ญี่ปุ่นเตรียมลุยขยายธุรกิจ "อุลตร้าแมน" ต่างแดน หลังชนะคดีลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ
ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้บริษัท สึบุรายะ โปรดักชั่น โค. ของญี่ปุ่น เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ "อุลตร้าแมน" ตัวละครยอดมนุษย์ชื่อดัง กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังมีการฟ้องร้อง บริษัท ยูเอ็ม คอร์ป อ้างลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนที่ซื้อจากผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย
หนังสือพิมพ์ไมนิจิของญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท สึบุรายะ โปรดักชั่น โค.เตรียมตัวจะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับอุลตร้าแมนไปยังต่างประเทศ ภายหลังจากศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ตัดสินว่าบริษัท สึบุรายะฯ เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา สิ้นสุดคดีที่ฟ้องร้องบริษัทยูเอ็ม คอร์ป ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558
สื่อของญี่ปุ่นรายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของบริษัท สึบุรายะฯ ระบุว่าเอกสารประกอบการซื้อขายลิขสิทธิ์ "อุลตร้าแมน" ระหว่างนายโนโบรุ สึบุรายะ อดีตประธานบริหารบริษัทสึบุรายะฯ ผู้ล่วงลับ กับนักธุรกิจและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยรายหนึ่ง ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2519 ไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง ทำให้บริษัทยูเอ็ม คอร์ป ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์ต่อจากชาวไทย ไม่มีสิทธิ์ในคาแรกเตอร์อุลตร้าแมน
ขณะที่เว็บไซต์ Anime News Network แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนิเมชั่นทั่วโลก รายงานว่า นักธุรกิจไทยที่ถูกอ้างถึงในคดีฟ้องร้องลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน คือ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย เจ้าของบริษัทไชโย โปรดักชั่น ซึ่งผลิตภาพยนตร์หลายเรื่องในอดีต รวมถึงภาพยนตร์ที่มีคาแรกเตอร์อุลตร้าแมน
อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนี้มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงหลายประเทศ เนื่องจากนายสมโพธิออกมาแถลงว่าเขาเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากนายโนโบรุ สึบุรายะ ให้ถือครองลิขสิทธิ์ในการผลิต เผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในประเทศต่างๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่น เมื่อปี 2539 หรือหลังจากนายโนโบรุเสียชีวิตได้ 1 ปี แต่ก่อนหน้านี้นายสมโพธิไม่เคยแสดงสิทธิ์หรืออ้างสิทธิ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการฟ้องร้องแย่งชิงลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนทั้งในไทย ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ
เมื่อปี 2547 ศาลญี่ปุ่นตัดสินให้บริษัทสึบุรายะฯ พ่ายแพ้ต่อนายสมโพธิ ทำให้สึบุรายะเสียสิทธิ์ในการผลิต เผยแพร่ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ปี 2551 ศาลไทยมีคำตัดสินว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนระหว่างนายสมโพธิและนายโนโบรุ สึบุรายะ ไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง พร้อมมีคำสั่งให้ฝ่ายไทยชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายญี่ปุ่นด้วย ส่วนปี 2556 ศาลจีนยืนตามคำตัดสินของศาลญี่ปุ่น โดยระบุว่าบริษัทจีนที่ได้ลิขสิทธิ์มาจากฝ่ายไทย มีสิทธิ์จัดจำหน่ายภาพยนตร์อุลตร้าแมนในจีนได้
ส่วนกรณีการฟ้องร้องในศาลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.2558 หลังจากบริษัทสึบุรายะฯ ส่งจดหมายแจ้งบริษัทเวอร์ดานา เอ็นเตอร์เทนเมนต์ในสหรัฐฯ ให้ถอดวิดีโอโฆษณาภาพยนตร์อุลตร้าแมน จำนวน 3 ชิ้นออกจากเว็บไซต์ยูทูบ โดยระบุว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทสึบุรายะฯ ทำให้บริษัทยูเอ็ม คอร์ป ผู้ซื้อลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนต่อจากนายสมโพธิ และเป็นผู้อนุญาตให้บริษัทเวอร์ดานาฯ เผยแพร่วิดีโอดังกล่าว ยื่นฟ้องบริษัทสึบุรายะฯ ต่อศาลสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนเสียเอง และทางสึบุรายะฯ ก็ตัดสินใจฟ้องกลับทางยูเอ็ม คอร์ป
หลังจากมีการสืบพยานและไต่สวนคดีนานเกือบ 3 ปี ศาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่า เอกสารอ้างลิขสิทธิ์ในคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนที่บริษัท ยูเอ็ม คอร์ป ทำสัญญาซื้อต่อจากนายสมโพธิ "ไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง" และตัดสินให้บริษัทสึบุรายะฯ เป็นผู้ครอบครองลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนสำหรับผลิต เผยแพร่ และจำหน่ายในต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง
นายอะคิระ โมริ ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจของบริษัทสึบุรายะฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไมนิจิว่า คำตัดสินคดีอุลตร้าแมนของศาลสหรัฐฯ มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลให้การดำเนินการทางกฎหมายในประเทศต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย