สมนึก โอวุฒิธรรม สานต่อแบรนด์ “เลคิเซ่” สร้างชื่อสู่สากล
ลี้ กิจเจริญแสง...บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายหลอดไฟและอุปกรณ์ส่องสว่างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สมนึก โอวุฒิธรรม
ที่เปิดดำเนินการมานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันธุรกิจถูกสานต่อสู่ทายาทรุ่นที่ 2 ในการบริหารงานของ "สมนึก โอวุฒิธรรม"
ก้าวย่างธุรกิจของ "ลี้ กิจเจริญแสง" เริ่มต้นจากการรับจ้างผลิตหลอดไฟ (OEM) โดยการก่อตั้งของ "อุดม โอวุฒิธรรม" นักธุรกิจผู้มองการณ์ไกล ที่ปัจจุบันโอนถ่ายการบริหารงานให้กับลูกชายคนเก่งอย่าง "สมนึก โอวุฒิธรรม" ผู้ผลักดันธุรกิจหลอดไฟแบรนด์ "เลคิเซ่" จนได้รับความนิยมอย่างมากในเวลานี้
เส้นทางธุรกิจที่กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตหลอดไฟ ในระดับมาตรฐานสากลอย่างเต็มภาคภูมิได้ ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ซึ่งคุณสมนึกเล่าถึงเส้นทางชีวิตการทำงานว่า "ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตอนนั้นเรียกว่าถูกบังคับก็ได้ เข้าไปทำงานในโรงงาน เริ่มตั้งแต่ล้างเครื่องจักร กวาดถูพื้น ทำทุกอย่าง
มาถึงวันนี้ยอมรับว่าเป็นข้อดีที่เราได้ผ่านการทำงานมาทุกอย่าง แต่ตอนนั้นบอกได้เลยว่าไม่ชอบ ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าเลิกงาน 5 โมงเย็น คือทำงานจริง ๆ ทำงานเป็นพนักงานคนหนึ่ง ฝ่ายผลิตก็ทำ ๆ เกือบจะทุกแผนก แต่ก่อนเป็นโรงงานเล็ก ๆ สภาพแวดล้อมก็ไม่ค่อยดี
มาเริ่มรู้สึกดีตอนที่เรียนวิศวะ รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากการทำงานมา เพราะเวลาเรียนบางวิชาอย่างเรื่องเครื่องกลึง เราก็ทำเป็นก่อนเพื่อน พอเรียนจบก็ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นอยู่ 2 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมาทำงาน ช่วง 7-8 ปีแรก ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ใช่ผู้บริหาร แต่โดยตำแหน่งเป็นผู้บริหารคือ เป็นผู้จัดการโรงงาน แต่ทำตัวเหมือนพนักงาน
ช่วงนั้นหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ เพราะตีโจทย์ของตัวเองไม่ออก เนื่องจากประสบกับปัญหาหลายอย่าง สมัยนั้นคนมีความรู้สูง ๆ ในบริษัทก็ประมาณวุฒิปวส. ป.6 ม.3 ปวช. ผังองค์กรแทบไม่มีเลย มีแต่หัวหน้า ๆ และเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย พอเข้ามาบริหารเราต้องคอยแก้ปัญหาเดิม ๆ ทุกวัน เหมือนเดินอยู่ในวังวน ธุรกิจก็ไม่เจริญขึ้น มีแต่แย่ลงเรื่อย ๆ
ตอนนั้นทำงานแบบเจียนอยู่เจียนไป คิดกับตัวเองว่าถ้าทำอะไรเหมือนเดิม แก้ปัญเหาเหมือนเดิม ซึ่งเราพิสูจน์มาแล้วว่ามันแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ก็ยังพยายามแก้ในแบบเดิม ๆ คือทุกคนเดินมาหาเรามีแต่ปัญหา เราก็คอยแต่จะแก้ไข แต่ไม่ได้มองว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้สร้างคนขึ้นมารองรับกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เราได้รับความไว้วางใจมาจากคุณพ่อให้บริหารธุรกิจ ซึ่งเรามีความภาคภูมิใจมากที่คุณพ่อเรียนจบแค่ป.2 แต่สามารถสร้างกิจการขึ้นมาได้ขนาดนี้
ขณะเดียวกันมันก็สร้างความกดดันให้กับเรามาก ซึ่งตอนนั้นบริษัทมีพนักงาน 200 กว่าคน แต่ปัจจุบันผมดูแลอยู่ทั้งหมดเกือบพันคน"
รู้จัก "ลี้ กิจเจริญแสง"
บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2511 ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด ลี้ กิจเจริญแสง ผู้บริหารในเบื้องต้นคือ คุณอุดม โอวุฒิธรรม และคุณสุภางค์ โอวุฒิธรรม
กิจการในช่วงแรกนั้น ลี้ กิจเจริญแสง เริ่มต้นจากการซื้อเครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่นร่วมกับการร่วมมือทางด้านเทคนิคในการผลิต ดังนั้นหลอดไส้ที่ผลิตในตอนแรกจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายใต้ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัด LKS และจัดจำหน่ายในประเทศไทย
ภายหลังเมื่อสินค้าของ LKS ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศไทย รวมทั้งมีความต้องการในสินค้าเพิ่มขึ้น จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่ม โดยในครั้งนี้ซื้อจากประเทศไต้หวันพร้อมทั้งความร่วมมือทางด้านเทคนิคในการผลิตหลอดไส้ และนี่เองที่ทำให้ LKS สามารถปรับปรุงพัฒนาสินค้าทั้งทางด้านปริมาณการผลิต และคุณภาพได้มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
ปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัด ลี้ กิจเจริญแสง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด ความพยายามและพันธกิจที่มุ่งมั่นมาตลอดกว่า 40 ปีที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและเน้นนโยบายการผลิตโดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้คือ
1.เป็นผู้ผลิตหลอดไฟและสินค้าที่เกี่ยวกับหลอดไฟรายหลักของประเทศไทย 2.เพิ่มศักยภาพในการผลิตเพื่อรองรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.เพื่อคงคุณภาพสินค้าให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
ทายาทรุ่นที่ 2 เดินหน้าธุรกิจตอบกระแสยุค digital
เมื่อก่อนบริษัทอาจไม่มี Road map เราพยายามที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด แต่วันนี้ไม่ใช่ ปัจจุบันบริษัทมีแผนธุรกิจที่ถูกวาง Road map ไว้แล้ว 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญคือ ต้องตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี เพราะเราเป็นธุรกิจพลังงาน ต้องมองว่าโอกาสและผลกระทบต่อโลกจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องทำ SWOT เพื่อเขียน Road map เพื่อบอกว่าแต่ละปีจะเป็นอย่างไร ต้องหาเทคโนโลยี ต้องเตรียมเครื่องจักร
Road map ปีนี้ถูกวางไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมต้องขายวิสัยทัศน์ เราจะเดินไปทางไหน จะเป็นอย่างไร แล้วมองว่า Lighting ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องบอกเลยว่า Lighting ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากโลกที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีมีการก้าวเร็วมาก ก้าวเข้าสู่ยุค digital หรือยุค Electronic
ปัจจุบันองค์กรเราค่อนข้างที่จะมีตัวแทนฝ่ายบริหารด้านต่าง ๆ สมัยก่อนจะมีแต่ระบบหัวหน้างาน ตอนนี้เรามีหัวหน้างาน มีหัวหน้าแผนก ผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการส่วน director และผู้อำนวยการฝ่าย แต่ละคนจะดูแลแต่ละฝ่าย หลายส่วน หลายฝ่าย หลายแผนก
ผู้อำนวยการฝ่ายจะต้องมาวิเคราะห์เรื่องงบการเงินและผลประกอบการร่วมกับเรา และเป็นบอร์ดที่ต้องวางแผน Road map ร่วมกัน แล้วมาดูว่าผลประกอบการจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับผลประกอบการของบริษัท"
ท้อแท้แต่ไม่ท้อถอยกับปัญหา
ต้องบอกว่าปัญหาเยอะ แต่ผมมีเป้าหมายของผมไว้หมดแล้วว่าคืออะไร ถ้าเจอปัญหาแค่นี้แล้วทำให้ผมไปถึงเป้าหมายไม่ได้ ผมก็ไม่ควรทำงานตรงนี้ ฉะนั้นผมจะเริ่มมองเห็นปัญหาเล็กลงเรื่อย ๆ แต่ถามว่าหนักมั้ย หนัก แต่ถ้าเรามัวแต่ไปจมอยู่กับปัญหา แล้วจะไม่ไปต่อหรือ จะทำให้เราไปไม่ถึงวันนั้นหรือ นี่คือ วิธีคิดส่วนตัวของผม
เนื่องจากผมถูกวางตัวให้เป็นแม่ทัพ ฉะนั้น คนที่เป็นแม่ทัพจะต้องคิดในสิ่งที่ทุกคนไม่ได้ทำ สิ่งที่ไม่มีในอากาศ แล้วพนักงานทุกคนจะถูกกำหนด Road map ของตัวเอง เพราะมันคือ เป้าหมายหรือทางเดินที่ผมกำหนด ทุกคนต้องบอกได้ว่าวิธีไป ๆ อย่างไร ไปด้วยอะไ ร Process เป็นอย่างไร
ผมสร้างบุคลากรมาด้วยมือของผม ๆ เขียนผังองค์กรด้วยตัวเองจากระบบ เพราะผมรู้จักหัวหน้าทุกคน เรามองผังอย่างละเอียดแล้วค่อย ๆ ปรับ โชคดีของผมคือ ผมเกิดมาพร้อมพวกเขา ๆ รับผมได้ตั้งแต่ต้น ดังนั้น เวลาที่ผมพูดทุกคนจะเชื่อ"
ทำงานอย่างมีความสุขในโลกส่วนตัวที่มีอยู่
ต้องบอกว่างานเป็นงาน ความสุขจริง ๆ คือ เป็นคนที่ชอบมีโลกส่วนตัวสูง เป็นคนชอบอยู่คนเดียว แต่สุดท้ายต้องออกสังคม แต่ถ้าไม่ใช่งาน ผมไม่ทำ ถามว่าวันนี้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานหรือยัง คงต้องให้คนอื่นมอง ส่วนตัวคิดว่า ผมเดินมาในก้าว ๆ หนึ่งที่ผมวางไว้ แล้วก็สามารถทำได้ในสิ่งที่คิดแค่นั้นเอง
จริง ๆ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมาชื่นชมอะไรกับตัวเอง มีความรู้สึกว่า มันเป็นหน้าที่ มันคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ผมรู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งผมมีจุดสิ้นสุดในชีวิตแล้ว จริง ๆ คิดไว้ว่าอยากวางมือจากธุรกิจอายุสักประมาณ 55 ปี ซึ่งตอนนี้อายุ 42 ปีแล้ว เมื่อถึงวันนั้นคิดว่าบริษัทคงเดินไปได้โดยที่เราไม่ต้องดูแลอะไรมากมายนัก
อีกอย่าง บริษัทก็โตไปถึงจุดที่ผมอยากจะให้มันโต หน้าที่หลักหลังอายุ 55 ปี คือ การทำให้ทุกคนในบริษัทเติบโตไปด้วยกันทุกคน แต่สิ่งที่ท้าทายมากคือ คนที่จะมารับช่วงรุ่นต่อไป เขาจะสามารถรับและทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้รึเปล่า อันนี้ยากสุด
ข้อคิดสำหรับคนทำงาน
ศักยภาพของคนไม่ได้ถูกตีตราว่าเก่งมาจากสถาบันการศึกษา เปรียบเทียบกับปลา ปลาสายพันธ์ดีไม่ได้บอกว่าคุณซื้อมาจากฟาร์มที่ดี ปลาต้องดูเป็นตัว ๆ เหมือนกัน ทุกมหาวิทยาลัยมีทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง ฉะนั้นโลโก้ของสถาบันไม่ได้บอกว่าคุณทำงานได้ดี นักศึกษาบางคนอาจจะรู้สึกว่าการเรียนที่นี่จะประสบความสำเร็จ แต่จริง ๆ มันเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของชีวิต
การเรียนที่สถานศึกษาดี ๆ ผมถือว่าคุณมีโอกาสดีที่จะสร้าง Performance ให้ตัวเอง แต่ไม่ได้บอกว่าคุณจะเก่ง ต่อเมื่อคุณได้ทำงาน คุณต้องฉาย Performance ในตัวคุณให้ทุกคนได้เห็นศักยภาพมากกว่า
ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : ณัฐกานต์
คอลัมน์ :