ครบ 20 ปี "ไวอากร้า" มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง?

ครบ 20 ปี "ไวอากร้า" มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง?

ครบ 20 ปี "ไวอากร้า" มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไวอากร้าได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และได้รับการบันทึกให้เป็นนวัตกรรมที่มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวนมากทั่วโลก ในฐานะยาบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และเป็น 'ยากิน' ตัวแรกของโลกที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว แต่เวลาผ่านไปครบ 20 ปี ยังมีเรื่องที่คนอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับไวอากร้าอยู่อีกเช่นกัน

1. คิดค้นได้โดยบังเอิญ

นับว่าเป็นโชคดีของชายทั่วโลกซึ่งมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ที่นักวิจัยและทดลองตัวยาบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบของไฟเซอร์ ได้สังเกตเห็นว่าตัวยาที่กำลังทดลองให้ผลที่น่าสนใจ เพราะทำให้หลอดเลือดที่อวัยวะเพศชายขยายตัว ทั้งยังออกฤทธิ์ควบคุมการกักเลือดให้คั่งอยู่ที่อวัยวะเพศชายได้ในระยะหนึ่ง นักวิจัยจึงได้ทดลองซ้ำจนกระทั่งแน่ใจว่าตัวยาไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง จึงดำเนินการจดสิทธิบัตรและพัฒนาเป็นตัวยาออกจำหน่าย ซึ่งผู้ใช้รายแรกเป็นชายวัย 55 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐฯ ในยุคนั้นว่า ไวอากร้าเปรียบได้กับ 'ระเบิดไดนาไมต์' กันเลยทีเดียว

2. ขายดีถล่มทลายช่วงหลายปีแรก

การโหมโฆษณาไวอากร้าผ่านสื่อเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นช่วงเดียวกับที่สังคมไม่มีตัวเลือกอื่นเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวมากนัก ทำให้ยอดขายไวอากร้าพุ่งสูงอย่างรวดเร็วและทำเงินรายได้ให้แก่ไฟเซอร์มากกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ (4.25 แสนล้านบาท) ในช่วงเดือนแรก และมีรายงานว่าแพทย์ในสหรัฐฯ ต้องจ่ายใบสั่งยาไวอากร้าวันละประมาณ 10,000 ชุด และไทม์ได้นำภาพไวอากร้าขึ้นปกนิตยสารฉบับเดือน พ.ค. 2541 โดยยกให้เป็น 'ตัวยาที่สร้างผลสะเทือนต่อสังคมครั้งยิ่งใหญ่'

3. ถูกยกเป็นเครื่องมือต่อสู้ 'เฟมินิสต์'

บ๊อบ กุชชีโอนี บรรณาธิการของนิตยสารเพนท์เฮาส์ ซึ่งเป็นสื่อวาบหวิวชื่อดังสำหรับผู้ชายยุคนั้น กล่าวหาว่าอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีที่เพิ่มแรงกดดันทางสังคมให้กับผู้ชายจำนวนมาก ทำให้พวกเขารู้สึกหดหู่ต่อชีวิตคู่และความสัมพันธ์ทางเพศ แต่ไวอากร้าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ชายเหล่านั้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ขณะที่รูธ เวสต์ไฮเมอร์ นักบำบัดทางจิตเพื่อบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แย้งว่า ไวอากร้าอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาทางเพศที่ได้ผลดีกว่า คือ การปรับทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตคู่หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพศ รวมถึงศึกษาเรียนรู้อย่างเปิดกว้างว่าเซ็กส์แบบไหนที่เรียกว่ามีคุณภาพ ส่งผลให้สังคมอเมริกันปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น

4. ผ่านไป 20 ปี คู่แข่งเกิดใหม่เพียบ

ไทม์รายงานเพิ่มเติมว่านับจากปี 2555 เป็นต้นมา ยอดขายไวอากร้าตกลงถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีแรก โดยเหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะคนในสังคมมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น และมีตัวเลือกในการแก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์ รวมถึงปัจจัยสำคัญที่สุด คือ บริษัทอื่นๆ ต่างพัฒนายาบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศออกมาแข่งขันอีกหลายยี่ห้อ ทำให้ไวอากร้าไม่ใช่ยาเพียงหนึ่งเดียวในตลาดอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยาปลอมที่อ้างว่ามีส่วนผสมของไวอากร้ายังมีอยู่ในท้องตลาดอีกเป็นจำนวนมาก และผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันอาจได้รับผลกระทบจากตัวยาปลอมเหล่านั้นเช่นกัน ทำให้หลายหน่วยงานทั่วโลกประกาศเตือนเสมอๆ ว่าให้ตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือของตัวยาก่อนบริโภคทุกครั้ง

5. ผลข้างเคียงที่ต้องรู้ก่อนใช้งานจริง

นอกจากไทม์ซึ่งเป็นสื่อสหรัฐฯ ก็ยังมีสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษที่รายงานข่าวเกี่ยวกับวันครบรอบ 20 ปีไวอากร้า โดยระบุว่า การใช้ไวอากร้าให้ปลอดภัยที่สุด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะตัวยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้หลายอย่าง ตั้งแต่ปวดหัว คลื่นไส้ ตาพร่าหรือมองเห็นภาพต่างๆ เป็นสีน้ำเงิน ร้อนวูบวาบ คัดจมูก และวิงเวียน ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้ "ควรหยุดใช้ยา"

นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ เจ็บหน้าอก หน้ามืดและมองไม่เห็นไปชั่วขณะ หายใจไม่ออก และชัก ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวัง ไม่ใช้ยาไวอากร้าคู่กับยาตัวอื่นที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหรือกระตุ้นความดันเลือด ส่วนผู้ที่อยากจะให้ยาออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพควรบริโภคก่อนจะประกอบกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง และหากบริโภคยาพร้อมอาหารมื้อใหญ่ อาจทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่เต็มที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook