“สะดวกสบาย VS อันตราย” เหรียญสองด้านที่เราต้องเจอจาก AI

“สะดวกสบาย VS อันตราย” เหรียญสองด้านที่เราต้องเจอจาก AI

“สะดวกสบาย VS อันตราย” เหรียญสองด้านที่เราต้องเจอจาก AI
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกของเราในปี 2020 หลาย ๆ คนจะเริ่มคุ้นหูกับสิ่งที่เรียกว่า AI กันมากขึ้น ได้ยินจากแทบทุกวงการ ทั้ง ๆ ที่อาจจะยังไม่รู้และไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่า AI คืออะไร

AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแขนงหนึ่งที่เข้ามาอิทธิพลกับชีวิตของมนุษย์มากขึ้นทุกที จึงเป็นสิ่งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และโปรแกรมเมอร์ต่างพยายามที่จะพัฒนาให้ AI มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมครอบคลุมในทุกด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ใช้หลักการที่ให้ AI ทำงานโดยอิงข้อมูลเดิมที่มีอยู่ คิดและประมวลผลบนหลักการและเหตุผลจนสามารถใช้งานได้จริง

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ เมื่อ AI มีประโยชน์กับเรา ก็มีโทษกับเราได้เช่นกัน ดังนั้น ลองมาคิดดูเล่น ๆ กันดูหน่อยไหมว่า AI น่ากลัวต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง ส่วนเทคโนโลยี AI กับอิทธิพลต่อชีวิตในด้านอื่น ๆ Tonkit360 จะนำเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป

1. เพิ่มความเสี่ยงในการตกงาน

อาจจะไม่น่าฟังสักเท่าไร แต่ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพของ AI ทุกวันนี้ทำให้นี่เป็นเรื่องจริง เพราะ AI ถูกพัฒนาขึ้นจากมนุษย์ที่ฉลาดผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น AI จะต้องฉลาดกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปแน่นอน อีกทั้งยังตอบสนองได้รวดเร็ว ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าแรงงานคน นั่นหมายความว่าบางตำแหน่งงาน AI จะเข้ามาทำงานแทนคนได้อย่างสมบูรณ์ และมนุษย์ที่ฉลาดไม่ได้ครึ่ง AI ก็จะไม่มีบทบาทอีกต่อไป โดยเฉพาะลักษณะงานแบบกิจวัตร งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ไม่ต้องใช้แรงงานคนงานก็เสร็จได้ (ดีด้วย)

เพราะ AI ถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำลักษณะงานที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ สามารถพัฒนาตัวเองและปรับตัวเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ที่สำคัญ ประสิทธิภาพการทำงานของ AI ก็มากกว่าแรงงานคน ที่อาจมีปัญหาความไม่เที่ยงของสภาพอารมณ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แต่ AI จะไม่มีปัญหาดังกล่าว ก้มหน้าก้มตาทำ (นอกเสียจากว่าระบบขัดข้อง) เพราะฉะนั้น หากคนบางกลุ่มไม่ยอมปรับตัว ไม่พัฒนาศักยภาพการทำงาน ก็อาจจะถูก AI เข้ามาทำงานแทน

2. การละเมิดความเป็นส่วนตัว

การทำงานของ AI จะเรียนรู้การทำงานจากรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ หรือวิเคราะห์จากข้อมูลเบื้องต้นที่เราต้องป้อนให้ก่อน จากนั้น AI จึงจะประมวลผลออกมาเป็นผลลัพธ์แบบที่เราต้องการ นั่นหมายความว่าเราต้องป้อนข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเราเสียก่อน ซึ่งถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำสูงสุด ก็ต้องป้อนข้อมูลที่ตรงกับความเป็นความจริงมากที่สุด รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เราก็ต้องแลกกับการให้ข้อมูลส่วนตัวของเราตอนสมัครใช้ด้วยเหมือนกัน

ในความเป็นจริง ไม่มีแพลตฟอร์มใดบนโลกออนไลน์ที่จะสามารถเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือการที่โซเชียลมีเดียนำข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เช่น ความชอบ ความสนใจ พฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ ไลฟ์สไตล์ หรือที่ที่เช็กอินซ้ำ ๆ มาวิเคราะห์หาแนวทางทำการตลาด จึงทำให้เราเห็นโฆษณาของสินค้าชนิดเดียวกันเด้งขึ้นมาให้เห็นบ่อย ๆ ทั้งที่เราเสิร์ชหาสินค้านั้นแค่ครั้งหรือสองครั้ง ยังไม่รวมถึงกรณีความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากข้อมูลส่วนตัวของเราหลุดไปอยู่ในมือแฮกเกอร์อีกต่างหาก

3. พฤติกรรมของผู้ใช้

อย่าปฏิเสธเลยว่าความสะดวกสบายทำให้คนขี้เกียจ เพราะตลาดก็ผลิตนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองมองจากของใกล้ตัวที่เราต้องใช้ทุกวันอย่างโทรศัพท์มือถือดูก็ได้ ถ้าเป็นมือถือรุ่นเก่าต้องออกแรงกดปุ่ม ทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็เป็นระบบสัมผัส แค่แตะเบา ๆ ก็ขึ้นตัวหนังสือ แต่ทุกวันนี้ เพียงสัมผัสปุ่มที่เป็นรูปไมโครโฟนเบา ๆ แล้วพูดคำที่เราอยากพิมพ์ มันก็พิมพ์ให้เราเสร็จสรรพ เราก็จะเริ่มเคยชินกับการใช้งานที่สะดวกสบายนี้ทีละเล็กทีละน้อย

หากไม่ทันระวัง เราอาจจะตกเป็นทาส AI โดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณอยากรู้ว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่อปีศาจสนองความขี้เกียจที่เรียกว่า AI หรือไม่ ลองคิดดูว่าทุกวันนี้เราพูดกับสมาร์ทโฟนว่า “OK Google” หรือ “สวัสดี Siri” แล้วให้ตัวช่วยพิมพ์ให้อยู่หรือเปล่า แค่จะพิมพ์ข้อความเรายังไม่ทำเองเลย แล้วถ้าเกิดระบบที่ว่านี้เกิดดักฟังเราขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ก็เริ่มไม่ตลกแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นแล้ว อะไรที่ยังพอจะทำได้ด้วยตัวเอง ก็พยายามพึ่งพาเทคโนโลยีให้น้อยลง แต่นำมาปรับใช้กับเรื่องที่เกิดประโยชน์สูงสุดแทน

4. แยกข่าวจริง ข่าวปลอมออกจากกันยากกว่าเดิม

รำคาญไหม? กับการที่ต้องกดยืนยันตัวตนเวลาเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือเข้าใช้งานเว็บไซต์บางเว็บไซต์ ที่มักจะให้เรายืนยันตัวตน ให้เลือกสัญญาณไฟจราจรบ้าง ทางม้าลายบ้าง หรือให้พิมพ์ตามตัวหนังสือที่แสดงให้เห็น ถึงจะรำคาญ แต่นั่นเป็นการยืนยันว่าคุณเป็น “มนุษย์” ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบนั้นจริง ๆ ไม่ใช่หุ่นยนต์ (robot) ที่ถูกสั่งการขึ้นมาให้ก่อปัญหากับเว็บไซต์ รวมถึงแชตอัตโนมัติที่ผู้ขายของออนไลน์ใช้โต้ตอบกับลูกค้า ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ว่านั่นคือระบบตอบรับอัตโนมัติ (chatbot)

แล้วถ้าสักวันหนึ่งมีพวกหัวใสทำ AI ที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้โลกจะวุ่นวายขนาดไหน คงจะมีข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้างเต็มโลกไปหมด เพราะปัจจุบัน AI ทำหน้าที่ได้ทั้งจับข่าวลวง และสร้างข่าวลวงได้เอง ยิ่งทำให้โลกทุกวันนี้แยกข่าวจริงกับข่าวปลอมออกจากกันยากมากขึ้นไปอีก แถมผู้คนก็ถูกปลุกปั่นจากข่าวสารปลอม ๆ ได้ง่ายเป็นด้วย เราก็อาจจะได้เสพข้อมูลปลอม ๆ ที่ AI เขียนขึ้นมา แล้วก็พากันแชร์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดก็ได้

5. เหตุผลก็เพราะ AI ฉลาดนี่แหละ!

อาจจะฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของ AI ก็เพราะมันฉลาดนั่นเอง! หากใครเคยได้ลองสัมผัส AI แล้ว จะพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานของมันอัศจรรย์กว่าที่เราคิด โดยเฉพาะกับมนุษย์ธรรมดาที่ปกติเคยชินกับการทำงานด้วยตัวเอง พอมาเจอกับความฉลาดของ AI ที่ทำอะไรได้แทบทุกอย่างเข้าหน่อยก็ถึงกับงงตาค้าง เพราะการทำงานบางอย่าง มันฉลาดและเร็วกว่าเรามาก ในบางสถานการณ์ AI สามารถคาดเดาใจของเราและทำงานได้เองโดยที่เรายังไม่ได้ออกคำสั่งเลยด้วยซ้ำ เช่น การแก้ไขคำให้เราอัตโนมัติ กรณีที่มันสงสัยว่าเราพิมพ์ผิด

เนื่องจากความสามารถของ AI สร้างขึ้นมาโดยเลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่มนุษย์ไม่ต้องยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง เพราะมนุษย์ตรวจสอบความถูกต้องและยอมรับประสิทธิภาพการทำงานของมันไปแล้ว ตัวระบบถูกตั้งให้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา ดังนั้นมันจึงฉลาดมากเมื่อเทียบกับมนุษย์ทั่วไป หากวันใดวันหนึ่ง สมาร์ทโฟนที่เรานำเข้าไปเปิดเพลงฟังตอนอาบน้ำ เกิดอัดวิดีโอหรือถ่ายภาพได้เองโดยอัตโนมัติ (หรือถูกแฮกให้สั่งการในระยะไกล) ได้ล่ะก็ ชีวิตเราจะปั่นป่วนขนาดไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook