สังคม “ชายเป็นใหญ่” ความเป็นจริงที่ยังเห็นอยู่ทั่วโลก

สังคม “ชายเป็นใหญ่” ความเป็นจริงที่ยังเห็นอยู่ทั่วโลก

สังคม “ชายเป็นใหญ่” ความเป็นจริงที่ยังเห็นอยู่ทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าเราอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 กันแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Equality) ยังคงไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ เพราะยังมีหลายประเทศที่อยู่ในสังคม “ผู้ชายเป็นใหญ่” โดยผู้หญิงไม่มีสิทธิ์มีเสียงใด ๆ

บางประเทศหนักถึงขั้นที่ผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ และเป็นเพียงเครื่องระบายอารมณ์ (ทางเพศ) ของคนที่เรียกตัวเองว่าสุภาพบุรุษ เหมือนเช่นคีร์กีซสถานที่การลักพาตัวหรือฉุดคร่าหญิงสาววัยรุ่น เพื่อไปเป็นเจ้าสาว (Bride-kidnapping) ทั้งที่อีกฝ่ายไม่สมยอมนั้น เป็นสิ่งที่ทำกันได้ราวกับเป็นเรื่องปกติ

โดยรายงานจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ( UNDP) ระบุว่าในทุกปี จะมีเด็กสาวราว 1,000 คน ที่ถูกลักพาตัวไปแต่งงาน แม้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการกระทำดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นได้

นอกจากคีร์กีซสถานแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีประเพณี Bride-kidnapping ทั้งในแถบแอฟริกา (รวันดา อียิปต์ เอธิโอเปีย เคนยา แอฟริกาใต้), เอเชียกลาง (คาซักสถาน อุซเบกิซสถาน) และประเทศที่อยู่ตามแนวเทือกเขาคอเคซัส (อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย รัสเซีย)

ขณะที่บางประเทศ การมีลูกสาวกลายเป็นเรื่องต้องห้าม อาทิ ประเทศอินเดียที่ในช่วงยุคทศวรรษที่ 90 เคยมีการทำแท้งกันแพร่หลายหลังจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้สามารถอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศของลูกในครรภ์ได้

เมื่อรู้ว่าทารกไม่ใช่เพศชายก็จะกำจัดทิ้ง แม้ว่าจะไม่ได้มีความพิกลพิการใด ๆ จนภายหลังอินเดียต้องบัญญัติกฎหมายห้ามทำแท้งตามออกมา รวมถึงห้ามแพทย์เปิดเผยเพศทารกให้ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ทราบ เพื่อป้องกันการทำแท้งหากรู้ว่าตนเองได้ลูกสาว และไม่ได้มีเพียงอินเดียเท่านั้น เมื่อพบว่าตัวเลขการทำแท้งทั่วโลกเพื่อเลือกเพศของลูกนั้นมีมากถึง 117 ล้านรายเลยทีเดียว!

เช่นเดียวกับประเทศจีนที่สังคมให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาวเพราะคำนึงถึงเรื่องการสืบสกุลให้กับวงศ์ตระกูลเป็นสำคัญ จึงต้องการได้ทายาทที่เป็นชาย หากไม่ได้เป็นครอบครัวคนจีนที่หัวสมัยใหม่ มักจะมองว่าลูกสาวคือภาระ เพราะนอกจากไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างลูกชายแล้ว เมื่อถึงคราวที่ออกเรือนไปมีครอบครัวใหม่ก็ต้องย้ายออกจากบ้านไปดูแลครอบครัวของสามีแทนด้วย

แม้แต่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 2 ประเทศที่ได้ชื่อว่าก้าวไกลด้านเทคโนโลยี ก็ยังติดอันดับประเทศที่รั้งท้ายเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยจากการเปิดเผยตัวเลขของ The World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2020 ญี่ปุ่นรั้งอยู่อันดับ 121 หล่นจากเดิม 11 อันดับ จากเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่เกาหลีใต้อยู่อันดับ 108 จาก 153 ประเทศทั่วโลก

โดย WEF วิเคราะห์ว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 151 ปีเลยทีเดียวกว่า 2 ประเทศนี้จะมีขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศได้สำเร็จ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สตรีเพศเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนอันดับที่รั้งท้ายในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศนั้น มักจะเป็นประเทศมุสลิมที่มีข้อจำกัดทางศาสนาอิสลาม ทำให้สตรีไม่ได้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องต่าง ๆ มากนัก

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ถือว่าบ้านเรายังมีความเหลื่อมล้ำทางเพศน้อยกว่ามาก โดยรั้งอยู่อันดับ 75 ของโลก แต่ก็หล่นมาจากเดิม 2 อันดับ เมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อน

แม้ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีความพยายามในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากการประเมินของ WEF จากข้อมูลและสถิติต่าง ๆ คาดการณ์ว่าหากหวังจะเห็นทั่วโลกปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเพศ ต้องใช้เวลากว่า 200 ปีเลยทีเดียว!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook