"การปฏิบัติบูชาที่ดี" เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์ได้
เมื่อท่านได้ทราบรแล้วว่า พระพุทธรูป พระเครื่อง และพุทธสถาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่สร้างเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ เราจึงต้องเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์จึงจะถูกต้องที่สุด พระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ตั้งแต่โบราณกาลท่านทราบเรื่องนี้ดี จึงเน้นมากว่า การบูชาพระพุทธเจ้า (รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น) ต้องเริ่มจากการปฏิบัติบูชาเท่านั้น และต้องทำอย่างไรจะเรียกว่า "เป็นการปฏิบัติบูชา"
หากจะว่ากันตามพจนานุกรมก็ต้องบอกว่า ปฏิบัติบูชา แปลว่า บูชาด้วยการปฏิบัติ เป็นคู่กับ อามิสบูชา คือบูชาด้วยสิ่งของไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวาน ผลไม้ ดอกไม้ เสื้อผ้า ประทัดหรืออะไรก็ตามที่จับต้องได้
ปฏิบัติบูชา จึงหมายถึงการบูชาด้วยการปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ ปฏิบัติตามคำที่ท่านสอน ได้แก่ท่านปฏิบัติมาอย่างไรก็ปฏิบัติตาม ท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร ก็ทำตามด้วยความเต็มใจ ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เช่นปฏิบัติตามคำสั่งสอน คำเตือน คำแนะนำของพระพุทธเจ้า ของบิดามารดา ของครูอาจารย์ เป็นต้น
การปฏิบัติบูชาในความหมายที่ง่ายๆ และเข้าใจก็คือ การน้อมนำคำสอนและนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์สอนเอาไว้ คือ ละกรรมชั่วทั้งปวงและหมั่นสร้างกรรมดี มุ่งพัฒนาจิตภายในเพื่อไปสู่การหลุดพ้นด้วยไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อดับทุกข์ทั้งปวง
ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้เสมอว่า การรู้แต่ไม่ทำ ถือว่าไม่ใช่การปฏิบัติ เช่น รู้ว่าการถือศีลนั้นดีต่อชีวิต แต่ไม่รักษาไม่ป้องกันอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เป็นการปฏิบัติ อย่างน้อยในระดับฆราวาสศีล 5 หรือ ศีล 8 เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีเงินทอง ไม่ต้องมีอะไรทั้งนั้น
คำว่า “ศีล” นั้นจริงๆ แล้ว แปลว่า “ปกติ” ในสมัยโบราณคนนั้นมีศีล คือมีชีวิตที่ปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าไม่ทำลายนอกเหนือจากบริโภค ไม่ลักทรัพย์ขโมยของผู้อื่น ไม่มักมากในกาม ไม่พูดปด พูดเพ้อเจ้อพูดอะไรที่ไร้สาระหาแก่นสารไม่ได้ ไม่กินเหล้าเมายาหยำเป เห็นทั้งผลดีและผลเสียของการรักษาและการละเมิด
การรักษาศีลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะทำให้ชีวิตเป็นปกติมีความสุขความเจริญ เป็นการปรับพื้นฐานทางจิตให้สดใส มีกำลังในการต่อสู้ชีวิตที่มีเรื่องอะไรอีกมาก ศีลจะเป็นตัวชี้ว่าคนไหนดี คนไหนชั่ว
ศีล คือ ความสะอาด เป็นการช่วยให้สะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
สมาธิ คือ ความสงบ เป็นการเจริญสมาธิ เจริญจิตภาวนา ทำจิตให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว เพราะจิตมีธรรมชาติดิ้นรนกวัดแกว่ง เที่ยวไปดวงเดียวไปได้ไกล มีกายหรือรูปเป็นที่อาศัย
ปัญญา คือ ความสว่าง ซึ่งเมื่อจิตสะอาด สงบจะเกิดความรู้ (วิชชา) พ้นจากกิเลสคือ อวิชชา (ความไม่รู้) พ้นจากการโลภ โกรธและหลง มีจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากความหมองมัว
คนที่บูชาพระรวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ซึ่งจะยิ่งดียิ่งขึ้นถ้ามีศีล 5 กำกับชีวิตเอาไว้ก็จะรวบรวมบุญที่ทำเอาไว้ได้ เพราะไม่ว่าจะสร้างบุญมากเท่าใดในชีวิต บุญสูงกองท่วมภูเขาชั้นฟ้าก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รับผลบุญเลย ตราบใดที่ยังคงทำบาปมากอยู่ เพราะกรรมชั่วที่ทำนั้นจะไปปิดทางไม่บุญนั้นส่งผลได้เลย
อันคนเรานั้นจะมีความสุข ความเจริญได้นั้นมาจากผลบุญที่เคยทำมานั้นส่งผล ทั้งที่เป็นบุญเก่าที่เคยทำมาในอดีตชาติและบุญใหม่ที่ทำในชาตินี้ ถ้ามีกรรมชั่วหรือบาปมาขวางไว้ บุญก็ส่งผลไม่ได้หรือส่งผลได้น้อยมาก ครูบาอาจารย์ทุกท่านจึงเน้นว่า คนเราถ้าอยากจะมีความสุข ความเจริญต้องมีศีล 5
เหมือนกับเรือบุญ ที่เราสร้างบุญใส่ไว้ทุกวัน แต่ทำไมบุญนั้นยังไม่เต็ม หรือบุญนั้นทำไมยังไม่ ส่งผล บุญจะส่งผลได้อย่างไรเพราะมีรูรั่วเต็มไปหมด รูรั่วนั้นก็คือ กรรมชั่วที่ยังทำหรือแอบทำอยู่ เหมือนกับตุ่มน้ำที่เราใส่น้ำหรือบุญทุกวันมิได้ขาด
แต่ตื่นเช้ามาน้ำก็หายไปหมดหรือเหลือน้อย จะเอาน้ำไปทำประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ น้ำมันรั่วออกไปหมดเพราะรูรั่วเต็มไปหมด ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เรื่องของศีลนั้นสำคัญมากในชีวิต เป็นเครื่องมือที่จะกั้นให้บุญในตัวเรานั้นคงอยู่ที่จะส่งผลดีต่อชีวิตได้