ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน ทำไมประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปไกลเหมือนชาติอื่นๆ

ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน ทำไมประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปไกลเหมือนชาติอื่นๆ

ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน ทำไมประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปไกลเหมือนชาติอื่นๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งที่เรียกว่ามีความสำคัญต่อนักเรียนในโรงเรียน นอกเหนือจากการได้รับความรู้ที่ดีแล้ว นั่นก็คือการได้รับประทานอาหารที่ดี เหมาะสมและถูกหลักโภชนาการ เพราะโภชนาการที่ดีนั้นจะช่วยในการเติบโตและพัฒนาการที่ดีของเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีนั่นเอง ซึ่งหน้าที่เล็กๆ ที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนที่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก หรืออาจจะมองข้ามไปนั่นก็คือ ซัพพลายเออร์ ที่ทำหน้าที่จัดการวัตถุดิบและประกอบอาหารจนกลายเป็นมื้อกลางวันให้กับเหล่านักเรียนได้รับประทานกันนั่นเอง

ครั้งนี้ Sanook Campus เราได้รับโอกาสจาก คุณโพ่ง-ปวีนณัช พิศพาร ผู้ประกอบการ บริษัท พาวิน เมคเกอร์ จำกัด ผู้ทำหน้าที่ซัพพลายเออร์จัดการเรื่องอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ให้มาพูดคุยถึงปัญหา และสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการอาหารกลางวันเด็กในประเทศไทย ว่าความจริงที่และปัญหาในการทำงานหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้ว่ามื้ออาหารแต่ละมื้อ กว่าจะถึงจานข้าวลูกๆ ของคุณในโรงเรียน มันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง

หน้าที่ของซัพพลายเออร์สำหรับคนที่ไม่รู้จักคือทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ในส่วนของซัพพลายเออร์อาหาร ที่โพ่งทำ คือการรับจัดอาหารเช้าและอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน คือเริ่มตั้งแต่นับ 1 เลยค่ะ ตั้งแต่หาวัตถุดิบหาของสด ของแห้ง ข้าวสารต่างๆ ในการปรุงอาหาร จัดหาบุคลากรทั้งแม่ครัว นักโภชนาการ ที่มีมาตรฐานผ่านการฉีดวัคซีน มีใบตรวจสุขภาพ ใบรับรองแพทย์ ใบผู้สัมผัสอาหารที่แม่ครัวจะต้องมี

ในส่วนหน้าที่ของโพ่งก็คือทำงานร่วมกับโรงเรียนคำนวณอาหาร จัดทำเมนู คำนวณปริมาณพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน และประกอบอาหารให้มีรสชาติที่ดี และยังถูกหลักสุขาภิบาล และสุดท้ายก็คือเก็บและทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์การทำอาหารให้สะอาดเรียบร้อยถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารค่ะ

โภชนาการของเด็กที่เหมาะสมจริงๆ ในมุมมองของซัพพลายเออร์คืออะไร?

สำหรับโพ่งที่ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ โพ่งมีมุมมองว่าเป็นทุกคน ควรได้รับอาหารที่ครบ 5 หมู่ ได้รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ซึ่งโภชนาการของเด็กไทยที่เป็นปัญหาหลักๆ เลยก็คือปัญหาเรื่องความอ้วนตลอดจนภาวะน้ำตาลสะสม และปัญหาการขาดสารอาหารบางชนิดซึ่งควรที่จะถูกนำมาคิดและจัดการเพื่อให้ได้เมนูที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ที่ต้องเขอกับปัญหาภาวะนั้นอยู่

ซึ่งในส่วนของซัพพลายเออร์ ในแต่ละโรงเรียนก็จะมีโครงการที่จะดูแลโภชนาการเด็กอยู่แล้วเช่นการลดปริมาณความหวานในอาหารของเด็ก ตลอดจนไม่ค่อยเน้นแป้ง ที่จะก่อให้เกิดปัญหาภาวะอ้วนได้ นี่คือมุมมองของโพ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับอาหารเด็กๆ ค่ะ

490087

อยากให้อธิบายเรื่องการคำนวณสารอาหารแต่ละมื้อหน่อย ว่าใช้ระบบอะไร แล้วต้องวัดอย่างไรถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนหนึ่งคน?

ในส่วนที่โพ่งทำอยู่ก็จะใช้ระบบโปรแกรม Thai School Lunch เป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการอาหารให้กับเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กหนึ่งคน สำหรับในโรงเรียนสังกัดของ กทม. จะได้รับอาหารทั้งหมด 2 มื้อ นั่นก็คือมื้อเช้า และมื้อกลางวัน โดยในโปรแกรมจะมีตัวกำหนดเลยว่า 2 มื้อ จะต้องใช้จำนวนปริมาณแคลอรีเท่าไหร่ จะต้องใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็จะมีอยู่ในโปรแกรมอยู่แล้ว เราก็ใส่ข้อมูลมื้ออาหารเข้าไปว่า เด็ก 1 คน จะต้องใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ แล้วนำมาเทียบบัญญัติไตรยางศ์ว่าถ้าเด็ก 100 คนจะใช้ปริมาณเท่าไหร่ก็คูณไป

โดยตัวของโปรแกรมก็จะระบุเอาไว้แล้วว่าในหนึ่งวันเด็กควรได้รับสารอาหาร ได้รับวัตถุดิบอะไรเท่าไหร่ ซึ่งมันก็จะถูกกำหนดเอาไว้ในโปรแกรมเอาไว้เรียบร้อย เมื่อเราได้ข้อมูลออกมาแล้ว เราก็เอามาคำนวณเป็นเมนูรายวันเพื่อที่จะส่งให้กับซัพพลายเออร์ของเรา เพื่อที่จะส่งอาหารของเราให้กับโรงเรียน

โดยโปรแกรม Thai School Lunch เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สวทช) โดยกรุงเทพมหานครเลยนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้งานและพัฒนาต่อจนเป็น Thai School Lunch for BMA นั่นเอง ซึ่งเป็นโปรแกรมที่อัปเดตข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ สามารถใส่ข้อมูลเพิ่มเติมได้สำหรับแต่ละโรงเรียน เช่นเพิ่มเมนูอาหารท้องถิ่นที่นิยมลงไปได้ ซึ่งทำให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถนำไปแชร์และใช้ตามกันได้

เด็กแต่ละคนความต้องการไม่เท่ากันเช่นเด็กที่มีปัญหาเรื่องการคุมน้ำหนัก หรือเด็กที่ผอมเกินไป ทางดด้านซัพพลายเออร์มีหน้าที่จัดการอย่างไร?

โปรแกรมอาหารต่างๆ จะถูกกำหนดเอาไว้อยู่แล้วว่าใน 1 สัปดาห์เราเด็กต้องการอะไรบ้าน ยกตัวอย่างเช่นเมนูกะทิ ที่จะให้มี 1 วันต่อสัปดาห์ที่เป็นของคาว เมนูข้าวกับอาหาร 2 อย่าง 3 วัน อาหารจานเดียว 1 วัน เพราะฉะนั้นในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัว หรือเด็กผอม เราต้องการให้มีความสมดุลที่สุด ดังนั้นเมนู ก็ต้องเป็นเมนูที่เป็นมาตรฐานกลาง ไม่เน้นมันเกินไป เพราะอาหารเด็ก สิ่งที่เราต้องคำนึงเลยก็คือโภชนาการต่างๆ อาหารที่ทำออกมาต้องเป็นอาหารที่รสชาติดีแต่ในขณะเดียวกันมันต้องไม่ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่มัน ไม่เผ็ด ไม่เค็มจนเกินไป

มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารของประเทศไทยเรามีกำหนดเอาไว้กี่ข้อ ถึงจะเรียกว่าเป็นการปรุงอาหารที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารของประเทศไทยมีทั้งหมด 30 ข้อค่ะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวที่ใช้ร่วมกันในร้านอาหาร โรงแรม ตลอดจนสตรีทฟู้ดเลย ยกตัวอย่างเช่น สถานที่รับประทาน และบริเวณต่างๆ ต้องมีความสะอาด, สถานที่เตรียมอาหารต้องมีความสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่าตามที่กำหนด ตลอดจนต้องมีการแยกการใช้เขียงของสด และเขียงผัก ตลอดจนถึงเนื้อสัตว์ต้องมีการปรุงอย่างดี วัตถุดิบต้องสด ภาชนะอุปกรณ์ต้องสะอาดล้างอย่างดี ตลอดไปยันการแยกขยะซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้เหมือนกันหมดเลย โดยจุดที่แตกต่างคือโรงพยาบาลโดยโรงพยาบาลจะมีมาตรฐานที่ละเอียดกว่านั้นเพราะว่าเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปทั้งโรงเรียน ร้านอาหาร โรงแรม ตลอดจนสตรีทฟู้ด จะใช้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารเดียวกัน

a4_artwork

จากข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง กับเรื่องอาหารของโรงเรียนที่มีภาพหลุดออกมาว่าเป็นอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ ในฐานะที่เราเป็นซัพพลายเออร์ มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว?

สำหรับโพ่ง มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างค่ะ คืออยากจะเรียนให้ทราบก่อนว่างบประมาณจัดการอาหารกลางวันของประเทศไทย ณ ตอนนี้อยู่ที่ 20 บาท โดยจะเพิ่มเป็น 21 บาทในช่วงตุลาคม ซึ่ง 20 บาทนี้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยงบดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ อนุบาลจนถึง ป.6 เป็นมื้อกลางวันมื้อเดียว แต่สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม. ก็จะได้ 2 มื้อ มีมื้อเช้าด้วยโดยเป็นเงินสนับสนุนของ กทม. ก็จะเป็น มื้อเช้า 15 บาท มื้อกลางวันได้ 25 บาท รวมสองมื้อคือ 40 บาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

โดยพี่จะดูแลนักเรียนทั้งหมด ณ ปัจจุบัน 5,200 คน มี 9 โรงเรียน ซึ่งมีทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยถ้าพูดกันแค่โรงเรียนเล็กก็จะมีอยู่ที่ 125 คน แล้วคูณ 40 ก็จะได้ 5,000 บาทต่อวันในการทำอาหารให้นักเรียน 125 คน ต่อ 2 มื้อ ซึ่งในนี้มีทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแม่ครัว แค่แรง ค่าทุกอย่าง แน่นอนว่ามองแล้ว ถ้าให้พูดก็คงจะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้าง ซึ่งที่เห็นปัญหาเรื่องอาหารโรงเรียนที่มีข่าว ส่วนมากแล้วไม่ใช่โรงเรียนใหญ่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีเด็ก 80 คนแล้วได้วันละ 20 บาท พอเอายอดมาสรุปมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอาหารดีๆ รวมไปถึงผู้ประกอบการเห็นแก่ได้ ซึ่งเขาได้เงินน้อย แต่เขาก็ต้องทำกำไร ผลสรุปเลยไปตกอยู่ที่เด็กที่ถูกลดทอนคุณภาพและปริมาณของอาหารลงมา โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่กลับมาคืออะไร

อีกปัญหาหนึ่งที่เรียกว่าส่งผลกระทบตรงๆ นั่นก็คือเรื่องของต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวัน ซึ่งการจัดการงบประมาณอาหารกลางวันอาจจะไม่ค่อยสอดคล้องกับต้นทุนวัตุดิบ และราคาสินค้าในปัจจุบัน เพราะราคาสินค้าของวัตถุดิบต่าง พุ่งสูงขึ้นมาก ในขณะที่งบประมาณยังเท่าเดิม ยิ่งเป็นการประมูลแล้ว ก็จะบีบต้นทุนยิ่งกว่า ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายต้องทำกำไรสูง เขาจึงเลือกที่จะทำบีบในเรื่องของต้นทุนแบบนั้น

8918a1b5-fb89-4201-9a1a-bc129

ในประเทศบางประเทศ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอาหารกลางวันของนักเรียนนั้นถูกคำนวณมาอย่างดี สำหรับนักเรียนทุกช่วงวัย คิดว่าประเทศไทยเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้แบบครอบคลุมได้ไหม รวมไปถึงโรงเรียนที่มีความห่างไกล?

จริงๆ แล้วในข้อกำหนดของ Thai School Lunch มันก็คือแบบนั้น ว่าเด็กต้องได้เท่าไหร่ นั่นคือทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการบางเจ้าใช้ในเรื่องของความคุ้นเคย แบบวิธีกะเอา ตลอดจนถึงบางโรงเรียนก็ขาดบุคลากรเกี่ยวกับโภชนาการอีก เลยกลายเป็นว่าครูนอกจากต้องสอนหนังสือ ทำงานเอกสารแล้ว ก็ต้องมาเป็นครูโภชนาการ มันก็เลยกลายเป็นไม่มีคนกลางที่คอยมาดูแลมาตรฐานตรงนั้น

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือตัวของโรงเรียนและตัวผู้ประกอบการต้องคุยกันว่าจะไปในทิศทางไหนเพราะความต้องการและความนิยมของอาหารแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันออกไป แล้วนำข้อมูลที่ได้มาผสมกับข้อมูลกลางของระบบแล้วทำเมนูตัวอย่างออกมาเพื่อเป็นเมนูให้กับโรงเรียน และใช้ทรัพยากรทั้งหมดออกมาให้คุ้มค่าที่สุด

แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้แบบครอบคลุมได้ไหม มันเป็นไปได้แต่มันอยู่ที่งบประมาณ ต้องเข้าใจก่อนว่าเงินงบประมาณที่มีมันน้อย ผู้ประกอบการก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าขนส่ง ค่าพนักงาน ค่ารถที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง อาจจะต้องมีการแบ่งสันปันส่วนของต้นทุนให้ดีก่อน โพ่งเชื่อว่าระบบอาหารของนักเรียนไทยก็สามารถพัฒนาขึ้นได้อีก

9ca50334-a15e-44f2-b2ef-46bb2

จากเสียงของผู้ประกอบการ ถ้าเราสามารถส่งเสียงไปถึงทางรัฐบาลได้ อยากให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลและช่วยเหลือในส่วนไหน?

สำหรับในตอนนี้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ เพราะว่าเรามีความเข้าใจกับทางงบประมาณแล้ว คืออยากจะบอกว่าถ้าเราทำโรงเรียนเล็ก แน่นอนว่าเราขาดทุนอยู่แล้ว ไม่ได้กำไร แต่เราต้องทำถ้าเราไม่ทำ เราก็กลัวว่านักเรียนอาจจะต้องไปเจอกับผู้ประกอบการอื่นที่อาจจะเอารัดเอาเปรียบหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่มีอำนาจต่อรองได้ เพราะด้วยความที่เป็นโรงเรียนเล็ก แต่โชคดีที่เรามีดูแลทั้งโรงเรียนเล็กและใหญ่ เราก็ถัวสามารถัวเฉลี่ยรายได้สำหรับโรงเรียนที่มีขนาดเล็กๆ ได้

สิ่งที่ควรทำจริงๆ เลยคือดูปริมาณของเด็กแต่ละโรงเรียนและคำนวณวัตถุดิบของงบประมาณให้เหมาะสม แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะมาคำนวณให้ครบทุกหน่วย เข้าใจถึงระบบการทำงานของประเทศเรา

แต่สิ่งที่เราทำในตอนนี้ก็คือการเลือกวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ โดยทางโพ่งเลือกที่จะดีลกับทาง CPF ทั้งหมด เพราะอย่างที่กล่าวไป เราดูนักเรียนกว่า 5,200 คน เมื่อสั่งเยอะ เราก็สามารถที่จะทำราคาได้ ก็ทำให้เราขายได้แบบที่เปิดกว้างไปถึงเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียนที่เล็กๆ ได้ ซึ่งเราก็มั่นใจว่าคุณภาพของทาง CPF นั้นมีคุณภาพ เพราะสัตว์ถูกเลี้ยงในฟาร์มระบบปิด เนื้อสัตว์ไม่โดนมือคนมาก่อน ผ่านการทำงานของเครื่องจักรเท่านั้น มือคนที่จับเป็นคนแรกก็คือทีมงานทำอาหารของเรา จึงมั่นใจในความสะอาด และปลอดภัยแน่นอน ซึ่งต่างกับสิ่งที่โพ่งเคยเจอมา ผู้ประกอบการบางรายบางครั้งอาจจะไม่มีความสะอาดมากพอ การขนส่ง ผ่านการสัมผัสของคนมาหลายต่อหลายมือ ซึ่งโพ่งเราเน้นความปลอดภัยของเด็กๆ เป็นที่หนึ่ง และยิ่งในช่วงสถานการณ์แบบนี้ด้วย การที่เลือกอะไรที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

เราจะเห็นว่าแต่ละซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจอาหาร แต่ละเจ้าก็พยายามทำจุดนี้ให้ดีที่สุด แต่อาจยังไม่สะท้อนถึงความตั้งใจในสิ่งที่อยากให้เด็กได้สิ่งที่ดีที่สุดคือเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบที่ได้ คือมันสะท้อนให้เราเห็นว่า เด็กทุกคนควรได้รับความเท่าเทียม ถ้าเราให้เขาไม่ได้เราควรถามตัวเองแล้วว่า เราคือใคร เราทำอะไรอยู่ ถึงแม้เราทำธุรกิจ เราต้องอยากได้กำไร แต่กำไรที่เราได้เราไม่จำเป็นต้องได้กำไรแบบสูงสุด จนทำให้เราต้องลดทอนสิ่งที่เด็กๆ ควรจะได้ แค่ทำให้ได้กำไรที่เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพนักงานก็พอแล้ว

620598

เรากล่าวถึงโรงเรียนที่มีสถานที่ ที่มีความห่างไกลไป คิดว่าในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการได้รับสารอาหารของเด็กๆ บ้างไหม เพราะเด็กๆ ที่ยากจนบางคนโอกาสที่จะได้รับประทานอาหารดีๆ เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น

จริงๆ ไม่ใช่พื้นที่ห่างไกลเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่จริงๆ แล้วกรุงเทพก็มีปัญหาด้านนี้เยอะไม่ต่างกัน เด็กที่เรียนในกรุงเทพ จากที่เราสิ่งที่เราได้สัมผัสกับนักเรียน ในหลากหลายโรงเรียน โพ่งคิดว่าเด็กที่จะถูกเลี้ยงดู ได้รับอาหารที่เหมาะสมในช่วงโควิด-19 ไม่น่าจะถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ

จากที่ได้สัมผัสมาคือเด็กๆ หลายๆ คนได้รับอาหารที่ดีๆ และอร่อย จากที่โรงเรียน ตอนอยู่ที่บ้านอาจจะไม่ได้รับอาหารที่ดีต่อโภชนาการ จากประสบการณ์ตรงที่เป็นซัพพลายเออร์อาหารให้กับโรงเรียนแล้ว ก็ยังดูแลอาหารในส่วนของทัศนศึกษา พาเด็กไปเที่ยว แล้วโพ่งได้เจอกับเด็กผู้หญิงคนนึง น้องกินข้าวครึ่งกล่อง แล้วก็เปิดฝากล่อง ซึ่งเราก็เข้าไปคุยกับน้องว่าจะทิ้งรึเปล่าจะได้เตรียมถุงพลาสติกเก็บขยะให้ แต่น้องตอบว่าไม่ได้ทิ้ง แต่หนูอยากเก็บไปให้แม่ที่บ้านได้กินบ้าง เพราะมันเป็นอาหารที่อร่อยมาก มันยิ่งทำให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ความเหลื่อมล้ำมันมีจริงๆ

อีกอย่างที่เราทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์เราก็ต้องจัดเตรียมเมนูอาหารล่วงหน้าแล้วแจ้งให้กับทางโรงเรียนได้รู้ว่ามีอะไรบ้าง แล้วถ้าวันไหนเป็นเมนูที่เป็นอาหารเช้าแบบ Breakfast ขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก วันนั้นเด็กๆ จะมาต่อคิวรอกินข้าวเช้าเป็นแถวยาวมาก เพราะเด็กๆ จะรู้สึกว่าพิเศษมากๆ เพราะสำหรับบางคนอาจจะมองว่าสามารถหากินได้ทุกวัน แต่เด็กๆ บางคน ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เจอบ่อยๆ มันคือสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกดี ได้กินอะไรที่ไม่ได้เจอทุกวัน

ดังนั้นถ้าจะสรุปว่าโควิด-19 ส่งผลอะไรบ้างกับตัวนักเรียนและด้านโภชนาการ โพ่งมองว่าการปิดโรงเรียนอาจจะเหมือนเป็นการปิดกันโอกาสของพวกเขา บางทีการเรียนหนังสือ มันอาจจะเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้พวกเขาพลิกชีวิต บางคนคุณพ่อทำงานวินมอเตอร์ไซค์ คุณแม่ทำงานขายพวงมาลัย การเรียนหนังสือมันเรียกว่าเป็นสิ่งเดียวเลยที่จะช่วยให้พวกเขาหลีกหนีความยากจน แต่ก็กลายเป็นว่าเขาก็ไม่ได้เรียนเพราะว่าโรงเรียนมันปิด และอาหารที่พวกเขาได้กินในโรงเรียน ในบางครั้งมันเป็นเหมือนกับอาหารที่ทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษ เพราะว่าในชีวิตจริงๆ ของพวกเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสกินเพราะที่บ้านอาจจะมีการขัดสนทางการเงิน

อีกอย่างการเรียนออนไลน์มันไม่ได้เหมาะกับเด็กๆ ทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีฐานะที่ยากจน ยกตัวอย่างโรงเรียนลูกค้าของโพ่ง เขาไม่สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นถ้าอยู่รวมกันในครอบครัวใหญ่ในบ้านเล็กๆ เด็กๆ อาจจะไม่มีสมาธิ จะหาอุปกรณ์ไหนมาออนไลน์ และยังรวมไปถึงประเทศไทยไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี ทุกคนต้องเสียเงินเพื่อเข้าถึง และราคาของมันก็ไม่ใช่ถูกๆ ราคาถูกอาจจะความเร็วไม่เพียงพอด้วย การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กที่บ้านฐานะยากจนนี่มันเท่ากับศูนย์จริงๆ

530091

ผลกระทบในช่วงโควิด-19 ต่อ ซัพพลายเออร์ ที่ต้องเผชิญคืออะไร ส่งผลกระทบอะไรบ้าง แล้วเราสามารถแก้ปัญหาในจุดนอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เลยคือการโดนปิดมา 3 ครั้งแล้ว สิ่งที่ส่งผลกับเราโดยตรงก็คือเราไม่ได้ทำงานเลยนั่นก็คือรายได้ของเราเท่ากับศูนย์ ถ้าพูดถึงในธุรกิจนี้โพ่งมองว่า เราเข้าใจในบริบทโรงเรียนว่าความปลอดภัยของบุคลากรมันสำคัญ แต่โพ่งเชื่อว่าทุกคนจะเรียนรู้และอยู่กับมันได้ สมมติว่าถ้าเหตุการณ์มันยังอยู่กับเราไปอีกเป็นปีสองปี เราจะยังให้เด็กหยุดโรงเรียนอยู่ไหม คำถามก็คือถ้าในตอนนี้เด็กอยู่ในชั้น ป.5 แต่ก็ต้องหยุดไปเรียนไม่ได้อีกสองปี อายุคือ ม.1 แต่ความรู้เท่า ป.5 มันก็อาจจะส่งผลกระทบกับเด็กจริงๆ ยิ่งเฉพาะเด็กๆ ที่ยากจน ที่ยากต่อการเข้าถึงการศึกษา จะให้เด็กอยู่ยังไง พ่อแม่ก็ลำบากหางานไม่ได้ถ้าไม่มีงานทำ เพราะทำงานรายวัน ไม่สามารถทำงานหาเงินได้ เรียกว่ามันเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องกันในทุกๆ อย่างเลย สิ่งที่เราทำได้ในช่วงนี้คือการปรับตัวเข้าใจ และใช้ชีวิตกับมันให้ได้ก่อน แล้วเราค่อยมาจัดการแก้ไขปัญหาเท่าที่เราทำได้ อย่างปลอดภัย

คิดว่าโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารของเด็กๆ ในระดับไหน และควรพัฒนาในจุดไหนเพิ่มบ้าง

งบประมาณและคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และโพ่งอยากให้ทางรัฐมีการตรวจสอบที่มากขึ้น ยกตัวอย่างว่ามีการกำหนดไว้แล้วว่าต้องทำแบบนี้ๆ ตามระบบ แต่ในภาคปฏิบัติเราไม่รู้หรอกว่าผู้ประกอบการที่ได้รับมอบหมายมานั้นทำได้ตามมาตราฐานหรือเปล่า ได้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพหรือไม่ มีการตรวจสองคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้หรือไม่  หรือทำๆ เพียงแค่ให้ผ่านไปแค่นั้น เด็กไม่ท้องเสียก็ถือว่าข่าวเงียบ ทำไมไม่เล็งเห็นถึงคนที่พยายามที่จะยกระดับการจัดการที่ดี ไปเป็นตัวอย่างสำหรับการจัดการในรูปแบบอื่น จริงๆ อยากให้สื่อได้มีโอกาสได้มองเห็นและนำไปเสนอต่อสังคมภาพรวมว่าเด็กทุกคน ก็ควรที่จะได้รับอาหารทีดี มีคุณภาพ เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน และพื้นที่ใดก็ตาม

สรุปได้ว่า ปัญหาการจัดการโครงการอาหารกลางวันอยู่ที่ภาครัฐ โรงเรียน และการจัดการของผู้ประกอบการที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อส่งมอบอาหารที่ดี อร่อย และมีคุณภาพถึงลูกหลานของเรา  ทุกคนในประเทศได้ อย่ามองเพียงว่าเป็นแค่อาหารกลางวัน เพราะสำหรับเด็กบางคนแค่อาหารธรรมดาเพียงแค่หนึ่งมือ มันก็ทำให้พวกเขามีความรู้สึกพิเศษในชีวิตได้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook