"ไม่มีถุงยาง ก็อดเว้ย!!" เสรีภาพทางเพศ กับข้อจำกัดของสังคมไทย
"อารมณ์น่ะฉันก็
มี แต่ถ้าไม่มีถุงยาง.. ก็อดเว้ย!" ประโยคเด็ดจากสาวสไปรท์ ตัวละครสาวสุดจี๊ดในซีรี่ย์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ทำเอาคนรุ่นเก่าแทบจะสำลัก
ทั้งที่เรื่องของ"ถุงยางอนามัย"ถูกประชาสัมพันธ์ปาวๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ และ การคุมกำเนิด แต่สิ่งนี้ยังคงเป็นเรื่องกระดากเขินอายเกินกว่าจะพูดออกมาตรงๆ หรือ แม้แต่การซื้อหามาใช้ก็ตาม
ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ สอบถามไปยัง กองรังสี และเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย" ที่ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยพบว่า คนไม่ใช่ถุงยางเพราะมีทัศนคติที่ผิดๆ หลากหลาย ได้แก่
1.ถุงยางเป็นของใช้สำหรับคนไม่ดี เรื่องนี้ได้รับการอธิบายว่า การรณรงค์เรื่องเอดส์ในยี่สิบปีที่ผ่านมาเน้นเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีว่ามาจากการมีคู่นอนหลายคน การใช้บริการทางเพศจากหญิงบริการ คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการถุงยางอนามัย และนั่นคือจุดเริ่มต้นทำให้ภาพของคนใช้ถุงยางอนามัย คือ "คนไม่ดี" เพราะเป็นเครื่องหมายของผู้ชายที่ชอบเที่ยวหญิงบริการทางเพศ ส่งผลให้การพกถุงยางอนามัยกลายเป็นเรื่องของคนที่มีพฤติกรรมนอกใจแฟน หลายคนอายคนขาย(โดยเฉพาะคนขายเป็นผู้หญิง) จึงไม่กล้าซื้อถุงยางอนามัย
2.บางวัฒนธรรมคู่รักส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยประวัติทางเพศ
3.ใช้แล้วไม่สนุก คือ ผู้ชายบางคนจะบอกว่ามันรู้สึกเนื้อไม่แนบเนื้อและแฟนก็ไม่ชอบด้วย บอกว่าแพ้ถุงยางอนามัย ผู้ชายจำนวนมากได้รับการบอกเล่าว่าถุงยางอนามัยเป็นอุปสรรคของความสุขทางเพศจึงไม่มั่นใจจะใช้ ขณะที่ผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอยืนยันว่า ข้อดีของถุงยางอนามัยคือช่วยให้หลั่งช้า ทำให้ตนและคู่ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเต็มที่
4.กังวลเรื่องการตั้งครรภ์ จึงเลือกใช้ยาคุมกำเนิด
5.ไว้ใจกันเกินไป
6.ใช้แล้วขาดตอนไม่ต่อเนื่อง ได้รับคำอธิบายว่า ที่จริงแล้วหากคุณเป็นคนที่เล้าโลมจะไม่มีคำว่าขาดตอน และต้องเตรียมถุงยางไว้ใกล้มือที่สุด และยิ่งถ้าฝ่ายหญิงใส่ให้ก็เป็นการเติมรักระหว่างกันมากขึ้นด้วย
7.แค่ครั้งเดียวไม่เป็นไรหรอก
8.ฝ่าไฟแดงไม่ท้องหรอก
9.ตัวเองไม่ใช่นักเที่ยว ไม่ต้องใช้ก็ได้ เป็นต้น
ขณะเดียวกันสังคมคนรุ่นใหม่ กลับกระหายใคร่รู้เรื่องถุงยางอย่างมาก พิสูจน์ได้จากคำถามของวัยฮอร์โมนส์ต่อเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย อาทิ "อวัยวะเพศมีขนาดใหญ่กว่าถุงยางขนาดเล็กจะเป็นไรไหม" "ทำไมถุงยางใช้ได้แค่ครั้งเดียว" "ใส่ถุงยาง 2 ชั้น หรือหลายชั้นได้ไหม จะป้องกันได้มากกว่าหรือไม่" "ใส่ถุงยางแล้วออรัลได้ไหม แล้วจะรู้สึกอย่างไร" "ใส่ผิดด้านจะมีผลอย่างไร หรือถ้าใช้ทั้ง 2 ด้านจะได้ไหม" "ถุงยางผู้หญิงใส่ยังไง" กระทั่ง "ถุงยางแบบไหนใช้แล้วเร้าใจมากที่สุด" เป็นต้น
หากใครเคยไปที่พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย จะพบว่านอกจากงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องของถุงยางอนามัยแล้ว ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังมีงานทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัยอีกด้วย
สุภาวรรณ จงธรรมรัตน์ นักฟิสิกส์รังสี ชำนาญการพิเศษ กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ อธิบายพร้อมพาชมงานทดสอบคุณภาพถุงยางว่า การทดสอบคุณภาพถุงยางเป็นไปตามมาตรฐานมอก.625 ซึ่งเกี่ยวกับตัวถุงยางอนามัย โดยจะมีหัวข้อหลักๆ ได้แก่ 1.มิติ กว้าง-ยาว 2.ความหนา 3.ปริมาณสารหล่อลื่น 4.ทดสอบการรั่วซึม และ5.ทดสอบความทนความดันและปริมาตรขณะแตก เพื่อเป็นการดูสภาพความเหนียวและความทนของยาง
ทดสอบความทนความดันและปริมาตรขณะแตก
ทดสอบการรั่วซึม
"ถุงยางอนามัยหน้าที่หลักคือใช้สำหรับคุมกำเนิด และ ป้องกันโรค ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือถุงยางต้องไม่รั่ว เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ ผ่านได้ ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต้องแข็งแรง ต่อมาคือความยืดหยุ่นของถุงยาง ส่วนขนาดความกว้าง ความยาว โอกาสผิดพลาดจะน้อยเพราะทั้งหมดจะมาจากแบบพิมพ์ที่เหมือนกัน"สุภาวรรณ กล่าว
นักฟิสิกส์รังสี กล่าวอีกว่า วัสดุที่ใช้ทำส่วนมากเป็นยางธรรมชาติ แต่จะเริ่มเห็นใช้ยางสังเคราะห์เข้ามา แต่ความยืดหยุ่นอาจไม่ดีเท่ายาง นอกจากจะมีการผสมระหว่างยางธรรมชาติกับยางสังเคราะห์ เพื่อให้มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นดี ทุกวันนี้ถุงยางได้พัฒนาหลายรูปแบบ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องผ่านมาตรฐานทั้งหมด แต่ที่เห็นโฆษณาเอาวัสดุภายนอกมาติดนั้น ถ้ามาตรวจก็ต้องตกมาตรฐานแน่นอน
นอกจากคุณภาพของถุงยางที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพแล้ว ทุกวันนี้ถุงยางอนามัยได้รับการพัฒนาหลากหลายรูปแบบเพื่อเอาใจผู้ใช้ให้มีความสุขมากที่สุด เรื่องนี้ "กัณห์ กุลอัฐภิญญา" Marketing & Key account คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงจาก บริษัทตัวแทนจำหน่ายถุงยางอนามัยสัญชาติญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เคยทำการวิจัยก่อนจะนำเข้าถุงยางอนามัยจากญี่ปุ่น พบว่าผู้ใช้กังวลเรื่อง "ความบาง" หากถุงยางหนาทำให้คนไม่อยากใช้
กัณห์ กุลอัฐภิญญา
"บางคนบอกว่า ปกติแฟนจะไม่ชอบให้ใช้ถุงยาง บอกว่าเจ็บ คือ แค่ใส่ถุงยางอนามัย การสัมผัส ความอุ่น สัมผัสเป็นธรรมชาติก็หายไปแล้ว ความลื่นจากสารหล่อลื่นที่มาแทนอีก เพราะบางทีเราก็ไม่ต้องการให้มันลื่นขนาดนั้น คือ แรงเสียดทานก็หายไป แล้วยังมาหนาอีก อย่างนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดนะ ไม่มีอะไรดีเลย"กัณห์ ว่า
ดังนั้น "บางสุดๆ" คือจุดขายของถุงยางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต
"ยอดขายออนไลน์เยอะนะ แสดงถึงพฤติกรรมเรายังไม่เปิดเผย ซื้อออนไลน์สะดวกกว่า จากผู้บริโภคที่ไม่กล้า เขาก็เออ ยอมมาจ่ายแพงกว่านิดเพื่อไม่ขายหน้า จะเห็นว่าตราบใดที่ขายถุงยางทางอินเทอร์เน็ตดีกว่า แปลว่าคนไทยก็ยังไม่เปิดรับ"
กัณห์ บอกว่า เรื่องพฤติกรรมการซื้อถุงยาง เขาเคยขอไปยืนเซอร์เวย์ในเซเว่นอีเลฟเว่น ส่วนมากคนจะเขินอายกับการซื้อถุงยาง บางคนเดินมาถือกำไว้ในมือ แล้วทำเหมือนหลบๆ ซ่อนๆ
"ผมอยากให้คนซื้อถุงยางรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ ทำในสิ่งที่ถูก แล้วเรารู้แต่พฤติกรรมผู้ชายว่าต้องประมาณนี้ แต่ไม่เคยรู้พฤติกรรมผู้หญิงที่มีต่อผู้ชายที่ซื้อถุงยาง ผมเลยไปลองยืนซื้อแล้วมีผู้หญิงสวยยืนอยู่ด้วย เขาเห็นผมไปจับถุงยางเขาก็เริ่มหันหน้าหนี คือ ทำไมต้องกลัวว่าผมจะเขิน เพราะในมุมผมไม่เคยรู้สึกว่าถุงยางอนามัยเป็นเรื่องน่าอาย คือในความรู้สึกผม ยังมองว่าคนไทยยังไม่เปิดรับ มองเรื่องนี้เป็นเรื่องทะลึ่ง มองง่ายๆ อย่างคนมาสมัครงานที่บริษัท บางคนเข้ามาทำงานแล้วรู้สึกว่าตัวเองต้องเกี่ยวข้องกับถุงยางมากขึ้นก็ลาออก คือ คนไทยยังรู้สึก ดูจากการรับคนเข้ามาของเรายังมีปัญหาเลย นับประสาอะไรการซื้อขายถุงยาง"กัณห์สรุป
แม้เรื่องเพศจะยังเป็นเรื่องกระดากเกินกว่าจะพูดถึง แต่จากชนิดของสินค้าแล้วไม่อาจปฏิเสธว่าพฤติกรรมทางเพศของคนไทยเป็นเรื่องที่หลากหลาย เราจะเห็นบางสินค้าที่อวดว่าบางที่สุด หวังเจาะกลุ่มคนทั่วไปที่เน้นความสุขในเรื่องของการมีเซ็กส์ บ้างก็ว่ามีสารหล่อลื่นเยอะสำหรับกลุ่มแม่บ้านให้ลดอาการเจ็บ นอกจากนี้ยังมีพื้นผิวเป็นปุ่ม และความเย็น สำหรับคนที่ชอบความแปลกใหม่ โลดโผน รวมไปถึงถุงยางอนามัยแบบไหนที่ถูกใจกลุ่มเกย์และที่ขาดไม่ได้ทุกยี่ห้อ คือ กลิ่น สำหรับคนที่ชอบกระตุ้นบรรยากาศ
ทั้งหมดนี้ คือความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทว่านี่คือสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบ คล้องจองกับประโยคฮิตของสาวสไปรท์ ที่ว่า "อารมณ์น่ะฉันก็มี แต่ถ้าไม่มีถุงยาง.. ก็อดเว้ย!"