อาชีพครูไม่ได้เป็นง่าย ๆ! เช็กก่อนมีใบประกอบวิชาชีพแล้วหรือยัง?

อาชีพครูไม่ได้เป็นง่าย ๆ! เช็กก่อนมีใบประกอบวิชาชีพแล้วหรือยัง?

อาชีพครูไม่ได้เป็นง่าย ๆ! เช็กก่อนมีใบประกอบวิชาชีพแล้วหรือยัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ครูพี่เลี้ยงของสถานศึกษาดังย่านนนทบุรีทำร้ายร่างกายเด็กอนุบาล 1 และสืบทราบภายหลังว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยมีวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพครูได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าครูคนดังกล่าวทำหน้าที่มากกว่าการเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือไม่

อาชีพครูต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

ทั้งนี้ ผู้ที่จะประกอบอาชีพครูได้นั้น หากเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในประเทศไทย ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ระบุไว้ว่าจะต้องมีวุฒิข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่าที่คุรุสภารับรอง
  • มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีอื่นที่คุรุสภารับรอง
  • มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีอื่น และผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานความรู้วิชาชีพของคุรุสภา

นอกจากนี้ ยังต้องมีคุณสมบัติผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมถึงต้องผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

ดังนั้น กรณีของ น.ส. อรอุมา ปลอดโปร่ง หรือครูจุ๋ม ที่จบ ม.6 จึงไม่สามารถเป็นครูได้ และไม่มีสิทธิ์ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยทำได้เพียงหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กในห้องเรียนเท่านั้น

พฤติกรรมเสื่อมเสียถือเป็นลักษณะต้องห้าม!

ที่สำคัญ การจะเป็นครูในสถานศึกษาได้นั้น จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย

  • เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
  • เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

แม้ว่าอาชีพครูอาจถูกมองว่าเป็นเพียง “เรือจ้าง” ที่ส่งนักเรียนให้ถึงฝั่งก็หมดหน้าที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพนี้ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ เพราะผู้ที่จะประกอบอาชีพครูทุกคน จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเสียก่อน ซึ่งเป็นหลักฐานที่ออกให้ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานความรู้ และมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพที่คุรุสภารับรอง จึงจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุมตามกฎหมาย

โดยในประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2562 คุรุสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ด้วย ซึ่งผู้ที่จะประกอบอาชีพครูได้นั้นจะต้องผ่านเกณฑ์ ดังนี้

ผ่านการรับรองประสบการณ์วิชาชีพครูตามที่คณะกรรมการกำหนด

ผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ผ่านการทดสอบประเมินความรู้ 5 หมวดวิชา

ส่วนหลักเกณฑ์ในการทดสอบประเมินความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่มีการปรับเปลี่ยนล่าสุดนั้น กำหนดให้ทดสอบใน 5 หมวดวิชา ได้แก่ 1.หมวดทักษะภาษาไทย 2.หมวดทักษะภาษาอังกฤษ 3.หมวดทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อการศึกษา 4.หมวดความรู้ทางวิชาชีพครู และ 5.หมวดความรู้วิชาเอก โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป

หากสอบไม่ผ่านหมวดวิชาใดวิชาหนึ่ง สามารถสอบย้อนหลังได้เฉพาะหมวดนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกหมวดวิชา และคะแนนสอบสามารถเก็บไว้ใช้เพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้เป็นระยะเวลา 3 ปี

ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี

นอกจากนี้ ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ยังยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดชีพด้วย จากเดิมที่กำหนดให้ข้าราชการครูที่ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลา 15 ปี มีใบประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพได้

โดยให้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปีแทน ซึ่งการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น ครูทุกคนต้องมีหลักฐานยืนยันด้วยว่า ในระยะเวลา 5 ปี ได้รับการพัฒนาอะไรมาบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook