ความต่างวัยในครอบครัวเหล่าธรรมทัศน์

ความต่างวัยในครอบครัวเหล่าธรรมทัศน์

ความต่างวัยในครอบครัวเหล่าธรรมทัศน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พูดถึงความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทย สาเหตุหนึ่งก็มาจากความต่างระหว่างวัยของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องทำงานร่วมกับเด็กๆ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ใช้ประสบการณ์ตรงในครอบครัวกับลูกๆ 4 คนมาปรับใช้เป็นวิธีการบริหารงานและนโยบายได้อย่างดี

Sanook Campus สัมภาษณ์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. และเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พ่อลูกคู่ซี้ที่ทำงานการเมืองร่วมกันในฐานะหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ก่อนเริ่มต้นสัมภาษณ์ให้แต่ละคนนิยามนิสัยของกันละกัน เขตรัฐนิยามพ่อว่า “ใจดี แต่ดุเมื่อยามจำเป็น” ด้านเอนกนิยามลูกชายว่า “ร่าเริง ชอบคบเพื่อน Outgoing และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้เสมอ” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ลูกเรากับที่คนอื่นมองมันไม่เหมือนกัน เราต้องไปรับฟังความเห็นของคนอื่นด้วย”

ความขัดแย้งระหว่างวัยเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว

เมื่อถามถึงประสบการณ์ความต่างระหว่างวัยที่นำมาสู่ความขัดแย้งในครอบครัว เขตรัฐเล่าว่าเหตุการณ์ที่จำได้ดีคือตอนที่กลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ แล้วจะขอที่บ้านสักและเจาะหู แต่พ่อไม่ยอม เพราะมองว่าในสมัยนั้นมันดูพิลึก ไม่สวย แต่ตอนนี้ก็เป็นที่ยอมรับได้แล้ว แต่ตอนนั้นกลัวลูกจะคิดและทำอะไรเร็วเกินไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นที่มักจะคิดว่าตัวเองถูกเสมอ และผู้ใหญ่ผิดเสมอ ตอนนั้นตัวเองบอกลูกไปว่า รออีก 2 ปีแล้วค่อยตัดสินใจ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะเมื่อเข้าโตขึ้น เขาก็ไม่ทำ เอนกเล่าด้วยสีหน้าอมยิ้ม ก่อนที่จะพูดอย่างจริงจังว่า “แต่ถ้าเป็นเรื่องร้ายแรงกว่านั้น ผมก็จะยอมกราบลูก เพราะผมต้องการรักษาชีวิตลูก ไม่ต้องห่วงศักดิ์ศรีอะไร”

ขณะที่เขตรัฐเปิดใจว่าตอนนั้นรู้สึกขัดใจมาก อยากจะพุ่งแล้ว ไม่ฟังแล้ว “ผมจะฟังคุณทำไม เราก็มีชุดความคิดของเรา ทีคิวคุณยังหนีเข้าไปในป่า พ่อแม่คุณห้ามก็ไม่ฟัง แล้วคุณจะมาห้ามผมทำไม คุณดื้อกว่าผมอีก เราก็จะเถียงอย่างนี้ตลอด” แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือท่านไม่เคยบีบบังคับ แต่ใช้วิธีสอนแบบให้ไปโดนเอง ให้เจ็บเอง ให้รู้เองมากกว่า

ประสบการณ์แสบของ ‘เอนก’ หนีเข้าป่าสมัย ‘6 ตุลา’

เอนก เปิดเผยประสบการณ์สมัยเป็นวัยรุ่นว่าตอนนั้นเป็นเด็กเรียนดี ซึ่งตามความคาดหวังของสังคมและผลิตผลของยุคสมัย คนเรียนดีก็ต้องเรียนหมอ แม้ว่าตัวเองชอบประวัติศาสตร์ สารคดี แต่ไม่ชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ก็สอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลคือสอบติดก็ต้องฝืนเรียนต่อไป แม้จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวเอง

จนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สังคมเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย นักศึกษาจำนวนมากหนีเข้าป่า และถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เอนก ในฐานะนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเล่าว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนการเรียนอย่างฉับพลัน และหลังจากมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เอนกในวัย 28 ปีกลับเข้าเมืองอีกครั้ง และตัดสินใจที่จะยุติการเรียนแพทยศาสตร์ โดยเอาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ไปสมัครเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา เพราะตั้งใจว่าจะเอาความรู้มาสอนคนไม่ให้เดินแนวทางที่ทำให้เกิดการนองเลือดอีก ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองแบบสงบ สันติ ตามวิถีทางประชาธิปไตย

ตกตะกอน การแบ่งขั้วทางการเมืองและวัยเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต

“เขาบอกว่าเมื่อคุณเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วคนไม่เป็นซ้ายคุณก็ไม่มีหัวใจ เมื่อคุณเข้าวัยกลางคนทำงานแล้ว แล้วคุณเป็นซ้ายอยู่คุณก็ไม่มีสมอง อันนี้ก็น่าคิดนะ แต่ผมคิดว่าขวากับซ้ายมันอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นน้ำหนักเท่านั้นที่มองต่างกัน แล้วมันก็มองต่างกันตามเวลา หรือตามช่วงสมัย” เอนก กล่าว

เอนกเล่าให้ฟังต่อไปว่าหลังออกจากป่า ตัวเองได้ตกตะกอนว่า วันที่เข้าป่าเรามากันกี่คน 5 คน แต่ตอนกลับนับไปนับมาได้ 3 คน อีก 2 คนตายไปแล้วซึ่งตัวเองก็ยังเสียใจและเชิดชูในความเสียสละชีพของเพื่อนๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้คิดว่าการที่เราต้องใช้ชีวิตเข้าไปแลกมันไม่คุ้ม เพราะว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ เราเปลี่ยนใจได้ เปลี่ยนความคิดได้ พอคิดอย่างนี้มันก็สมดุลขึ้น เพราะถ้าคิดย้อนไปว่าหากตัวเองมีโอกาสได้เรียนจนจบเข้าทำงานรับราชการก็อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้อีกมากมาย แถมยังไม่ทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจ แต่มาคิดได้ก็เมื่อโตจนอายุมากขึ้นแล้ว

พอมองจากคนที่ผ่านประสบการณ์การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองมาหลายครั้ง เอนกแสดงความเห็นว่าระยะหลังเราไปใส่เลนที่แบ่งคนออกเป็นอนุรักษ์นิยมกับประชาธิปไตยมากเกินไป อันนี้อันตราย เพราะถ้าคิดว่ามันจะต้องขัดแย้งกัน เดี๋ยวมันก็จะตีกันจริงๆ

“สมัยก่อนพวกเราเป็นซ้ายเรามองพวกขวาเป็นเต่า เป็นไดโนเสาร์ แต่ตอนนี้ที่เราหนีเข้าป่านี่เรายังจำได้เลย ไอ้เพื่อนขวาๆ ที่เกเร ที่กินเหล้านี่แหละมันพาเราหนี ทำให้ผมรู้สึกว่าตกลงเรื่องครอบครัวนี่เรื่องจริง เรื่องครูกับศิษย์นี่ก็เรื่องจริง เรื่องเพื่อนกับเพื่อนนี่ก็เรื่องจริง อันนี้ก็เลยสะท้อนว่าอะไรที่คุณยัดเยียดเรียกว่าอนุรักษ์นิยม มันไม่ใช่แบบนั้น พวกเสรีนิยมเองก็มีครอบครัวก็มีพี่น้อง ก็มีครูบาอาจารย์ เราอย่าไปคิดว่าโลกนี้มันมีแต่อุดมการณ์ทางการเมือง แล้วเอาเรื่องนี้ไปครอบคลุมทุกอย่างหมด”

เอนกนั่งนึกถึงอดีตอันเจ็บปวด แล้วกล่าวออกมาว่า “ผมผ่านเหตุการณ์การแบ่งขั้วนี้มาเยอะแล้ว ดังนั้นผมจะระมัดระวังมาก ผมจะไม่สรุปว่าใครเป็นอะไร”

ประสบการณ์ในอดีต เอามาต่อยอดให้ลูกๆ

หลังจากประสบความสำเร็จในสายงานวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอนกเล่าว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนเขียนหนังสือเรื่องบูรพาภิวัฒน์ และตะวันออกตะวันตกใครสร้างโลกสมัยใหม่ ทำให้เห็นว่าโลกในอนาคตจะไม่ใช่โลกขั้วเดียว มันจะกลายเป็นโลกสองขั้ว ตะวันออกกำลังจะเจริญเร็วขึ้น ขณะที่ตะวันตกจะเริ่มช้าลง จึงส่งเขตรัฐและเขมรัฐไปเรียนมัธยมและปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อเขตรัฐเรียนจบก็ส่งไปต่อปริญญาโทที่จีน เพื่อรวมเอาข้อดีของทั้งสองประเทศไว้ ส่วนลูกๆ อีก 2 คนก็ส่งไปเรียนที่อินเดียและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ เพราะเห็นความสำคัญของประเทศเหล่านี้ และคิดแบบข้ามเวลา แต่จุดอ่อนของลูกคือไม่ค่อยรู้เรื่องไทย เขตรัฐก็ต้องกลับมาปรับตัวเมื่อมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทำงานการเมือง

เขตรัฐเปิดเผยว่าการไปอยู๋ในสังคมที่แปลกใหม่ ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ปรับตัวได้ตามความท้าทาย และเมื่อไปอยู่ต่างประเทศจริงก็จะเจอกับความรู้สึกที่มากกว่าการรับรู้ของชาวต่างชาติที่ต่างจากผู้อยู่อาศัยจริง อย่าง เช่น คนนอกจะมองว่าสหรัฐมีอิสรภาพมากกว่าจีน แต่ความจริงแล้วจีน มีอิสรภาพที่จะทำอะไรได้มากกว่าสังคมอเมริกาที่ยังมีกรอบเรื่องการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิว เป็นต้น

เอนกกล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วมันมีความรู้อีกชุดหนึ่ง คือ Wisdom of age หรือ ปัญญาอันเกิดจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งบางคนไม่ต้องรอจนแก่แล้วถึงจะได้ปัญญาอันนี้ เขาได้จากคนรุ่นก่อนได้ การยอมรับและเรียนรู้ประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน แล้วเอาจุดดีเขามาใช้

“เป็นเด็กผมก็เคยเป็นมาแล้ว เป็นคนรุ่นใหม่ผมก็เคยเป็นมาแล้ว...ไม่ใช่เกิดมาแล้วแก่เลย ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณ แต่ว่าผมก็บังเอิญมีบุญได้โตมาด้วย แล้วพอผมโตมาแล้ว เป็นผู้ใหญ่มาแล้ว ผมก็ได้รู้ว่าบางเรื่องที่ผมทำ มันเร็วเกินไป มันแรงเกินไป แล้วมันดูเบาคนอื่นเกินไป” เอนก กล่าวเสริม

 เรียนรู้จากความต่างวัย ทำให้นโยบาย อว. โอบรับคนแต่ละรุ่นไว้ด้วยกัน

เอนก ยอมรับว่า เวลาที่เปลี่ยนไปก็ทำให้คนเราความคิดความอ่านเปลี่ยนด้วย ตัวเองก็เปลี่ยนมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้งแล้ว เปลี่ยนมาเรื่อยๆ เพราะเราเป็นคน เป็นคนก็ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อก่อนอยากเป็นหมอ โตขึ้นมาอยากเรียนรัฐศาสตร์ แต่ถ้าถามตอนนี้ก็อยากเป็นนักโบราณคดี เพราะบางทีมันใช้เวลานานกว่าจะรู้จักตัวเอง แล้วก็บางทีไอ้ตัวเองมันก็เปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ และถ้าถามว่าตอนนี้ชอบอะไรที่สุด เอนกก็จะตอบว่า เป็นรัฐมนตรีสนุกที่สุด ทำอะไรได้เยอะมาก อันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ได้มาพบเมื่อตัวเองอยู่ในวัย 60

พอถามเขตรัฐถึงผลงานที่ตัวเองในฐานะคนรุ่นใหม่ พอใจกับการทำงานของพ่อในกระทรวง อว. เขตรัฐบอกว่าด้วยวิธีคิดแบบกล้าทำ และลุยงานตลอดเวลา นโยบายส่วนใหญ่ก็โดนใจและทันใจตัวเอง แต่ที่ชอบมากๆ คือ นโยบายปลดล็อคหน่วยกิจที่โอนข้ามมหาวิทยาลัยได้ อันนี้ปกติเราจะเห็นแต่ที่อเมริกา แต่ยังใหม่สำหรับที่ไทย ซึ่งเป็นเด็กที่พอค้นพบตัวเองว่าที่เรียนอยู่ไม่ใช่ และซิ่ว หรือย้ายคณะ ย้ายมหาวิทยาลัย ก็ไม่ต้องเริ่มหใม่หมด แต่เรียนต่อจากที่เคยเรียนได้เลย

นอกจากนี้ยังมีโครงการ U2T หนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย ที่มหาวทิยาลัยจะเข้าไปในชุมชน เอาความรู้และงานวิจัยลงไปช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้าของชุมชนขึ้นมา สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างงานให้กับนักศึกษาแล้วก็คนในชุมชน ดันเศรษฐกิจของชุมชนขึ้นมา ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้จากชุมชนเหมือนกันว่ามีองค์ความรู้ของชาวบ้านของประชาชนที่อยู่ในนั้นด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยทำ และสร้างความมั่นใจให้นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยให้เอาความรู้ไปลองทำให้ประสบความสำเร็จ

เอนก กว่าเสริมว่า เป็นการใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นจากงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ตัวเองจึงถือโอกาสเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชน เหมือนที่เคยเข้าหาชุมชนตอนเป็นนักศึกษา แต่โอกาสที่จะได้เพิ่มคือการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท กระจายแรงงาน อาชีพ และตำแหน่งานลงชนบท ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็จะได้เรียนรู้จากชุมชน เป็นของชุมชนมากขึ้น ทำประโยชน์ให้สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่ทำแต่งานวิชาการ

ในช่วงท้าย เขตรัฐกล่าวด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับเยาวชนว่า โอกาสเข้ามาได้เสมอ เราไม่รู้มันเข้ามาเมื่อไร แต่เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมตลอดเวลา ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องขยับไปข้างหน้าตลอดเวลา อยากให้น้องๆ ทุกคนมองอะไรให้เป็นบวก แล้วก็เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับโอกาสเข้ามาในวันข้างหน้า

ชขณะที่เอนก กล่าวทิ้งท้ายว่า เด็กรุ่นปัจจุบันพูดแต่เรื่องปัญหา แต่เขาไม่ได้มีแต่ปัญหา เขามีศักยภาพ เพราะฉะนั้นต้องมองให้เห็นโอกาส แล้วคนที่ทำอะไรโดยมองแต่ปัญหา กับคนที่ทำอะไรเพราะเห็นโอกาส มันทำต่างกัน ส่วนผู้ใหญ่เองก็ต้องรับฟัง ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูด แล้วก็ต้องขยันที่จะคุยกับเขา ขยันคุยกับคนรุ่นใหม่ และต้องถ่อมตัวเหมือนกัน แม้ว่าจะเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อน แต่ว่าความรู้สึกแบบคนรุ่นใหม่ตอนนั้นกับคนรุ่นใหม่ตอนนี้อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามฟังคนรุ่นใหม่ปัจจุบันนี้ให้มากขึ้น คนสองวัยก็จะมาบรรจบกันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook