาเสพติดและโรคติดต่อ ผมบอกไม่มีปัญหาเราสอนบ่อยอยู่แล้ว วันแรกมีเด็ก 30 คน อายุ 13-18 นะครับ ทุก 15 นาที เด็กหายไปทีละคน ไปสูบบุหรี่บ้าง หายไปบ้าง พอคลาสจบเหลือนักเรียนอยู่คนเดียว และเขาก็นั่งฟังเพลงอยู่ คือพอเราเข้าใจอย่างนั้นเราก็ปรับหลักการสอนนิดหน่อย
วิธีคือต้องช่วยโดยให้ทางเลือกกับเด็ก ๆ ซึ่งกิจกรรมที่เราจัดมาเป็นกรุ๊ปใหญ่ก่อน อย่างเช่น ให้ทุกคนถ่ายรูปกัน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก แบ่งเป็น 3 สเต็ป พอสอนไปเรื่อย ๆ มันจะมีคนที่ชัดเจนที่สนใจจริง เราก็นำคนเหล่านี้แยกมาสอนเป็นคลาสเล็กๆ หรือส่วนตัว หรือหากใคร ชอบเต้นก็เอาไปสอนที่โรงเรียนสอนเต้น เราโชคดีมีอาสาสมัครเยอะ และหลากหลายอาชีพ อย่าลืมว่านอกเหนือจาก "ใจ" สิ่งที่เราต้องให้ คือ "ทักษะ" ใจอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหา ต้องให้ทักษะเพื่อนำไปสร้างรายได้ด้วย
มุมมองไม่ธรรมดา : ผลงานการถ่ายภาพของน้องส้ม เด็กเร่ร่อน หลายภาพถูกขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทำไมต้องใช้ศิลปะแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน
จริงๆ ผมชอบด้วย เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว เพื่อนผมเป็นศิลปินเยอะ หาอาสาสมัครฟรี ที่มีทักษะ อีกอย่างศิลปะมันไปถึงจิตใจคน มันคือ ทักษะที่ข้ามขั้นตอนได้ เราคุยกับเด็กหลายคนที่มีปัญหาชีวิตมาก บางครั้งเขาคุยกับเรานะ แต่เขาไม่สามารถระบายความรู้สึกในจิตใจได้ ศิลปะเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหา
มีน้องคนหนึ่งวาดภาพพระอินทร์สวยมากเลย ผมก็ถามทำไมถึงวาดภาพนี้ เขาบอกว่า เวลาเขาเมากาวพระอินทร์จะมาหาตลอด ก็คิดอยู่ในใจเด็กมันคงเพี้ยน เด็กมันคงเมา แต่มาคิดอีกที เวลาที่เราเมา มันจะมีความรู้สึกอะไรออกมาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มันจะเป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจ ผมก็เลยเข้าใจว่าเด็กคนนี้เขาไม่มีพ่อแม่ เขาอยู่คนเดียว เวลาเขาเมาเหมือนเขาต้องการคนมาคุ้มครอง
เด็กเร่รอนตัวสร้างปัญหาให้สังคม
ผมคิดว่าเขาไม่ได้สร้างปัญหา เราเป็นคนสร้างปัญหา ถ้าให้ผมออกไปทำอะไรผิดตอนนี้ ออกไปปล้น ออกไปขายยา ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันเป็นทางเลือกของผม ผมรู้แล้วว่า อะไรผิด อะไรถูก แต่นึกภาพว่าถ้าเราลืมตามาครั้งแรก คนข้าง ๆ เราเล่นยา คนขวาขายบริการ และเราก็อยู่กับสิ่งพวกนี้ไปเรื่อย ๆ จนมันเป็นสิ่งที่ปกติ
มันไม่ได้เกี่ยวกับถูกหรือผิดด้วย มันคือความเข้าใจ เด็กหลายคน ผมถามว่าขายบริการทำไม เขาบอกอยากมีตังค์ อยากได้มือถือ อยากได้เครื่องสำอาง ซึ่งปัญหาเหมือนกันเลยนะกับวัยรุ่นทั่วไป ถ้าอยากได้เงิน ต้องทำงาน ทำงานต้องทำยังไง ขายตัว มันคือ จิตใต้สำนึกของเขา ก็เขาแค่ไปทำงาน เรามองว่ามันแปลก เพราะมันไม่ใช่โลกของเรา
“ทำงานร้านสะดวกซื้อ 10 ชั่วโมง ได้เงิน 350 หลับตา 10 นาทีได้ 1,000 บาท จะเลือกยังไง ถ้าหากให้เราเลือกเราคงไม่เลือกขายตัว เอาร่างกายเราไปทำร้ายแบบนี้ แต่ต้องนึกภาพคนที่โดนทำร้ายมาตั้งแต่เด็ก โดนข่มขืน การที่เขาโตมากับชีวิตแบบนี้ มันเหมือนเป็นเรื่องปกติ”
ทำไมให้ผมเลือก ผมเลือกทำงานร้านสะดวกซื้อ เพราะผมคิดว่า ผมมีคุณค่า ซึ่งวิธีคิดที่เราจะให้เขาเลือกทำงานร้านสะดวกซื้อ คือเราต้องสร้าง "คุณค่า" ในตัวเขา
ดูแลเด็กเร่ร่อน เหตุการณ์ไหนทำให้รู้สึกมีความสุขที่สุดและเสียใจที่สุด
รู้สึกโชคดีนะครับ วันหนึ่งผมรู้สึกอะไรเยอะมากเลย ทั้งความสุขและความทุกข์ มันเหมือนกับเราอยู่ในโลกที่มันค่อนข้างหลากหลาย โลกที่แตกต่างกัน ความสุขมันเกิดจาก บางครั้งผมจะมีคนโทรมา ส่งข้อความมา เด็กในมูลนิธิ มีปัญหาอย่างนั้น อย่างนี้ จะติดคุก ต้องการใช้เงิน
ในขณะที่ผมทำงานก็มีปัญหาเรื่องพนักงาน คนเราจะมองอยู่สองอย่าง ความสุขและความทุกข์ เขาเรียก พีคไง พีคสุด เราอาจจะ จบนู้น จบนี้ รวยมหาศาล ต่ำสุด คือ ไม่มีอะไรเลย ทุกคนอาจจะมองโลกแบบนี้ แต่สิ่งที่ผมต้องการ คือ "ตรงกลาง" ผมอยากให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง
ความสุขของผมเกิดได้ เพราะตรงกลาง ไม่ใช่ว่าเขาต้องดีมากหรือไม่ใช่เขาแย่มาก แต่การที่เขาได้เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ได้ดำเนินชีวิตทั้งความสุขและความทุกข์ อันนั้นคือความสุขของผม และความทุกข์ของผมด้วย มันรวมกันแต่มันคือความเป็นจริง
แบ่งเวลาดูแลมูลนิธิกับชีวิตส่วนตัวยังไง
ผมมองทุกอย่างเป็นภาพเดียวกัน คือ ปัญหากับการแก้ปัญหา เราพยายามมองว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กในมูลนิธิ หรือเพื่อนเรา ทุกคนเท่าเทียบกัน ทุกคนมีความสุข มีความทุกข์ มีปัญหา ซึ่งเราพยายามเปิดใจ เข้าใจในการรับปัญหา ผมอยู่กับมูลนิธิก็อยู่กับปัญหา อยู่กับงานก็อยู่กับปัญหา แต่เราไม่ได้ทุกข์กับปัญหา ปัญหามีไว้ให้แก้ แค่พยายามเรียงลำดับอะไรสำคัญที่สุดแล้วค่อย ๆ ไล่ลำดับไป ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเราไม่ได้คิดว่าเป็นงาน มันคือ "ชีวิต"
มองปัญหาเด็กเร่รอนในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ยังแย่เหมือนเดิม บางครั้งก็รู้สึกว่าแย่กกว่าเดิม ผมไปเจอ เด็กคนหนึ่งถามว่ามาอยู่กรุงเทพฯได้ยังไง เขาบอกว่าแฟนผมให้มาหาที่กรุงเทพฯ แฟนเจอกันในเฟซบุ๊ก เขาไปบอกพ่อแม่ ขอมาหาแฟน คือ อายุ 14 เรียนหนังสืออยู่ พ่อแม่ก็ห้ามไม่ให้มา วันหนึ่งทะเลาะกับพ่อแม่ก็หนีออกจากบ้านนั่งรถไฟมาหัวลำโพง มาถึงก็ไปที่บ้านแฟน พ่อแม่ฝั่งนั้นก็ไล่มา ก็ต้องกลับมาที่หัวลำโพง คนแถวนั้นที่ไม่ดีชวนไปเล่นยา ผ่านมา 3 ปี ยังอยู่ที่เดิม ผมก็ถามเขาว่าทำไมไม่กลับบ้าน เขาบอกกลับไม่ได้ กลับไปพ่อต้องด่า โดนตี ยังไงต้องตั้งตัวให้ได้ก่อน ผมเชื่อว่าตอนต้น ๆ มันสนุกนะ ไม่ต้องตื่นเข้าไปเรียนหนังสือ ไม่ต้องทำอะไร ผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี มันคงไม่สนุกแล้ว
ความยากของการทำงานเพื่อสังคมอยู่ตรงไหน
มันยาก เพราะ มันคืองานที่ต้องทำกับคน และคนเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ นักจิตวิทยาบอกว่า คนเราเติบโตมาจะมีอยู่สองอย่าง คือ Nurture การเลี้ยงดู ฟูมฟัก กับ Nature พันธุกรรม สิ่งเหล่านี้มันจะปั้นให้เราเป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งผมเจอคนมากมาย ที่มาต่างกัน ความคิดต่างกัน แต่มันสอนให้เราปรับตัวในการแก้ปัญหา ปัญหาเดียวกันก็อาจจะต้องใช้วิธีแก้ปัญหาต่างกัน
ปัญหาเด็กเร่รอนเป็นปัญหาสังคม ที่ต้องช่วยกันดูแลแก้ปัญหา ซึ่งหากคุณไม่สามารถช่วยอะไรได้ ขอให้มอง เด็กกลุ่มนี้อย่าง "เข้าใจ" แค่นั้นก็พอ