สมควรหรือไม่อย่างไร ที่ครูจะยังลงโทษนักเรียนด้วยการตี ในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน

สมควรหรือไม่อย่างไร ที่ครูจะยังลงโทษนักเรียนด้วยการตี ในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน

สมควรหรือไม่อย่างไร ที่ครูจะยังลงโทษนักเรียนด้วยการตี ในบริบทสังคมยุคปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่คน Gen X และ Gen Y ขึ้นไป อยู่ในวัยนักเรียน เชื่อเลยว่าบทลงโทษที่เราคุ้นเคยเมื่อกระทำผิดกฎระเบียบภายในโรงเรียนคงหนีไม่พ้นการตี ซึ่งแล้วแต่ครูของแต่ละโรงเรียน หนักเบาขึ้นอยู่กับครูแต่ละบุคคล อาวุธที่ใช้ก็คือก้านไม้หวาย ไม้ไผ่เหลายาวและพันด้วยสก๊อตเทป ไม้บรรทัด ฯลฯ

แต่ในยุคปัจจุบันบริบทสังคมเริ่มเปลี่ยนไปการปลูกฝังนักเรียนด้วยการตีเริ่มเบาลง หันไปในรูปแบบของการอบรมวินัย โดยเห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในการให้บทเรียนกับชีวิต ซึ่งไม่เถียงว่าไม้เรียวก็สามารถสร้างคนได้เช่นกันแต่ในบางกรณีเท่านั้น(น้อยมาก)

ถึงอย่างไรในขณะเดียวกัน การเป็นครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติและน่ายกย่องเสมอ ลองจินตนาการกันดูสิด้วยการทำงานกับเด็กมากหน้าหลายตาร้อยพ่อพันแม่ไม่ต่ำกว่า 30 คนในแต่ละ 1 ห้องเรียน ต้องควบคุมนักเรียนให้สงบและตั้งใจเรียน ตระเตรียมการเรียนการสอน ตรวจการบ้าน การตามงานจากนักเรียน นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมนอกเหนือการเรียนการสอน ทัศนศึกษา ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างคือการแสวงหาโอกาสให้ความรู้แก่นักเรียนโดยเฉพาะ

แต่ในมุมของผู้ปกครอง ในฐานะของพ่อแม่เด็ก ที่มีแนวทางในการเลี้ยงลูกต่างจากยุคสมัยก่อน ไม่ลงโทษลูก ๆ ด้วยการตี หากแต่เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์และได้ประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีนี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองที่อยู่ในช่วงวัยที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนด้วยการตีของครู

สำหรับ โจลีน วัย 50 กลาง ๆ ค่อนข้างรู้สึกผิดที่เคยเลี้ยงลูก ๆ ของเธอให้โตขึ้นมาด้วยความรุนแรง(การลงโทษด้วยการตี)ค่อนข้างบ่อย โดยเธอตระหนักว่าการลงโทษด้วยการตีนั้นกระทบทั้งจิตใจของเธอและลูก ๆ นอกจากนั้นยังรวมถึงการบาดเจ็บทางร่างกายของลูกเธออีกด้วย “มันค่อนข้างกระทบจิตใจของตัวฉันเองด้วยเวลาตีลูก ฉันไม่อยากจะคิดถึงมันด้วยซ้ำ” สายตาของเธอดูเจ็บปวดเมื่อต้องพูดคุยถึงการอบรมลูกด้วยการตีเมื่อนานมาแล้ว

และจากทั้งหมดที่กล่าวมา เธอยืนกรานว่าครูไม่ควรลงโทษเด็กนักเรียนด้วยการตี เพราะ “ผู้ปกครองรู้จักลูกของเขาดีที่สุด” เพราะดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกินกว่าภาระหน้าที่ “ในเมื่อผู้ปกครองยังอบรมวินัยของลูกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การตี แล้วเพราะเหตุใดจึงคิดว่าครูมีสิทธิ์ตี”

และด้วยคำถามที่ท้าทายขึ้นสำหรับโจลีน ว่า แล้วหากพ่อแม่ไม่มีความสามารถพอที่จะอบรมเลี้ยงดูวินัยและความประพฤติของลูกได้อย่างเหมาะสมล่ะ ด้วยชีวิตการทำงานในยุคสมัยใหม่ พ่อแม่อาจมีเวลาไม่พอสำหรับลูก เธอส่ายหน้าและให้เหตุผลว่า “มันไม่ใช่หน้าที่ครูที่จะเป็นผู้ปกครองเด็ก เราควรเลิกมองครูเป็นนักบำบัด ผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จ หรือพี่เลี้ยงสำหรับนักเรียนกันเสียที จริงอยู่ที่ขอบเขตงานมันอาจใกล้เคียงและดูซับซ้อน แต่ครูคือผู้ให้การศึกษา สำหรับเรื่องอื่น ๆ ควรมีบุคลากรพิเศษคอยจัดการกับเรื่องท้าทายอื่นที่ครูต้องเจอ”

กับผู้ปกครองอีกหนึ่งช่วงวัยที่แตกต่างกัน ลีออน วัย 27 ปีผู้เป็นพ่อของลูกสาววัย 2 ขวบ “ผมถูกลงโทษด้วยการตีสองครั้งสมัยวัยเรียน” เขาเล่าถึงอดีตของตัวเองในฐานะเด็กเกเร “ถ้าไม้เรียวสอนให้จำได้ ผมคงไม่โดนอีกเป็นครั้งที่สองอย่างแน่นอน” กับคำถามที่ว่าครูควรลงโทษนักเรียนด้วยการตีหรือไม่นั้น แน่นอนสำหรับลีออนเขาตอบว่า ไม่ เพราะมันไม่ได้ผล

เราต่างได้เคยยินเรื่องราวของนักเรียนที่มักเกเร ไม่เชื่อฟัง ชอบทำผิดกฎระเบียบ ทำให้เราคิดว่า บางทีเด็กพวกนี้ควรจะโดนตีแรง ๆ ซะบ้าง เผื่อจะได้จำและไม่ทำผิดซ้ำซาก..

แต่ การใช้ความรุนแรงหรือความเจ็บลงโทษนักเรียน จะทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้นจดจำเป็นบทเรียนและประพฤติดีขึ้นจริงหรือ? การลงโทษทางร่างกายจะยิ่งสงผลทำให้เด็กมีโอกาสเป็นเป็นปฏิปักษ์ต่อครูมากขึ้นไหม? สิ่งเหล่านี้จะเป็นระเบิดเวลาสำหรับบางคนไหมที่มีคนมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นเจ็บปวด

ลีออนยกตัวอย่างให้เหตุผลของคำตอบเขากระจ่างยิ่งขึ้น “เมื่อลูกสาวของผมไม่เชื่อฟังและผมลงโทษเธอด้วยการตี เธอจะโตขึ้นมาเป็นคนที่สะสางปัญหาที่พบเจอด้วยความรุนแรงเพราะพ่อของเธอปลูกฝังมาแบบนั้น ผมไม่อยากให้ลูกของผมโตขึ้นมาโดยที่เข้าใจว่าความรุนแรงเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา”

เห็นได้ชัดว่าพ่อแม่และครูคือผู้มีอิทธิพลต่อชีวิตรายแรกที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นโจทย์ปัญหาคือผู้ปกครองและครูจะหาทางจัดการกับเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร โดย ลีออน เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความรับผิดชอบร่วมกันในการให้คุณค่าแก่เด็ก ๆ แต่สำหรับพ่อแม่แล้วความรับผิดชอบในส่วนนี้มีเยอะกว่า เพราะทางด้านของครูมีข้อจำกัดบางประการ

แน่นอนว่าครูต้องเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการกับเด็กที่ค่อนข้างเกเรกว่าคนอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ล้ำเส้นไปในแนวทางที่ผิด

ในท้ายที่สุด ลีออน มีความเห็นว่าพ่อแม่และครูต่างก็มีอิสระในภาระหน้าที่ที่จะตัดสินใจ แต่ละฝ่ายต่างก็มีบทบาทสังคมที่กำหนดไว้แต่ถึงอย่างไรสิ่งจำเป็นคือการสื่อสารกันระหว่างผู้ปกครองและครู “เราจะไม่จำกัดหรือห้ามการทำหน้าที่ของพวกเขา” ลีออนกล่าว “แต่เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนของลูกสาวผม นั่นคือหน้าที่ที่ผมรับช่วงต่อหลังจากนั้น”

สิ่งที่แม่ของลีออนทำเมื่อสมัยเขาเป็นเด็ก คือ ถ้าลีออนมีปัญหาขณะอยู่ในโรงเรียนก็ถือว่าเป็นหน้าที่การจัดการของครู และด้วยความห่วงใยของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ ช่วยให้เขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งจริงอยู่ที่เขาอาจโดนตี แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนไม่เกี่ยวกับการตีเลย

เรามักพูดคุยกันถึงประเด็นของเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ แต่กับครูก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ความสลับซับซ้อน และการจัดการด้านอารมณ์ที่ทุกคนล้วนต้องรับมือสำหรับการเป็นครู ในสังคมที่เราต่างต้องเผชิญกับความหลากหลายของบุคคล การแก้ปัญหาโดยความรุนแรงอาจง่ายและรวดเร็วแต่อาจให้โทษมากกว่าเรื่องดีตามมาหลังจากนั้น

บางครั้งเราอาจต้องการลงมือใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่าย แต่กับการยอมรับถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่ซับซ้อนและแตกต่างกัน เราควรร่วมกันหาทางออกร่วมกันไม่ดีกว่าหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook