"10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ" - กรุงเทพฯเมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่

"10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ" - กรุงเทพฯเมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่

"10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ" - กรุงเทพฯเมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา เผยกรุงเทพฯได้ที่ 1 เมืองน่าเที่ยว 4 ปีซ้อน แต่อันดับ 102 เมืองน่าอยู่ โยงผลการศึกษา "10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ" รายงานเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เช่น ตอนนี้กรุงเทพมหานครมีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน มีเจ้าหน้าที่เยอะกว่า โซล 2 เท่า ตอกย้ำสาเหตุเชิงโครงสร้าง ปัญหาจราจร ปัญหาการเลือกนโยบายทางคมนาคม พ่วงเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ เน้นคนกรุงเทพ "คาดหวังสิ่งที่ดีกว่ากันเถอะ"

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า กรุงเทพได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวให้เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน แต่การจัดอันดับเมืองน่าอยู่กลับได้อันดับที่ 102 จาก 104 ประเทศ แสดงว่ากรุงเทพน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่

ทั้งนี้ "10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ" ความจริงที่ 1 คือ กรุงเทพมหานคร มี 37 หน่วยงาน ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร ซึ่งเป็นการทำงานที่ซับซ้อนระหว่างกันอยู่ เช่น กรุงเทพมหานาคร เป็นคนสร้างและซ่อมสัญญาณไฟจราจร ในขณะที่ตำรวจจราจรเป็นฝ่ายที่คอยคุมสัญญาณไฟ ซึ่งมีอีกหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหารถติด จนล่าสุดมีผลสำรวจจากคาสตรอล แมกเนติก Start-Stop index ระบุว่า ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนสายหลักของประเทศอยู่ที่ 16 กม. ต่อชม. (เท่ากับความเร็วของจักรยานที่แนะนำให้ปั่นในเมือง)

2) เปิดตัวเลขการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีผู้ใช้บริการมากนัก ที่ผ่านมามีการลงทุนใน airport link ใช้งบประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยปีละ 7 ล้านคน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิม 35 ล้านคนต่อปี ส่วนขบวนรถด่วน BRT ลงทุนไป 2.8 พันล้านบาท ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 13 ล้านคน

แต่ถ้าดูจากปริมาณผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือด่วนคลองแสนแสบ จะมีอยู่ถึง 29 ล้านคน แต่เคยมีงบประมาณจากกระทรวงคมนาคมลงทุนเพิ่มไป 70 ล้านบาทเท่านั้น

"ทำไม ราต้องลงทุนในสิ่งที่คนใช้บริการน้อยกว่า หรือหันคิดบริการใหม่ที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ เช่น จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ หรือโครงการจักรยานสาธารณะของ กทม. เป็นต้น" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

3) กรุงเทพมหานคร มีเจ้าหน้าที่เทศกิจ 3,200 คน หากเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกคนลงพื้นที่ จะมีอัตราส่วน 2 คนต่อพื้นที่กรุงเทพ 1 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่การใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ทุกคนต้องเจอกับสภาพทางเท้าทรุดโทรม ร้านค้าแผงลอยและมอเตอร์ไซค์อยู่บนฟุตบาท อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาร้านค้าแผงลอย ต้องเกิดจากการแก้ไขในระดับต้นเหตุ เช่น ควรมีสถานที่ให้มีร้านค้าจัดแผงลอยอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีร้านค้าแผงลอย ร้านอาหารราคาถูก มนุษย์ออฟฟิศจะทานอาหารในห้างสรรพสินค้าทุกวันได้หรือ?

4) งบประมาณประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ปีละ 377 ล้านบาท แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ "โครงการของกรุงเทพฯ" เช่น กรุงเทพฯมหานครแห่งความสุขใช้งบฯ 30 ล้านบาท "รักกรุงเทพร่วมสร้างกรุงเทพ" ใช้งบฯ 20 ล้านบาท "กรุงเทพฯมหานครแห่งอนาคต" ใช้งบฯ 8 ล้านบาท

"ถ้าเราตัดงบฯประชาสัมพันธ์โครงการฯ 377 ล้านบาท ได้ เราสามารถเพิ่มจุดบริการด่วนมหานคร เช่น จุดทำบัตรประชาชนบน BTS ได้อีก 100 จุด หรือใช้จ้างพนักงานกวาดถนนเพิ่มอีก 3,500 คน ใน 1 ปี" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

5) ชีวิตในกรุงเทพฯ แพงจนคนต้องย้ายไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในเดินทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยก็แพงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเมืองอื่น เช่น โตเกียว ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และค่าครองชีพ

6) กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว ที่เข้าถึงได้และใช้ได้จริงเพียง 2.2 ตร.ม.ต่อคน แตกต่างจากเว็บไซด์ของสำนักสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว 5 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งคำนวณจากประชากรตามสำเนาทะเบียนบ้านที่มีอยู่ 5 ล้านคน แต่แท้จริงแล้วตามสำมะโนประชากรมีคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพ 9 ล้านคน

"นิยามพื้นที่สีเขียวของสำนักสิ่งแวดล้อม นับรวมถึง เกาะกลางถนน สวนแนวกำแพง พื้นที่ส่วนบุคคล เช่น โครงการบ้านจัดสรร สวนหย่อมหน้าบ้าน หรือสวนหย่อมของบริษัทเอกชน ซึ่งคนทั่วไปจะใช้ไม่ได้จริง และเข้าถึงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของสาธารณะ" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

เรื่องที่น่าตกใจอีกเรื่องคือ 7) กรุงเทพฯมีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน มีมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล 2 เท่า และมากกว่าจาการิต้า 1.5 เท่า ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เขาทำอะไรกันบ้าง?

8) จากความเชื่อว่าการศึกษาในกรุงเทพฯดีกว่าที่อื่นเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ตกวิชาเลขที่จัดสอบโดย PISA (การจัดสอบวัดผลระดับนานาชาติ) ซึ่งเป็นเกณฑ์พื้นฐานขั้นต่ำที่นักเรียนควรรู้

9) ทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานครมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับ "ดีมาก" แลได้รับการจัดสรรงบโบนัส 2.3 พันล้านบาทหรือประมาณ 1.5 เดือนในทุกหน่วยงาน

10) การก่อสร้างอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ ยังไม่เสร็จพร้อมใช้งานแม้ว่าจะดำเนินการก่อสร้างมา 20 ปี และใช้งบประมาณในการสร้าง 3 อาคารอยู่ที่ 9,957 ล้านบาทแล้วก็ตาม

"ตอนนี้ความหวังของคนสำคัญที่สุด คือ คาดหวังให้สุงว่าสิ่งที่เป็นอยู่จะดีกว่านี้ ดีกว่าการปล่อยผ่าน ให้เป็นอย่างทุกวันนี้ คาดหวังมาก ๆกันเถอะ" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook