กฤต กุลหิรัญ – เจ้าชายรถเกราะไทย

กฤต กุลหิรัญ – เจ้าชายรถเกราะไทย

กฤต กุลหิรัญ – เจ้าชายรถเกราะไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง: Arinn

ในวัย 31 ปีเขาหน้าเด็กกว่าอายุจริง ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล ‘กุลหิรัญ’ ที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากว่า 47 ปี ในชื่อบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตข้อต่อสายพานรถถัง ซ่อมรถทหาร เลยไปจนถึงผลิตรถเกราะฝีมือคนไทยเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบการสร้างรถเกราะภายใต้แบรนด์ชัยเสรี ตั้งแต่การออกแบบและผลิตขึ้นจริงพร้อมติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ตามแต่ความต้องการของกองทัพได้เป็นผลสำเร็จ วันปีเคลื่อนเปลี่ยน โลกหมุนไปข้างหน้า จากส่วนน้อยที่รู้ว่าบ้านเรามีผู้ผลิตรถเกราะและชิ้นส่วนของรถถังเพื่อส่งให้กับกองทัพไทย และกองทัพต่างประเทศ ครั้งนี้เขามานั่งเปิดใจกับเรา เพื่อสื่อสารให้คนในวงกว้างรู้ถึงความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนของการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

GQ: ก่อนอื่นเลย ช่วยเล่าถึงธุรกิจที่คุณทำอยู่ซึ่งเป็นด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้คนทั่วไปเข้าใจหน่อยครับว่าทำอะไรบ้าง
ชัยเสรีบุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ (หิรัญ กุลหิรัญ) เริ่มแรกทำพวกข้อต่อสายพาน ลูกหมากรถบรรทุก และซ่อมรถบรรทุก ต่อมามีโอกาสได้ทำโออีเอ็มผลิตรถถัง M 113 ชื่อว่า United Defense ให้กับต่างประเทศ เราเลยมีองค์ความรู้เรื่องการผลิตข้อต่อสายพานรถถัง ก็ต่อยอดทำข้อต่อสายพานของเราเอง จนปัจจุบันส่งออกไป 38 ประเทศทั่วโลก จากนั้นก็มาขายอะไหล่ให้กองทัพและเปิดโรงงานซ่อมรถทหารเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราซ่อมตั้งแต่รถจิ๊ป รถสองตัน รถบรรทุกแต่ละขนาดต่างกันไป แล้วก็มาทำชุดเกราะให้กับรถฮัมวี่ เพราะปกติรถฮัมวี่กันกระสุนกับระเบิดไม่ได้ ก็เลยได้ทำชุดเกราะให้กับฮัมวี่ ซึ่งเราก็เห็นปัญหาว่า ระบบขับเคลื่อนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แผ่นเกราะที่ใส่เข้าไปป้องกันสะเก็ดระเบิดได้ แต่ป้องกันแรงอัดของระเบิดไม่ได้ ก็นำองค์ความรู้ที่ได้มาทำรถที่มีระยะบนพื้นที่สูง แล้วใช้เหล็กเกราะกับระบบขับเคลื่อนที่มีความสามารถในการแบกรับน้ำหนักได้ดี กลายเป็นรถเกราะของเราเอง ซึ่งใช้ระยะเวลาอยู่ 5-6 ปีกว่าจะมาเป็นโมเดลปัจจุบัน

GQ: น้อยคนจะรู้ว่าประเทศไทยก็มีคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ด้วย นึกว่ามีแต่นำเข้าจากต่างประเทศ คุณคิดอย่างไร แล้วขีดความสามารถด้านการแข่งขันของเราอยู่ที่ไหนในอุตสาหกรรมนี้ เมื่อเทียบกับบริษัทจากต่างประเทศ
ต้องบอกว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อน มีความหลากหลายทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ข้อมูลรวมๆ จะยากมาก ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่แคบ ถ้าคุณทำอะไรไป บริษัทอื่นก็รู้กันหมด ยิ่งทำพลาด ไม่ต้องโฆษณาที่ไหนเลย บริษัทอื่นจะโฆษณาให้ สมัยผมทำงานแรกๆ ผมดูเรื่องระบบสายไฟของรถยนต์นำทหาร ก็เดินทางไปดูงานเจ้าหนึ่งในยุโรป ดูดีน่าเชื่อถือ แต่เขาดันทำพลาดตอนไปออกบู๊ธงาน IDEX (International Defence Exhibition ) ที่ยูเออี คือทำระบบสายไฟแล้วคุณภาพไม่ได้ เขาก็โดนยกเลิกงานเลย คือถ้าทำแล้วงานไม่ดี คนอื่นโฆษณาให้เสร็จ

GQ: แล้วแบบนี้จุดเด่นของชัยเสรีอยู่ที่ไหนครับ
ข้อดีของเราคือเป็นแฟมิลี่ บิสเนส เป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวสูง ทำให้เราตัดสินใจได้ไว บอกได้เลยว่าอันไหนทำได้ไม่ได้ อีกอย่างเราเป็นบริษัทภายในประเทศ เรามีความคุ้นเคยกับกองทัพบกไทย อุปกรณ์หลักๆ ที่เลือกใช้ก็อยู่ในสายกองกำลังบำรุงอยู่แล้ว รวมทั้งในแง่ของการบริการหลังการขาย เรามีช่างในการซ่อมบำรุง ส่วนกำไรก็เสียภาษีเข้าประเทศ

GQ: ทราบมาว่าคุณต้องไปส่งรถเกราะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง ทำไมต้องไปด้วยตัวเองครับ แล้วมีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นหรือเปล่า
ใช่ครับ พอดีเราไปเพื่อให้ทีมงานมีกำลังใจ ก็ขับจากโรงงาน (โรงงานแถวปทุมธานี – ผู้เขียน) แล้วขับไปนอนหาดใหญ่ 1 คืน ต่อด้วยเข้าพื้นที่สามจังหวัด ตอนแรกๆ ก็สบายไม่มีอะไร ระหว่างทางก็กำลังใจดี มีคนขอถ่ายรูป แต่พอจากหาดใหญ่เริ่มดูน่ากลัวนิดหน่อย ระแวงแล้ว (หัวเราะ) คือใน 3 จังหวัดจะมีพื้นที่แบ่งเป็นโซนสีเหลือง สีส้ม สีแดง โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงจะดูโล่งๆ ไม่มีคนเลย มีป้ายเขียนว่า ‘หยุดฆ่า’ จากปกติรถมันหนัก 11 -13 ตัน วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอขับอยู่ในโซนสีแดงต้องขับด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะเราต้องรีบไปส่งรถให้เร็วที่สุด ช้ามากไม่ดี อันตราย

GQ: ในฐานะที่คุณเข้ามารับไม้ต่อจากคุณพ่อคุณแม่ พวกท่านได้สอนอะไรคุณบ้าง
คุณพ่อจะบอกเสมอว่า ‘คนซื่อสัตย์ งานก็ซื่อสัตย์’ เนื่องจากเราเป็นธุรกิจในลักษณะโปรเจ็กต์ต่อโปรเจ็กต์ ถ้าเราทำโปรเจ็กต์นี้ไม่ดี อนาคตจะงานอีกยากมาก ต้องทำงานให้ดี รับผิดชอบงานให้ดี เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่แคบ ถ้าเราพลาด คู่แข่งก็พร้อมจะเข้ามาแทนเราตลอดเวลา แต่แน่นอนการทำงานย่อมมีผิดพลาดอยู่แล้ว แต่เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พลาดไป

GQ: โลกทุกวันนี้แทบจะไม่มีสงครามแล้ว คุณคิดว่าอะไรคือความสำคัญที่แต่ละประเทศยังต้องลงทุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ครับ
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เรามีไว้เพื่อป้องกันประเทศ สร้างความน่าเกรงขาม ไม่ได้เอาไปรบกับใคร ในแง่ดีคือไม่มีสงครามเลย แต่ประชาชนทั่วไปอย่างเราก็อยากรู้สึกมั่นใจว่ากองทัพสามารถคุ้มครองเราได้ในยามวิกฤติ

GQ: กำหนดแผนงานในอนาคตอย่างไรบ้าง
เราพยายามจะพัฒนาการออกแบบและการใช้งานให้ดีขึ้น ในแง่ของข้อต่อสายพาน เราพยายามไปขายกับผู้ผลิตรถถัง ส่วนการซ่อมรถ สมัยก่อนเราซ่อมเฉพาะรถขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันเราสามารถซ่อมรถถังขนาดใหญ่ได้ พวกรถสะเทินน้ำสะเทินบกของนาวิกโยธินได้ และการอัพเกรดรถก็จะเพิ่มศักยภาพให้ดีขึ้น ตามมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว ส่วนตัวรถเกราะตอนนี้เรามองว่ามีแพลตฟอร์มรถที่ดีแล้ว ก็พยายามเพิ่มขีดความสามารถของรถเกราะให้มากขึ้นไปอีก

GQ: ถ้าคุณไม่ทำธุรกิจกับครอบครัว เคยนึกภาพตัวเองไว้ไหมครับว่าจะทำอะไร
สมัยที่เรียนจบจากอเมริกาใหม่ๆ (เขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Leadership Management และ Marketing Concentration ที่ University of La Verne ประเทศสหรัฐอเมริกา) ผมเคยเห็นธุรกิจที่เอาเครื่องปั้นดินเผามาให้คนนั่งเพ้นต์ เอาไปอบ แล้วใช้งานได้จริง ผมมองว่าธุรกิจแบบนี้สร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ตอนกลับมาที่เมืองไทยก็อยากทำธุรกิจแบบนี้ เคยขอที่บ้านทำด้วย แต่เขาบอกใจเย็นๆ ลองดูดีๆ ก่อน (หัวเราะ) คือเรามองว่าเราไม่ได้ขายของ เราขายประสบการณ์ที่วัดค่าเป็นเงินไม่ได้ ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ศิลปะ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว แล้วเก็บชิ้นงานนี้เป็นความทรงจำของครอบครัว


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook