สิทธิทางปัญญา ตัวชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง

สิทธิทางปัญญา ตัวชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง

สิทธิทางปัญญา ตัวชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิทธิทางปัญญา ตัวชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งในประเทศ

เมื่อก่อนเราคงเคยได้ยินคำว่าปัญญาดั่งอาวุธ แต่มาถึงยุคนี้ ปัญญาเป็นเงินเป็นทองแล้วครับ เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยหันมาสนใจเรื่องของสิทธิทางปัญญาและมีการจดสิทธิ บัตรกันเพิ่มขึ้นมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้

ก่อนปี 2000 คนไทยเราจดสิทธิบัตร (ในประเทศไทย) กันน้อยมาก เฉลี่ยปีละไม่ถึง 1,000 คน ในขณะที่ต่างประเทศมีการจดสิทธิบัตรในเมืองไทยปีละประมาณ 4,000 กว่าคน แต่ในสองปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขผู้จดสิทธิบัตร คนไทยสูงถึงปีละ 2,500 คน และในปีล่าสุด เราจดสิทธิบัตรกันถึง 3,030 รายการ

ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาถือว่าตัวเลขของผู้จดสิทธิบัตรเป็นตัวชี้ให้เห็นถึง ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิปัญญาและเป็นที่มาของความมั่งคั่งในประเทศครับ เพราะด้วยสิ่งประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆเหล่านี้เองเป็นตัวทำเงิน ให้ประเทศทางยุโรปและอเมริกามาโดยตลอด บรรดาคนในประเทศกำลังพัฒนาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้สินค้าและบริการที่เขา คิดขึ้นมาในราคาแพงๆแบบไม่รู้ตัวกันมานานแล้ว เช่น เราต้องซื้อยาจากต่างประเทศใช้ในราคาแพงมากทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตนิดเดียวเองครับ ราคาวัตถุดิบรวมค่าแรงในการทำยาอาจจะสองสามบาทแต่สามารถขายให้เราได้ในราคา หลายร้อยบาทครับ หรือถ้าเราจะทำเองบ้างเพราะเห็นว่าทำง่ายและเราก็ทำได้ ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทที่คิดค้นและจดทะเบียนเป็นเจ้าของความ คิดนี้ในราคาสูง ทำให้หลายบริษัทในต่างประเทศเป็นบริษัทรับซื้อความคิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อนำไปจดทะเบียนในชื่อของตน บริษัทพวกนี้จึงร่ำรวยน่าอิจฉาและแน่นอนว่าประเทศที่มีบริษัทเหล่านี้อยู่ มากๆ ก็จะเป็นประเทศที่มีความเป็นอยู่ดี ประชาชนในประเทศเหล่านี้จะค่อนข้างสบาย

ระยะหลังการจะไปไล่ซื้อสิทธิบัตรถูกๆ ทำได้ยากขึ้นครับ เพราะคนในประเทศต่างๆ เริ่มรู้แล้วว่าความคิดเรานี่เป็นเงินเป็นทอง ก็ไม่ค่อยมีใครจะขายสิทธิบัตรกันในราคาถูกๆ เลยเกิดบริษัทข้ามชาติ นำเอานักวิจัยเก่งๆ ในเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากจีนและอินเดีย ไปทำงานด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อคิดสิ่งใหม่ๆ บริษัทต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเยอะมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม (เรียกว่าซื้อสิทธิ์ไม่ได้ก็ซื้อสมองมันเลย)

มองย้อนไปในอดีตสักหน่อยจะพบว่า คนในเอเชียเรานี่มีความรู้ความสามารถกันมากครับเช่นคนจีนมีสิ่งผลิตทาง อุตสาหกรรมที่ล้ำหน้ากว่าคนยุโรปมากมาย ในด้านต่างๆ แทบทุกด้านทั้งในด้านการแพทย์ เภสัชกรรม จีนมีวิชาการด้านการแพทย์และสมุนไพรก่อนที่ยุโรปจะมาค้นพบแบคทีเรีย ด้านอุตสาหกรรม เราสามารถผลิต กระดาษ ผ้า และการเจียระไนได้ก่อนชาติทางตะวันตกครับ ก็ตอนที่คนเอเชียมีการต่อเรือ ยุโรปยังขี่ม้ากันเลยครับ

คนไทยเราเองก็มีความเฉลียวฉลาด หรือที่เรียกกันสมัยนี้ว่าภูมิปัญญา ไม่ได้ด้อย
กว่าใคร
เรามีความรู้ความสามารถในการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งต่างๆมากมาย (นวัตกรรม) แต่น่าเสียดายที่สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขาดการบันทึกและไม่มีการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ ทำให้ความรู้เหล่านี้สูญหายไปมาก เพราะการถ่ายทอดความรู้ ในอดีตของเรามักจะ เป็นการสอนโดยผู้มีความรู้จะสอนให้เฉพาะคนที่รักจริงๆหรือลูกหลานเท่านั้น เรามีลักษณะของการหวงวิชา คิดอะไรได้ก็ไม่อยากให้ใครรู้ เลยไม่ยอมทำตำราเพราะกลัวว่าความรู้เหล่านั้นจะถูกเผยแพร่ออกไป

ใครอยากรู้อยากเรียนก็ต้องใช้การจำเอาไปใช้

ทุกวันนี้ความรู้เทคนิคต่างๆที่ยังเหลืออยู่ก็กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ หมู่บ้านอรัญญิกมีความชำนาญด้านการทำมีดดาบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หมู่บ้านสันกำแพงถนัดด้านศิลปะการทำร่ม ทางภาคอีสานหลายจังหวัดมีความสามารถในด้านการผลิตเหล้า กระแช่ อุ (เหล้าชนิดหนึ่ง) เรามีทั้งช่างแกะสลัก ช่างเครื่องถม และช่างศิลปะอื่น ๆ อีกมากมาย แม้กระทั่งเรื่องการแพทย์ เรามีการนวดแผนโบราณ (ซึ่งโชคดีที่มีการบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์ ถ้ามิเช่นนั้นวิชาการนี้คงสูญหายไปเช่นกัน) นอกจากนี้เรายังอุดมไปด้วยความรู้ด้านสมุนไพร ซึ่งคนไทยสมัยก่อนใช้รักษาโรคอย่างดี

 


วิทยาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่น่าจะช่วยกันจดทำบันทึกและเผยแพร่เพื่อต่อยอด ขยายผล เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของประเทศ

การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มี หลักสูตรการศึกษาที่ส่งเสริมให้มีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ มาจัดทำเป็นหลักสูตร และมีการเรียนรู้กันอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเรียนตามอย่างฝรั่งกันไปเรื่อยๆเหมือนที่ผ่านมา

แต่ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและต้องเร่งรัดจัดการคือการส่ง เสริมให้คนไทยรับรู้ถึงเรื่องสิทธิที่จะได้รับจากการจดสิทธิบัตร ต้องสนับสนุนให้พวกเราคิดและสร้างนวัตกรรมของไทย เพราะนั่นคือโอกาสในการแข่งขัน เราจะสู้นานาประเทศได้ในยุคนี้ต้องสู้ด้วยความรู้ครับ

แต่อุปสรรคใหญ่ของนักคิดนักวิจัยและนักประดิษฐ์บ้านเราคือ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยพวกเราเอง อาจจะรู้หรือไม่รู้แต่พวกเราละเมิดลิขสิทธิ์กันจนชินครับ

ผู้ผลิตซอรฟแวร์ไทยส่วนมากจะไปไม่รอด บางบริษัทก็เลิกทำไปแล้วและอีกหลายบริษัทที่ทนอยู่ จะเหลือพนักงานอยู่สองสามคนเพราะแบกรับภาระไม่ไหว ทั้งๆที่โปรแกรมที่ทำออกมาหลายชุดก็มีคนนิยมใช้กันแพร่หลายเช่นโปรแกรม ดิกชันนารี ที่บริษัททำออกจำหน่ายได้รับความนิยมมาก มีผู้ใช้เยอะมาก แต่ผู้คิดผู้ผลิตไม่ได้ผลประโยชน์เลยเพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้แบบละเมิด ลิขสิทธิ์ เช่นบางคนก็ใจดีมาก เห็นว่าโปรแกรมดี ก็เลยแบ่งปัน เอาแผ่น CD ไป copy แล้วก็แจกกันใช้ อันนี้ก็ยังดีเรียกว่าละเมิดเพราะมีน้ำใจครับแต่ที่น่าเจ็บใจคือพวกที่ทำ เป็นอาชีพทำเป็นการค้าแบบไม่อายใคร คือใครมาซื้อก็ copy ขายเลยครับ บางร้านก็แนบเนียนหน่อยคือวางแผ่นซอฟต์แวร์ ลิขสิทธิ์ตัวจริงไว้หน้าร้าน แต่พอมีลูกค้ามาซื้อก็จะบอก 2 ราคาคือ ราคาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ กับราคาซอฟต์แวร์ copy ให้ลูกค้าเลือกเอาเอง อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันครับเวลาตกนรกหรือโดนจับ จะได้แบ่งโทษกันจะมาเอาผิดคนขายฝ่ายเดียวไม่ได้ (ก็อยากเลือกเองนี่นา) ทำอย่างนี้กันแล้วผู้ผลิตผู้คิดจะเอาอะไรรับประทานล่ะครับ

พวกเราไม่คุ้นเคยเรื่องสิทธิทางปัญญาครับ เมื่อเร็วๆนี้ที่โรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง หลังเสร็จการบรรยายผมก็มอบ CD เฉลยข้อสอบ Entrance ให้กับทางโรงเรียนเพื่อไว้ใช้ในการเรียนการสอน พออาจารย์ดูรายละเอียดจากปก CDเสร็จ ท่านก็บอกว่าดีนะ อย่างนี้จะให้เด็ก copy ไว้ และนำไปขายเป็นโครงงานของนักเรียน เพราะช่วงนี้เด็กต้องมีโครงงาน ฟังแล้วก็ลำบากใจมากครับ ได้แต่บอกอาจารย์ว่า ต้องไปขอสิทธิอันนี้จากผู้ผลิตหรือเจ้าของสิทธิบัตร ซอฟต์แวร์นี้ก่อนครับซึ่งถ้าเขาเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเขาก็อาจไม่ขัดข้องครับ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยเอง เราก็เห็นภาพชินตาคือการ ถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มเพื่อนำไปใช้แทนที่จะซื้อหนังสือ เพราะคิดว่าถูกกว่าการไปซื้อหนังสือที่วางขายกันอยู่ อย่างนี้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว

ผมคิดว่าในหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากจะรณรงค์เรื่องการละเมิดสิทธิซึ่งทำกันได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ควรเพิ่มเติมโดยให้ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางปัญญาเหล่านี้ด้วย เพราะบางทีเราไม่รู้ตัวครับ ส่วนผู้ประกอบการเอง เช่นร้านขาย CD ร้านถ่ายเอกสารหรือร้านหนังสือก็น่าจะช่วยกันส่งเสริมการใช้ ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของคนไทย กำไรน้อยลงนิดแต่ประเทศจะได้มีนักคิดและพัฒนาเก่งๆ

คนทำซอฟต์แวร์ไทยน่าเห็นใจมาก เพราะกว่าจะคิดจะทำ ต้องลงทุน ทั้งแรง เงิน และสมองไปเยอะ แต่ผลตอบแทนน้อยมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ บ้านเมืองเราคงไม่มีใครคิดอะไรใหม่ๆดีๆ โอกาสอยู่ดีกินดีของคนไทยก็คงน้อยลงครับเพราะไม่มีอะไรไปสู้ไปแข่งขันกับ ต่างประเทศ

ช่วงนี้มีการรณรงค์เรื่องสิทธิทางปัญญากันมาก ร้านขาย CD หลายร้านน่าปรบมือให้ดังๆครับ เพราะมีการประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนโดยการติดป้ายตัวโต หน้าร้านว่า ร้านนี้ขายซอฟต์แวร์ ไทยลิขสิทธิ์ บางร้านติดป้ายว่า อย่ามาถามหาแผ่นไทยเพลงไทย ความจริงแล้วราคาของ ซอฟต์แวร์ไทย ก็ถูกแสนถูก ที่ติดราคากัน 400 - 500 บาท ขายจริง ก็แค่ 180 บาทเท่านั้นแหละครับ ถ้าไปซื้อแผ่น copy ราคา 140 - 150 บาทเราอาจ ประหยัดไปบ้างแต่ก็แค่ไม่กี่บาท ส่วนคนคิดคนทำนี่สิครับไม่ได้สักสลึง

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาคุ้มครองเรื่องสิทธิทางปัญญานี้มาก และคุ้มครองกันมานานแล้วครับ ผมไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศ ฮอลแลนด์ ไปเจอร้านอาหารไทยทำอาหารได้อร่อยมาก เจ้าของร้านเป็นคนไทย มีลูกค้าเยอะมาก ผมติดใจไปทานอยู่หลายวัน (เพราะราคาไม่แพง) สังเกตว่ามีร้านนี้ไม่เปิดเพลงเลย ทานข้าวไม่มีเสียงดนตรีมันเหมือนขาดอะไรไป ผมเลยแนะนำเขาว่าน่าจะหาเพลงมาเปิด เค้าบอกว่าเขาก็ชอบฟังเพลงแต่ถ้าที่ร้านเปิดเพลงก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ เพลง เพราะที่นี่เค้าจริงจังกับเรื่องลิขสิทธิ์มาก เทศบาลจะเป็นคนเก็บค่าลิขสิทธิ์แล้วส่งต่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทุกราย ดังนั้นทุกร้านที่เปิดเพลงให้ลูกค้าฟังต้องเสียภาษีตรงนี้

ในเอเชียเรามีการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาค่อนข้างต่ำแต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น เรื่อยๆครับเช่น เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ฮ่องกงก็มีการ copy โปรแกรมลงแผ่น CD ขายเป็นล่ำเป็นสันเหมือนอย่างบ้านเรานี่แหละ แต่ 2-3 ปีหลังเขาก็เลิกกันหมดแล้วครับ ที่เหลืออยู่ก็หลบๆซ่อนๆแบบหายากจริงๆ แต่ ที่สิงคโปร์นี่ไม่ต้องหาเลยครับ คนสิงคโปร์จะ หาแผ่น ซอฟต์แวร์ผี CD เถื่อนต้องข้ามฝั่งมาซื้อแผ่นปลอมพวกนี้ที่ประเทศมาเลเซีย ความจริงถ้าอยากซื้อถูกๆแบบเปิดเผยต้องที่พม่า แผ่นพวกนี้วางขายทั่วไปในราคาแผ่นละ 20 บาทครับ

นักคิดนักประดิษฐ์ทั้งหลายอย่าเพิ่งท้อ เพิ่มเติมความรู้ด้านสิทธิบัตรกันหน่อย จะได้ไม่เสียเปรียบครับ

ส่วนผู้ประกอบการก็เห็นใจกันหน่อยครับ จะ Copy อะไรขายก็นึกถึงหัวอกหัวใจคนไทยด้วยกันเถอะครับ

ฝ่ายรัฐคงต้องตรวจเข้มพร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง

อาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
wiriya@eduzones.com
www.eduzones.com/Creative Plus

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook