เปิดประวัติ วิหารกามสูตร
เพศศึกษาไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอาย มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ติดตัวมากับมนุษย์ เพียงแต่เราต้องควบคุม ปรุงแต่ง และสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ไม่ให้ความต้องการตามธรรมชาติมาอยู่เหนือความยับยั้งชั่งใจ
เกริ่นมาอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นจริงเป็นจัง แต่สิ่งที่แจ๊ซซี่อยากนำเสนอ เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับที่เกริ่นมาก็ไม่รู้ เพราะคราวนี้อยากนำไปเที่ยวอินเดีย ไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีสถาปัตยกรรมแปลกตาและน่าตื่นใจ เป็นวิหารกลางแจ้งที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกามสูตรอย่างชัดเจน สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “ขะชุรโห” (Khajuraho) ตั้งอยู่ในรัฐมัธยมประเทศ ทางภาคกลางของอินเดีย
ขะชุรโหเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่พิเศษกว่าที่อื่น เพราะมีการประดับประติมากรรมภาพสตรีเปลือยกาย และการมีเพศสัมพันธ์จากตำรากามสูตรอย่างเปิดเผย ศาสนสถานแห่งนี้ผสมผสานความเชื่อของศาสนาฮินดูกับเชนเข้าด้วยกัน สร้างขึ้นเมื่อประมาณพันปีก่อน ระหว่าง ค.ศ. 950-1050 ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์จัณฑละผู้เป็นใหญ่ในภาคกลางของอินเดีย
ว่ากันว่าวิหารแห่งนี้งดงามโอ่อ่า ทั้งรูปทรงและรูปแกะสลักจำนวนมาก ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านขะชุรโห จึงได้ชื่อตามนั้น รูปแกะสลักหินประดับวิหารสะท้อนให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญงานศิลปะชั้นสูงของศิลปินสมัยนั้น ซึ่งสามารถแกะสลักหินให้สวยงามอ่อนช้อย และมีชีวิตชีวาน่าอัศจรรย์
แรกสร้างวิหารมีจำนวน 85 หลัง แต่กาลเวลาได้ทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียง 22 หลัง แต่ยังพอเพียงต่อการเป็นประจักษ์พยานงานศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งยังสื่อขนบประเพณี ความเชื่อของชาวอินเดียโบราณอย่างชัดเจน
วิหารขะชุรโหแตกต่างจากวิหารทั่วไป คือเป็นวิหารที่ปราศจากกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่บนฐานอิฐสูงแข็งแรง เป็นสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างรวมกันเป็นหมู่อย่างมีเอกภาพ เพดานแกะสลักลวดลายประณีต มีเสาค้ำยันหลังคา 4 ต้น บัวหัวเสาแกะสลักอย่างพิถีพิถัน
ด้านบนและฐานล่างของเสาแกะสลัก เป็นรูปคนแคระ และสัตว์ในเทพนิยายมีหัวและปีกเป็นอินทรี มีร่างเป็นสิงโต ตรงกลางเสาแกะสลักนางอัปสรทรวดทรงอรชรจำนวนนับพันนับหมื่นประดับรอบวิหารทุกหลัง บรรดานางสวรรค์แสดงอารมณ์ทางสีหน้า และวางท่าราวกับซูเปอร์โมเดลยุคปัจจุบัน สะท้อนจินตนาการและความสามารถในการถ่ายทอดของศิลปิน
ถือเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกของชาวอินเดียในสมัยนั้น ผู้ยึดมั่นศรัทธาลัทธิตันตระ ซึ่งเชื่อว่าความพึงพอใจกิเลสทางโลก จะช่วยยกระดับจิตใจและนำพาจิตวิญญาณไปสู่ความหลุดพ้น รูปแกะสลักแสดงความรักใคร่จึงปรากฏอยู่ทั่วไป
กำแพงหินด้านนอกของวิหาร ประดับประดาด้วยงานแกะสลักหินแบบนูนสูง บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าและเทวี ได้แก่ พระศิวะและนางปาวรตีซึ่งเป็นชายา พระวิษณุและพระนางลักษมีผู้เป็นชายา พระพิฆเนศวรในท่วงท่าร่ายรำ รูปแกะสลักนักดนตรีและนางรำ ฯลฯ มีลักษณะเหมือนจริง แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้เห็น หาดูได้ยากจากสถาปัตยกรรมของวิหารอื่น
วิหาร 12 หลังที่สร้างถวายพระวิษณุและพระศิวะทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จัดว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานแท่นบูชา “กัณฑารวาส” มหาเทวะขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่วิหาร แผนผังคล้ายกับจัตุรัสกล แสดงให้เห็นถึงทักษะชั้นสูงในการออกแบบก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม หลายร้อยปีต่อมาหลังจากหมดยุครุ่งเรืองของราชวงศ์จัณฑละ สถาปัตยกรรมที่กล่าวมาก็ถูกทอดทิ้งให้รกร้างและเสื่อมโทรม จนราชนาวีอังกฤษมาพบหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1838 วิหารแห่งความรักและกามารมณ์ของอินเดียจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
แม้ว่าสายตาของผู้พบเห็นในตอนแรกจะมองเป็นศิลปะอนาจาร และแสดงถึงความเสื่อมของศีลธรรมมนุษย์ แต่ชาวอินเดียไม่มองประติมากรรมแนวอีโรติกเป็นเรื่องน่าอาย เพราะเชื่อกันมาแต่โบราณว่า กามสูตรเป็นตำราเพศศึกษาที่สืบทอดกันมาหลายพันปี
ชาวอินเดียเรียกนางรำว่า “ศิลปิน” ซึ่งฟ้อนรำเพื่อบูชาสักการะทวยเทพผู้เป็นใหญ่ หากมองมุมนี้ย่อมจำแนกได้ระหว่างศิลปะและอนาจาร เห็นความงามอันบริสุทธิ์ของประติมากรรม และอาจชื่นชมแนวคิดการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาตั้งแต่วัยเด็กด้วยซ้ำไป
จากคุณค่าของศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ วิหารขะชุรโหจึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เมื่อปี ค.ศ. 1986