อว. แถลงความพร้อมจัดงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65” เน้นศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ca/0/ud/282/1411119/nst8.jpgอว. แถลงความพร้อมจัดงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65” เน้นศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

    อว. แถลงความพร้อมจัดงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65” เน้นศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

    2022-08-04T11:55:25+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    อพวช. ขานรับนโยบาย อว. เปิดพื้นที่ 2 แห่ง จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565 ภายใต้แนวคิดศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ร่วมแสดงนวัตกรรมและผลงานวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่แห่งปี วันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และ 17 – 21 สิงหาคม 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กับงาน NST Fair Science Carnival Bangkok

    ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

    ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปี 2565 นี้ อว. มีกำหนดจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น 2 แห่ง คือที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในรูปแบบการจัดงานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินมาทุกปี มีสถานที่จัดงานกว้างขวาง และเดินทางสะดวกสำหรับนักเรียน เยาวชนที่สนใจเข้าชมงาน และในปีนี้ได้ริเริ่มจัดที่สามย่านมิตรทาวน์ขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งเป็นใจกลางเมืองอีกแห่งที่มีเยาวชนรวมตัวกันมากเป็นพิเศษ ทั้งมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ อีกทั้งยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีได้อย่างสะดวกมาก

    รมว.อว. กล่าวต่อว่า สำหรับมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปีนี้ ที่ อว.โดย อพวช. จัดขึ้นนั้น ตั้งใจจัดให้เยาวชน นักเรียน และผู้สนใจที่เข้าชมงานมีความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปพร้อมๆ กับการเพิ่มพูนความรู้รอบตัว ทำให้ผู้ที่เข้าชมงานเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นผู้ที่มีทั้งวิทย์และศิลป์ ตลอดจนคุณธรรมในตัวเอง เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีเป้าหมายทำให้สังคมยั่งยืน ทุกวันนี้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์แล้ว คนไทยไม่แพ้ใคร มีนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนที่ทำงานให้กับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี วิทยาศาสตร์ของไทยเป็นศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณ บรรพบุรุษไทยมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว เห็นได้จากการสร้างโบราณสถานมากมายหรือวัดวาอาราม ล้วนนำองค์ความรู้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น

    “คนไทยเก่งในการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมแบบไทย วิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่มีการต่อยอดพัฒนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาสู่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงต้องมีการผนวกรวมวิทยาศาสตร์ในยุคเก่าและยุคใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งเราจะได้สัมผัสและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้กันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ของปีนี้ ที่จะปลุกความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวของทุกคนกับนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจและกิจกรรมที่สนุกสนานอีกมากมาย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

    สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่จัดโดย กระทรวง อว. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงนำความรู้ด้านศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ศิลปะมาใช้ในการพัฒนาประเทศ เป็นต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังได้นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

    ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า แนวคิดหลักของการจัดงานในปีนี้คือ “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) โดยเน้นนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและประชาชนไทย มากถึง 124 หน่วยงาน จาก 11 ประเทศ (รวมประเทศไทย)

    ส่วนจัดแสดงที่สำคัญคือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติของกษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ อันเปี่ยมไปด้วยคุณูปการและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ภายในงานยังมี หนึ่งในโครงการที่สำคัญ โดยจะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ Prime Minister’s Science Award 2022 ให้กับเยาวชนและครูวิทยาศาสตร์ที่ผู้เป็นต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันหรือภายในชุมชน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดการมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนและครู และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเยาวชน ครูและสถานศึกษา ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศต่อไป

    ที่สำคัญปีนี้นอกจาก มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จะจัดขึ้น ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 แล้ว ยังกำหนดจัดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งใจกลางกรุงเทพ ในชื่อ NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนในชุมชนเมือง ให้สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ผ่านศิลปะ ดนตรี และการนำเสนอที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพ ได้มาร่วมสนุกกับกิจกรรมที่ท้าทาย ให้ร่วมค้นหาคำตอบและเกิดเป็นแรงบันดาลใจและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง กิจกรรมภายในงาน อาทิ Makers Science & Challenges กิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับคนชื่นชอบการประดิษฐ์ ร่วมสนุกและส่งเสียงเชียร์กับการแข่งหุ่นยนต์เห่ย (Hebocon) สิ่งประดิษฐ์จากขยะที่จะมาสร้างความสนุกสนานให้กับทุกท่าน เพลิดเพลินไปกับแสงสีของขบวน Electric Parade ในยามค่ำคืน ทำความรู้จักกับอาหารทางเลือกแวะลองลิ้มชิมรสอาหาร superfood ผงโปรตีนธรรมชาติจิ้งหรีดขาว..การันตีรสชาติความอร่อย จากร้าน Bounce Burger by The Bricket และอิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหารแห่งอนาคต ในลานกิจกรรม Chill & Shop

    ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึง ภาพรวมของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม ในปีนี้ ประกอบด้วย 5 นิทรรศการหลักที่จะนำเสนอประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาประเทศ รวมทั้งนิทรรศการแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคม ของประเทศไทยและต่างประเทศ และกิจกรรมสำหรับเยาวชน กิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ การประกวดแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง การประชุม สัมมนา ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศและภูมิภาค กิจกรรมไฮไลท์ที่ห้ามพลาด ได้แก่ นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก (Through the Looking Glass) นิทรรศการที่เล่าเรื่อง “แก้ว” ในทุกมิติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ผ่านการเปิดมุมมองใหม่ๆ และการเรรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จากวัสดุที่ผ่านการถูกปฏิวัติมานาน และอยู่คู่กับมนุษย์บนโลกนี้มานานนับพันปี และนิทรรศการ ลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst) จำลองถ้ำและคาสต์เพื่อเปิดพรมแดนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ว่าเป็นที่ก่อเกิดทรัพยากรหลากหลาย แหล่งน้ำ แหล่งเศรษฐกิจ แหล่งโบราณคดี แหล่งท่องเที่ยว แหล่งฝึกปฏิบัติขัดเกลาจิตตามหลักศาสนาและจิตวิญญาณ เรียกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นและสัมผัสในชีวิตประจำวันอาจจะมีเรื่องราว เบื้องลึกที่เป็นมากกว่าสิ่งที่เราได้เห็นและรู้จัก

    สำหรับเยาวชน นักเรียน และผู้สนใจเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2565 จัดโดย อว. ทั้ง 2 แห่ง วันที่ 13 -21 สิงหาคม 2565 ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กับงาน NST Fair Science Carnival Bangkok สอบถามข้อมูลการจองเข้าชมงานแบบหมู่คณะได้ที่ โทร 02 577 9960 ติดตามรายละเอียดของงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์ Online Activities ชมการ LIVE สด และเยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมภายในงานเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook: NSTFair Thailand 

    อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ อว. แถลงความพร้อมจัดงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65” เน้นศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม