ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ขอเป็นอาจารย์ที่มีค่าเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ

ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ขอเป็นอาจารย์ที่มีค่าเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ

ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ขอเป็นอาจารย์ที่มีค่าเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยอายุยังน้อย แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีอาจารย์หนุ่มท่านหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยความพยามยามบวกกับความมุ่งมั่น และที่สำคัญการประสบความสำเร็จของเขานั้นไม่ใช่ชื่อเสียงและเงินทอง แต่สิ่งที่ปรารถนาคือการอุทิศตนเพื่อรับใช้ประเทศชาติเพียงเพราะอยากเห็นการพัฒนาที่ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี ทั้งที่ความสามารถของเขานั้นสามารถเลือกเส้นทางที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงได้

แต่เขากลับเลือกสิ่งสวนทางที่หลายคนปรารถนา พร้อมเดินตามใจกับความรู้สึกรับใช้สังคมด้วยการเป็นอาจารย์และนักวิชาการ เพื่อถ่ายทอดความรู้พัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพและส่งต่อบุคคลากรที่ดีให้กับสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

Sanook! Men จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของหลานปู่ ศ.ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ด้านคุณพ่อเป็นอดีต สส.กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก เข้าสู่เส้นทางการเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA พร้อมดีกรี ปริญญาตรี BSc.(Hons) Economics, University of Essex ปริญญาโท MSc. Economics, Finance, and Management, University of Bristol หลังจากนั้น ได้ออกไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก PhD. Development Administration ที่ NIDA และในขณะศึกษาปริญญาเอกก็ได้รับทุน Graduate Exchange Fellowship, School of Public and Environmental Affairs จาก Indiana University Bloomington

ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ฝ่ายสื่อสารองค์การรับผิดชอบการสื่อสารขององค์การทั้งแบบสื่อและโซเชี่ยลมีเดีย นอกจากนี้ยังเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นของคณะชื่อว่า DAD หรือหลักสูตรนักพัฒนาบริหารดิจิตอลอีกด้วย

ทำไมเลือกเป็นอาจารย์ทั้งที่สามารถทำงานที่สร้างชื่อเสียงและเงินทองได้มากกว่านี้

ผมชอบความเป็นอิสระโดยเฉพาะอย่างยิ่งความอิสระทางด้านความคิดคือถ้าทำงานในทั้งภาครัฐและเอกชนบางครั้งมันมีกรอบพอสมควร แต่พอมาเป็นอาจารย์ก็มีความเป็นอิสระทางด้านความคิดโดยเฉพาะการทำวิจัยเรื่องไหนก็สามารถเอาความสนใจส่วนตัวมาเลือกทำได้และการเป็นนักวิชาการก็มีการให้เกียรติกันทางด้านความคิดเพราะว่าทำเพื่อประโยชน์ในเชิงการสร้างความรู้ใหม่ๆนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง

เหตุผลที่สองตัดสินใจมาเป็นอาจารย์เพราะเราคิดว่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคน โดยเฉพาะเอาประสบการณ์ที่เคยเรียนต่างประเทศเคยทำงานต่างประเทศมาถ่ายทอดให้นักศึกษาบางทีเราก็ไม่ใช่แค่สอนในห้อง แต่จะพาไปหาประสบการณ์ข้างนอกด้วยและจะพยายามถ่ายทอดให้เยอะเพื่อส่งนักเรียนที่เราสอนให้ไปถึงฝั่งฝัน เติบโตในหน้าที่การงาน เพราะผมคิดว่าถ้าเค้าทำแล้วประสบความสำเร็จส่วนรวมก็จะช่วยพัฒนาประเทศชาติให้พาไปได้ไม่ว่าเค้าจะไปอยู่ในหน่วยงานรัฐหรือเอกชน หรือเจ้าของกิจการ คือถ้าทุกคนประสบผลสำเร็จเหมือนกัน สังคมโดยรวมก็จะน่าอยู่ขึ้นไปด้วยจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือกอาชีพอาจารย์

แล้วคุณมีเคล็ดลับอะไรไรถึงมาเป็นอาจารย์ได้ด้วยอายุยังน้อย

ผมเป็นคนมีความคิดแปลกคือไม่ค่อยอยู่นิ่งและที่เมืองนอกสมัยเรียนที่นั่นมีการแข่งขันกันสูงเค้าเรียกว่า work hard play hard เล่นให้เต็มที่เรียนก็เรียนให้เต็มที่เอาจริงกับทุกเรื่อง สังคมเป็นแบบนั้นจึงทำให้ผมต้องแอ็คทีฟตลอดเวลาจะอยู่นิ่งๆไม่ค่อยได้

ก็เลยส่งผลให้เวลาทำงานของผมจึงต้องเกินร้อยทุกวินาทีทุกวินาทีเราต้องเกินร้อยในเวลาทำงาน ต้องทุ่มเท ถ้าทำแบบเบาๆมันจะไม่ได้ผลหรอก แต่ก็จะต้องแบ่งเวลาให้ดีถ้าเราแบ่งเวลาได้ดีและสามารถทำเกินร้อยในทุกวินาทีที่เราทำงานงานก็จะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งก็ต้องใช้ความทุ่มเทพอสมควร

คุณมีเป้าหมายอะไรในชีวิต

พอเริ่มเรียนสูงขึ้นเล็งเห็นว่าประเทศที่บริหารไม่ดี หรือ นโยบายสาธารณะที่ออกมาแล้วล้มเหลว สุดท้ายแล้วจะทำให้ประชาชนต้องลำบากด้านเศรษฐกิจเพราะต้องมารับผลจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล

สมัยนี้ปากท้องประชาชนสำคัญถ้าบริหารผิดพลาดก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในเรื่องกินดีอยู่ดี

ก็เลยคิดว่าเราต้องหาสาเหตุหาหนทางแก้ไขต้องหาวิธีการปรับปรุงทำอย่างไรให้ประเทศชาติดีขึ้นไม่ปล่อยผ่าน จึงรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือเป้าหมาย อย่างน้อยเอาความรู้ที่มีมาแก้ไขปัญหาให้ได้ ดูซิว่าประเทศอื่นที่ทำสำเร็จแล้วประเทศเราจะทำให้เห็นผลสำเร็จเหมือนเค้าได้หรือเปล่าและนั่นคือเป้าที่ชัดเจนว่ายังไงก็ต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทย

สิ่งที่อาจารย์อยากจะทำให้สังคมไทยจริงๆคืออะไร

ผมอยากให้ปัญหาที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประชาชนหมดไปคือผมอยากเห็นความเป็นอยู่ของคนในสังคมโดยเฉลี่ยมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ต้องโตอย่างมั่นคง ประชาชนต้องมีความมั่งคั่งคือไม่ได้หมายความว่าร่ำรวยแต่ว่าต้องมีความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตและก็ต้องทำให้เกิดความยั่งยืนด้วย จริงๆคือสามตัวนี้ผมคิดว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้สังคมโดยรวมจะดีขึ้น เราทุกคนต้องปูฐานให้ทุกคนในประเทศมีชีวิตอย่างมีความสุข

แล้วจะแก้ไขปัญหานี้ได้จริงหรือ

อาจจะไม่มีอะไรการันตีว่าจะทำได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่ถามว่ามันมีหนทางที่ทำให้ดีขึ้นได้หรือเปล่า ผมคิดว่ามีช่องทางที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ สังคมไทยมีปัญหาแทบจะทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น การศึกษา สาธารณสุข แต่ผมคิดว่าทุกปัญหามีช่องทางที่สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงขึ้นได้

แต่ว่าต้องอาศัยแรงร่วมที่เยอะขึ้นจากทุกภาคส่วนเพราะฉะนั้นผมจึงอยากให้ลูกศิษย์ผมจบไปแล้วสามารถไปทำงานที่เขารักและชอบ หากทุกคนทำได้อย่างอย่างดีแบบนี้แล้วโอกาสที่สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นตามลำดับ

ซึ่งในคณะเราที่นิด้ามีอาจารย์หลายท่านที่เขาช่วยกันทำวิจัยต่างๆ ทำให้ผมคิดว่าถ้าได้มาอยู่ตรงนี้ก็น่าจะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์คิดว่าปัญหาระบบทุนนิยมหรือความเหลื่อมล้ำของคนจนคนรวยมันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือประเทศของเราหรือไม่

 

ถ้าหากพูดถึงระบบทุนนิยม ผมขออ้างซีอีโอของ World Economic Forum  Professor Klaus Schwab ซึ่งเขาพูดว่าโลกปัจจุบันนี้ระบบ Talentism จะมาแทน Capitalism

ทุนนิยมแปลว่าอะไร แปลว่าถ้ามีทุนคนก็จะนิยมชมชอบ เราก็จะประสบความสำเร็จพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราเกิดมาในครอบครัวที่มีทุนหรือเกิดในครอบครัวเศรษฐีเราก็จะสบายถ้าเราเกิดมาในครอบครัวยากจนเราก็จะไม่สบายอันนี้คือลักษณะทุนนิยมที่ทุกคนจะต้องพยายามมีทุนเพื่อให้ได้เกิดความสบาย

แต่สิ่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมคือ Talentism ซึ่งทาเล้นท์ที่แปลว่าพรสวรรค์หรือความเก่ง ยกตัวอย่างมหาเศรษฐี เช่น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก แจ็คหม่า และบิวเกต หรือว่าผู้นำของโลก เช่น นายกของแคนาดาจัสติน ทรูโด้

ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาจากทุนนิยมบางคนติดลบหรือเรียนมหาวิทยาลัยไม่จบด้วยซ้ำ แต่เขาบอกว่าคนเหล่านี้มีทาเล้นท์หรือพรสวรรค์ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้ถ้าอยากประสบความสำเร็จ คุณสามารถยกระดับตัวเองจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ดีกลายเป็นคนรวยหรือคนประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณเป็นคนเก่งมีไอเดียเจ๋งๆ

โลกปัจจุบันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลควรมีกลไกหรือต้องเน้นให้คนปล่อยของ ทุกคนอาจจะมีของอยู่ในตัวแต่ว่าถ้ามีกลไกที่เอื้อ ช่วยให้เกิดความคิดที่ดีๆเกิดขึ้นได้ อย่าเอาทุนเป็นตัวนำต้องเอาครีเอทีฟวิตี้ หรือความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวนำ

ผมเคยอยากทำโปสเตอร์ ผมก็จ้างใครก็ไม่รู้ในอินเตอร์เน็ตต่างประเทศ ซึ่งคิดค่าจ้างแค่ 5 เหรียญ แต่ขณะที่ผมจ้างที่ร้านคิด 2,000 บาท ซึ่งเขารับจ้างในเว็บส่งงานใน 10 วัน แก้ให้ 3 รอบ  แสดงให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้โลกมันลิงค์กันมากขึ้นการทำงานก็จะเปลี่ยนไปเยอะ ฉะนั้นแล้วความคิดสร้างสรรค์มันจะช่วยได้เยอะ

อาจารย์ประสบความสำเร็จในขณะที่ตัวเองมีอายุยังน้อย อาจารย์มีเคล็ดลับอะไรในการประสบความสำเร็จ

ผมคิดว่าก็คือต้องมีหลักความสมดุล work hard play hard เวลาทำงานก็ต้องทุ่มเทอย่างที่บอกทำเกิน 100 ทุกวินาทีส่วนเวลาอื่นก็ต้องรักษาสมดุลของชีวิต เช่นอาจจะต้องแบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง เที่ยวเล่นบ้าง ออกกำลังบ้าง

ส่วนเคล็ดลับที่สองต้องหมั่นหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ๆ  ผมเรียนจบมานานแล้ว ความรู้ที่ผมเรียนมามันใช้ได้แค่ทฤษฎี แต่ของจริงเปลี่ยนทุกวันโดยเฉพาะในอาชีพอาจารย์

คุณอาจจะบอกว่าเก่งแต่ในตำราส่วนหนึ่งถูก ถ้าคุณอยู่แต่ในตำรา การเป็นนักวิชาการถ้าบ้าแต่ตำรา มาจากทฤษฎี ผมว่าชาตินี้ยังไงก็โดนคนดูถูกคือต้องออกไปหาของจริง สอนเรื่องอะไรต้องพยายามไปค้นคว้าในโลกความเป็นจริงเสมอๆ

ทำไมถึงเลือกมาเป็นอาจารย์ทั้งที่สามารถไปทำงานกับบริษัทใหญ่และประสบความสำเร็จที่มีทั้งชื่อเสียงและเงินทองมากกว่าเป็นอาจารย์

จริงๆผมก็คิดไว้แล้วว่าอะไรที่สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ผมก็ยินทำหมดคือไม่ได้มีขอบเขตหรือข้อจำกัด ถ้าตรงไหนที่ทำได้แล้วเราสามารถทำได้ผมก็คิดจะทำ

และผมคิดว่าที่นี่ก็เหมือนบ้านของผมเพราะฉะนั้นเราก็อยากจะทำที่นี่ให้ดีที่สุดและก็ไม่ได้อินกับการประสบความสำเร็จด้านเงินทองเพราะไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดของผมแต่มันเหมือนกับเป็นเนเจอร์ รู้สึกผูกพันกับอาชีพนี้โดยอัตโนมัติอยากทำให้มันดีที่สุดเป็นสาเหตุให้ผมพยามผลักดันอะไรใหม่ใหม่ให้เกิดขึ้นที่นี่

และผมอยากเห็นสถาบันการศึกษาไทย ดีขึ้นเหมือนในต่างประเทศที่ทุกคนยอมรับ เช่น Oxford, Harvard,MIT

รู้สึกกดดันไหมเพราะว่าในรุ่นของคุณปู่เป็นถึงบิดากล้วยไม้ไทย แต่เราอาจจะยังมีชื่อเสียงไม่ถึงเค้าเลย

ถ้าความกดดันในเรื่องของประสบความสำเร็จผมไม่กดดันเลยเพราะผมคิดว่าคนก็คือคนละกัน บางทีอาจจะมีความชอบหรือหลายสไตล์ที่ต่างกันอันนี้คือสิ่งที่ดีเพราะเราไม่กดดันเราก็สามารถเป็นตวงตัวเองได้ แต่จะกดดันตรงที่ว่าเราไปทำอะไรที่แย่มากๆไม่ได้มันจะเสียถึงคนอื่นแต่ถ้าตัวเราผมก็รู้สึกเฉยๆ

มีเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จไหมสำหรับคนที่ติดลบหรือเริ่มจากศูนย์

มองดูสิ่งรอบตัวให้หาอะไรก็ได้ที่มันเป็นปัญหาแล้วหาวิธีแก้

ยกตัวอย่างเช่นคนญี่ปุ่นมีปัญหานาฬิกาปลุกปลุกเท่าไหร่ก็ไม่ตื่นต้องตั้งปลุกประมาณสี่ห้ารอบ เพราะมันตื่นไม่ได้ เค้าก็เลยทำเป็นพรมนาฬิกาปลุกคือตื่นแล้วต้องเอาตัวเองลงไปจากเตียงแล้วยืนอยู่บนพรม 15 หรือ 30 วินาที นาฬกาถึงจะดับ ซึ่งผลตอบรับปรากฏว่ามียอดจองถล่มทลาย อธิบายง่ายๆคือ ให้เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ให้ไปหาปัญหามาแล้วหาวิธีแก้

และบางอย่างก็ต้องอาศัยงานวิจัยมาเป็นข้อมูล ผมถึงบอกว่างานวิชาการบางอันสามารถไปต่อยอดได้เลยอย่างเช่น นาฬิกาปลุกก็ต้องไปหางานวิจัยว่าว่าคน ตื่นแล้วกี่นาทีถึงจะตื่นถึงจะไม่ลงไปนอนต่อ ซึ่งต้องมีข้อมูลวิชาการอ้างอิงด้วยคนถึงจะเชื่อถือ

คือต้องเริ่มจากการไปหาความรู้ในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหา หรือบางสิ่งที่เริ่มต้นจากปัญหา

การหาปัญหาแล้วหาวิธีแก้ยิ่งห่างไกลตัวเท่าไหร่ยิ่งเห็นผลอย่าง เช่น ที่เกาหลีเจ๋งมากคือมีการคิดค้นแก้วที่สามารถกินบะหมี่ได้เลย เป็นแก้วใหญ่มีหลอดเสียบด้านข้างและข้างบนเป็นถ้วยบะหมี่เพราะฉะนั้นมือหนึ่งถือแก้วอีกอีกมือถือตะเกียบกินบะหมี่ซึ่งสามารถแก้ปัญหาชีวิตจากการกินบะหมี่แล้วถือแก้วไม่ได้ หาปัญหาและหาวิธีแก้โดยเฉพาะปัญหาใกล้ตัว

work hard play hard คือ เคล็ดลับการประสบความสำเร็จ การหาปัญหาและหาวิธีแก้ คือ เคล็ดลับสู่เส้นทางเศรษฐี หากมีทั้งสองอย่างคุณก็จะสามารถพลิกชีวิตจากติดลบกลายเป็นเศรษฐีได้แบบไม่ยากเย็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook