สุพจน์ ธีระวัฒนชัย Manual of Business เรียนรู้ความสำเร็จ จากความล้มเหลว

สุพจน์ ธีระวัฒนชัย Manual of Business เรียนรู้ความสำเร็จ จากความล้มเหลว

สุพจน์ ธีระวัฒนชัย Manual of Business เรียนรู้ความสำเร็จ จากความล้มเหลว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับการลงทุนทำร้านอาหารด้วยเม็ดเงินมหาศาลบนพื้นที่ขนาดใหญ่ และที่แห่งนั้นมีความบันเทิงระดับที่เรียกว่าอลังการตระการตา รสชาติอาหารอร่อยและการบริการที่ยอดเยี่ยม ต้องถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยจิตวิญญาณของการบริการ เพราะกล้าทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าทำเป็นผลให้โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ประสบความสำเร็จมากว่า 16 ปี และผู้เปรียบเสมือนกัปตันขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้เดินหน้าอย่างมั่นคงคือ คุณสุพจน์ ธีระวัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง 1999 จำกัด

เมื่อเรามองภาพปัจจุบันของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง นับได้ว่าเป็นลำดับต้น ๆ ของธุรกิจร้านอาหารและบันเทิงขนาดใหญ่ที่อยู่ได้แบบสบาย ๆ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปคุณสุพจน์บอกว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ได้สำเร็จรูปขนาดนั้น เพราะกว่าจะเป็นโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เขาต้องผ่านความล้มเหลวและวิกฤตชีวิตมานับไม่ถ้วน

คุณสุพจน์ เกิดในครอบครัวคนจีน เป็นลูกชายคนโตจากลูกทั้งหมด 5 คน เริ่มต้นเรียนในระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มค้าขายตั้งแต่ยังเด็ก โดยครอบครัวได้ทำธุรกิจขายเสื้อยืดในตลาดโบ๊เบ๊

“ผมถูกเลี้ยงดูมาให้คิดเองทำเอง เป็นคนปากกัดตีนถีบมาตลอด สมัยก่อนไม่มีใครบอกว่าเราโตขึ้นมาควรจะทำอะไรแต่เขาสามารถแนะนำลูกได้นะว่าเข้ามหาวิทยาลัยควรทำอย่างไร พ่อแม่ผมเขารู้อย่างเดียวคือขอให้ลูกเรียนเก่ง แล้วก็จ่ายค่าเทอมให้เพราะท่านทำงานหนักจึงไม่มีเวลาดูแลเรานัก

“เมื่อผมเรียนจบจากสวนกุหลาบวิทยาลัยจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมอยากเรียนวิศวะมากเลือกสอบที่ วิศวะ จุฬาฯ, วิศวะ ลาดกระบัง, บางมด แต่ไม่ติดสุดท้ายก็มาติดที่คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือว่าดีแล้วที่ไม่ได้เรียนวิศวะ เพราะการเรียนที่ธรรมศาสตร์มันมีผลต่อบุคลิกผมมาก ตั้งแต่เรื่องของวิธีคิด การมองโลก เรื่องของธรรมะและอธรรม คือโลกใบนี้มันอยู่ที่คุณเลือกจะเป็น

“หลังจากนั้นผมก็ได้มาทำธุรกิจเสื้อยืด สร้างแบรนด์ของตัวเอง และทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ผมทำพลาดตรงที่เอาเงินจากระบบเสื้อยืดโยกไปเก็งกำไรจากธุรกิจอสังหาฯ ผมดูธุรกิจเบาและง่ายเกินไปจึงแก้ไม่ถูกจุด วันหนึ่งสนิมก็กัดกิน
ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเรื่องการหมุนเงิน เงินที่ผมหามาได้ก็หมุนออกไปทางอื่น ธุรกิจของผมในอดีตทุกตัวสามารถอยู่ได้แบบสบาย ๆ เพียงแต่ต้องมีการจัดการกับมันให้ถูกต้อง ถ้าวันนี้ให้ผมย้อนกลับไปผมเชื่อว่าไม่เจ๊ง เพราะตราบใดที่ไม่เอาเงินไปใช้อย่างอื่นที่ผิดวิธี มันไม่มีทางล้มเหลว

“คนที่ทำธุรกิจจำเป็นต้องสังเคราะห์ตัวเองและธุรกิจ คือแยกออกมาเลย แล้วต้องกล้าลงโทษตัวเองเมื่อทำผิด และต้องกล้าที่จะร้องไห้คนเดียว ความผิดพลาดในอดีตเราก็อยากกลับไปแก้ไขทั้งนั้น แต่ถ้าเล่นต่อไม่ได้ก็ต้องล้มกระดาน สำรวจค่าความเสียหายทั้งหมด ว่ามีหนี้เท่าไหร่แล้วจะใช้หนี้ได้อย่างไร

“ธุรกิจของผมล่มสลายจริง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2537 ทำให้ผมมีหนี้ราว 29 ล้านบาท แต่ผมใช้หมดก่อน พ.ศ.2540 ผมให้รางวัลครอบครัวโดยการไปเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์ นั่นคือสิ่งที่หรูหราที่สุดในชีวิตผม แต่หลังจากนั้นไม่นานวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ทางรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจทั้งประเทศล้มลง มันก็กระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผมทำอยู่กับหุ้นส่วนทั้งหมด ทำให้ผมเป็นหนี้อีกครั้งเพราะมันขาด Cash Flow แล้วมีลูกหนี้รายใหญ่หนีหนี้ผมไปอีก 2 ราย”

แม้จะธุรกิจจะพังลงแต่ขีวิตต้องดำเนินต่อไปในการมองหาธุรกิจใหม่ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากคุณสุพจน์เป็นคนที่รู้จักรุ่นพี่และรุ่นน้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันหนึ่งเขารับหน้าที่ไปถ่ายรูปรับปริญญาให้รุ่นน้อง หลังจากถ่ายรูปเสร็จจึงมีการ
กินเลี้ยงที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง และที่แห่งนั้นเองเขาได้พบกับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนั่น คือถังต้มเบียร์

“ผมเห็นถังต้มเบียร์ครั้งแรกรู้สึกว่ามันสวยมาก แถมรสชาติของเบียร์ยังอร่อยกว่าปกติ เมื่อมีโอกาสผมจึงชวนคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไปดู แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเรามีเบียร์แบบนี้แล้วขายพร้อมอาหารไทยจะเป็นยังไง ซึ่งสมัยนั้นมีคนขายเบียร์แบบนี้ไม่กี่ราย แล้วที่เหมือนกันหมดคือราคาเบียร์หนึ่งลิตร 240 บาท พร้อมกับขายอาหารฝรั่ง ผมคิดว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ผมไปกินเบียร์การ์เด้นท์เหยือกหนึ่งเขาขายกันเพียง 120 บาท แต่ถ้าผมขายแค่ 100 บาท และอยู่ในห้องแอร์มีอะไรให้ดู แล้วเราทำอาหารไทย-อีสาน ลูกค้าจะซื้อไหม

“นี่คือจุดเริ่มต้นจากคำถาม เราขายเบียร์พร้อมอาหารไทยแล้วเราควรจะขายเท่าไหร่ ผมยังไม่รู้ต้นทุนอะไรเลยว่าเบียร์ต้นทุนเท่าไหร่ จะเดินไปถามผู้ประกอบการที่ทำอยู่ใครเขาจะตอบผม แต่ผมทะเยอทะยานกับความคิดว่าจะทำไหม คือตอนนั้นยังอยากหาความรู้มากกว่าคิดจะทำ เพราะสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตให้ความรู้เกี่ยวกับเบียร์เลย ทำให้ผมต้องเดินทางไปเทศกาลเบียร์ที่ประเทศเยอรมนี แล้วให้เพื่อนที่นั่นจัดการเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ผมไปดูงาน คือถ้าผมไปซื้อเครื่องจักรถังต้มเบียร์แล้วไม่ได้ที่ดินซึ่งมีทำเลที่ดีผมจะเสียเงินเปล่า หรือถ้าผมซื้อที่ดินทำเลดีได้แต่ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องจักรผลิตเบียร์ผมก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่กว่าจะจัดการมันจนจบ มันจึงต้องให้ทั้ง 2 อย่างนี้มาเจอกันในเวลาที่เหมาะสม”

ในปี พ.ศ.2540 กลุ่มอสังหาฯ หยุดชะงักจึงเป็นข้อดีที่คนไม่กล้าลงทุนมากนัก ทำให้มีที่ดินว่างเปล่าเยอะกว่าปกติคุณสุพจน์จึงตระเวนหาโลเคชั่นหลายที่ จนมาเจอบนถนนพระราม 3 ซึ่งได้ในเงื่อนไขที่ดีมาก แต่เขายังรู้สึกลังเลจึงได้ไปถามคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ว่าสนใจจะทำธุรกิจนี้หรือไม่ เมื่อคำตอบคือสนใจ จึงได้ดำเนินการเช่าที่ดินและเริ่มดำเนินการตามที่คิดไว้ทันที

“ตอนนั้นผมมีเงินติดตัวอยู่ 2 ล้านบาทจากการปลดหนี้สินเหลือที่ดิน 1 แปลง เหลือวงเงินโอดี เกือบ 3 ล้านบาท แล้วก็หายืมเงินจากคนอื่น ๆ จนครบ 20 ล้านบาท นำมารวมกับหุ้นส่วนคือคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ อีก 20 ล้านบาท เป็น 40 ล้านบาทเพื่อเปิดสาขาแรก

“ผมรู้ดีว่าตัวเองล้มมาเยอะ ชีวิตนี้จะล้มมากไปกว่านี้คงไม่ไหวนะ เพราะมันจะเสียศูนย์แล้วมันจะเสียความมั่นใจวันหนึ่งจะกลายเป็นคนป่วย ผมปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพแค่ไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าผมเก่ง แต่ผมรู้ว่ามีอะไรและต้องการความช่วยเหลือด้านใด เหมือนการเอาจิ๊กซอว์มาต่อเป็นภาพที่สำเร็จ แม้ว่าอาจทำได้แค่ 80% แต่คุณต้องทำมัน แล้วคุณจะรู้ว่าจิ๊กซอว์ตัวที่เหลือคุณหาได้จากที่ไหน ความล้มเหลวของผมตรงนี้เองที่เอามาขับเคลื่อน

“ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จในการทำโรงเบียร์ผมก็มีแผนสำรองก๊อกสอง คือถ้าเปิดมาแล้วขายไม่ดีผมจะปรับลดระดับร้านลงมาแล้วขายถูกลง เบียร์ผมจะพยายามส่งไปขายในเครือข่ายที่ผมมี ในครั้งนี้ถ้าผมชนะผมมีโอกาสรวย และมันก็เป็นแบบนั้น เพราะในครั้งแรกก็สำเร็จเลย ทำให้มีโจทย์ใหม่คือเราจะรักษามาตรฐานตรงนี้ได้อย่างไร”

คุณสุพจน์บอกว่าตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะชอบงานบริการ แต่คิดว่าเคยเข้าครัวช่วยแม่ทำกับข้าวมาก่อน พอแยกเยะเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ที่ดีได้ ซึ่งได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกน้องในยุคแรกแบบจริงจังก็เข้าใจหลักการ จนตอนนี้เรียกว่าเขาคือผู้บริหารที่จัดการร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จได้ดีคนหนึ่งของประเทศไทย

“การบริหารงานของผมอย่างแรกเลยคือความยุติธรรม สิ่งนี้เองเป็นหัวใจของการบริหาร คือตอนนี้ผมมีลูกน้องจาก 3 สาขา ประมาณ 1 พันคน ถ้าผมแสดงให้ลูกน้องเห็นว่าผมเป็นคนไม่ยุติธรรมหายนะจะเกิดขึ้นทันที และเราไม่สามารถ
แก้ไขได้ ผมเป็นมนุษย์ที่อาจรักคนไม่เท่ากันแต่ผมต้องมีความยุติธรรมให้ทุกคนเท่ากัน

“ที่โรงเบียร์เยอร์มันจะมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ ทุกปีจะมีซัพพลายเออร์นำของขวัญมาให้ ของขวัญนั้นต้องไม่ใช่ส่วนบุคคลแต่เป็นของกองกลาง ลองคิดดูว่าถ้าพนักงานไม่ได้อยู่ในสังกัดโรงเบียร์เยอรมันคิดว่าเขาจะให้ของขวัญหรือเปล่า แม้แต่ออกไปซื้อของแล้วได้บัตรกำนัล 200 บาทก็ต้องมาลงกองกลาง ผมปล่อยให้พนักงานได้รับของจากซัพพลายเออร์ไม่จบสิ้นไม่ได้ ถ้าเป็นของใช้ตอนจัดงานปีใหม่ผมให้ลูกน้องนำมาจับรางวัล ส่วนของกินผมจะส่งไปให้ข้างหลังคือแม่บ้านและคนล้างจาน เพราะเขามีโอกาสน้อยกว่าหน้าบ้าน

“อย่างที่สองคือความจริงใจ คุณต้องจริงใจต่อทุกอย่างเรื่องนี้ผมถ่ายทอดไปในระดับหัวหน้า ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาเป็นลูกคุณจะต้องดูแลทุกอย่างเหมือนลูก ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้พนักงานในฝ่ายต่าง ๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาเป็นลูกคุณจะทำให้ร้านแห่งนี้เจริญ แล้วคอยเฝ้าระวังอุบัติภัยคอยสอดส่องดูแลสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เพราะผมรู้สึกแบบนั้นเราถึงสอนเขาได้ ผมรู้สึกว่าผมอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพวกเขาผมจึงมีความจริงใจต่อพวกเขา

“สามคือเรื่องการช่วยเหลือลูกทีม อย่างในที่ประชุมปัญหามันเกิดขึ้นตลอด เวลาประชุมผมไม่ได้มาจับคนผิดแต่ผมมาช่วยกันแก้ไขปัญหา อย่างอาหารล่าช้าเพราะอะไรลูกน้องจะรู้นิสัยผมว่าถ้าพูดเท็จอย่าพูด เราต้องหาทางออก ไม่ใช่ลูกน้องผิดตลอดแล้วผมถูกเสมอซึ่งผมก็มีผิดเป็น มนุษย์เราถ้าทำผิดแล้วไม่รู้ตัวว่าผิดน่ากลัวที่สุด”

ในส่วนของการจัดการร้านที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ ทางโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบ ตรงส่วนนี้เองทำให้เห็นสถิติต่าง ๆ สามารถตรวจสอบการทุจริตได้อุดรอยรั่วได้ นอกจากนี้ยังดูยอดขายว่าอะไรขายดีและไม่ดีเพื่อพัฒนาและปรับปรุงต่อไป

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงอย่างหนึ่งคือการจัดการบนเวที เพราะบนเวทีมันเป็นเรื่องของอาร์ต พอพูดว่าอาร์ตผมถามว่าสวยกับไม่สวยดูยังไง คือมันต้องเป็นที่นิยม แล้วเรื่องของอาร์ตความเป็นศิลปินคุณจะดูแลเขายังไงให้พลังของเขาออกมาคือมันต้องมีผ่อนหนักผ่อนเบา แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน

“อย่างคำว่าอาหารอร่อยมันเป็นสากลหรือเปล่า คุณทำอาหารไทยอร่อยถ้ามันอร่อยจริงเพื่อนคุณ 10 คน อาจให้ความเห็นต่างกัน สำหรับผมความอร่อยเป็นสากล ถ้ามันอร่อยคนส่วนใหญ่ต้องบอกว่าอร่อย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่ามันไม่อร่อยแสดงว่ามีปัญหาแล้ว นี่เป็นหลักที่ผมเอามาใช้

“ชีวิตการทำงานผมบอกลูกน้องอยู่สองเรื่องว่าอะไรควรทำกับไม่ควรทำ อะไรไม่ควรทำก็อย่าทำ ถ้าคุณเห็นกระเป๋าเงินวางอยู่ในห้องน้ำคุณจะหยิบไหม ลองคิดดูว่าถ้าคุณได้เงินมาแล้วคุณรวยขึ้นหรือเปล่า ร้านผมขึ้นชื่อเลยครับว่าของลูกค้าที่หายสามารถเก็บคืนได้มากกว่า 90% อีก 10% บางทีลูกค้าจำผิดหรือลูกค้ากับลูกค้าหยิบไปเอง ผมปลูกฝังความซื่อสัตย์ได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผมเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอกครับ แต่ผมจะพยายามทำโลกที่ผมดูแลให้ดีที่สุด

“หน้าที่ผมคือสร้างความบันเทิงอาหารดีเบียร์อร่อยความบันเทิงหาที่อื่นไม่ได้ เงินที่ลูกค้าจ่ายมาถามว่าคุ้มค่าไหมผมไม่ได้บอกว่าแพงหรือถูก ต้องถามว่าคุ้มค่าไหม มันคุ้มค่าแน่นอนนี่คือโมเดลตัวหนึ่งที่ผมยังไม่เห็นว่าใครจะเป็นคู่แข่ง
ผมเห็นแต่ผู้ตาม”

จากเดิมโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงสาขาแรกเกิดขึ้นบนถนนพระราม 3 เมื่อทุกอย่างเป็นระบบลงตัวจึงมีการขยายสาขาเพิ่มเติม อีก 2 สาขาคือสาขารามอินทรา และล่าสุดสาขาแจ้งวัฒนะ โดยสาขานี้ทิ้งระยะเวลานานถึง 16 ปี ที่ถือว่าเป็นความท้าทายแห่งใหม่

“ความจริงผมไม่ได้มองว่าต้องรีบมีเงินร้อยล้านภายใน 5 ปี แล้วนำเงินไปทำอย่างอื่น เพราะโมเดลของธุรกิจนี้มันใหญ่อุ้ยอ้าย ถ้าลองไปเจาะดูแต่ละฟังก์ชั่นสิมันทำได้ยากมาก ทำให้ต้องใจเย็น ๆ ผมคิดว่าจะมีกี่สาขาก็ได้ แต่มันจะต้องสำเร็จอย่างยั่งยืน เพราะทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วยคน คือมันธุรกิจมันเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ให้คนไปเหยียบคันเร่ง

“เหตุผลหนึ่งที่สาขา 3 เปิดช้าแบบนี้ เพราะผมรอโลเคชั่นที่รู้สึกใช่จริง ๆ ถ้าคุณจะเปิดร้านอีกหนึ่งสาขาคุณต้องรู้ว่าจะใช้เงินราว 100 ล้านบาท ถนนสายเดียวกันแต่ลงฝั่งผิดก็เสียหายแล้ว ผมไม่กล้าล้อเล่นกับเงินเยอะขนาดนี้ ถ้าคุณต้องลงทุนด้วยเงิน 100 ล้านบาท คุณต้องคิดกับมันเยอะ ผมเคยได้ที่ดินมาหลายแปลงแต่มันไม่ใช่วันที่คุณต้องตัดสินใจด้วยเงินเกือบ 100 ล้าน ทำให้ต้องใจเย็นผมเคยสอนลูกน้องว่ามีเงินอย่าเพิ่งรีบซื้อของใจเย็น ๆ มองให้ดีก่อน แล้วที่สำคัญที่ดินต้องเลือกผมด้วย

“เรามองถนนแจ้งวัฒนะมานานแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นเมืองทิศเหนือที่ผมเล็งไว้ เพราะรัฐลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเยอะมาก มีทั้งออฟฟิศและศูนย์ราชการ ซึ่งผมเล็งไว้ที่ฝั่งซ้ายคือวิ่งมาตรง 5 แยกปากเกร็ด เมื่อรัฐบาลมีการสร้างสะพานพระราม 4 ผมรู้เลยว่าผมจะมีลูกค้าที่ข้ามมาหาผมแน่นอน

“แล้วผมมี Key Success ที่ไม่มีใครแข่งกับผมได้ ผมเชื่อว่าเบียร์ผมอร่อยแต่ไม่กล้าพูดว่าอร่อยที่สุดในประเทศอย่างที่สองความบันเทิงไม่มีใครสู้ผมได้ อย่างที่สามเรื่องบริหารผมสร้างคัมภีร์ผมมีตำราแล้ว อย่างที่สี่เรื่องของอาหาร ถ้าใครมาแข่งกับผมต้องทำ 4 ตัวนี้ให้ได้ เปรียบดังลูก 4 คน จะขาดลูกคนหนึ่งคนใดไม่ได้

“เมื่อผมบ่มเพาะสร้างคน สร้างตำรา ผมกล้าพูดว่า โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาแจ้งวัฒนะ สาขาที่ 3 ผมเปิดเพียงอาทิตย์แรกเรื่องโอเปอร์เรชั่นไม่มีปัญหาเลย ไม่มีเทคออเดอร์ผิด เก็บเงินผิด หรืออาจจะมีแต่ผมคิดว่าไม่ถึง 2 % พนักงานร้อยกว่าคน ทำงานไม่ให้ผิดพลาดเลยเป็นเรื่องยากนะแต่ก็พยายามทำไม่ให้มันเกิดขึ้น

“หน้าที่ของผมคืออะไร คือคนสนับสนุน ผมแค่สอนให้พวกเขาคิดเป็น ปัญหาของเด็กไทยเวลานี้คือไม่กล้าคิดถ้าตราบใดทำงานแล้วกลัวลูกน้องเกลียดโดยที่ไม่กล้าตำหนิ ผมบอกเลยว่าคุณกำลังฆ่าเขานะ ผมไม่ได้คิดนะว่าปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้ในเวลาหนึ่งเดือน แต่ผมต้องการตอกย้ำทุกวันมันจะจุดประกายเขา เราต้องเป็นคนที่มีเกียรติ

“ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกว่ามีแรงผลักดันที่จะทำต่อไป ผมอยากทำสถานที่สร้างคนครัว เหมือนเป็นโรงเรียนสอน คือมันสร้างได้นะแต่มันต้องมีเครื่องมือ โดยเริ่มจากคัดคุณสมบัติของคน และสองเขาจะมาอยู่กับเราก็ต้องมีรายได้ สามเราจะวัดผลเขายังไงสี่ใครจะเข้ามาเป็นหัวหอก คือผมสามารถสนับสนุนเสนอแนวทางได้ แต่มันยังไม่ได้เป็นรูปธรรมนัก อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำคือเปิดอีก 2 สาขาใหญ่ในกรุงเทพ ไม่ใช่ว่าผมไม่ทำงานเล็ก ๆ แต่การทำงานเล็กหรือใหญ่มันเหนื่อยเท่ากัน ผมเลือกทำงานใหญ่ดีกว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงแรงไป”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook