Humeme แบรนด์ของแต่งบ้านที่ปั้นความสุขให้จับต้องได้

Humeme แบรนด์ของแต่งบ้านที่ปั้นความสุขให้จับต้องได้

Humeme แบรนด์ของแต่งบ้านที่ปั้นความสุขให้จับต้องได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Humeme แบรนด์ของแต่งบ้านที่ตั้งใจปั้นความสุขให้เป็นเรื่องเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคนโดย คุณมาย-พิราภรณ์ ก้อนทอง และ คุณเอิท-ศตายุ เฉลิมสวัสดิ์วงศ์ 2 นักออกแบบและคนทำงานศิลปะที่ดีไซน์ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ เริ่มต้นจากความหลงรักในศิลปะและค้นพบหนทางได้อยู่กับสิ่งที่รัก ด้วยความเชื่อว่าความสุขจากศิลปะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

ปั้นความสุข ส่งต่อความสนุก

ด้วยหัวใจที่ต้องการสร้างสรรค์งานดีไซน์และออกแบบชิ้นงานเพื่อให้ความสุขกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน เป็นที่มาของ Humeme (ฮิวมีม) ชื่อแบรนด์ที่มีมาจากคำว่า Human และ Meme

“เราเลือกคำมาคนละคำ มายเลือกคำว่า Human เอิทเลือกคำว่า Meme เพราะช่วงที่เปิดแบรนด์แรกๆ เราชอบเสพมีมตลกๆ มาช่วยคลายเครียด มันสนุกและ Made My Day เรามากๆ เลยคิดว่างานของเราภายใต้ชื่อฮิวมีมนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ made my day ให้กับคนที่รับไปได้เหมือนกัน อยากให้เราเป็นมีมที่สร้างความสนุกให้กับคนอื่น” 

แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมรอบตัว

ด้วยชีวิตประจำวันที่เติบโตในย่านวัฒนธรรม การได้ลองเดินเที่ยวแถวเจริญกรุงและปากคลองตลาดทำให้ได้พบเจอกับตึกรามบ้านช่องที่หลากหลายจึงได้ลองศึกษาที่มาที่ไปของสภาพพื้นผิวที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและวันเวลา จากความชอบเล็กได้ขยับขยายสู่การสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีคุณค่าทางจิตใจในแบบฉบับของแบรนด์ตัวเอง

“ตึกเหล่านี้มันผ่านกาลเวลามา เราไม่รู้ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าล้วนเป็นผลของกาลเวลานั้นที่ส่งต่อมาถึงเรา อย่างเช่นรอยแตก สีซีด โครงที่กร่อนแล้ว เหมือนว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบแต่เลือกจะให้ค่ากับคุณสมบัติที่เห็นมากกว่า”

ออกแบบความสุขขึ้นจากความสุข

ด้วยความที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนคณะมัณฑนศิลป์ของ 2 คู่หูที่มีความรู้ด้านแฟชั่นดีไซน์และจิวเวลรี จึงได้ลองนำวัสดุเหลือทิ้งมาสร้างเป็นของชิ้นใหม่ เริ่มจากการทำเครื่องประดับและผันตัวมาสู่การทำของตกแต่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่แวะเวียนมาเดินดูต้นไม้ที่สวนจตุจักร ก่อนจะปลุกปั้นความสุขเหล่านี้สู่แบรนด์ของตัวเองอย่างเป็นจริงเป็นจัง

“เรารู้สึกว่าการทำปูนเป็นเหมือนการเล่นสนุกมากกว่า เหมือนสมัยตอนเป็นเด็กธรรมดาที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เราเอาพวกดินเหนียวมาปั้นเป็นขนม และรู้สึกว่ามันสนุกมากที่เราได้คิดสูตรขึ้นเองเหมือนทำเบเกอรี่เพียงแค่เรากินไม่ได้ แถมเรายังเพิ่มสีเข้าไปได้ รอให้งานที่ปั้นแห้ง ได้ตกแต่งเหมือนแต่งหน้าเค้กจนท้ายสุดแล้วออกมาดูน่ารัก เราชอบงานศิลปะ งานดีไซน์ ชอบการจับผนัง ด้วยความที่เรา ชอบไปเดินเล่นตามที่ต่างๆ จนไปเจอตึกเก่าที่เจริญกรุง เราก็ถ่ายไว้แล้วคิดว่าจะทำอะไรได้ต่อ จากความชอบเล็กๆ ตรงนี้จนได้มาเป็นแบรนด์ของตัวเองที่ร่วมลงแรงด้วยกัน เริ่มต้นจากการทำจานรองแก้ว ออกแบบชิ้นงานตัวอย่างขึ้นมาจากนั้นจึงไปทำซิลิโคน ปรับเปลี่ยนสไตล์ไปเรื่อยๆ ครีเอตจาก 1 ชิ้นเป็นหลายๆ ชิ้นจนตอนนี้ในเวลา 1 ปีเรามีต้นแบบมากกว่าสิบ”

“จากช่วงแรกที่เราดั้นด้นกับการขายของที่จตุจักร แบ่งหน้าร้านกับคนขายแคคตัส เป็นจุดเริ่มต้นให้เราเริ่มทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่องทางออนไลน์ ตั้งใจตีตลาดของคนรักการแต่งบ้านด้วยการดีไซน์ให้ตอบโจทย์ความชอบที่หลากหลาย จับคู่กันได้ตามความต้องการ เหมาะกับโอกาสที่คนสามารถ Work and Play ทำงานไปด้วยแล้วก็แต่งห้องไปด้วยได้ เราเป็นแบรนด์ที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเลือกได้เต็มที่ว่าเขาอยากได้ชิ้นงานแบบไหนกลับไป” 

ท้ายที่สุดชิ้นงานจะอยู่กับเจ้าของ

“ในอนาคตเราคิดไว้ว่าอยากเปิดเป็นสตูดิโอเล็กๆ ให้ลูกค้าเข้ามาทำเวิร์กชอปได้โดยจ่ายในราคาเท่าเดิมแต่สามารถทำได้เองเลย อยากให้ได้สนุกกับงานของเรา มันเป็นมุมมองของเราเองด้วยในเรื่องของฟังก์ชันและดีไซน์ที่ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อตอบสนองคนที่ใช้ ไม่ใช่ทำออกมาแต่ใช้ไม่ได้ มีความเรียบง่ายและสวยของมันเอง ความสวยนั้นไม่สามารถกำหนดได้ด้วยตัวเราเองคนเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทั้งเราและลูกค้าได้ช่วยกันครีเอตเพื่อให้ชิ้นงานเป็นที่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย เราค้นพบว่าขั้นตอนการทำงานเป็นสิ่งที่ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความใส่ใจนอกเหนือไปจากสไตล์งานของเรา เพราะเราเองก็สนุกกับการได้พูดคุยกับคนใหม่ๆ ด้วย เราคิดว่านี้คือสิ่งที่สนุก เพราะท้ายที่สุดชิ้นงานจะอยู่กับเจ้าของ เป็นงานที่มีชิ้นเดียวในโลก เราเพียงแค่มีความรู้ในฐานะเจ้าของในการทำ สิ่งสำคัญคือคนที่ได้รับต้องมีความสุขกับงานที่ได้รับด้วย”

การมีชีวิตอยู่และงานศิลปะ

“สภาพสังคมบ้านเราไม่ได้เอื้ออำนวยต่อศิลปะ เพราะเมื่อปัญหาต่างๆ ยังไม่ถูกแก้ไข งานศิลปะจึงไม่สามารถจรรโลงใจคนได้อีกต่อไป และเท่าที่เราอยู่ในวงการนี้มาพบว่าพื้นที่ของงานศิลปะยังน้อยเกินกว่าที่คนมีของจะได้ปล่อยของ เป็นสาเหตุให้คนทำงานศิลปะต้องอยู่ในช่องทางออนไลน์เพราะเราไม่มี Art Market ที่มันเป็นงานอาร์ตจริงๆ ในอนาคตเราก็อยากให้งานศิลปะเป็นเรื่องเข้าถึงและจับต้องได้ง่ายสำหรับทุกคน เพราะศิลปะเป็นสิ่งที่จรรโลงใจผู้คน ไม่มีใครปฏิเสธศิลปะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หากว่าเราไม่ได้กำลังแบกรับปัญหาปากท้อง การเสพความสุขจากศิลปะจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะแท้จริงแล้วสภาพสังคมกับงานศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน”

HUMEME STUDIO

Facebook.com/Humeme87
Instagram.com/humeme_studio/
humeme.wixsite.com/website
โทร.085 902 8830

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ Humeme แบรนด์ของแต่งบ้านที่ปั้นความสุขให้จับต้องได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook