โศกนาฏกรรมดวงแก้วคู่หฤทัยใน ร.5 "พระนางเรือล่ม!

โศกนาฏกรรมดวงแก้วคู่หฤทัยใน ร.5 "พระนางเรือล่ม!

โศกนาฏกรรมดวงแก้วคู่หฤทัยใน ร.5 "พระนางเรือล่ม!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรทั้ง 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้คือ วัดกู้) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โศกนาฏกรรมนี้เริ่มจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประภาส พระราชวังบางประอิน ในช่วงฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี โดยมี พระมเหสี พระราชโอรส ธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเสด็จด้วยแต่ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ด้วย ทรงติดราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้เสด็จด้วย แต่ทรงมีพระราชโองการ ให้ขบวน พระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จล่วงหน้าไปก่อน โดยมีขบวนเรือพระประเทียบของฝ่ายในดังนี้ เรือยอร์ชกลไฟ จูงเรือพระประเทียบ พระองค์เจ้าละม่อม(องค์ประธานพระราชวงศ์ฝ่ายใน) เสด็จพร้อมพระอรรคชายาเธอ(หม่อมเจ้าปิ๋ว พระอิสริยยศในขณะนั้น) และ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทราสรัทวาร เรือกลไฟปานมารุต จูงเรือพระประเทียบ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เสด็จพร้อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ อรรควรราชกุมารี

เรือกลไฟโสรวาร จูงเรือพระประเทียบ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เสด็จพร้อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย นริศรราชกุมารี เรือกลไฟราชสีห์ จูงเรือพระประเทียบ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เสด็จพร้อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี เรือพระประเทียบขอ พระองค์เจ้าสุนันทา ปิดหน้าต่างทุก ๆ ด้าน ได้ยินแต่เสียงลม เจ้าฟ้าหญิงบรรทมหลับ ส่วนพระองค์เจ้าสุนันทาทรงพระสำราญอยู่อย่างเงียบ ๆ ทรงเคลิ้ม ๆ คล้ายจะบรรทมหลับ ในขณะนั้น เรือกลไฟราชสีห์ ก็เบนหัวเรือเล่นเข้าไปเลียบฝั่งตะวันออก เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับในเรือได้ทอดพระเนตรทิวทัศน์ริ่มฝั่ง ส่วนเรือยอร์ชก็แล่นเทียบขึ้นมาขนานกับเรือราชสีห์อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เป็นทำนองแข่งความเร็วกันอยู่ เมื่อเรือปานมารุตเห็นเรือทั้งสองเบนหัวเข้าไปใกล้ฝั่งจึงเร่งฝีจักรเข้าไปเพื่อจะอยู่ตรงกางของเรือทั้งสอง และจะเป็นไปด้วยความคึกคะนองหรือความประมาท เรือปานมารุตจึงพยายามเร่งฝีจักรด้วยความเร็วที่สูง จึงไม่ได้ระวังว่าเรือโสรวาร แล่นตามหลังขนาบข้างเรือราชสีห์มาอย่างติดๆ

ทันใดนั้นเอง ผู้ถือท้ายเรือโสรวารก็รู้สึกว่าได้แล่นผิดร่องน้ำ เสียงพรืดพราดหลายครั้ง ๆ แสดงว่าใบจักรเรือได้พัดเอาทรายเข้าแล้ว ทำท่าว่าจะติดทราย ด้วยสัญชาตญาณของนายท้ายเรือ จึงเบนหัวเรือหลบการเกยตื้นมาทางเรือปานมารุตโดยที่ไม่ทันระวัง เมื่อเรือโสรวารเบนหักหลบการเกยตื้นเช่นนั้น เรือปานมารุตที่กำลังเร่งขึ้นมาอยู่พอดีและเนื่องด้วยในเรือพระประเทียบนั้นมีพระราชธิดาซึ่งยังอ่อนพระชันษาอยู่ เกรงว่าควันไฟและลูกไฟจากปล่องเรือยอชจะมารบกวนพระอนามัย นายท้ายเรือจึงเบนหัวเรือหนีมาทางเรืองโสรวารโดยมิได้ชะลอความเร็ว ทันใดนั้นเองเรือโสรวารจึงปะทะเข้ากับเรือปานมารุต

เสียงหวีดร้องของเหล่านางในข้าหลวงดังขึ้นทั้งลำเรือ พอเรือโสรวารหักหัวเรือให้ตั้งลำอีกครั้งหนึ่ง ก็พอดีกับเรือพระประเทียบพระองค์เจ้าสุนันทาที่กำลังถูกลากจูงยังมิสามารถตั้งลำได้ คลื่นน้ำลูกใหญ่อันเกิดจากท้ายเรือโสรวารจึงสะท้อนพัดเข้าหาเรือพระประเทียบของพระองค์เจ้าสุนันทาพลิกคว่ำล่มกลางแม่น้ำ ก่อนที่เรือพระประเทียบจะพลิกคว่ำลง พระองค์เจ้าสุนันทา ทรงตกพระทัยเป็นอย่างมาก เรือพระที่นั่งโคลงเคลงไปมาใหญ่ เพราะลูกคลื่นได้ซัดเข้ามา สัญชาตญาณแห่งความเป็น "แม่" พระองค์เจ้าสุนันทาทรงอุ้มพระราชธิดาเข้ามาไว้ในอ้อมกอดและตื่นเต้นกับจังหวะของเรือและแล้วน้ำก็พรั่งพรูเข้ามาทางหัวเรือ พระพี่เลี้ยงแก้วร้องไห้ด้วยความตกใจและตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ไม่นานเรือพระประเทียบก็คว่ำลงไปทันที เรือปานมารุตที่ทำหน้าที่จูงจึงหยุดเครื่องทันที

เสียงตระเบ็งเซ็งแซ่ไม่ได้ศัพท์ดังขึ้นที่ชายฝั่งเพราะประจักษ์เหตุการณ์เฉพาะหน้าว่าอันตรายได้เกิดขึ้นกับเรือขบวนที่เพิ่งจะผ่านไปหยกๆจะเป็นเรือของใคร ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ตาม ความหมายคือการช่วยเหลือในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ข้าหลวงที่ตามเสด็จมาในเรือพระประเทียบซึ่งติดอยู่ในเก๋งเรือก็พยายามมุดหาทางออกมาจากเก๋งและว่ายน้ำไปเกาะที่เรือลำอื่นเพราะปรากฏว่าในตอนนั้นกระแสน้ำมิได้ไหลเชี่ยวประกอบกับเป็นที่ตื้น สำหรับพระองค์เจ้าสุนันทานั้นทรงว่ายน้ำเป็น แต่ปรากฏว่าขณะที่เรือล่มนั้นเจ้าฟ้าหญิงได้หลุดออกจากพระหัตถ์หายไปในทันที จึงทำให้พระองค์ไม่เสด็จออกจากเก๋งเรือ ทรงเป็นห่วงพระราชธิดา จึงได้ว่ายค้นหาอยู่ภายในเก๋งเรือจนกระทั่งหมดพระกำลังและสิ้นพระชนม์

ในขณะเรือพระประเทียบล่ม ทันใดนั้นเอง พระยามหามนตรีชูดาบขึ้น ออกคำสั่งโดยฉับพลันทันทีไม่ให้คนหนึ่งคนใดลงไปช่วยเนื่องด้วยขัดกับกฏมณเฑียรบาลแม้แต่ชาวบ้านสามัญที่ไม่รู้เรื่องว่ากฏมณเฑียรบาลคืออะไร พระยามหามนตรีออกคำสั่งเด็ดขาดไม่ให้เข้าใกล้และแตะต้องพระวรกายถึงกับชักดาบยืนตะโกนออกคำสั่งอยู่ที่หัวเรือกลไฟ พวกชาวบ้านงงงวยนักจึงทำได้เพียงช่วยพวกนางข้าหลวงนำส่งขึ้นเรือใหญ่

.....ซึ่งมีกฏมณเฑียรบาลว่าด้วย “ห้ามแตะต้องพระวรกาย” ใครว่ายลงไปช่วย มีโทษประหารชีวิต!  กฏมณเฑียรบาลซึ่งมิใช่จะประหารชีวิตผู้ทำความช่วยเหลือเท่านั้นแต่เป็นการประหารล้างโคตรจึงอาจจะกล่าวได้ทีเดียวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ไปเพราะกฏมณเฑียรบาล กฏหมายอันมีมาแต่โบราณกาลกฏมณเฑียรบาลตอนนี้มีความหมายว่า ถ้าเรือพระประเทียบล่ม เจ้าพนักงานในเรือต้องว่ายน้ำออกจากบริเวณรอบ ๆ เรือ ถ้ายังอยู่ในบริเวณเรือที่ล่มนั้น มีโทษประหารชีวิต ถ้าเรือพระประเทียบล่ม หรือเจ้านายตกน้ำ กำลังว่ายตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดอยู่ ให้เจ้าพนักงานในเรือที่ว่ายขึ้นฝั่งแล้วเอาไม้ยาว ๆ หรือโยนลูกมะพร้าวให้เจ้านายเกาะ ถ้าไม่มี ห้ามเจ้าพนักงานว่ายลงไปช่วยเจ้านายใครว่ายลงไปช่วยมีโทษประหารชีวิต เจ้าพนักงานคนไหนที่โยนลูกมะพร้าวให้เจ้านายเกาะแล้วรอดจะได้รางวัลขั้นต่ำเป็นเงินสิบตำลึง ถึงขั้นสูงสุดขันทองคำหนึ่งใบ แต่ถ้าคนที่โยนลูกมะพร้าวช่วยเจ้านายนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงาน คนที่โยนนั้น มีโทษประหารยกโคตร

 

จากภาพด้านซ้าย พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงอุ้ม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ อรรควรราชกุมารี

ภาพด้านขวาบน ภาพตัวอย่างลักษณะเรือเก๋งพระประเทียบ  ภาพด้านขวาล่าง คุ้งน้ำ บางพูด อันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ เรือพระประเทียบล่ม

(อุบัติเหตุครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมพระนางเรือล่ม!)

 
“จุมพิตมเหสี” เป็นครั้งสุดท้าย แห่พระศพประดิษฐานคืนวังหลวง

บัดนี้ข่าวการสิ้นพระชนม์ได้ลือกระฉ่อนไปทั่วพระนครแล้ว ทีแรกประชาชนที่ได้รับข่าวนั้นไม่เชื่อว่าเป็นความจริงเพราะว่าได้รับข่าวพระนางเธอเสด็จประพาสบางประอินก่อนหน้าเพียงวันเดียว แต่ทำไมอุบัติเหตุอันร้ายแรงจึงจำเพาะเจาะจงต่อพระองค์และพระราชธิดาอย่างโหดร้ายเช่นนั้นเสียงเล่าลือมีขึ้นอย่างหนาหูบ้างก็ว่าเป็นเพราะ... ต่างๆนาๆ ความทุกข์ของพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นมีมากถึงบางวันทรงคิดถึงพระนางเธอ ขนาดรับสั่งให้เจ้าพนักงานเชิญพระโกศลงมาและทรงเปิดฝาพระโกศด้วยพระองค์เองทอดพระเนตรพระศพของพระนางเธอด้วยความคิดถึง

ในขณะเดียวกันก็ได้มีพระบรมราชโองการให้นายช่างสร้างพระเมรุมาศขึ้น เพื่อที่จะใช้ถวายพระเพลิงพระศพ พระเมรุนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นกลางพระนคร คือที่ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) และโปรดเกล้าให้ออกแบบตามโบราณราชประเพณีเต็มที่เช่นเดียวกับที่เคยสร้างถวายพระอัครมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวในอดีต และรับสั่งให้จัดงานพระศพครั้งนี้ให้เป็นการสนุกสนานรื่นเริง โปรดเกล้าฯ ให้ประชาชานได้ขึ้นถวายพระเพลิงพระศพ เพราะพระนางเธอนั้น เป็นที่รักใคร่ของประชาชนอยู่เป็นอันมาก

เมื่อพระเมรุสร้างสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระศพ พระนางเธอขึ้นเป็น"สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" (ในนามอัครมเหสี โปรดให้ใช้คำราชาศัพท์ในชั้นของอัครมเหสี) เจ้าพนักงานจึงเชิญพระบรมศพออกถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวง อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี “พระอัครมเหสี” เข้าพระราชทานเพลิงด้วยความเศร้าโศก ในฐานะสวามีและพี่ชาย

ประชาชนส่วนใหญ่เศร้าสลดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางคนถึงกับร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความจงรักภักดีและอาลัยต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ ขณะที่เพลิงกำลังไหม้พระศพนั้น เสียงร้องไห้ของพระราชวงศ์ข้าราชกาลได้ดังไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ยิ่งทำให้พระองค์ทรงเกิดความเศร้าสลดขึ้นอีก ถึงกับทรงเบือนพระพักตร์ ไปทางอื่น ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันที่ได้ทรงบันทึกไว้ว่า...."เสียงร่ำไห้ของประชาชนกึกก้องระงมไปทั้งนั้น" จนกระทั่งเพลิงไหม้เหลือแต่ควัน ประชาชนจึงทยอยกันกลับ จากไปเพียงแต่ร่างคงอยู่ความดีงามดังนามว่า "พระนางเรือล่ม"

จากภาพด้านบนตัวอย่าง พระเมรุมาศของพระนางเรือล่มที่สร้างตามโบราณราชประเพณีมาแต่ครั้งกรุงเก่าสำหรับถวายพระเพลิง พระอัครมเหสี

ภาพล่างพระฉายาลักษณ์ พระนางเธอ และพระโกศของพระองค์ประดิษฐานเคียงคู่กับทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าหญิง

 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook