ตำนานรัก "โลงคู่" วัดหัวลำโพง

ตำนานรัก "โลงคู่" วัดหัวลำโพง

ตำนานรัก "โลงคู่" วัดหัวลำโพง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2510 หนังสือพิมพ์สื่อใหญ่ได้พาดหัวข่าว โศกนาฏกรรมรักของคู่รักคู่หนึ่ง ที่โชคชะตากำหนดให้เกิดมาอยู่ในเพศเดียวกัน เพียงชั่วข้ามคืนเหตุการณ์นี้ได้เลือนหายไปความทรงจำของคนไทย ก่อนที่ถูกนำกลับมาย้ำเตือนอีกครั้งในอีก 22 ปีต่อมา ในรูปแบบของบทเพลง

คลิกฟังเพลง สีดา - แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์

ในบทเพลง "สีดา" ได้กล่าวถึงความรักที่มีต่อกันอย่างลึกซึ้งระหว่างชาย 2 คน แต่สุดท้ายกลับต้องจบลงด้วยการกระทำอัตวินิตบาตกรรมของคนทั้งคู่ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความซาบซึ้ง และทำให้ "แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์" ตัดสินใจหยิบยกเรื่องราวนี้มอบให้ ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก ช่วยถ่ายทอดเป็นบทเพลงในปี 2532

“สีดา” เป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงเมื่อ ปี 2510 ของสาวประเภทสองที่ชื่อ ประโนตย์ วิเศษแพทย์ แต่บางส่วนของเรื่องราวที่ผู้แต่งจำเป็นต้องดัดแปลงไป ทำให้มีบางเสี้ยวของเหตุการณ์ต่างไปจากความเป็นจริง “สีดา” ในบทเพลง หมายถึง นางเอกนาฏศิลป์โขนของกรมศิลปากรเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน หากแต่ชีวิตจริงเขาชื่อ "ประโนตย์ วิเศษแพทย์" สิ่งที่ทำให้ประโนตย์โดดเด่นมากที่สุดในยุคนั้นก็คือความสวย ซึ่ง สุทิน ทับทิมทอง รุ่นพี่ที่สนิทสนมกับประโนตย์ เล่าว่า ปัจจุบันความสวยของสาวประเภทสองเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับเมื่อก่อน ประโนตย์สวยเกินกว่าผู้หญิงบางคน และไม่มีสาวประเภท 2 คนใดเทียบได้

ปัจจุบันมีหลักฐานและภาพถ่ายของประโนตย์เหลืออยู่ไม่มากนัก ประโนตย์ เธอเกิดเมื่อปี 2481 เป็นบุตรของนายยงค์ และหม่อมหลวงหญิง บุญนาค วิเศษแพทย์ ซึ่งเป็นครอบครัวมีฐานะดี ประโนตย์มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน และด้วยความที่เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้าน จึงเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ประโนตย์เติบโตขึ้นท่ามกลางการถูกรุมล้อมด้วยพี่น้องที่เป็นผู้หญิงทั้งสี่ และค่อย ๆ ซึบซับความอ่อนหวานเรียบร้อยแบบผู้หญิงของคนรอบข้างไว้อย่างไม่รู้ตัว

หลังเรียนจบระดับประถมที่โรงเรียนใกล้บ้าน ย่านซอยสวนพลู ประมาณปี 2492 ด้วยความสนใจในการแสดงตั้งแต่เยาว์วัย และการสนับสนุนของผู้เป็นแม่ ประโนตย์จึงตัดสินใจสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร หรือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งต่อมาทำให้ประโนตย์เป็นที่รู้จักในชื่อของ “สีดา” แล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถแสดงบุคลิกที่เบี่ยงเบนไปจากเพศที่แท้จริงของตนเองได้อย่างอิสระเสรี

การสวมบทบาทสตรีเพศ และ ความอ่อนหวานงดงามของศิลปะ เป็นส่วนส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจของประโนตย์ เปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว สามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้ตามอย่างที่ใจปรารถนา เพราะขณะนั้นสภาพสังคมไทยยังไม่ยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ประโนตย์ในวัย 14 ปี จึงมักลักลอบหนีออกไปแสดงโขนกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนนาฏศิลป์ขณะนั้นไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด รวมทั้งเริ่มคบหากับเพื่อนต่างโรงเรียนที่มีลักษณะเดียวกัน และทำให้ชีวิตในโรงเรียนนาฏศิลป์ของประโนตย์สิ้นสุดลงในเวลาเพียง 3 ปี

ประโนตย์มีอิสระเสรีมากขึ้นและยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในแวดวงของนาฏศิลป์โขน โดยร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน ใช้วิชานาฏศิลป์ที่ติดตัวมารับแสดงโขนตามงานการกุศลต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้สร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักในนามของ “สีดา” สีดาคือนางในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ ที่มีความงดงามอย่างมาก ช่วงเวลานี้เองที่ครูน้อย หรือ สุรพล โทณวณิก ได้มีโอกาสชมการแสดงของประโนตย์ และความสวยของเธอที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของบทเพลง “สีดา” ในอีก 22 ปีต่อมา

ความงามของ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ นี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่กะเทยในยุคนั้น หลังออกจากการเป็นนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เธอเริ่มเดินสายประกวดนับครั้งไม่ถ้วน ลงเวทีไหนเป็นต้องชนะเวทีนั้น เรียกว่าสวยไร้คู่แข่ง จนบรรดากะเทยร่วมรุ่นถึงกับข่มขู่เวทีประกวดสาวงามประเภทสอง ในยุคนั้นว่า  “ถ้าเวทีไหนมีปราโนตย์ นางโนตย์ อีโนตย์ (แล้วแต่จะเรียก) เข้าประกวด คนอื่นจะไม่ยอมลงประกวดด้วย” ในแวดวงสาวงามประเภทสอง มีการตั้งฉายาให้ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ ว่า “นางงาม 50 มงกุฎ” การสวยแบบไร้คู่แข่ง

ปราโนตได้พบรักกับชายหนุ่มชื่อ สมบูรณ์ ทั้งคู่คบหาและอยู่กินกันนานถึง 8 ปีเต็ม สุดท้ายก็เลิกรากันไปและนายสมบูรณ์ก็หันไปคบกับผู้หญิงอื่น จนผ่านไปสองสามปี ปราโนตก็ได้มาเจอกับ สมชาย แก้วจินดา หรือ ชีพ มีอาชีพขับรถรับจ้าง รูปหล่อ สุภาพ เรียบร้อย พูดจาดี ทั้งคู่ตกลงปลงใจและย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านพักย่านซอยสวนพลู แต่แล้วปัญหาเดิมก็กลับมาทำร้ายคนทั้งคู่ นั่นคือความหวาดระแวง หึงหวง ครั้งหนึ่งทั้งคู่ได้ไปสาบานต่อกันที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมืองว่า “ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป”

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ทะเลาะกันอีกหลายครั้ง สุดท้ายจึงตัดสินใจแยกกันอยู่ ปราโนตคิดตลอดเวลาว่า เธอไม่ใช่หญิงแท้ เธอจึงระแคะระคายว่าชีพจะมีผู้หญิงอื่นมาติดพัน จนเป็นสาเหตุให้ทั้งคู่กลับมาทะเลาะกันอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ตอกย้ำความเชื่อของเธอจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ปราโนตได้ตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีคนช่วยชีวิตไว้ได้ทัน และในการดื่มยาพิษครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 ลมหายใจสุดท้ายของปราโนตก็หมดสิ้นลงอย่างโดดเดี่ยวในบ้านพักของเธอ เมื่อ ชีพ ทราบข่าวก็ได้แต่พร่ำพูดแต่ประโยคที่ว่า “ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย” พลางร้องไห้กอดศพของปราโนตแน่น เย็นวันเดียวกันนั้นเอง ชีพได้บวชอุทิศส่วนกุศลให้กับปราโนต

หลังจากสวดศพครบ 3 คืน เณรชีพตัดสินใจสึก จากนั้นได้นำสมบัติที่ซื้อร่วมกันไปจำนำ และนำเงินที่ได้ไปให้แก่คนในบ้าน และได้เขียนจดหมายสั่งเสียว่า “ขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อทำศพของเขา ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต” ต่อมา ชีพ ก็กินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 15 พฤษภาคม 2510 (เดือน – ปีเดียวกัน)

วัดหัวลำโพง คือสถานที่บำเพ็ญกุศลให้กับดวงวิญญาญที่จากไปของประโนตย์ แต่หลังจากที่งานศพเสร็จสิ้นลงเพียงไม่กี่วัน อีกหนึ่งชีวิตที่ผูกพันธ์ก็ติดตามไป เหมือนดั่งคำสาบานที่ได้ให้ไว้ต่อกัน ภาพของร่างไร้วิญญาณในโลงศพที่ตั้งเคียงคู่กัน ณ วัดหัวลำโพง เพื่อรอการฌาปนกิจ ได้สร้างความโศกสลดให้กับคนทั่วไป และยุติความแคลงใจของคนรอบข้างที่มีต่อความรักของทั้งสองได้อย่างสิ้นเชิง

หากยังมีขีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ปี 2559 ประโนตย์จะมีอายุ 78 ปี ความงดงามของนางสีดาที่สามารถครอบครองหัวใจใครต่อใครในโลกละคร แต่ความสวยของประโนตย์ กลับไม่สามารถฉุดรั้งคนที่เธอรักมากที่สุดไว้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook