อานิสงส์การไปงานศพ ให้ได้บุญมาก
การไปร่วมงานศพนั้น เป็นการไปเพื่อทำความดี หรือแม้ว่าไปตามหน้าที่ อานิสงส์ที่ได้ก็คือ ย่อมมีทุกครั้งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยแห่งการกระทำนั้น จงทำบุญให้เกิดขึ้นที่ใจของเราก่อน แล้วค่อยอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ผู้ตาย
การไปเผาศพได้อานิสงส์และบุญ ๔ ประการ คือ
๑.ได้บำเพ็ญญาติธรรมหรือมิตรธรรม คือ แสดงน้ำใจของญาติของมิตรต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือต่อบุตรภรรยาสามีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
๒.ได้เจริญสังเวคธรรม คือ ธรรมที่ให้เกิดความสลดสังเวชว่า แม้เราเองก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่มีใครหลีกหนีความตายไปได้พ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่จึงควรทำแต่ความดี ตายแล้วก็ยังมีคนชื่นชมยกย่อง ไม่ใช่ตายแล้วมีแต่คนสาปแช่ง สมน้ำหน้าว่า คนอย่างนี้ตายเสียได้ก็ดี แผ่นดินเบาไปแยะ เป็นต้น
๓.เป็นการเจริญอนิจจสัญญา คือเห็นความจริงของสังขารรูปนาม อันประกอบไปด้วยกายและใจนี้ว่า ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องดับ มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่ยั่งยืนคงทน
๔.สำหรับในสถานที่ที่เผาศพกันกลางแจ้ง ก็อาจเจริญอสุภสัญญา คือความเห็นว่าร่างกายนี้ไม่งามได้ด้วย อย่างในประเทศอินเดีย เขาเผาศพกันกลางแจ้ง ริมฝั่งแม่น้ำที่เขาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ มีแม่น้ำคงคา และยมุนา เป็นต้น ซึ่งผู้ที่เข้าใจสามารถเจริญอสุภสัญญาได้เสมอ
พร้อมกันนี้ ท่านพระเทพคุณาภรณ์ ยังเมตตาบอกด้วยว่า ในบรรดาคนไทยเชื้อสายต่างๆ พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายมอญชอบไปร่วมงานศพพระสงฆ์มากที่สุด แม้ว่าจะไม่รู้จัก รวมทั้งเป็นลูกศิษย์ก็คือ คนมอญนิยมไปงานศพ มากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน แม้ว่ากฐินจะเป็นกาลทาน ซึ่งหมายถึงปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว เพราะการเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานที่ใหญ่กว่า ที่นานๆ ครั้งจะมีหน
เมื่อมีพระมอญรูปหนึ่งรูปใดมรณภาพลง โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง มีศีลจารวัตรที่งดงาม ไม่ด่างพร้อย การจัดงานศพค่อนข้างยิ่งใหญ่กว่าศพพระธรรมดาสามัญทั่วไป ตั้งแต่โลงบรรจุศพ และการสร้างปราสาทสำหรับตั้งศพ พระรูปใดที่มีคุณสมบัติดีเลิศ ลูกศิษย์จะสร้างปราสาทให้ถึง ๙ ยอด พระรูปใดที่มีคุณสมบัติทางพรรษา และคุณธรรมน้อย ยอดปราสาทก็จะลดน้อยลงตามลำดับ ตัวปราสาทจะทำจากไม้ และกระดาษ ตามพิธีของมอญโบราณจะเผาปราสาทไปพร้อมๆ กับโลงศพ เนื่องจากปราสาทมีราคาแพงมาก เพราะทำจากไม้อย่างดี ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก
คติความเชื่อมอญและโบราณจารย์
คติความเชื่อของอานิสงส์แห่งการเผาศพ อาจารย์ "ฟะ" นักปราชญ์มอญ ได้แต่งเรื่องราวรวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ของมอญไว้หลัง พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงหงสาวดีแตก ใช้เป็นบรรทัดฐานความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเผาศพไว้ว่า
๑.บุคคลคนใดทำโลงศพให้วิจิตรงดงามจะได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ ชาติ
๒.บุคคลใดนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาซากศพ ซึ่งเป็นกรรมฐานจะได้รับอานิสงส์ ๒,๐๐๐ ชาติ
๓.เผาศพพระพุทธเจ้าจะได้รับอานิสงส์ไม่มีที่สิ้นสุด
การไปร่วมงานเผาพระเกจิมอญที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะได้อานิสงส์ทั้งหลายนั้น จะส่งให้ผู้ที่ไปในการเผาศพสมบูรณ์ไปด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องตกอยู่ในอบายมุขใดทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่า เป็นเพียงอุบายให้คนกระทำแต่ความดีเท่านั้น นรก สวรรค์ ไม่มีจริงแต่ประการใด นอกจากนี้แล้ว โบราณจารย์ทั้งหลายได้กล่าวว่า ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของคนอนาถา ที่มีแต่ร่างกระดูก จะอำนวยผลให้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ และบริวาร ๘,๐๐๐ กัลป์
ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายศพที่ยังมีเลือดเนื้ออยู่ จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๑๐,๐๐๐ กัลป์
ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของคนแก่ชรา จะอำนวยผลได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๔๐,๐๐๐ กัลป์
ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระศพญาติมิตรสหายบุตร จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๘๐,๐๐๐ กัลป์
ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระศพบิดามารดา จะอำนวยให้ได้รับอานิสงส์อันเป็นทิพย์ยศศักดิ์ และบริวาร ๑๐,๐๐๐ กัลป์
ผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของพระภิกษุสงฆ์ จะอำนวยผลให้ได้รับยศศักดิ์ และบริวาร ๒๐,๐๐๐ กัลป์
"คติความเชื่ออย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ คือ คนมอญนิยมไปงานศพมากกว่าที่จะไปงานทอดกฐิน เพราะการเผาศพพระเกจิอาจารย์มอญถือเป็น มหากาลทาน ซึ่งเป็นทานที่ใหญ่กว่า"