#savehakeem ให้อะไรกับเราบ้าง
ข่าวล่ามาแรง แซงฝุ่นในตอนนี้ เห็นจะเป็น #savehakeem เรื่องของ ฮาคีม อัล อาไลบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่โดนจับขังที่คุกไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2018 หลังเดินทางจากออสเตรเลียเพื่อมาฮันนีมูนกับภรรยา และมีเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกให้ทางการไทยปล่อยตัวนักฟุตบอลรายนี้กลับไปยังออสเตรเลีย
ถ้าเราย้อนกลับไปดูข้อมูลจะพบว่า ฮาคีม เป็นนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ถูกรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหา ทำลายทรัพย์สินราชการและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล (จากเหตุการณ์อาหรับสปริง) แต่ฮาคีมปฏิเสธ เพราะมีหลักฐานว่าในช่วงเหตุการณ์นั้นเจ้าตัวกำลังแข่งขันฟุตบอลอยู่ โดยมีการถ่ายทอดสนนัดนั้นเป็นหลักฐานด้วย
หลังจากนั้น ฮาคีม ได้เดินทางไปอาศัยในประเทศออสเตรเลียในสถานะผู้ลี้ภัย จนเมื่อปลายปี 2018 เขาและภรรยาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว แต่โดนทางการไทยจับกุมตัวไว้ เนื่องจากฮาคีมนั้นโดนหมายแดงจากตำรวจสากล (Interpol)
เรื่องราวของฮาคีม ได้ทำให้ไทยกลายเป็น ตัวร้าย อีกครั้งในเหตุการณ์ที่เรียกว่ากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันกระแสโซเชียลมีเดียในเมืองไทยก็มีความเข้าใจกันตั้งแต่ อ่านข่าวผ่านๆแล้วแสดงความคิดเห็น ไปจนกระทั่งแสดงความคิดเห็นโดยมีการหาข้อมูลประกอบ ซึ่งทำให้เรื่องนี้มีหลายมุมมองที่น่าสนใจ และ บรรทัดต่อจากนี้ Tonkit 360 จะพาคุณผู้อ่านไปดูว่าเรื่องของ ฮาคีม อัล อาไลบี มีตัวละคร หรือ ประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง เพื่อในครั้งต่อไปเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ชาวโซเชียลจะได้มีข้อมูลเหล่านี้ไว้ประกอบการแสดงความคิดเห็นกันต่อไป
อาหรับสปริงคืออะไร
อาหรับสปริงคือเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในประเทศแถบตะวันออกกลาง เริ่มจากประเทศตูนิเซีย โดยชายคนหนึ่งจุดไฟเผาตัวเองเพราะไม่พอใจรัฐบาล ทำให้เกิดการประท้วงลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของตนเอง ขยายเป็นวงกว้างออกไปทั่วตะวันออกกลาง
ด้วยกระแสความไม่พอใจของผู้ชุมนุมที่มีต่อรัฐบาลในแถบอาหรับ โดยในประเทศบาห์เรนนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เพราะชาวบาห์เรนนั้นเป็นชาวมุสลิม นิกายชีอะห์ ไม่พอใจการปกครอง ของรัฐบาลที่ปกครองโดยชาวมุสลิม นิกายซุนนี เรื่องนี้ส่งผลให้ผู้ชุมนุมชาวบาห์เรนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงขั้นรัฐบาลต้องประกาศกฎอัยการศึกเข้าสลายการชุมนุม
หมายแดง (Red Note)
หมายแดง ความจริงแล้วคือการขึ้นทะเบียนข้อมูลประวัติบุคคลนั้น ๆ ไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถจับกุมบุคคลนั้นได้ทันที หากทางตำรวจสากลไม่ได้ร้องขอ ซึ่งข้อมูลที่ไม่แน่ชัดนี้ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า เมื่อมีหมายแดงแล้วสามารถเข้าจับกุมได้ทันที ซึ่งไม่ใช่
ตำรวจสากล (Interpol)
Interpol หรือ องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ตำรวจสากล” มีสำนักงานใหญอยู่ที่เมือง ลียง ในประเทศฝรั่งเศษ โดยตำรวจสากลนั้นคือการร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศนั่นเอง
สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย
ผู้ร้ายข้ามแดนนั้นหมายถึงบุคคลหนึ่งซึ่งมีความผิดคดีอาญาในประเทศหนึ่ง แต่หลบหนีไปยังประเทศอื่น ซึ่งทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นต้องอาศัยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยนั้นไม่มีสนธิสัญญานี้กับประเทศ บาห์เรน ดังนั้นทางประเทศ บาห์เรน จึงต้องใช้การร้องขอการส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านทางการฑูต โดยอาศัยความสัมพัธ์ระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาจะต้องขึ้นอยู่กับ อัยการสูงสุด
มุมมองของคนทั่วไปต่อการทำงานของรัฐ
จากเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนับว่าเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเวลานี้ทางศาลและรัฐบาลไทยถูกกดดันจากเสียงเรียกร้องของทั้งผู้คน และฮิวแมนไรท์วอทช์ อีกทั้งยังถูกกดดันด้วยการขู่ว่าจะคว่ำบาตรจากทั้งนักท่องเที่ยว และฟีฟ่าแถมยังจะถูกคว่ำบาตรในฟุตบอลโลกปี 2022 อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการปลุกกระแสจากโซเชียลล้วน ๆ
พูดได้เลยว่าทางการไทยนั้นตกที่นั่งลำบากจริง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะในมุมมองของคนทั่วไปนั้นจะมองข้ามขั้นตอนการทำงานของรัฐ แต่เพ่งไปเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว
ซึ่งหากจะให้มองอย่างเป็นกลางนั้น เราเกี่ยวข้องจากเพียงแค่บุคคลที่มีหมายแดงเดินทางเข้าสู่ประเทศเรา การทำงานของหน่วยงานไทยเราเองจึงเห็นสมควรว่าจะต้องทำตามหน้าที่ไว้ก่อน คือการควบคุมตัวและดำเนินการไต่สวนต่อไป
โดยขั้นตอนนี้ต้องใช้ดำเนินการเวลาประมาณหนึ่ง
ความเกี่ยวข้องที่แตกต่างกันของ ฮาคีม กับ ราฮาฟ
ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกันกับกรณีของนางสาว ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน สาวซาอุฯวัย 18 ปี ที่ลี้ภัยจากปัญหาทางศาสนาและครอบครัว ทางการไทยนั้นโดนทั่วโลกด่าจนเรียกว่าถ้าเป็นผ้าก็รีดคืนไม่เรียบ ซึ่งตอนนี้ ราฮาฟ ได้ถูกช่วยเหลือและลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดาเรียบร้อยแล้ว
ต่างกับคดีของนาย ฮาคีม ตรงที่คดีของนางสาว ราฮาฟ นั้นตัวราเธอเองไม่ได้โดนหมายจับจากประเทศของเธอเองจึงทำให้เรื่องดำเนินการเป็นไปอย่างสะดวกกว่า
ส่วนของ ฮาคีม นั้นมีเรื่องของหมายจับและการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางการไทยจึงต้องสอบสวนอย่างรอบคอบต่อไป แม้ว่าจะมีข้อมูลอ้างอิงว่าเขาบริสุทธิ์แล้วก็ตาม
>> กรมราชทัณฑ์ยืนยันดูแล "ฮาคีม อัล อาไรบี" นักบอลบาห์เรนตามหลักสากล
>> ออสเตรเลียเรียกร้อง "บิ๊กตู่" ปล่อยตัวนักฟุตบอลบาห์เรน หลังได้สิทธิลี้ภัย
>> ตม.คุมอดีตนักบอลทีมชาติบาห์เรนฝากขัง เตรียมส่งผู้ร้ายข้ามแดน