ยีนส์ : จากชนชั้นกรรมาชีพ ฮิปปี้หัวขบถ สู่แฟชั่นยอดฮิต

ยีนส์ : จากชนชั้นกรรมาชีพ ฮิปปี้หัวขบถ สู่แฟชั่นยอดฮิต

ยีนส์ : จากชนชั้นกรรมาชีพ ฮิปปี้หัวขบถ สู่แฟชั่นยอดฮิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ kenshiro843@gmail.com
ที่มา Pop Teen, มติชนสุดสัปดาห์
ผมเชื่อว่าคุณผู้ชมทุกคนต้องมีกางเกงยีนส์อย่างน้อย 1 ตัวในตู้

จะว่าไปแล้วกางเกงยีนส์ก็เป็นเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากครับ มันเริ่มต้นใส่กันในชนชั้นกรรมาชีพจนกลายเป็นเครื่องแต่งกายของทุกชนชั้นในสังคม

ปัจจุบันแม้แต่ซีอีโอระดับพันล้านหรือโฮมเลสข้างถนนก็ยังนิยมใส่ยีนส์

อาจพูดได้ว่า 7,000 ล้านคนบนโลกต้องมียีนส์อย่างน้อยคนละ 1 ตัว

ผมจึงอยากจะลองพาคุณผู้อ่านย้อนรอยเส้นทางประวัติศาสตร์กว่า 160 ปีของยีนส์ในแง่มุมต่างๆ ทั้งโลกของแฟชั่น ธุรกิจ ไปจนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตให้เข้าใจง่ายๆ

หยิบยีนส์ตัวโปรดมาใส่ระหว่างที่อ่านก็ได้นะครับ

ถ้าพูดถึงกางเกงยีนส์ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ได้พูดถึงชื่อของผู้ชายคนนี้ ลีวายส์ สเตราส์ (Levi Strauss) เพราะเขาเป็นผู้บุกเบิกนำผ้าที่ผลิตจากเมือง Nimes ในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1853

ตอนแรก นายลีวายส์ สเตราส์ เปิดร้านขายของชำของแห้งทั่วไป และผ้าที่ผลิตจากเมืองนีมส์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าของเขา

จนกระทั่งในยุคตื่นทองของอเมริกาที่ผู้คนมากมายเดินทางมาแสวงโชค ทำให้เหล่าคนงานต้องการเสื้อผ้าที่ทนทานเพื่อการทำงานในเหมือง

จาค็อบ เดวิส ช่างตัดเสื้อจากรัฐเนวาดา ผุดไอเดียตอกหมุดโลหะหรือ rivet ลงไปเพื่อเพิ่มความทนทานให้กับกางเกง โดยได้ไอเดียมาจากโลหะที่ตอกลงบนเกือกม้า จึงนำเสนอไอเดียนี้กับ ลีวายส์ สเตราส์

ภายหลังเราเรียกกางเกงที่ตอกหมุดโลหะว่า “waist overall” ซึ่งผลิตขึ้นโดยแบรนด์ยีนส์แบรนด์แรกของโลกอย่าง “Levi”s”

ลักษณะเด่นของ waist overall คือกระเป๋าหลังเพียงด้านเดียว มีการปักรูปโค้งปีกนกที่กระเป๋าหลัง มีกระดุมรอบเอวสำหรับสายรั้ง

ผ้าเดนิมน้ำหนัก 9 ออนซ์นั้นช่วงแรกทำจากผ้าลินินที่นำไปทำแคนวาส จนเมื่อผ้าดังกล่าวขาดตลาดจึงหันไปใช้ผ้าชนิดเดียวกันกับชุดยูนิฟอร์มของกะลาสีจากเมืองเจนัว (Genoa) ในอิตาลีมาใช้

จึงสันนิษฐานกันว่าคำว่า “ยีนส์” นั้นแผลงมาจากคำว่า “เจนัว” นั่นเอง

ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าในช่วงแรกนั้นกางเกงยีนส์เป็นกางเกงของชนชั้นแรงงาน คนทำงานเหมือง เหล่าชนชั้นกลางหรือผู้ดีมีอันจะกินนั้นไม่นิยมใส่ยีนส์กันเลย เพราะนิยมสูทเต็มยศมากกว่า

ยีนส์คือสัญลักษณ์ของชนชั้นกรรมมาชีพ

คำถามคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ยีนส์ได้รับความนิยมนั้นเกิดจากอะไร

จุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นในปี 1930 ครับ

ตอนนั้นฮอลลีวู้ดเริ่มผลิตหนังฉายภาพชีวิตของชาวอเมริกันฝั่งตะวันตกหรือเวสต์โคสต์จำนวนมาก เมื่อภาพยนตร์เคาบอยนุ่งกางเกงยีนส์ได้รับความนิยม ย่อมส่งผลถึงความต้องการสวมใส่กางเกงยีนส์

ประกอบกับการที่ชาวอเมริกันฝั่งตะวันออก ได้มีโอกาสเดินทางไปพักผ่อนยังฝั่งตะวันตก และได้ลองสวมใส่กางเกงยีนส์จึงนำกลับมายังฝั่งตะวันออกด้วย

ภายหลังจากที่สิทธิบัตรการตอกหมุดหรือ Rivet หมดลงก็มีแบรนด์คู่แข่งตามมา เช่น แบรนด์ Lee ที่ทำการตลาดกับกรรมกรทางรถไฟ หรือ Wrangler ที่เน้นกลุ่มเคาบอย

จุดเปลี่ยนที่สอง

คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ

ตอนนั้นทหารอเมริกันท่องไปยังที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและเอเชียและได้นำกางเกงยีนส์ติดตัวไปตามที่ต่างๆ ด้วย

ทั่วโลกจึงเริ่มรู้จักกับกางเกงยีนส์ และลีวายส์ก็เริ่มจำหน่ายยีนส์ออกนอกอเมริกา

ทำให้คนทั่วโลกต้องการใส่ยีนส์เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่บ้ายีนส์มาก

จุดเปลี่ยนที่สาม

ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากๆ คือ หนังเรื่อง Rebel With A Cause นำแสดงโดย เจมส์ ดีน และหนังเรื่อง The Wild One ที่เล่นโดย มาร์ลอน แบรนโด

หนังเหล่านี้มีอิทธิพลทำให้ยีนส์นิยมมากในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน

ยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขบถ โรงเรียนบางแห่งถึงกับตั้งกฎห้ามนักเรียนนุ่งยีนส์

ตอนนี้เองที่พวกเขาเริ่มเรียก Waist Overall ว่ากางเกงยีนส์ และทุกคนก็เรียกกางเกงนี้เช่นนั้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในยุค 60s ยีนส์กลายเป็นเครื่องแต่งกายบังคับของเหล่าบุปฝาชนหรือฮิปปี้ในตะวันตกโดยสมบูรณ์

จุดเปลี่ยนที่สี่คือ แบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อว่า GAP แก๊บก่อตั้งในปี 1969 โดยเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์อเมริกันคลาสสิคที่มีจุดเด่นที่ความเรียบง่าย ไม่เน้นวิ่งตามแฟชั่นมากเกินไป มีหลายสีหลายไซส์ให้เลือก ที่สำคัญคือราคาถูก

ช่วงแรกลีวายส์ยังต้องนำของมาฝากขายที่ร้านแก๊บอยู่เลยด้วยซ้ำ แต่ภายหลังแก๊บก็เกิดความคิดที่จะผลิตยีนส์เป็นของตัวเอง โดยเน้นความแมส ซึ่งก็ได้ผล เพราะตีตลาดยีนส์ลีวายส์ได้ราบคาบ

ช่วงต้นยุค 90 นั้นแก๊บรุ่งเรืองถึงขั้นที่แย่งตลาดยีนส์จากลีวายส์ จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลีวายส์พบกับวิกฤตการณ์ ต้องปิดโรงงานผลิตถึง 1 ใน 3 (สาเหตุอื่นๆ มาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและยอดขายเริ่มชะลอตัวลง) เพราะเมื่อเทียบราคาแล้ว แก๊บมีราคาที่ถูกกว่าลีวายส์มาก

ตอนนี้เองยีนส์กลายเป็นไอเทมของทุกคนใครๆ ก็เข้าถึงยีนส์ได้

จุดเปลี่ยนที่ห้าคือ อุตสาหกรรมยีนส์ญี่ปุ่นที่ขยายตัวมากขึ้นครับ โดยเฉพาะยีนส์ในกลุ่ม luxury หรือยีนส์ที่ราคาแพงเป็นหมื่นบาท มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายแบรนด์ เช่น Evisu (1991), Pure Blue Japan (1997), Iron Heart (2003)

ความสำเร็จของยีนส์ญี่ปุ่นที่เอาจริงเอาจังทั้งในเชิงช่างและศิลป์ช่วยสร้างมูลค่าให้กับยีนส์ จนทั่วโลกยอมรับว่าผลิตยีนส์ได้ดีที่สุด ทำให้แบรนด์ระดับโลกต้องเปิดไลน์ยีนส์ของตัวเองบ้าง ไม่เว้นแม้แบรนด์เนมสุดหรูอย่าง Gucci, Louis Vuitton, Tom Ford

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวในระดับโลกนะครับ แล้วในประเทศไทยล่ะ ยีนส์ไทยเริ่มต้นและพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

ยีนส์พันธุ์ไทยแท้แบรนด์แรกต้องยกให้กับ “แม็คยีนส์”

ธุรกิจซักอบรีดเสื้อผ้า “ซินไฉฮั้ว” เริ่มก่อตั้งบริษัทผลิตกางเกงยีนส์แห่งแรกในประเทศไทย โดยรับเป็นผู้ผลิตให้กับลีวายส์ ก่อนจะสร้างแบรนด์ของตัวเองชื่อ “แม็คยีนส์” ยีนส์สัญชาติไทยแท้ๆ ในภายหลัง ด้วยราคาย่อมเยาว์และรูปทรงเหมาะสมกับชาวเอเชีย ผนวกกับกลยุทธ์ด้านการตลาดป่าล้อมเมือง ส่งให้แม็คเป็นผู้นำด้านการตลาดติด 1 ใน 3 อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 35 ปี

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ทำขายตามจตุจักร หรือแบรนด์ใหญ่ตามห้างสรรพสินค้า แต่ยีนส์ไทยก็ไม่ได้มีราคาแพงมากนัก ใส่กันง่ายๆ และคนก็ไม่ได้บ้ายีนส์กันเหมือนทุกวันนี้

ส่วนใหญ่คนที่ใส่ยีนส์ในยุคนั้นก็เพื่อแสดงออกถึงภาพลักษณ์ของความเป็นขบถ ฮิปปี้ หรือสัญลักษณ์ทางการเมือง

ถ้าใครจำกันได้ยังมีคำขวัญของเหล่านักศึกษาผู้แสวงหาในช่วงหลายสิบปีก่อนว่า 5 ย. ที่ประกอบไปด้วย ผมยาว เสื้อยืด กระเป๋าย่าม รองเท้ายาง และกางเกงยีนส์

จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ คือ ร้าน Pronto Denim เริ่มเปิดให้บริการ ก่อนหน้านั้นหากคนไทยต้องการยีนส์ญี่ปุ่นก็จะต้องไปหิ้วมา ซื้อจากร้านมือ 2 หรือค้นตามที่เปิดกระสอบขาย

เริ่มแรกพรอนโต้เปิดนำเข้ากางเกงยีนส์ญี่ปุ่นเพียง 5 แบรนด์ ทุกวันนี้นอกจากนำเข้ายีนส์ญี่ปุ่นถึง 15 แบรนด์แล้ว ยังขยายสาขาร้านแล้วเกือบ 10 แห่ง รวมถึงผลิตยีนส์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองด้วย

ร้านพรอนโต้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับแบรนด์ Cheap Monday และ Nudie ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการยีนส์ในบ้านเราให้ตื่นตัวขึ้น โดย Cheap Monday โดนใจวัยรุ่นด้วยทรงกางเกงเดฟแบบพี่ตูน-บอดี้แสลม ส่วน Nudie เจ๋งตรงที่เป็นแบรนด์แรกที่มีป้ายบอกว่าห้ามซักกางเกงจนครบ 6 เดือน เพื่อปั้นเฟด ขึ้นลายให้ไม่มีใครเหมือน

ภายหลังจึงมีคนรักยีนส์ที่กล้าผลิตยีนส์ไทยระดับพรีเมียม เช่น Indigoskin, PIGER WORKS, Hold”em, Doku Jeans, Selvedgework ยีนส์เหล่านี้เน้นคุณภาพมากๆ ขายกันด้วยราคาสูงเกิน 6,000 บาท แต่ก็ยังมีคนไทยสนใจและสั่งซื้อกันมาก เป็นภาพสะท้อนว่าคนไทยเปิดรับยีนส์ราคาแพงที่ผลิตโดยคนไทยด้วยกันเอง

ต้องบอกว่ายีนส์ไทยเหล่านี้มีคุณภาพไม่แพ้ยีนส์ในตลาดโลก

ปี2015 ที่ผ่านมาเป็นวาระที่ครบรอบ 100 ปีที่ลีวายส์ทำงานร่วมกับโรงงาน Cone Mills นับเป็นแบรนด์กางเกงยีนส์และโรงผ้าเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงดำเนินการผลิตอยู่ ส่วนสถานการณ์ยีนส์ในตลาดโลกก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

เช่น การผสมใยผ้าพิเศษที่ทำให้ใส่สบายจนบางคนเรียกว่า “โยคะยีนส์” ยีนส์ที่ยืดหดได้จนใส่เล่นโยคะได้

ยีนส์มีวิวัฒนาการกลายเป็นเครื่องแต่งกายของคนทั่วโลก ด้วยสัญลักษณ์ของความทนทาน ความขบถ และความแมน มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสนบาท

สำหรับผมที่ชอบใส่ยีนส์มากเช่นกัน ผมคิดว่ายีนส์เป็นเครื่องแต่งกายที่แปลก

มันเป็นเครื่องแต่งกายชนิดเดียวบนโลกที่เติบโตและเปลี่ยนสภาพเข้ากับคนใส่

การปั้นรอยยับหรือที่เรียกว่า “เฟด” จึงเปรียบเสมือนการเลี้ยงลูกสักคน จึงอาจกล่าวได้ว่า ยีนส์มีชีวิตและลมหายใจของมันเอง โดยมีมนุษย์ใส่ (หัว) ใจลงไป

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากรู้เหมือนกันว่า

คุณผู้อ่านล่ะครับชอบใส่ยีนส์เพราะอะไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook