“ความต่างในแต่ละสังคม” ศึกษาให้เข้าใจ ช่วยเลี่ยงดราม่าได้

“ความต่างในแต่ละสังคม” ศึกษาให้เข้าใจ ช่วยเลี่ยงดราม่าได้

“ความต่างในแต่ละสังคม” ศึกษาให้เข้าใจ ช่วยเลี่ยงดราม่าได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ่อยครั้งที่เกิดประเด็นดราม่ากันข้ามประเทศ ข้ามทวีป ข้ามซีกโลก เพียงเพราะความเข้าใจในวัฒนธรรมที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะความเชื่อต่าง ๆ ความจริงจะพูดว่า “เพียง” ก็คงไม่ถูก เพราะในวัฒนธรรมของเรา เราอาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่อาจจะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ความเคารพในวัฒนธรรมอื่นก็ได้

ก่อนอื่น เราต้องมองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทุก ๆ ที่มีความแตกต่าง ไม่ต้องมองอื่นไกล เพราะแค่ในประเทศไทย แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดยังมีวัฒนธรรมและความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นมากที่เราต้อง “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” ความแตกต่าง เพื่อเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

Tonkit360 จึงจะขอยกตัวอย่างประเด็นความต่างที่อาจสร้างดราม่าได้ หากไม่ศึกษาให้ดีก่อน

ศาสนา

อย่างที่ทราบกันว่าบนโลกมีศาสนาหลัก ๆ อยู่ 3-4 ศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แต่นอกเหนือจากนี้โลกเรายังมีศาสนาอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า 4,000 ศาสนา

คนนับถือศาสนาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แม้ว่าปัจจุบันจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาใด ๆ เลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกล่าวถึงศาสนาอื่นได้อย่างไม่ไตร่ตรอง ในเรื่องของความเชื่อ การดูถูก การล้อเลียนหลักปฏิบัติหรือพฤติกรรมทางศาสนา เพราะสามารถสร้างความขัดแย้งใหญ่โตได้ ดังที่ในอดีตเคยเกิดเป็นสงครามศาสนา และมีการก่อการร้ายเพราะความเชื่อด้านศาสนาในปัจจุบัน
ความเชื่อ ความศรัทธา ความเคารพ

สืบเนื่องมาจากเรื่องศาสนา แต่ละศาสนาจะมีรูปเคารพ สัญลักษณ์ ศาสดา นักบวช หลักปฏิบัติ ความเชื่อ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนิกชนของศาสนานั้น ๆ เคารพนับถือ รวมถึงความเชื่อตามถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้จักทุกความเคารพบนโลกใบนี้

จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังให้มาก เมื่อจะกล่าวถึงหรือแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับสังคมอื่น ในสังคมเราอาจมองว่าเป็นสิ่งของธรรมดา แต่ในอีกสังคมอาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาเคารพ นั่นรวมถึงความเชื่อส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่ยากจะพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพราะความเชื่อเหล่านี้มักเชื่อตามกันมาเพราะคำบอกเล่าจากคนที่นับถือ หรือเชื่อเพราะประสบการณ์โดยตรง เกิดเป็นความเชื่อจริงจังที่หยั่งรากลึกเกินจะเปลี่ยนมุมมอง

การเมือง การปกครอง

แต่ละคนมีทัศนคติ ความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องของการเมืองการปกครอง ดังนั้น การจะแอบเชียร์พรรคไหนฝ่ายไหนก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นความอ่อนไหวที่ทำให้เพื่อน พ่อ แม่ พี่น้อง ถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรไม่มองหน้ากัน เพราะความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเรื่องระดับชาติที่ทำให้สังคมแตกแยก

ในบางกรณี เรื่องการเมืองการปกครองเป็นเรื่องระดับนานาชาติ อย่างการแยกประเทศ การเกิดสงคราม เพราะความคิดเรื่องการปกครองต่างกัน จึงต้องระวังให้มากหากจะกล่าวถึงเรื่องการเมืองและระบอบการปกครอง

เชื้อชาติ

ในอดีต เคยเกิดเหตุการณ์อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการเหยียดสีผิว ที่สร้างบาดแผลให้กับคนบางเชื้อชาติ ความสูญเสียกลายเป็นปมที่ส่งต่อถึงลูกหลานอย่างที่พวกเขาไม่มีวันลืม จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะอ่อนไหวในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้มากเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ให้ย้อนมองถึงเหตุการณ์เหล่านั้น สังคมเราอาจจะมองว่าเป็นเครื่องหมายที่สวยดี แต่เป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนในสังคมบางสังคม

ภาษา

ภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น แม้แต่ภาษาราชการเดียวกัน ก็ยังมีภาษาถิ่นที่แสดงความเป็นตัวตนของคนแต่ละคน อีกทั้งในบางภาษายังมีความเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งหากเอาภาษามาพูดในเชิงล้อเลียน หรือดูถูกเหยียดหยาม ก็กลายเป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาได้ง่ายเหมือนกัน

ประวัติศาสตร์

ดั่งที่มีคำกล่าวว่า “ผู้ชนะจะได้เขียนประวัติศาสตร์” ดังนั้น เรื่องของประวัติศาสตร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดเล่น หรือเอามากล่าวอ้าง เพราะประวัติศาสตร์มักจะมีเรื่องของสงคราม และเมื่อสงครามก็จะจบด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายพ่ายแพ้ การเขียนประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่ายจึงไม่เหมือนกัน แต่ละฝ่ายต่างก็จะยกย่องวีรกรรมของวีรบุรุษและการสู้รบที่บรรพบุรุษต้องเสียเลือดเสียเนื้อ หากกล่าวถึงโดยไม่ไตร่ตรองให้ดี ก็จะเป็นเรื่องแน่นอน

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของประเด็นความหลากหลายที่อาจสร้างความขัดแย้งได้ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนั้น ๆ ถูกกล่าวถึงโดยคนที่เป็นที่รู้จักระดับสากล เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารไปได้กว้างไกลและรวดเร็ว ดังนั้น การศึกษาแต่ละวัฒนธรรมให้เข้าใจถึงความต่างจึงสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้เราเคารพกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ที่มีความเชื่อ และความคิดที่แตกต่างกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook