สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ถอดบทเรียน Startup ไทยยุคบุกเบิก

สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ถอดบทเรียน Startup ไทยยุคบุกเบิก

สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ถอดบทเรียน Startup ไทยยุคบุกเบิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้เราคงได้ยินและเริ่มคุ้นหูกับคำว่า Startup รวมถึงการเคลื่อนตัวของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย มีไฟ และมีความใฝ่ฝันและไหลเข้าสู่เส้นทางการเป็น Startup มากขึ้น เพียงแต่ Startup ที่ประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ได้มาจากแค่คิดหรือมีฝันอย่างเดียว

วันนี้ GMLive ได้มีโอกาสพูดคุย สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม หรือ เก่ง แห่ง บริษัท RGB72 บริษัท Startup สายเลือดไทยยุคบุกเบิก ในฐานะของการผู้ออกแบบและดีไซน์เว็บไซต์ชั้นนำที่อยู่คู่วงการไอทีไทยมานานกว่า 15 ปี โดยมีผลงานออกแบบเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ๆ ของประเทศไทยมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสายการเงิน ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

นอกจากนี้ เขายังเป็น Mentor ของโครงการส่งเสริม Startup ไทยหลายโครงการ เช่น True Incube, SIPA, AIS และยังที่ปรึกษาแก่ Startup ไทยหน้าใหม่อีกเป็นจำนวนมาก

หากจะย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน โดยพิจารณาจากประสบการณ์ของ เก่ง เขาก็คือผู้ชายมีฝันคนหนึ่งที่อยากทำธุรกิจที่ตนเองชื่นชอบ ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวไฟแรงยุคนี้ โดยเขามีธงในการเป็น Startup ที่สนใจในแง่ของความคิดตกผลึกว่าโลกใบนี้กำลังจะถูกเชื่อมโยงเทคโนโลยีบางอย่างให้คนเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลาเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก เช่น เขาเชื่อว่าวันหนึ่งการส่งจดหมายหรือข้อความต่างๆ ที่เดิมเคยมีไปรษณีย์เป็นหัวใจสำคัญ จะถูกทดแทนด้วยการส่งอีเมล์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระบบความคิดของเขาจึงเริ่มให้ความสำคัญของมิติที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์ โดยมีแก่นของคำว่าดีไซน์ ซึ่งเขาชื่นชอบอยู่เป็นพื้นฐานมาผสมผสาน เนื่องจากเป็นคนที่เรียนเกี่ยวกับกราฟฟิกดีไซน์มาก่อน แต่เขาก็ยอมรับว่าการจะเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับออนไลน์ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังไม่มีการเปิดสอนหลักสูตรใดๆ ขึ้นในสมัยนั้น ถ้าอยากจะรู้อะไร ก็ต้องไขว่คว้าจากการหาหนังสืออ่าน หรือเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงกับผู้ที่ทำงานด้านนี้

“ผมไม่ได้จบไอทีมาโดยตรง แต่มีพื้นเพในการเรียนด้านกราฟฟิกดีไซน์ที่อเมริกา และโชคดีมีโอกาสได้ทำงานกับ CNN และ Martha Stewart Living ซึ่งตอนนั้นเขากำลังต้องการคนทำงานด้านออนไลน์ เกี่ยวกับออกแบบเว็บไซด์ ผมได้รับโอกาสตรงนั้น ซึ่งการได้ทำงานกับบริษัทฝรั่ง ทำให้เราได้เห็นถึงระบบการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดเป็นทิศทางในวงกว้างต่อไปในอนาคตอันใกล้

“พอเริ่มทำได้สักระยะหนึ่ง ก็กลับจากอเมริกา และมาทำงานในเมืองไทยประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ตัดสินใจมาเปิดบริษัท RGB72 เพื่อเปิดรับทำเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ในเมืองไทย เพราะผมเชื่อว่านี่คือองค์ประกอบสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องมี โดยผมได้พาพาเอาคาแรคเตอร์ด้านงานดีไซน์ที่เป็นจุดแข็งของผมติดตัวมาผสมผสานกับ RGB72”

ฉะนั้น หากจะมองความโดดเด่นในตัวธุรกิจของ RGB72 จะพบว่า การดีไซน์ ที่มีชั้นเชิง เช่น การนำอะนิเมชั่นมาผสมผสานทำให้รูปแบบเว็บไซต์ดูไม่น่าเบื่อ ใช้งานได้ง่าย เป็นสิ่งที่ทำให้เขาใช้ขายความเป็น RGB72 อย่างเข้มข้น ยิ่งไปกว่านั้นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าติดใจตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินธุรกิจในไทย ก็คือ แนวทางการออกแบบเว็บที่ไม่ใช่แค่การสร้าง Product สำเร็จรูป แต่สามารถปรับเปลี่ยนตามคาแรกเตอร์ของลูกค้าได้ตลอดเวลา

“ผมเคยทำเว็บไซต์ให้บริษัทหลักทรัพย์มากว่า 10 แห่ง พบว่าตัวฟังก์ชันของเว็บเหมือนกันหมด มีเมนูซื้อขาย ดูข้อมูลหลักทรัพย์เหมือนๆ กัน คำถามคือเราจะสร้างความแตกต่างให้กับโบรกเกอร์แต่ละแห่งได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือวิจัยข้อมูลให้ละเอียด คู่สีควรเป็นแบบไหน ดึงคาแรกเตอร์ของแต่ละบริษัทแล้วสะท้อนออกมาผ่านหน้าเว็บให้ได้

“ดังนั้น หากจะพูดไปแล้ว คนทำธุรกิจต้อง สร้างความโดดเด่นแตกต่าง ในตัวธุรกิจของเรา ผมเชื่อในสิ่งนี้ เพราะยุคที่ผมเริ่มทำ Startup ผมเริ่มจากเงินทุนเล็กน้อย กับเพื่อนไม่กี่คน และเราก็ไม่ได้มีปัญหาไปกู้ยืมเงินที่ไหน หรือมี VC (Venture Capital) แบบยุคนี้มาให้การสนับสนุน นั่นหมายความว่าการทำธุรกิจจะเกิด จะต้องมีจุดเด่นบางอย่างแฝงอยู่ในความเป็นเราให้คนนึกถึง ต่อจากนั้นการหาลูกค้าก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมื่อมันมีจุดดีๆ ที่ทำให้คนสะดุด พวกเขาก็จะแนะนำกันปากต่อปากให้เราเอง ส่วนเราก็มีหน้าที่ทำพัฒนาธุรกิจของเราให้ดียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับหมั่นเก็บเงินทีละเล็กละน้อยเพื่อต่อยอดธุรกิจ”

นอกจากการหาจุดเด่นของธุรกิจและทำให้มันโดดเด่นแล้ว สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จอีกเรื่องที่เด่นชัด คือ การปรับตัว เพราะเขาเชื่อว่าคนที่จะอยู่รอดได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น จำเป็นต้องรู้ลึกและรู้จริงสถานเดียว

“ลูกค้าปัจจุบันมีความรู้เยอะขึ้น ทำให้มีความต้องการมากขึ้นตาม ผมจึงพยายามอนิเตอร์เรื่องเทคโนโลยีและส่งต่อไอเดียให้กับทีมงาน เพื่อมาพัฒนางานของเราเสมอ ซึ่งจริงๆ มีตัวอย่างเยอะนะ แต่ถ้าเอาเรื่องใกล้ๆ ตัวที่สุด ก็คงเป็นช่วงที่เทคโนโลยี ‘โดรน’ เข้ามาใหม่ๆ และมันเข้ามามีบทบาทกับการออกแบบเว็บไซต์ให้กับธุรกิจอสังหาฯ รายหนึ่ง

“สิ่งที่เราทำก็คือ การนำเทคโยโลยีที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่าเดิม เช่น เว็บไซต์อสังหาฯ จะโชว์ภาพตัวโครงการเป็นแบบ 3D ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ดูสวยนะ แต่มันดูไม่สมจริง ผมก็คิดว่า เมื่อมันมีเทคโนโลยีโดรนเข้ามาแล้ว ทำไมเราไม่ใช้มันเพื่อค้นหามุมมองและทัศนียภาพใหม่ๆ ล่ะ อย่างบางโครงการเขามีทะเลสาปที่สวยงามมากๆ แต่การทำ 3D แบบเดิมๆ มันทำให้ภาพตรงนั้นสื่อออกไปไม่ชัด หรือบางโครงการตัวบ้านโดยรอบมันสมบูรณ์แบบมากๆ แต่เรากลับมานั่งถ่ายมุมมองเดิมๆ ซึ่งมันทำให้ลูกค้าของอสังหาฯ รายนั้นๆ มองไม่เห็นภาพที่แท้จริง และลดโอกาสในการเลือกซื้อโครงการนั้นๆ ไปพอสมควร

“ที่ผมกำลังจะบอกก็คือ การติดตามเทคโนโลยีที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลาอย่างเข้าใจ จะทำให้เราเลือกหรือสอดรับกับความต้องการของลูกค้าได้หลากมิติขึ้น เพราะความต้องการของคนในวันนี้มันลงลึกมาก ถ้าคิดแบบเดิมๆ คุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ แต่ถ้าคุณมีโซลูชั่นที่ดี บวกกับมีความตั้งใจในการเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม แล้วตอบโจทย์ มันก็จะทำให้เราเดินไปได้ไกลกว่าคู่แข่งในตลาด ซึ่งผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่ใครก็เข้าใจได้ แต่อยู่ที่ใส่ใจหรือไม่ ผมมักจะมีคำหนึ่งที่พูดเปรียบเทียบความเป็น RGB72 เสมอว่า ถ้าเปรียบเราเป็นบ้าน เราไม่ใช่บริษัททำบ้านจัดสรร แต่เราเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน”

ก่อนจะทิ้งท้ายไป GMLive ได้ทราบว่า เขากำลังสนุกอยู่กับอีกบทบาทใหม่ ด้วยการผันตัวเองมาเป็นนักจัด Talk โดยมีเหตุผลที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการทำธุรกิจอย่างถูกต้องแก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่คนที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่การเป็น Startup ภายใต้ชื่องาน Creative Talk ซึ่งปัจจุบันจัดมาทั้งหมด 5 ครั้งแล้ว และก็ได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

“ในฐานะที่ผมเองก็ผ่านจุดของการเป็น Startup มาก่อน ผมเข้าใจดีว่าคนที่มีฝันมักจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของคนมีฝันในยุคนี้ คือ การมองโลกของธุรกิจในแง่ดีมากเกินไป อาจจะเพราะทุกวันนี้มีหนังสือประเภทรวยลัดภายใน 24 ชั่วโมง หรืองาน Talk ประเภทฟังเสร็จแล้วกลับไปทำตามต้องรวยแน่ๆ อยู่มากขึ้น แต่ในโลกของธุรกิจจริงๆ มันไม่ง่ายแบบนั้น ผมมักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับกำลังใจ ความท้อถอย เหนื่อยล้า และรู้สึกว่าการทำ Startup มันไม่ได้เป็นแบบที่หวังจากบรรดาคนที่ผมไปเป็นที่ปรึกษาหรือไปเป็นกรรมการเกี่ยวกับ Startup หลายแห่ง ผมจึงต้องการ ปลุกให้ตื่น…เผชิญโลกความจริง ผ่านงาน Creative Talk ที่จะมอบทั้งประสบการณ์จริงของ Startup และนักธุรกิจชั้นนำให้มองเห็นว่าการทำธุรกิจมันต้องผ่านอะไรบ้างและทำแบบไหนคุณถึงจะเข้าสู่วิถีของความสำเร็จ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook